ร่องรอยบางกอกยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย (2) / พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ร่องรอยบางกอกยุคต้นรัตนโกสินทร์

ในแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย (2)

 

ทําไมแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย ซึ่งถูกรังวัดสำรวจในราว พ.ศ.2425-2429 (ตีพิมพ์ พ.ศ.2430) จึงสามารถบอกเล่าเรื่องราวย้อนกลับไปได้เกือบ 100 ปี

นี่คือคำถามสำคัญที่จำเป็นต้องพูดถึงก่อนเป็นลำดับแรก

แผนที่ชุดนี้สำรวจรังวัดและบันทึกข้อมูลภูมิสถานกรุงเทพฯ และกรุงธนบุรีในช่วงระยะเวลาครึ่งหลังของทศวรรษที่ 2420 ซึ่งถือว่าเป็นยุคสมัยที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุดสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์

เป็นยุคที่สยามกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ในทุกด้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงที่แสดงออกผ่านการวางผังเมืองและโครงการทางสถาปัตยกรรมต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการขยายเมืองออกไปทางทิศตะวันออกโดยมีถนนบำรุงเมืองตอนนอกเป็นแนวแกนสำคัญที่ยาวต่อเนื่องไปจนถึงวังสระปทุมและวัดปทุมวนารามที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งรัชกาลที่ 4

รวมถึงการสร้างวังใหม่ (วังวินเซอร์) สำหรับสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และวังของพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

ส่วนพื้นที่ด้านท้ายน้ำที่เกาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเจริญกรุงก็เริ่มปรากฏให้เห็นโครงข่ายถนนสมัยใหม่หลายสายในยุคต้นรัชกาลที่ 5 ตลอดจนตึกรามบ้านเรือนหนาแน่นแสดงความเป็นย่านชุมชนที่คึกคักมากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ

ในแง่สถาปัตยกรรม แผนที่ชุดนี้คือหลักฐานเก่าที่สุดที่บันทึกที่ตั้งและแผนผังอาคารราชการสมัยใหม่ที่กำลังทยอยสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นเพื่อรองรับกับการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2435 เช่น ศาลสถิตยุติธรรม, โรงทหารหน้า (กระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน), ตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข และอาคารโรงภาษี (ศุลกสถาน) เป็นต้น

ดังนั้น จึงไม่แปลกเลยหากใครจะจัดเอกสารชุดนี้ในฐานะหลักฐานที่ใช้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสยามในยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความศิวิไลซ์แบบตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19

สภาพเครือข่ายคูคลองฝั่งธนบุรีจากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย

แต่ดังที่กล่าวไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนนะครับว่า สิ่งที่ปรากฏในแผนที่ชุดนี้ ไม่ได้มีเพียงภาพรุ่งอรุณแห่งความศิวิไลซ์เท่านั้นที่ถูกบันทึกไว้

แต่แผนที่ชุดนี้ยังได้บันทึกร่องรอยของบ้านเมืองในยุคก่อนสมัยใหม่ที่กำลังจะสูญหายไป (ในอีกไม่กี่ปีหลังจากที่แผนที่ชุดนี้ตีพิมพ์) เอาไว้ได้เป็นจำนวนมาก

หลายอย่างช่วยให้เราย้อนกลับไปเห็นภาพบ้านเมืองได้ไกลจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์

เป็นที่รับรู้ทั่วไปนะครับว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ยุคต้นรัตนโกสินทร์มีข้อจำกัดมากในเรื่องหลักฐาน ส่วนใหญ่เรามีหลักฐานหลักเพียง 2 กลุ่ม คือ เอกสารลายลักษณ์ทั้งหลาย เช่น พงศาวดาร วรรณกรรม และจารึก อาจมีบันทึกชาวต่างชาติบ้างแต่ก็ไม่มากนัก

กับอีกกลุ่มคือ ภาพถ่ายเก่าที่ก็เริ่มมีการบันทึกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เท่านั้น

หลักฐานทั้งสองกลุ่ม แม้จะให้รายละเอียดบ้านเมืองในสมัยนั้นได้ดีพอสมควรแต่ก็ยังถือว่ามีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยทั้งในแง่ปริมาณและมุมมองที่มีเพียงมุมมองเดียวจากกลุ่มคนชั้นสูงที่สามารถจดบันทึกได้และมีเงินพอจะถ่ายรูปได้

