วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (21) / วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (21)

 

เบื้องต้นว่าด้วยเรื่องน้ำแข็งละลาย

ที่เขตขั้วโลกเหนือ

ปรากฏการณ์น้ำแข็งละลายในเขตขั้วโลกเหนือ เป็นสิ่งที่ประจักษ์แก่ตา และเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ

เนื่องจากสามารถส่งผลกระทบรุนแรงอย่างเหลือเชื่อ

ตัวมันเองก็มีความซับซ้อนมาก ควรที่จะได้ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องภูมิอากาศโลกและภูมิอากาศขั้วโลกเหนือบางประการ

ดังนี้

 

1)ภูมิอากาศกับลมฟ้าอากาศ

ภูมิอากาศเป็นข้อมูลเชิงสถิติในพื้นที่หนึ่งในเวลายาวนาน เช่น ราว 30 ปี

ข้อมูลดังกล่าวได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ ลม ฝน จำนวนอนุภาคของสิ่งต่างๆ ที่ลอยในอากาศ และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาอื่นๆ ส่วนลมฟ้าอากาศเป็นสภาพเงื่อนไขที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเช่นในเวลา 2 สัปดาห์

กล่าวกันว่า “ภูมิอากาศเป็นสิ่งที่เราคาดหวัง ลมฟ้าอากาศเป็นสิ่งที่เป็นอยู่จริง”

ภูมิอากาศในที่หนึ่งกำหนดด้วยตำแหน่งละติจูด ลักษณะภูมิประเทศ ความสูง น้ำแข็งหรือหิมะที่ปกคลุม ห้วงน้ำและกระแสน้ำ สิ่งสำคัญที่ใช้ในการจำแนกภูมิอากาศได้แก่ อุณหภูมิ

และหยาดน้ำฟ้า

2) ความสำคัญของเรื่องภูมิอากาศและการทำแผนที่

มนุษย์เป็นนักเดินทางและนักค้าขาย (ตามสัญชาตญาณต่างตอบแทน) จำเป็นต้องมีความรู้ในการกำหนดตำแหน่งสถานที่และการหาทำเลในการทำกิน รู้สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ

อาณาจักรโบราณรู้จักการทำแผนที่มากว่า 5,000 ปี ปรากฏหลักฐานเป็นแผนที่จารบนดินเหนียวอายุกว่า 2,600 ปี แสดงเมืองบาบิโลนที่ตั้งอยู่ตรงกลาง บนลุ่มน้ำยูเฟรตีส ล้อมด้วยภูเขา ถัดไปเป็นทะเล

จักรวรรดิทั้งหลายมักตั้งในบริเวณที่มีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ มีเส้นทางติดต่อค้าขายสะดวก

เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ การทำแผนที่และความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมทั่วโลก ยิ่งมีความสำคัญจนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ เนื่องด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติการพิมพ์ ยุคแห่งการสำรวจ การขยายตัวของการศึกษา การค้นพบอเมริกา และการสร้างอาณานิคมทั่วโลกของชาติตะวันตก

เมื่อถึงปี 1596 เจอราร์ดัส เมอร์เคเตอร์ นักทำแผนที่ชาวเฟลมิชได้เผยแพร่แผนที่โลกซึ่งมีความแม่นยำสูงขึ้น ในปี 2005 กูเกิลได้พัฒนาแผนที่เสมือนของตน เปิดให้บริการครั้งแรก

ทุกวันนี้เราได้รับรู้เรื่องการพยากรณ์อากาศเป็นประจำวัน

 

3)การแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิพเพน

วลาดิมีร์ เคิพเพน (Vladimir Koppen 1846-1940) นักภูมิศาสตร์ นักอุตุนิยมวิทยา นักภูมิอากาศ และนักพฤกษศาสตร์ชาวรัสเซีย จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

แต่ชีวิตการทำงานส่วนใหญ่อยู่ที่เยอรมนีและออสเตรีย บางที่ถือว่าเขาเป็นชาวรัสเซีย-เยอรมัน

เคิพเพนเสนอทฤษฎีการจำแนกภูมิอากาศโลกครั้งแรกปี 1884 โดยใช้เกณฑ์อุณหภูมิและหยาดน้ำฟ้าเป็นสำคัญ

