‘กัลฟ์’ เทกโอเวอร์ ‘อินทัช-แอดวานซ์’ ผงาดคุมโครงสร้างพื้นฐานประเทศ / บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

‘กัลฟ์’ เทกโอเวอร์ ‘อินทัช-แอดวานซ์’

ผงาดคุมโครงสร้างพื้นฐานประเทศ

 

ประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจระดับทอล์กออฟเดอะทาวน์ เป็นข่าวร้อนแรงในแวดวงธุรกิจขณะนี้หนีไม่พ้นดีลการเทกโอเวอร์กิจการบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

หลังยักษ์ใหญ่วงการธุรกิจพลังงานแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท GULF เมื่อ 18 เมษายน 2564 มีมติอนุมัติให้บริษัทลงทุนในหุ้นทั้งหมดของ INTUCH โดยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข ก่อนการทำคำเสนอซื้อในราคาหุ้นละ 65.00 บาท จำนวนไม่เกิน 2,599,631,112 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 81.07% จากปัจจุบันบริษัทถือครองหุ้น INTUCH อยู่แล้ว 606,878,314 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 18.93%

ถือเป็นการประกาศเข้าครอบงำกิจการครั้งสำคัญอีกครั้งในแวดวงธุรกิจเมืองไทย

และเป็นก้าวสำคัญของ GULF ในการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจสื่อสาร และดิจิตอลเต็มตัว

 

นายสมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารสินทรัพย์ธุรกิจในเครือและการลงทุน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ กล่าวว่า เป้าหมายของ GULF คือต้องการขยายพอร์ตธุรกิจ จากที่ GULF เติบโตมาจากผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างหนึ่ง และที่ผ่านมาได้ขยายการลงทุนในท่าเรือ (แหลมฉบังเฟส 3) โครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินทางด่วน (มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี) รวมทั้งได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG)

ดังนั้น การเข้าซื้อหุ้น INTUCH ก็เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลที่มีความยั่งยืนสำหรับอนาคต จากที่สังคมและเศรษฐกิจไทยมีการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลมากขึ้น

“INTUCH เป็นแพลตฟอร์มที่ดี มีบริษัทที่หลากหลายอยู่ในพอร์ต ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องธุรกิจดิจิตอล โทรคมนาคม อินชัวร์เทค อีคอมเมิร์ซ ซึ่งแพลตฟอร์มต่าง ๆ สามารถต่อยอดในอนาคตได้ การลงทุนครั้งนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมของบริษัทไปสู่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวด้วย”

“นอกจากนี้ INTUCH ยังมีกระแสเงินสดที่ดี มีพันธมิตรหรือผู้ถือหุ้นที่ดี และมีการบริหารจัดการที่แข็งแกร่ง รวมทั้งมีประวัติการจ่ายปันผลที่ดี เป็นเหตุให้บริษัทตัดสินใจเข้าไปลงทุน”

คาดว่า GULF จะใช้เงินลงทุนใน INTUCH รวมประมาณ 2 แสนล้านบาท

โดยที่ผ่านมาได้ทยอยซื้อหุ้นมาตั้งแต่ปี 2563 รวมเป็นเงินราว 4 หมื่นล้านบาท และครั้งนี้อีกราว 1.69 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หากตัดหุ้นในส่วนของ “สิงเทล” ออกไป หลังจาก Singtel Global Investment Pte.Ltd. ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งของ INTUCH ออกแถลงการณ์ว่า การลงทุนใน INTUCH และ ADVANC เป็นกลยุทธ์การลงทุนในระยะยาว ซึ่ง GULF จะเหลือหุ้นที่เข้าไปซื้อได้กว่า 50%

และน่าจะใช้เงินลงทุนแค่ 1 แสนล้านบาท

“บริษัทได้จัดเตรียมวงเงินไว้กับหลายธนาคาร ทั้งธนาคารในและต่างประเทศ โดยช่วงแรกจะใช้เงินกู้ระยะสั้น (bridge financing) ก่อน หลังจากนั้นจะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เพราะขนาดรายการค่อนข้างใหญ่ และยืนยันว่าไม่มีแผนเพิ่มทุน”