ลักษณะดังกล่าว ทำให้เราอาจพูดได้ว่า ภาพของบ้านเมืองยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์จากหลักฐานที่มีอยู่มีลักษณะเป็นเสมือนภาพถ่ายที่พร่าเลือนที่เผยตัวให้เห็นเพียงบางแง่มุมเท่านั้น

แต่การปรากฏขึ้นของแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มภาพด้านอื่นๆ ของยุคต้นรัตนโกสินทร์ให้ชัดเจนขึ้นไม่มากก็น้อย

ภาพพื้นที่วัดสัมพันธวงศ์จากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย

แน่นอน เราคงไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าพื้นที่ส่วนใดคือสภาพที่ต่อเนื่องโดยไม่เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ (และความเป็นจริงของไม่มีพื้นที่ใดที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยสิ้นเชิงเช่นกัน) ซึ่งผมเข้าใจข้อจำกัดนี้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หากเราใช้มันอย่างตระหนักถึงข้อจำกัดนี้อยู่เสมอ มองมันอย่างวิพากษ์ และคอยสอบทานกับหลักฐานประเภทอื่นอย่างระมัดระวัง ผมก็เชื่อว่าแผนที่ชุดนี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยเผยให้เห็นบ้านเมืองในยุคต้นรัตนโกสินทร์บางด้านที่ไม่ปรากฏอยู่ในหลักฐานประเภทอื่น

ในขณะที่หลายคนมองเห็นโครงข่ายถนนเพื่อความศิวิไลซ์ผ่านแผนที่ชุดนี้ ในเวลาเดียวกันเราก็ยังมองเห็นความเป็นเมืองน้ำที่เต็มไปด้วยเครือข่ายคูคลองมากมายกระจายตัวอยู่ทั่วไปในแผนที่ชุดนี้เช่นกัน

ซึ่งที่ผ่านมาเรารับรู้สภาพดังกล่าวได้เพียงผ่านตัวอักษรในพงศาวดารและบันทึกชาวต่างชาติเท่านั้น

 

พื้นที่ฝั่งธนบุรีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เราทราบกันเป็นอย่างดีว่า ชื่อเรียกย่านชุมชนต่างๆ ของฝั่งธนบุรีที่มีคำหน้าว่า “บาง” นั้นก็แปลว่า “คลอง”

อันแสดงให้เห็นว่าย่านต่างๆ ในอดีตของพื้นที่ฝั่งนี้มีลักษณะทางกายภาพที่เป็นเครือข่ายของคลองซอยเล็กๆ น้อยๆ กระจายตัวอยู่เต็มไปหมด และมีการขุดลำกระโดงแยกย่อยเข้าที่สวนต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกและคมนาคม

และเราก็ทราบผ่านคำบอกเล่าของคนโบราณอีกเช่นกันว่า ฝั่งธนบุรีคือพื้นที่สวนผลไม้ที่ดีที่สุดของไทย โดยบางต่างๆ ในฝั่งธนบุรีนี้ก็คือแหล่งผลไม้ขึ้นชื่อเกือบทั้งหมดโดยสะท้อนผ่านคำขยายที่ใช้เรียกต่อจากชื่อผลไม้แต่ละชนิด เช่นที่ “กาญจนาคพันธุ์” เล่าไว้เป็นตัวอย่างว่า

“…ทุเรียนบางบน เคยมีชื่อมาเก่าแก่ เป็นต้นว่า ทุเรียนบางขุนนนท์ บางผักหนามมีชื่อมาก ต่อมาก็มีทุเรียนบางล่าง เช่น ทุเรียนตำบลวัดทอง เป็นต้น…สับปะรดต้องบางบำหรุ ฝรั่งบางเสาธง กระท้อนคลองอ้อมบางบัวทอง ลางสาดคลองสาน มะม่วงท่าอิฐ อ้อยจีนบางใหญ่ อ้อยไทยบางโควัด…ในสมัยรัชกาลที่สอง กระท้อนบางบัวทองชนิดหนึ่งมีชื่อว่า ‘นิ่มนวล’ รสดีเลิศกว่าที่อื่นหมด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรด ถึงกับยกอากรสวนกระท้อนที่ชื่อนิ่มนวลให้ทั้งหมด…”