ต่อมามีการปรับแก้อีกหลายครั้ง ฉบับสมบูรณ์เผยแพร่ปี 1918 ฉบับแก้สุดท้ายปี 1936 ยังมีนักวิชาการอื่นมาช่วยสานต่อ

ถือว่าเป็นการจำแนกเขตภูมิอากาศที่มีผู้นิยมใช้มากในปัจจุบัน

การจำแนกแบบนี้ เสนอว่าโลกมีเขตภูมิอากาศใหญ่ 5 กลุ่มได้แก่

1) กลุ่มภูมิอากาศร้อนและชุ่มชื้น ไม่มีฤดูหนาว อุณหภูมิปานกลางทุกเดือนของปีสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 875 ม.ม.ต่อปี

2) กลุ่มภูมิอากาศแห้งแล้ง อัตราการระเหยของน้ำมากกว่าอัตราน้ำฝนที่ตกมา

3) กลุ่มภูมิอากาศอุ่นและชุ่มชื้น มีทั้งฤดูหนาวและฤดูร้อนปรากฏชัด

4) กลุ่มภูมิอากาศหนาวเย็น ฤดูหนาวอากาศหนาวเย็นจัด เดือนที่มีอุณหภูมิต่ำสุดต่ำกว่า -3 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอุณหภูมิสูงสุด เฉลี่ยสูงกว่า 10 องศาเซลเซียส

5) กลุ่มภูมิอากาศขั้วโลก ไม่มีฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่สูงสุดต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส

อนึ่ง ในกลุ่มใหญ่ข้างต้นแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกรวมแล้วในโลกมีเขตภูมิอากาศนับสิบ

แต่ในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หมายถึงว่าพื้นที่จำนวนมากในเขตภูมิอากาศต่างๆ ย่อมจะต้องเผชิญกับความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ เรียกกันว่า “ลมฟ้าอากาศสุดขั้ว” หรือ “ลมฟ้าอากาศรุนแรง” บางแห่งใช้คำว่า “ภูมิอากาศสุดขั้ว” ซึ่งส่อความว่า สิ่งสุดขั้วในขณะนี้จะกลายเป็น “ความปรกติใหม่” ในเวลาต่อไป

การสุดขั้วหรือความรุนแรงของลมฟ้าอากาศนี้ สามารถแสดงตัวได้ตั้งแต่เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น ไม่ต้องถึง 1 องศาเซลเซียส สำหรับเขตภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนได้แก่เขตขั้วโลกเหนือ

ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

 

4)เขตขั้วโลกเหนือกับการละลายของน้ำแข็ง

ที่ควรกล่าวถึงคือ

ก) เขตขั้วโลกเหนือมีความสุดขั้วทางภูมิอากาศในตัว ที่สำคัญเกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับระนาบทางโคจรรอบดวงอาทิตย์ในรอบ 1 ปีการเอียงของโลกนี้เป็นเหตุปัจจัยใหญ่ทำให้เกิดภูมิอากาศต่างๆ ในโลก เนื่องจากความเข้มของแสงอาทิตย์ตกกระทบผิวโลกต่างกัน โดยละติดจูดที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรที่ 0 องศา จะได้รับแสงเข้มข้นกว่าและร้อนกว่า

ส่วนบริเวณขั้วโลกเหนือซึ่งอยู่เส้นละติจูดสูงกว่า กำหนดทั่วไปว่าอยู่ที่ละติจูด 66.5 องศาเหนือหรือวงกลมอาร์ติก ได้รับแสงเข้มข้นน้อยกว่ามาก ทำให้ขั้วโลกเหนืออากาศหนาวมีน้ำแข็งปกคลุมหรือมีชั้นดินเยือกแข็งอยู่ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ เวลาที่ได้รับแสงอาทิตย์ก็ยังต่างกันมากกับบริเวณเส้นศูนย์สูตร โดยบริเวณเส้นศูนย์สูตรได้รับแสงอาทิตย์สม่ำเสมอ

