นามนั้น “เทพ 333” กำเนิด “บก.ผสม 333” / บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (25)

 

นามนั้น “เทพ 333”

กำเนิด “บก.ผสม 333”

ขณะที่การสู้รบในลาวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ ในปี พ.ศ.2507 รัฐบาลไทยจึงได้เพิ่มอำนาจกำลังรบให้กับฝ่ายรัฐบาลลาวมากขึ้นตามคำขอ

พร้อมจัดตั้ง “บก.ผสม 333” ขึ้น

ย้อนกลับไปปลายปี พ.ศ.2503 เมื่อครั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือลาวฝ่ายขวา และได้ตั้งคณะกรรมการ คท. นำมาซึ่งการจัดส่งทีมพารูไปปฏิบัติการในราชอาณาจักรลาวนั้น เพื่อให้การควบคุมและอำนวยการปฏิบัติการลับในพื้นที่ราชอาณาจักรลาวมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้จัดตั้งกองบังคับการขึ้นในลาวที่เมืองสุวรรณเขต ใช้ชื่อย่อว่า “บก.คท.” ปฏิบัติงานใกล้ชิดร่วมกับเจ้าหน้าที่คณะที่ปรึกษาการช่วยเหลือทางทหารสหรัฐในลาว (MAAG LAO)

บก.คท.ที่เมืองสุวรรณเขตชุดแรกมี พล.ต.จำเนียร พงศ์ไพโรจน์ (หัวหน้าจักร) เป็นหัวหน้า พ.อ.จวน วรรณรัตน์ (หัวหน้านพ) เป็นรอง และ พ.ต.ท.ประเนตร ฤทธิฤๅชัย (หัวหน้าลีวัง) ทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชากำลังตำรวจพลร่ม “พารู” ฝ่ายสหรัฐ ใน บก.คท.สุวรรณเขต มีบิลล์ แลร์ เป็นหัวหน้า และลอยด์ แลนดรี้ เป็นรอง

ภารกิจหลักของ บก.คท.สุวรรณเขต คือสนับสนุนกำลังของนายพลภูมี ที่สุวรรณเขต และกำลังของนายพล กุประสิทธิ์ ที่ค่ายจินายโม้ เวียงจันทน์ ให้ยึดกรุงเวียงจันทน์คืนจาก ร.อ.กองแล โดย บก.คท.สุวรรณเขต ได้จัดทีมพารูจำนวน 5 ทีม เป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติการ และหาข่าวให้กับ บก.คท.

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2503 กำลังของลาวฝ่ายขวาได้เคลื่อนที่เข้าสู่กรุงเวียงจันทน์ และได้ปะทะกับกำลังของ ร.อ.กองแล การสู้รบดำเนินไปจนถึงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2503 ลาวฝ่ายขวาจึงสามารถยึดกรุงเวียงจันทน์ได้สำเร็จ

ฝ่าย ร.อ.กองแล ถอยร่นหนีขึ้นไปทางเหนือของเวียงจันทน์แล้วเข้าร่วมกับฝ่ายซ้าย ส่วนเจ้าสุวรรณภูมาได้ลี้ภัยไปอยู่ในพนมเปญ

ลาวฝ่ายขวาจึงจัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยมีเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

บก.คท.สู่เวียงจันทน์

เมื่อลาวฝ่ายขวายึดคืนนครเวียงจันทน์ได้แล้ว บก.คท.จึงย้ายจากเมืองสุวรรณเขต มายังนครเวียงจันทน์ในเดือนมกราคม พ.ศ.2504 ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนนายพลภูมีทำการกวาดล้างกำลังของ ร.อ.กองแล

และเสริมสร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ของเจ้าบุญอุ้มต่อไป

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้จัดเครื่องบินแบบ AT-6 จำนวน 6 เครื่อง พร้อมนักบินไทย ไปร่วมปฏิบัติการกับจัดชุดศัลยกรรมเคลื่อนที่และชุดวิทยุกระจายเสียงเคลื่อนที่ไปสนับสนุนเพิ่มขึ้นด้วย

 

กองแล ฝ่ายซ้าย และเจ้าสุวรรณภูมา

ร.อ.กองแล ซึ่งถอยจากกรุงเวียงจันทน์ไปสมทบกับขบวนการประเทศลาวและเวียดนามเหนือที่ทุ่งไหหิน เริ่มเปิดฉากรบโต้ตอบลาวฝ่ายขวา

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2504 เจ้าสุวรรณภูมาได้เดินทางจากกัมพูชากลับลาว จัดตั้งรัฐบาลลาวฝ่ายเป็นกลางขึ้นที่แก่งไก่ แขวงเชียงขวาง ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของลาวฝ่ายซ้าย

