จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ‘ออเจ้า’… เอย / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

‘ออเจ้า’… เอย

 

ใครเป็นแฟนละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” คงคุ้นหูกับคำว่า ‘ออเจ้า’ ที่อยู่ในละครและในเพลงประกอบละคร

ตอนที่ละครกำลังออนแอร์ เพื่อนคนหนึ่งร้อยวันพันปีไม่เคยติดต่อ โทร.มาถามผู้เขียนว่า ‘ออเจ้า’ เป็นสรรพนามเกิดขึ้นสมัยไหน ใช้กับใครบ้าง

คำว่า ‘ออเจ้า’ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่ามีใช้ทั่วไปใน “เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” ใช้ได้ทุกเพศ ทุกระดับ ทั้งกับคนและผี

ตอนที่ขุนแผนโกรธพระไวยถึงขนาดตัดพ่อตัดลูก ขุนแผนใช้คำแทนตัวพระไวยว่า ‘ออเจ้า’

“ตั้งแต่นี้ขาดกันจนวันตาย

ถ้ากูบรรลัยอย่าไปเผา                     ถึงชีวิตออเจ้าจะศูนย์หาย

ผีมึงกูก็ไม่ไปกล้ำกราย                     หมายแต่จะเอาชีวิตกัน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

มีอยู่ตอนหนึ่งเจ้าเชียงใหม่เข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษา ขอพระราชทานอภัยโทษจากการที่ ‘เข้าชิงนางจับไทยแล้วมิหนำ ยังซ้ำมีสารมาท้าทำศึก’ เจ้าเชียงใหม่กราบทูลว่า ถ้าทรงเว้นโทษตายก็จะ

“ขอเป็นข้าบาทบงส์พระทรงฤทธิ์        รักษาสัตย์สุจริตจนวายปราณ

ขอถวายสมบัติกษัตรา                    อีกทั้งลานนามหาสถาน

ไว้ในใต้เบื้องบทมาลย์                    พึ่งพระโพธิสมภารสืบต่อไป”

สมเด็จพระพันวษาทรงใช้คำว่า ‘ออเจ้า’ แทนตัวเจ้าเชียงใหม่เช่นกัน

“ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ              ฟังจบตรัสตอบเจ้าเชียงใหม่

เมื่อออเจ้ารู้ตัวกลัวภัย                   เราจะยกโทษให้ในครั้งนี้

จะให้กลับไปครองเมืองเชียงใหม่      จงตั้งใจสัตย์ซื่อต่อกรุงศรี

ตามเยี่ยงอย่างเจ้าประเทศเขตธานี    รักษาให้ไมตรีจีรังการ”

ทั้งสองกรณีนี้ผู้ใหญ่หรือผู้อยู่ในฐานะเหนือกว่าใช้คำว่า ‘ออเจ้า’ กับผู้ที่พูดด้วยซึ่งเป็นผู้น้อย เช่น พ่อกับลูก พระมหากษัตริย์กับเจ้าประเทศราช

 

ยิ่งไปกว่านั้นคนระดับเดียวกัน เป็นหญิงเหมือนกัน ใช้สรรพนามนี้แทนอีกฝ่ายหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากนางศรีประจันและนางทองประศรีต่างก็ใช้คำว่า ‘ออเจ้า’ แทนกันและกัน

อย่างตอนที่นางทองประศรีจะสู่ขอนางพิมพิลาไลยให้พลายแก้ว นางศรีประจันเจ้าของบ้านถามทุกข์สุขและจุดประสงค์ของผู้มาเยือนว่า

“เมื่อเป็นโทษท่านโกรธให้ฆ่าผัว             ครั้งนั้นตัวออเจ้าไปอยู่ไหน

กับลูกชายหายไปอยู่แห่งใด                 สิบเอ็ดปีแล้วจึงได้มาพบพาน

เดี๋ยวนี้สุขทุกข์อย่างไรหนอ                 พอทำมาหากินเป็นถิ่นฐาน

ฤๅขัดสนจนใจด้วยภัยพาล                  ที่มาบ้านตูนี้ด้วยเหตุใด”

ถามเปิดทางอย่างนี้ก็เจรจากันง่าย

“ทองประศรีตอบคำศรีประจัน             ว่าทุกวันเราทุกข์หาสุขไม่

ยากยับอับจนเป็นพ้นไป                    ออเจ้าย่อมแจ้งใจแต่ไรมา”

นางทองประศรีบอกความต้องการว่า จะมาสู่ขอนางพิมลูกสาวศรีประจันให้ลูกชาย ‘ได้บากบั่นมาถึงเรือนอย่าเบือนไป จะได้ฤๅไม่ได้ให้ว่ามา”

 

น่าสังเกตว่าสรรพนาม ‘ออเจ้า’ ใช้กับผู้ที่พูดด้วยทั้งคนและผี ดังตอนที่พลายชุมพล (ลูกชายขุนแผนกับนางแก้วกิริยา) ทำพิธีเรียกผีที่ป่าช้า

“แล้วหยิบเอาข้าวสารมาหว่านซัด          เร่งรัดเรียกผีทุกตำบล

บรรดาภูตผีที่ถ้ำหนอง                       ห้วยคลองป่าไม้ไพรสณฑ์

ต่างกู่ก้องร้องเรียกกันอลวน                ด้วยกลัวมนตร์รีบมาไม่ช้าที

ต่างรับเครื่องเซ่นไม่เว้นตน                  ชุมพลเซ่นเสร็จแล้วเลือกผี

เอาแต่โหงพรายร้ายราวี                     พรุ่งนี้กูจะไปยังสุพรรณ”