กล่าวอย่างคร่าวๆ คือมีกลางวัน 12 ชั่วโมง กลางคืน 12 ชั่วโมง แต่ในเขตขั้วโลกเหนือในวงกลมอาร์กติก มีช่วงเวลาที่ได้รับแสงอาทิตย์ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลานับเดือน เรียกกันว่า “พระอาทิตย์เที่ยงคืน” ที่ขั้วโลกเหนือแท้ๆ ยิ่งสุดขั้วกว่านั้น กล่าวคือ มีช่วงได้รับแสงแดดเป็นอาทิตย์เที่ยงคืนถึง 187 วัน และมีเวลาที่มืดมิดไม่ได้รับแสงอาทิตย์ 163 วัน เกิดภูมิอากาศที่สุดขั้วได้ง่าย

ข) ขั้วโลกเหนือไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิมากกว่าขั้วโลกใต้

บริเวณขั้วโลกใต้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทวีปแอนตาร์กติกา ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรใต้หรือมหาสมุทรแอนตาร์กติกที่อยู่ติดต่อกันมหาสมุทรแปซิกฟิก แอตแลนติก และอินเดีย น้ำแข็งที่จับตัวเป็นพืดน้ำแข็งหนาเฉลี่ยกว่า 2 กิโลเมตร

น้ำแข็งในโลกนี้อยู่ที่บริเวณขั้วโลกใต้ถึงราวร้อยละ 90 ของทั้งหมด อากาศหนาวมาก ขณะที่น้ำแข็งที่จับตัวในเขตขั้วโลกเหนือเป็นทะเลน้ำแข็ง มีความหนาเพียง 2-3 เมตร เมื่ออุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส ก็ปรากฏน้ำแข็งละลายอย่างน่าตกใจ

นอกจากนี้ น้ำแข็งละลายที่ขั้วโลกเหนือ ยังส่งผลกระทบได้สูงมาก เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่และประเทศมหาอำนาจทั้งหลายอยู่ในซีกโลกเหนือ

สำหรับพืดน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ซึ่งเสี่ยงสูงที่จะแตกออกเป็นพืดน้ำแข็งตะวันตกขนาดใหญ่พอสมควร หากแตกลงสู่มหาสมุทรทั้งหมดจะทำให้ระดับน้ำทะเลของโลกสูงขึ้นกว่า 3 เมตร

แต่ต้องอดใจรอสักหน่อย จนหลังปี 2100 จึงเห็นชัดเจนขึ้น

 

5)การแข่งขันกันครอบครองเขตขั้วโลกเหนือระหว่างรัสเซียกับประเทศตะวันตก

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทางอ้อม สืบเนื่องจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งในเขตขั้วโลกเหนือละลายอย่างรวดเร็ว เปิดสภาพใหม่ทางภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่

ก) การเปิดเส้นทางเดินเรือทะเลอาร์กติกตอนเหนือ (Northern Sea Route) ซึ่งแสวงหากันมาหลายร้อยปีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับการขุดสกัดแร่ธาตุทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอยู่มากในภูมิภาคนั้น แต่มีอุปสรรคจากทะเลน้ำแข็ง

ข) ฟื้นความสนใจในทฤษฎีดินแดนใจกลางเสนอโดยฮาลฟอร์ด แม็กคินเดอร์ นักคิดนักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษ ในปี 1904 ชี้ว่าดินแดนใจกลางหรือยูเรเซีย ตั้งแต่ลุ่มน้ำโวลก้าในรัสเซีย จนถึงแยงซีในจีน สำคัญต่ออำนาจโลก ผู้ใดยึดครองดินแดนนี้ได้จะครองโลกได้

ทั้งสองเหตุปัจจัยดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ขั้วโลกเหนือกลายเป็นเขตทางทหารของรัสเซียและสหรัฐ ล่อแหลมต่อการปะทะกันเพิ่มขึ้นอีกภูมิภาคหนึ่ง ชาติที่แย่งพื้นที่ในเขตขั้วโลกเหนือที่สำคัญ ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐ (ผ่านอลาสก้า) และแคนาดา นอร์เวย์ เดนมาร์ก (ผ่านเกาะกรีนแลนด์) และย่อมมีจีนที่มีการค้าทั่วโลกกับอภิโครงการแถบและทาง เข้ามีส่วนร่วมอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสถานการณ์การละลายของน้ำแข็งที่เขตขั้วโลกเหนือกับผลกระทบ