ใครกำหนดความไม่ปกติ : นิ้วกลม

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

ใครกำหนดความไม่ปกติ

 

“คนนี้มันไม่ค่อยปกติ”

บ่อยครั้งที่เราได้ยินใครคนหนึ่งพูดถึงใครอีกคนด้วยคำพูดทำนองนี้ บางครั้งก็ตัวเราเองนั่นแหละที่พูดออกมา และบางครั้งก็เป็นตัวเรานี่เองที่ถูกชี้นิ้วพิพากษาว่า ‘ไม่ปกติ’

นั่นสิ แล้ว ‘ปกติ’ คืออะไร

อะไรเป็นเกณฑ์ชี้วัด

ในทางจิตวิทยาคลินิกมองว่า พฤติกรรมที่เกิดจากการปรับตัวที่ล้มเหลวซึ่งทำให้บุคคลนั้นเกิดความวิตกกังวลและเข้ากับสังคมได้ยาก อาจเข้าข่ายนิยาม ‘อปกติ’

ขยายอีกนิดคือ คนนั้นอาจมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยมีเหตุผลและเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า พยาธิสภาพทางจิต ซึ่งเราๆ ท่านๆ มักใช้คำว่า ‘บ้า’ หรือ ‘วิกลจริต’

จะว่าไป ‘เหตุผล’ ที่กล่าวไปนั้นก็เป็นเรื่องที่ชวนคิดว่า ใครกันเล่ามาตัดสินความสมเหตุสมผล ในเมื่อผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ล้วนถูกหล่อหลอมขึ้นจากชุดความรู้ร่วมสมัยเดียวกัน จึงคิดคล้ายกัน มีแบบอย่างความดี ความงาม ความจริงที่คล้ายกัน หากใคร ‘หลุด’ จากกรอบเหล่านั้นก็ดูไม่มีเหตุผลไปเสียอย่างนั้น

ดูเหมือน ‘เหตุผล’ จะถูกก่อร่างขึ้นโดย ‘วัฒนธรรม’ ด้วย

อย่างตำราจิตเวชเองก็ยังเคยระบุว่ารักร่วมเพศเป็นความเจ็บป่วยทางจิตแบบหนึ่ง หรือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองก็ถูกมองเป็นเรื่องผิดปกติ ซึ่งเดี๋ยวนี้กลับกลายเป็น ‘ปกติ’ ไปแล้ว

นอกจากนั้น ‘แว่น’ อื่นๆ ของยุคสมัยก็มีผลต่อการมองความปกติของผู้คนรอบตัวเราด้วยกันทั้งนั้น ทั้งแว่นของเพศ เชื้อชาติ สถานะทางเศรษฐกิจ ดังที่ข้อมูลชี้ว่า เพศหญิงมีแนวโน้มเป็นโรคกลัวอ้วน (anorexia) มากกว่าเพศชาย ขณะที่ผู้ชายมีโอกาสติดสิ่งเสพติดมากกว่า

เอเดรียน เฟิร์นแนห์ม นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ 50 Psychology Ideas You Really Need to Know เล่าว่า สมัยโบราณผู้คนมีแนวคิดเรื่องสัตวนิยม (animalism) คือเชื่อว่าคนเราเหมือนสัตว์ และพฤติกรรมประหลาดเกิดจากความถดถอยทางอารมณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ในสมัยก่อนการจัดการกับ ‘คนป่วย’ คือแยกตัวเขาออกไปและลงโทษพวกเขา (ชวนให้นึกถึงปอบหรือกระสือ) ส่วนการรักษาอย่างเมตตาปรานีเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อล่วงเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 19 มานี่เอง

เอเดรียนยังอธิบายด้วยว่า วิธีคิดเรื่อง ‘อปกติ’ มีหลายแบบ สามารถแจกแจงได้ 5 อย่างใหญ่ๆ

