ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : คัวหย้องล้านนา

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “คัวหย้องล้านนา”

แปลว่า เครื่องประดับตกแต่งร่างกายของล้านนา

ลูกปัดเป็นเครื่องประดับที่มนุษย์โบราณใช้มาราวสี่หมื่นปี เริ่มทำมาจากกระดูกสัตว์ ปะการัง พัฒนามาเป็นหินสี จนถึงยุคเหล็ก ยุคสำริด มีการหลอมโลหะชนิดต่างๆ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของล้านนาขาดหลักฐานการจดบันทึกที่กล่าวถึงรูปแบบเครื่องประดับของผู้คน

ในล้านนา ยุคหินมีการใช้หินเป็นเครื่องประดับเพิ่มขึ้น การขุดพบโครงกระดูกและเครื่องใช้ที่บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง จังหวัดลำพูน เมื่อปี พ.ศ.2530 นักโบราณคดีกรมศิลปากรสรุปว่ามีอายุราว 1,500 ปีมาแล้ว

แต่จากการศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดกันภายหลังพบว่ามีอายุเก่าแก่ไปถึง 3,000 ปี ร่วมสมัยกับบ้านเชียงที่จังหวัดอุดรธานี

เพราะมีความคล้ายคลึงกันในพิธีกรรมฝังศพ ทิศทางการหันศีรษะ และสิ่งที่ขุดพบในหลุมฝังศพโดยเฉพาะเครื่องมือหินเป็นมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่มีประเพณีฝังศพด้วยการฝังของใช้สำคัญหรือเครื่องประดับส่วนตัวและสิ่งของให้ผู้ตายบางอย่างไว้ใช้ในปรโลกตามความเชื่อพื้นถิ่นยุคก่อนประวัติศาสตร์

ในล้านนารู้จักทำเกษตรกรรมและตั้งหลักแหล่งไม่เร่ร่อน มีการติดต่อกับภายนอกทั้งซีกโลกตะวันตกคือกลุ่มของพ่อค้าอินโด-โรมัน ด้วยหลักฐานการพบลูกปัดหินคาร์เนเลียนสีส้ม ลูกปัดแก้วสีฟ้า เหลือง ส้ม แดง ลูกปัดเปลือกหอย ตุ้มหูแก้ว กำไลและลูกปัดในหลุมศพทำด้วยหินอะเมทีสต์

 

หลักฐานการติดต่อซีกโลกตะวันออกคือกลุ่มของอารยธรรมดองซอน กวางสี แถบเวียดนามเหนือและจีนใต้ พบลูกปัดในสมัยทวารวดีที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

และยังมีลูกปัดแบบต่างๆ ที่พบเห็นได้อย่างหลากหลายตามที่ชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่นลัวะและกะเหรี่ยงนำมาสวมใส่

ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลอย่างน้อยจากแหล่งอารยธรรมทวารวดีในตอนกลางของประเทศไทยและในเขตประเทศพม่าที่แพร่หลายกันมากกว่าพันปี

พบเครื่องประดับในหลุมฝังศพที่บ้านวังไฮที่ทำด้วยสำริด เช่น กำไลแบบแผ่นกลมแบนและแบบมีลูกกระพรวนล้อม ชนพื้นเมืองโบราณน่าจะมีก่อนชาวลัวะ (ละว้าจากที่ราบลุ่มตอนกลางบริเวณสุวรรณภูมิ) และเม็ง (มอญจากละโว้) เคลื่อนย้ายเข้ามาและที่อพยพเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ เช่นไทยวน ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทขึน และไทน้อย (ไทสยาม)

ต่อมาชาติพันธุ์เหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประชากรในอาณาจักรหริภุญไชยและล้านนา

 

ถึงสมัยประวัติศาสตร์ของล้านนาเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐาน ทำให้มีคติการบูชาและสร้างพระบรมธาตุขึ้นบนยอดดอยสูง

มีการบันทึกถึงการที่พระมหากษัตริย์กัลปนาข้าพระธาตุและการบรรจุเครื่องประดับของสิ่งมีค่าลงไปในหลุมครรภพระธาตุ (ช่องเก็บหรือภาชนะบรรจุพระธาตุ) พบลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน อาเกต กำไลสำริด ตุ้มหูแก้ว ในพื้นที่บริเวณที่ตั้งศาสนสถานในเมืองสำคัญของล้านนา เช่น สุวรรณโคมคำ ลำพูน เชียงแสน เชียงราย ลำปาง และพะเยา

พบเครื่องประดับชนชั้นสูง ทำด้วยสำริด แก้ว ลูกปัด อัญมณี และทองคำ ที่สร้างออกมาในรูปของเทริดหรือมงกุฎรัดเกล้า รัดแขน ตุ้มหู กำไลข้อมือข้อเท้า สายสร้อย ตุ้มหูและแหวน

ทั้งหมดนี้คือประวัติความเป็นมาของการใช้เครื่องประดับในล้านนา

 

คัวหย้องขุดได้ตี้บ้านวังไฮ เวียงยอง

แปลว่า เครื่องประดับขุดได้ที่บ้านวังไฮ เวียงยอง จังหวัดลำพูน