พลายชุมพลเจาะจงเลือกเฉพาะบรรดาโหงพรายมีฤทธิ์และใช้คำเรียกผีดังกล่าวว่า ‘ออเจ้า’

“พวกออเจ้ามาเข้ากระบวนทัพ            ไปกำกับหุ่นมนตร์พลขันธ์

โหงพรายต่างรับด้วยฉับพลัน              ชุมพลนั้นกลับบ้านสำราญใจ”

 

นอกจากสรรพนาม ‘ออเจ้า’ ยังมีคำว่า ‘ออ’ ที่น่าจะมาจากคำเต็มๆ ว่า ‘ออเจ้า’ ต่อด้วยชื่อตัวละครทั้งชายและหญิง เช่น ‘ออแก้ว’ หมายถึง พลายแก้ว ลูกชายนางทองประศรี ตอนที่นางศรีประจันจะยกลูกสาว (ที่เป็นเมียพลายแก้ว) ให้ขุนช้าง เขยคนใหม่ ก็ไปหาสมภารวัดป่าเลไลยก์

“เอาหมากพลูเข้าประเคนทันที            ว่าวันนี้นิมนต์สวดมนต์บ้าน

ด้วยออแก้วนั้นตายวายปราณ            จะทำงานวันทองกับขุนช้าง”

สมภารขรัวตาจูพยายามทัดทานเต็มที่โดยให้เหตุผลว่า

ออแก้วยังไม่ตายวายวาง                 งดพลางฟังรูปก่อนเป็นไร”

นางศรีประจันฟังแล้วขัดใจ               ดื้อแพ่งจะจัดงานให้ได้ ขรัวตาจูจึงตัดบทว่า

“เมื่อไม่ฟังรูปห้ามก็ตามใจ                นิมนต์องค์อื่นไปเถิดดีกว่า

รูปกลัวออแก้วมันกลับมา                มันจะว่ารู้เห็นพลอยเป็นใจ”

เสภาเรื่องนี้ใช้คำว่า ‘ออ’ ต่อด้วยชื่อตัวละครหญิงในฐานะสรรพนามแทนผู้ที่พูดด้วยและผู้ที่พูดถึงเป็นระยะๆ อาทิ

“ปากสั่นคอสั่นพรั่นน้ำใจ                 เราจะทำกระไรออสายทอง

“สงสารออพิมพิลาไลย                   จะตั้งใจคอยผัวอยู่หนักหนา”

“จำต้องเกื้อหนุนแทนคุณเขา            ออบัวคลี่ลูกเราจะยกให้”

“ผัวว่ากลับเถียงเปรี้ยงเปรี้ยงดี          ถีบทำย่ำยีออสร้อยฟ้า

 

ที่พิเศษกว่าใครเขาคือพลายงาม เมื่อยังเยาว์และเมื่อเจริญวัยรับราชการมียศถาบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นไวยวรนารถ สรรพนามแทนตัวมีตั้งแต่ ‘ออพลาย’ ‘ออหนู’ และ ‘ออไวย’ ตอนที่นางทองประศรีจะโกนจุกพลายงามก็ให้หลานชาย ‘เข้าไปนั่งกราบกรานสมภารครู’ บอกให้รู้ว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขขุนแผน แล้วขอให้สมภารเกิดดูดวงทั้งลูกและหลานว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร

“แล้วท่านขรัวหัวร่อว่าออหนู             มันเจ้าชู้เกินการหลานอีศรี”

ความเจ้าชู้ของพลายงามจะทำให้ชีวิตวุ่นวาย      ส่วนขุนแผนที่ติดคุกนั้นก็พ้นเคราะห์

“อันอ้ายขุนแผนพ่อของออพลาย      จะพ้นปลายเดือนยี่ในปีกุน

นับแต่นี้มีสุขไม่ทุกข์ร้อน                ได้เตียงนอนนั่งเก้าอี้เป็นที่ขุน”

สรรพนามที่นางทองประศรีเรียกขานหลานชายเมื่อเป็นจมื่นไวยฯ หรือพระไวยแล้วคือ ‘ออไวย’ เป็นการเรียกอย่างยกย่องให้สมฐานะที่เป็นอยู่ ดังตอนที่นางด่าลำเลิกขุนแผนลูกชายอย่างรุนแรง เมื่อขุนแผนกับพระไวยทะเลาะวิวาทกัน

“กูถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงไว้          แต่อายุออไวยยังเด็กอยู่

อ้ายชาติข้าสองตามึงไม่ดู             มุดหัวคุดคู้อยู่ในคุก

ออไวยไปขอจึงออกได้                ขึ้นไปตีเชียงใหม่ได้เป็นสุข

ไปกินกาญจน์บุรีไม่มีทุกข์            กลับมาหาญราญรุกผู้มีคุณ

มึงจะเป็นผู้ดีสักกี่ชั้น                  เมื่อกระนั้นเขาก็เรียกว่าอ้ายขุน

เป็นเจ้าเมืองกาญจน์บุรีพอมีบุญ    ลืมคุณออไวยไปขอมา”

จาก ‘ออเจ้า’ ถึง ‘ออ’                 สรรพนามยอดฮิตนะนี่