1. ด้านอัตวิสัย หรือใช้ตัวเราเองตัดสิน

อันนี้โบราณสุด คิดง่ายๆ แค่ว่าคนที่เหมือนเราก็น่าจะปกติ ใครที่ต่างออกไปก็ไม่ปกติ มองคนอื่นแบบนี้ทำให้เห็นคนสามแบบ คือ ปกติ-ไม่ปกติ-ไม่ปกติอย่างแรง

2. ด้านบรรทัดฐาน

โดยใช้ไม้บรรทัด ‘คนดี’ ที่มีในใจตัวเองตัดสินคนอื่น เกณฑ์ความดีงามเหล่านั้นมักถูกสร้างขึ้นโดยนักคิดทางศาสนาหรือการเมือง ความปกติคือความสมบูรณ์แบบ ใครที่อยู่ห่างไปจากความสมบูรณ์แบบของความดีงามในอุดมคติก็เข้าข่าย ‘ไม่ปกติ’ มากขึ้นเรื่อยๆ วิธีคิดเช่นนี้ทำให้ไม่มีใคร ‘ปกติ’ แต่ทุกคนควรพยายามเข้าใกล้ ‘ความปกติ’ อันดีงามนั้นให้มากที่สุด

3. ด้านคลินิก

แว่นนี้เป็นเรื่องของหมอ มักประเมินความปกติจากพฤติกรรมการปรับตัวได้ยาก ความเจ็บปวด และพฤติกรรมแปลกประหลาด ซึ่งแน่นอนว่าความปกติกับไม่ปกตินั้นคลุมเครืออยู่ แต่คุณหมอทั้งหลายก็พยายามศึกษาและประเมินผลเพื่อหาคำตอบอยู่เสมอ

4. ด้านวัฒนธรรม

วัฒนธรรมในความหมายของการเป็นสรรพสิ่งที่รายล้อมวิถีชีวิตผู้คนล้วนเป็นตัวกำหนดว่า ‘คนทั่วไป’ เขาแต่งตัว ทำตัว กิน อยู่ มีมารยาท เคารพ ศรัทธา และเชื่อถือในสิ่งใด มันรายล้อมเราทั้งในแง่พฤติกรรม การกระทำ วิธีคิด ความรัก มันชื่นชมคนที่ทำตามและประณามคนที่นอกคอก วัฒนธรรมบอกกับเราว่าควรทำแบบนี้และห้ามไม่ให้เราทำอีกแบบหนึ่ง ถ้าใครสักคนกระทำตัวออกนอกกรอบวัฒนธรรมอันดีงามก็อาจถูกมองว่า ‘ไม่ปกติ’ ได้ ซึ่งเมื่อเวลาเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน สิ่งที่เคยไม่ปกติก็อาจกลายเป็นปกติก็ได้เช่นกัน เหมือนในกรณีรักร่วมเพศ

5. ด้านสถิติ

บางครั้งเราก็ตัดสินคนจาก ‘ค่ามีน’ โดยจับคนใส่กราฟแล้วพล็อตกราฟเพื่อดูว่า พฤติกรรมของคนนั้นยังอยู่ใน ‘ค่าเฉลี่ย’ ไหม ข้อมูลสถิติมักหยิบมาตัดสินเรื่องที่ใช้ตัวเลขวัดได้ เช่น คะแนนสอบ ความสูง น้ำหนัก เช่น ถ้าคนส่วนใหญ่มีคะแนนอยู่ในช่วง 70-130 คะแนน หากคุณต่ำกว่า 70 หรือสูงกว่า 130 คะแนนก็แปลว่าเป็นคนแปลก

วิธีนี้วัดความปกติจาก ‘คนส่วนใหญ่’ อย่างชัดเจน

 

ดูเหมือนสังคมจะต้องการ ‘ไม้บรรทัด’ เพื่อวัด ‘ความปกติ’ โดยอาจมีเหตุผลให้เกิดความเรียบร้อยขึ้นในสังคม อย่างน้อยก็รู้ว่ามีมาตรฐานบางอย่างที่ทุกคนสามารถดำเนินตามได้ หรือพยายามประคองตัวให้อยู่บนเส้นนั้น ไม่ออกนอกลู่นอกทาง เพื่อให้ ‘ส่วนใหญ่’ ไปในทิศทางเดียวกัน