บก.คท.จึงต้องเพิ่มภารกิจหลักขึ้นอีกประการหนึ่ง คือสนับสนุนวังเปา ดำเนินการรบแบบกองโจรในพื้นที่ทุ่งไหหิน เชียงขวาง และซำเหนือ ตามแผนปฏิบัติการโมเมนตัม

ปลายปี พ.ศ.2504 พล.ต.จำเนียร พงศ์ไพโรจน์ พ้นหน้าที่ พ.อ.จวน วรรณรัตน์ เป็นหัวหน้า บก.คท.แทน

ขณะที่ บก.คท.ยังคงตั้งอยู่ในกรุงเวียงจันทน์เช่นเดิม

 

จาก บก.คท.สู่ บก.ผสม 333

หลังการประชุมเจนีวา เมื่อลาวสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีเจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อมิถุนายน พ.ศ.2505 ได้แล้ว บก.คท.จึงย้ายจากเวียงจันทน์มาตั้งที่จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2505 โดยมีภารกิจหลักให้การสนับสนุนกองกำลังของวังเปา และนายพลภูมีซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมของเจ้าสุวรรณภูมาต่อไป

เดือนตุลาคม พ.ศ.2506 พ.อ.จวน วรรณรัตน์ พ้นหน้าที่ พ.อ.ธงชัย นิพิธสุขการ (หัวหน้าพินิจ) เป็นหัวหน้า บก.คท.แทน

บก.คท.ได้ย้ายที่ตั้งอีกครั้งหนึ่งจากหนองคายไปตั้งที่อุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 และต่อมาได้แปรสภาพเป็น บก.ผสม 333

ใน พ.ศ.2507 นี้ เนื่องด้วยฝ่ายซ้ายไม่ให้ความร่วมมือและขัดขวางการทำงานของรัฐบาลผสมตลอดมา เจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรี จึงเริ่มหันมาเข้าร่วมกับฝ่ายขวามากขึ้น และได้แสดงท่าทีโดยแน่ชัดถึงความตั้งใจเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์

ฝ่ายไทยจึงได้ปรับโครงสร้างการให้ความช่วยเหลือ โดยจัดตั้ง บก.ผสม 333 รวมทั้งจัดส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่ เอสอาร์ และหน่วยบินไฟร์ฟลาย เข้าปฏิบัติการตามคำร้องขอของรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมา

พ.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2507 บก.333 ได้แปรสภาพเป็น “หน่วยผสม 333” โดยมีอัตราการจัดและปฏิบัติงานร่วมกับสหรัฐเช่นเดิม รวมทั้งจัดกองร้อยทหารปืนใหญ่จากไทยไปช่วยรัฐบาลลาว ป้องกันเมืองสุย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2507

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2507 พ.อ.ธงชัย นิพิธสุขการ (หัวหน้าพินิจ) พ้นหน้าที่ พ.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ (หัวหน้าเทพ) ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยผสม 333 พ.อ.ธวัชชัย นาควานิช (หัวหน้าวิน) เป็นรอง และ พ.อ.ธนดิตถ์ สุทธิเทศ (หัวหน้าทน) เป็นผู้ช่วย ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2508

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนฝ่ายไทยต้องส่งกำลังไปเพิ่มทั้งจากกองทัพอากาศและทหารปืนใหญ่

นามหนึ่งจากสมรภูมิลึกลับแห่งราชอาณาจักรลาวจะเริ่มเป็นที่รู้จักและจับตามองจากสังคมไทยกระทั่งกลายเป็นตำนานมาจนบัดนี้

นามนั้น “พ.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ “หัวหน้าเทพ” หรือ “นายเทพ” และ “เทพ 333” ตามคำเรียกขานของเหล่านักรบนิรนามและสื่อมวลชนในเวลาต่อมา

“เทพ 333”

พ.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2468

จบการศึกษาโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบกรุ่นที่ 8 หมายเลขประจำตัว 362 (หลัง ฯพณฯ พล.อ.เปรม ตินสูลานนท์ 3 รุ่น)

รับราชการในเหล่าทหารช่าง จนจบการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ใน พ.ศ.2498

แล้วไปศึกษาต่อโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐในปี พ.ศ.2506 จากนั้นก็กลับมารับราชการในกรมยุทธการทหารบก ขณะที่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก

และมีบทบาทอย่างมากในปฏิบัติการสงครามลับในลาวมาแต่ต้น