จาก Planet of the Apes ถึง I, Robot สู่ ‘นวัตกรรมช่วยคนเป็นอัมพาต’ / บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก Planet of the Apes ถึง I, Robot

สู่ ‘นวัตกรรมช่วยคนเป็นอัมพาต’

 

แฟนพันธุ์แท้ Planet of the Apes คงคุ้นเคย และชื่นชอบกับ Plot เรื่อง “จ๋อปฏิวัติ” กันเป็นอย่างดี

เพราะ Planet of the Apes ได้นำเสนอประเด็นการลุกขึ้นสู้ของกลุ่ม “วานรปลดแอก” ตั้งแต่ภาคแรกจนถึงภาคล่าสุด

กับการเดินเรื่องของ “กองทัพลิง” ที่รวบรวมไพร่พลเข้าต่อกรกับกองกำลังมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาค Rise of the Planet of the Apes

ที่ Caesar ลิงชิมแปนซีในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้รับตัวยาบางอย่าง ทำให้สมองสามารถพัฒนาศักยภาพใกล้เคียงกับคน

ล่าสุด เรื่องราวของ Caesar ในโลกแห่งความเป็นจริงได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือโครงการ Neuralink ของ Elon Musk ครับ

 

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเปิดเผยผลการทดลองระบบ A.I. (Artificial Intelligence) หรือ “ปัญญาประดิษฐ์”

ด้วยการฝัง Microchip เข้าไปในสมองของ “ลิงแสม” ที่ชื่อ Pager เพื่อเชื่อมโยงคลื่นสมองของ Pager เข้ากับระบบ A.I. ในการทดลองด้านการสื่อสาร (สั่งการ) เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยความรู้สึกนึกคิดของ Pager นั่นเองครับ

รายละเอียดการทดลองก็คือหลังจากผ่าตัดฝัง Microchip เข้าไปในสมองของ Pager ที่เชื่อมต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์กับระบบ A.I. จากนั้นได้ทำการทดสอบให้ Pager เล่นวิดีโอเกม Mind Pong

นอกจากความง่ายของ Mind Pong ที่เป็นรูปแบบเกม “ปิงปอง” ที่มีกติกาคือการเลื่อนไม้ตีปิงปองขึ้นลง เพื่อตีลูกปิงปองตอบโต้ไปกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีให้เลือกคือสามารถเล่นวิดีโอเกมนี้กับคอมพิวเตอร์ก็ได้ หรือจะเล่นกับมนุษย์ก็ได้ หรือ “ลิงด้วยกัน” ในอนาคตก็ได้แล้ว

สิ่งที่น่ากล่าวถึงในกรณีนี้ ก็คือนอกจาก Mind Pong จะเหมาะสำหรับ “การทดสอบง่ายๆ” กับ Pager แล้ว

ข้อสังเกตของผมก็คือการที่ Elon Musk เจ้าของบริษัท Neuralink จงใจใช้เกม Mind Pong ในการเปิดตัวครั้งนี้ก็คือ Elon Musk ตั้งใจใช้ Mind Pong เสมือนเป็นการสดุดีเกม Pong ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวิดีโอเกมแรกของโลกอีกด้วยครับ

 

กระบวนการทดสอบก็คือ (นักวิจัย) พี่เลี้ยงของ Pager จะทำการฝึกสอนการใช้ Joystick หรืออุปกรณ์เล่นเกมให้กับ Pager โดยสอนให้ Pager บังคับและควบคุม Cursor บนหน้าจอวิดีโอเกม Mind Pong หรือพูดง่ายๆ ก็คือ สอนให้ Pager เล่มเกม “ตีปิงปอง” เป็นนั่นเอง

และเมื่อ Pager ฝึกฝนการใช้ Joystick เล่นเกม Mind Pong จนคุ้นเคยกับกติกาของเกม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Pager มีความคล่องแคล่วในการเล่นเกมได้สักระยะหนึ่ง

ทางทีมนักวิจัยของ Neuralink ก็จะทำการถอดเอา Joystick ออกจากเครื่องเล่นวิดีโอเกม Mind Pong

วันต่อมา เมื่อ Pager ลิงน้อยมานั่งประจำที่เครื่องเล่นวิดีโอเกม Mind Pong แต่ครั้งนี้กลับไม่มี Joystick ให้ใช้เหมือนเคย ทว่า Pager ยังสามารถเล่นเกม Mind Pong ได้ต่อไป ทั้งที่ไม่มี Joystick ไว้คอยควบคุมการเล่นเกม

ทั้งนี้เนื่องเพราะทางทีมนักวิจัยของ Neuralink ได้เปลี่ยนช่องทางการควบคุมอุปกรณ์เล่นเกมจาก Joystick มาเป็นการส่งสัญญาณผ่านคลื่นสมองของเจ้า Pager ลิงแสมน้อย

เนื่องจาก Pager ได้รับการฝึกฝนให้เล่นเกม Mind Pong มาระยะหนึ่ง ทำให้ Pager คุ้นเคยกับ Joystick และต่อมาแม้ไม่มี Joystick ให้ใช้ ทว่ามือของ Pager ก็ยังขยับขึ้นลงตามจังหวะของลูกปิงปองในเกม