สังคมจึงดำเนินไปตามคนส่วนใหญ่ซึ่งอาจมีความประพฤติที่คล้อยตามไปกับที่คนส่วนน้อยซึ่งมีอำนาจมากกว่าซึ่งเป็นผู้กำหนด ‘สิ่งที่ควรเป็น’

ใครไม่เข้าเกณฑ์ก็อาจถูกมองว่า ‘ไม่ปกติ’

แต่แนวคิดเรื่องปกติหรือไม่ปกตินี้มีปัญหาในตัวมันเองอยู่ เพราะหากมีใครสักคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์ดีแต่ดันตกไปอยู่ในสังคมที่ป่วยไข้ คนผู้นั้นอาจถูกตราหน้าว่า ‘ไม่ปกติ’ ได้เลยทีเดียว

เช่น ถ้ามีคนจมูกดีแล้วได้กลิ่นเหม็น พยายามชี้ชวนให้คนร่วมสังคมเห็นว่ามีกองขยะเน่าโชยกลิ่นไปทั่วจำเป็นต้องจัดการกับมัน ผู้คนทั้งสังคมที่ ‘จมูกเสีย’ หรือเสื่อมสมรรถภาพทางการดมกลิ่นไปแล้วกลับบอกตรงกันว่ากองขยะนั้นไม่ได้สร้างปัญหาแต่อย่างใด และกลิ่นที่ว่านั้นก็ไม่มีใครได้กลิ่น ตาคนนี้คิดเพี้ยนไปคนเดียว

คนดีจึงกลายเป็นคนบ้าได้ในสังคมเพี้ยนๆ

เรื่องปกติ-ไม่ปกตินี้จึงน่าคิดในสารพัดแง่มุม หากเราอยู่ในสังคมใดก็ตามไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะในครอบครัว กลุ่มเพื่อน องค์กร ชุมชน หรือประเทศ การจะชี้นิ้วว่าใคร ‘ไม่ปกติ’ หรือ ‘บ้า’ สิ่งที่น่าใคร่ครวญเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ เราใช้ ‘ไม้บรรทัด’ อะไรไปวางทาบ ‘คนบ้า’ คนนั้น แล้วเราได้ ‘ไม้บรรทัด’ นี้มาจากไหน ใครเป็นคนมอบมันให้กับเรา

ในอีกมุม, หากวันใดวันหนึ่งเราเป็นฝ่ายถูกครหาชี้นิ้วพิพากษาว่าเป็น ‘คนบ้า’ ก่อนที่จะก้มหน้ายอมรับและรู้สึกแย่กับตัวเอง ก็น่าใคร่ครวญมองไปที่ ‘ไม้บรรทัด’ ของคนที่บอกว่าเราบ้าดูสักหน่อยว่า ไม้บรรทัดนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นไม้บรรทัดจากใคร เป็นไม้บรรทัดในยุคสมัยไหน เป็นไม้บรรทัดของคนกลุ่มไหน

เพราะโลกล้วนเปลี่ยนไม้บรรทัดไปเรื่อยๆ สิ่งที่เคยดี เคยงาม เคยจริง ก็ล้วนถูกหักทิ้งและเปลี่ยนเกณฑ์วัดมานักต่อนักแล้ว

‘ปกติ’ นั้นวัดกันได้จริงไหม-ไม่แน่ใจ

มันมี ‘ปกติ’ แค่แบบเดียวไหม-ไม่แน่ใจ

คงไม่มีใคร ‘ปกติ’ สำหรับทุกไม้บรรทัดในโลกนี้

และบางที, คนที่เอ่ยอ้างว่าตัวเองปกติอยู่ฝ่ายเดียวนี่แหละที่น่ากลัวกว่าคนซึ่งถูกกล่าวหาว่า ‘ไม่ปกติ’ เสียด้วยซ้ำ