เรื่องเล่าเหล่านี้แม้จะอธิบายภาพฝั่งธนบุรีที่มองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยสวนผลไม้ที่ปลูกแบบสวนยกร่อง ลำกระโดง คูน้ำ ลำคลอง โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนในแต่ละย่าน

แต่ก็เป็นภาพที่หลายคนอาจจินตนาการไม่ออก ในขณะที่แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัยแสดงภาพดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีภาพของเส้นทางการค้าขายและขนส่งผลไม้โบราณที่ “กาญจนาคพันธุ์” ไล่เรียงผ่านความทรงจำว่าเริ่มตั้งแต่วัดกำแพง วัดภาษีเจริญ คลองด่าน ตลาดพลู บางลำเจียก บางไส้ไก่ วัดท้ายตลาด วัดหงษ์ วัดแจ้ง วัดกัลยา ที่เต็มไปด้วยเรือผลไม้แจวพายขึ้นล่องและจอดกันตลอดสองฝั่งคลอง

ภาพของเส้นทางเหล่านี้จะปรากฏชัดมากขึ้นทันทีหากเราคิดไปพร้อมกับการดูแผนที่ชุดนี้

 

แม้แต่ฝั่งพระนครก็เช่นกัน บางย่านของพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับอิทธิพลการพัฒนาแบบสมัยใหม่มากนัก ก็ทิ้งร่องรอยสภาพภูมิศาสตร์โบราณเอาไว้ให้เราเห็นได้ในแผนที่ชุดนี้ เช่น บริเวณ “วัดสัมพันธวงศ์” ซึ่งคนสนใจประวัติศาสตร์จะรู้ว่าวัดแห่งนี้มีชื่อเดิมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ว่า “วัดเกาะ” หรือ “วัดเกาะแก้วลังการาม”

ที่มีชื่อเช่นนั้นก็เนื่องมาจากสภาพโดยรอบของวัดที่มีคูคลองล้อมรอบและสามารถเชื่อมต่อเข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ซึ่งเรามองไม่เห็นเลยจากปัจจุบัน

หรือแม้กระทั่งจาก “แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450” (แผนที่กรุงเทพฯ ชุดที่สำรวจแบบละเอียดและเชื่อว่าเก่าที่สุดที่หลงเหลืออยู่ ก่อนที่จะค้นพบแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย) เราก็มองไม่เห็นสภาพดังกล่าว

แต่แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย สามารถบันทึกสภาพนี้เอาไว้ได้ทัน

เราจะเห็นสภาพโดยรอบวัดเกาะตรงตามประวัติและตำนานชัดเจน แม้จะเริ่มเห็นถนนที่ตัดขึ้นใหม่ตามการพัฒนาที่เริ่มเข้ามาแล้ว

แต่สภาพของความเป็นวัดที่มีน้ำล้อมรอบมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (หรือตั้งแต่สมัยอยุธยา) ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่

 

แผนที่ชุดนี้ยังแสดงให้เห็นลักษณะของความเป็นเมืองยุคโบราณของกรุงเทพฯ ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น กำแพงเมืองเก่า ป้อม ประตูเมือง และพื้นที่ชานกำแพงพระนคร ที่เรียกว่ายังปรากฏทุกอย่างอยู่เกือบครบทุกองค์ประกอบตั้งแต่เมื่อครั้งสร้างกรุงเทพฯ

ที่สำคัญคือ แผนที่ชุดนี้ยังได้บันทึกร่องรอยของท้องสนามหลวงเมื่อครั้งยังไม่ถูกขยายให้กว้างดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนพื้นที่และขอบเขตของ “วังหน้า” สมัยต้นรัตนโกสินทร์เอาไว้ได้หลายส่วน ซึ่งสำคัญมากต่อการศึกษาทางด้านผังเมือง ศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในยุคโบราณของสังคมไทย

ซึ่งประเด็นนี้เราจะมาพูดถึงกันต่อในสัปดาห์หน้า