คนของโลก : อาร์ลีน ฟอสเตอร์ ผู้กุมชะตากรรมการเมืองอังกฤษ

อาร์ลีน ฟอสเตอร์ ผู้หญิงที่มีพลังอำนาจสามารถทำให้ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวได้ในตอนนี้ เป็นนักเจรจาที่ฉกาจฉกรรจ์ผู้มีประสบการณ์ตรงในการเผชิญกับการนองเลือดในความขัดแย้งของไอร์แลนด์เหนือตั้งแต่อายุยังน้อย

ในตอนที่เธออายุเพียงแค่ 8 ขวบ พ่อของเธอที่เป็นตำรวจถูกกองกำลังติดอาวุธของกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (ไออาร์เอ) ยิงเข้าที่ศีรษะต่อหน้าต่อตาที่บ้านของเธอในชนบทใกล้กับชายแดนของสาธารณรัฐไอร์แลนด์

เมื่อตอนเธออายุ 16 ปี รถโรงเรียนของเธอถูกวางระเบิดโดยกองกำลังของกลุ่มไออาร์เอที่พุ่งเป้าสังหารคนขับซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานชั่วคราวของกองกำลังรักษาความมั่นคง

ถึงตอนนี้ในวัย 46 ปี ฟอสเตอร์เป็นผู้ยึดกุมดุลอำนาจในการเมืองอังกฤษแม้ว่าจะถูกมองข้ามเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ จากการที่เธอเข้าไปพัวพันกับกรณีอื้อฉาวในเรื่องโครงการพลังงานทดแทนของรัฐบาล

 

เมย์จะเจรจากับฟอสเตอร์ในสัปดาห์นี้เพื่อหารือกันถึงแผนในการนำสมาชิกพรรคสหภาพประชาธิไตย (ดียูพี) ที่มี 10 ที่นั่งเข้าร่วมในรัฐบาลเสียงข้างน้อยของพรรคอนุรักษนิยมภายใต้การนำของเมย์

นั่นจะทำให้เมย์มีคะแนนเสียงเพียงพอในแบบเกินครึ่งมาเล็กน้อยสำหรับการบริหารประเทศหลังจากเธอเพิ่งจะสูญเสียเสียงข้างมากไปอย่างน่าตกตะลึงในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้พรรคดียูพีมีอำนาจในการบริหารเป็นครั้งแรก ซึ่งรวมถึงในประเด็นบนเวทีระหว่างประเทศที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิทด้วย

ในขณะที่พรรคของฟอสเตอร์สนับสนุนเบร็กซิทในการลงประชามติเมื่อปีที่แล้ว แต่ดียูพีก็ต้องการให้มีการเปิดชายแดนเสรีกับไอร์แลนด์และยังกังวลถึงผลกระทบของ “ฮาร์ดเบร็กซิท” หรือการออกจากตลาดร่วมยุโรปและควบคุมผู้อพยพจากชาติยุโรปอื่นๆ ที่มีต่อไอร์แลนด์เหนือด้วย

การได้รับเลือกตั้งมากถึง 10 ที่นั่งของพรรคดียูพีที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่ง ทั้งต่อต้านการแต่งงานของเพศเดียวกัน คัดค้านการทำแท้งและไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน สร้างความสับสนมึนงงให้ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย

 

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะเบลฟาสต์เทเลกราฟ เธอยอมรับว่า เหตุการณ์โจมตีที่เธอประสบพบเจอในวัยเด็กนั้นมีส่วนต่อมุมมองชีวิตโดยภาพรวมของเธอ

จอห์น เคลลี พ่อของเธอ รอดชีวิตจากการถูกโจมตีเมื่อปี 1979 ได้ แต่ทำให้ครอบครัวของเธอต้องย้ายไปยังลิสนาสเกีย เมืองเล็กๆ ในชนบทใกล้ๆ กันที่มีการรักษาความมั่นคงเข้มงวดมากกว่า

หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนในเมืองเอนนิสคิลเลน ฟอสเตอร์เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยควีนส์ในเมืองเบลฟาสต์ และจบมาในสาขานิติศาสตร์

เธอเข้าร่วมกับสมาคมสมาชิกสหภาพเยาวชน ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นหนุ่มสาวของพรรคยูยูพี ที่ปกครองไอร์แลนด์เหนือแบบไม่มีใครท้าทายอำนาจมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเมื่อปี 1922

ฟอสเตอร์พบกับไบรอันสามีของเธอ ขณะที่เธอทำงานเป็นนักกฎหมาย ทั้งคู่แต่งงานและมีลูกด้วยกัน 3 คน

เธอได้รับการเลือกตั้งในรัฐสภาท้องถิ่นที่เพิ่งก่อตั้งใหม่เมื่อปี 2003 แต่เหมือนกับสมาชิกพรรคยูยูพีอีกหลายคน เธอได้เปลี่ยนมาอยู่กับพรรคดียูพีที่เพิ่งก่อตั้งในปีต่อมา เป็นการประท้วงต่อ เดวิด ทริมเบิล หัวหน้าพรรคยูยูพีในเรื่องการเจรจาข้อตกลงกู๊ดฟรายเดย์

ในช่วงเวลานั้นเธอรู้สึกได้ถึงความยากลำบากในการอยู่ในพรรคที่ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่เธอก็ไต่เต้าขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

จนมาถึงวันที่เธอเป็นผู้เล่นคนสำคัญในการกุมชะตากรรมอนาคตทางการเมืองของอังกฤษที่ต้องจับตาดูนับจากนี้