นายสมิทธ์กล่าวว่า หากการเสนอซื้อหุ้นครั้งนี้ ได้หุ้น INTUCH เกินกว่า 50% บริษัทจะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) หุ้นทั้งหมดของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ด้วย

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นบริษัทจะขอยกเว้นเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดใน THCOM เนื่องจากไม่ได้ต้องการเข้าไปเป็นโอเปอเรเตอร์ของธุรกิจโทรคมนาคม

ส่วน ADVANC บริษัทได้เสนอราคาซื้อไว้ที่ 122.86 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก

ดังนั้น ประเมินว่าคงไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดมาเสนอขาย

ทั้งนี้ GULF จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เพื่อขอมติที่ประชุมในการทำธุรกรรมดังกล่าว และคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งระหว่างนี้จะต้องแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) มาประเมินมูลค่าของ INTUCH

ขณะเดียวกันทาง INTUCH ก็ต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป

 

ด้านนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ดีลนี้ถือเป็นผลดีกับผู้ถือหุ้น INTUCH เพราะการเสนอราคาแพงกว่าราคาตลาด และถ้าซื้อสำเร็จจะเป็นการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ ซึ่งมีความแข็งแรง และจะเพิ่มสายสัมพันธ์ทางการเมืองให้กับกลุ่ม INTUCH เพื่อต่อกรกับกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE จึงมองดีลนี้เป็นบวกสำหรับ INTUCH

รวมถึงมองว่า GULF ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้น ADVANC ก็สามารถเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ADVANC ทางอ้อมอยู่แล้ว โดยในกรณี GULF ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีก 10% ก็จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ INTUCH เกือบ 30% รวมทั้งสามารถขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ADVANC ได้ทันที จึงไม่จำเป็นต้องเสียเงินเพิ่ม

สำหรับภาพการแข่งขันในธุรกิจสื่อสาร นายพิสุทธิ์มองว่า ไม่น่าเปลี่ยนไปมาก เพราะยังมีผู้เล่นรายใหญ่ 3 รายเท่าเดิม เพียงแต่จากเดิมที่เป็นต่างชาติก็กลายเป็นคนไทย ซึ่งค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง

แต่ถ้าในมุมอ่อนแอก็มี เพราะ GULF ไม่เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้ให้บริการมือถือ แต่ถ้าบริหารจัดการได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา

 

กลุ่มธุรกิจ GULF มี “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 35.55% ถือเป็นผู้นำธุรกิจโรงไฟฟ้าของประเทศ ครอบคลุมทั้งการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน

โดยหลังจาก GULF เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2560 “สารัชถ์ รัตนาวะดี” จึงก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีหุ้นอันดับ 1 ของประเทศไทย ในปี 2562 และปี 2563

ขณะที่โครงสร้างธุรกิจหลักของ GULF แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า, ธุรกิจก๊าซ, ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจพลังงานน้ำ และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โดยปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 33,370 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,282 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเข้าร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน ชนะประมูลสัมปทานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F ระยะเวลา 35 ปี วงเงิน 84,361 ล้านบาท

รวมถึงการเป็นพันธมิตรกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป ผู้ชนะประมูลโครงการติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะเวลา 30 ปี

ด้วยวงเงิน 39,138 ล้านบาท

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 GULF ประกาศซื้อหุ้นของบริษัท ปตท. จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTT NGD) จากบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด 2% มูลค่า 130 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของ GULF ใน PTT NGD เพิ่มเป็น 42% เป็นอันดับ 2 รองจาก บมจ.ปตท (PTT) ที่มีสัดส่วน 58%

ดีลเทกโอเวอร์ INTUCH จึงเป็นการต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจของ GULF เพื่อให้มีบทบาทครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศอย่างครบวงจร พร้อมๆ กับการขยายอาณาจักร “แชมป์มหาเศรษฐีหุ้น”

นับเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ในแวดวงธุรกิจ สวนทางเศรษฐกิจกับโควิดระลอก 3 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้อยใหญ่อยู่ในขณะนี้