แน่นอน การขยับมือไปมาตามจังหวะลูกปิงปองของ Pager เกิดจากการสั่งงานของสมอง แถมยังสามารถเล่นเกมได้อย่างชำนาญ ราวกับใช้ Joystick

เมื่อเป็นเช่นนี้ รูปแบบสัญญาณ Microchip ในสมองของ Pager ที่ส่งออกมา จึงเป็นประโยชน์สำหรับการวิจัยครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ในแง่ที่ว่า Pager สามารถเล่นเกม Mind Pong โดยใช้แค่ความคิด และท่าทาง (ที่กำหนดจากสมอง) ได้เป็นอย่างดี

สําหรับโครงการ Pager เจ้าลิงน้อย เป็นการต่อยอดจากงานวิจัยหมูน้อย Gertrude ที่มีการฝัง Microchip เข้าไปในสมองของ Gertrude เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลสัญญาณประสาทของมนุษย์ และส่งสารสนเทศออกมาแบบ Real-time ออกมาทางหน้าจอ

โดยเป้าหมายปลายทางของ Neuralink ก็คือการสรรค์สร้างคุณูปการทางการแพทย์ ผ่านรูปแบบการรักษาโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็ง อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ผู้สูญเสียการมองเห็น หรือการได้ยิน และผู้ได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ และอัมพาต

 

Elon Musk แถลงในวันเปิดเผยผลการทดลองฝัง Microchip เข้าไปในสมอง Pager ว่า งานวิจัยของ Neuralink ชิ้นนี้ จะช่วยให้ “คนที่เป็นอัมพาต” สามารถ “ใช้มือถือผ่านความคิด”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถใช้ App ต่างๆ ในโทรศัพท์ได้รวดเร็วกว่าคนธรรมดาเสียอีก!

Elon Musk กล่าวว่า ในเฟสต่อไป Neuralink จะทดลองฝัง Microchip เพิ่มอีก 1 ตัว

1 ชิ้นเดิมในกลุ่มระบบประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว และอีก 1 ชิ้นในส่วนการรับรู้

ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้ผู้ที่เป็นอัมพาตช่วงล่างสามารถเดินได้อีกครั้ง!

กระบวนการทำงานก็คือ จะมีการบันทึก และถอดรหัสสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์สมอง โดยอาศัยขั้วไฟฟ้ากว่า 2,000 ขั้วใน Cortex กลีบสมองบริเวณหน้าผากส่วนหน้า ทำหน้าที่สั่งการประสานการเคลื่อนไหวของมือและแขน

 

จากผลงานที่ Neuralink ของ Elon Musk กับการฝัง Microchip ที่เชื่อมโยงระบบ A.I. เอาไว้ในสมองของหมูน้อย Gertrude

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Pager เจ้าลิงน้อยสำหรับการประดิษฐ์คิดค้น “นวัตกรรมช่วยคนเป็นอัมพาต” ทำให้ผมนึกถึง Planet of the Apes ดังที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง I, Robot และการก้าวสู่โลกยุค “โทรจิต” ดังที่ผมได้เคยเขียนเอาไว้ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้

ในตอน “Non-Cognitive Computing แก้ปัญหา A.I. ไร้อารมณ์” นั้น Sonny ใน I, Robot นอกจากจะได้รับการติดตั้ง A.I. ให้มี “สติปัญญา” และ “ความรู้” เหมือนสมรรถนะของมนุษย์แล้ว

Sonny ยังเป็น “หุ่นยนต์” ที่ถูกสร้างให้มี “วิญญาณ” “ความรัก” “ความรู้สึก” เหมือนหนังเรื่อง Ghost แถมด้วย “อารมณ์” และ “ความฝัน”

เพราะ Sonny ได้รับการเติมแต่งให้มี Non-Cognitive หรือ Soft Skill ส่งผลให้ Sonny แตกต่างจาก “หุ่นยนต์” ทั้งหมดใน I, Robot และ “หุ่นยนต์” ในอีกหลายต่อหลายเรื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Silent Speech System หรือระบบ “พูดไร้เสียง” ของ Facebook ที่จะใส่ Sensor รับ-ส่งสัญญาณจากคลื่นสมองของบุคคลต้นทาง นำไปถอดรหัส แปลงคลื่นสมองออกมาเป็นข้อความ และส่งผ่านข้อมูลไปยัง Vibrotactile Sensor หรือ “Sensor แบบสั่น” ของบุคคลปลายทาง

โดย Vibrotactile Sensor จะสร้างความสั่นสะเทือนคล้ายการทำหน้าที่ของ “หูชั้นใน” ที่จะส่งสัญญาณให้สมองรับรู้ถึงข้อความที่บุคคลต้นทางส่งมา

หากโครงการนี้สำเร็จเสร็จสิ้น จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน และผู้พิการทางสายตา ให้สามารถรับรู้ และสื่อสารได้ แทน Function การได้ยิน หรือการมองเห็นแบบเก่าของมนุษย์

นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดไปสู่ Mind-Reading Machine หรือ “เครื่องอ่านใจ” ที่เปิดกว้างให้ผู้คนต่างชาติต่างภาษา สามารถส่งผ่าน “ความคิด” สู่กันและกัน โดยที่ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยอะไรออกมาแม้แต่คำเดียว!

ที่สำคัญที่สุดก็คือคนเหล่านั้นสามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง แม้จะไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกันก็ตาม!