10 เมษาฯ กับการฟื้นของเสื้อแดง / ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

10 เมษาฯ กับการฟื้นของเสื้อแดง

 

ขบวนการมวลชนที่มีบทบาทสูงในสังคมไทย โดยมีเป้าหมายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยืนอยู่ตรงข้ามเผด็จการอย่างชัดเจนนั้น ในช่วงปี 2516-2519 เป็นบทบาทของนิสิต-นักศึกษา ที่นำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในช่วงปี 2550-2553 เป็นช่วงของขบวนการเสื้อแดง และล่าสุดในปี 2563 ต่อเนื่องถึงปีนี้ เป็นยุคของนักเรียน นิสิต นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ที่เรียกว่าคณะราษฎร

อาจจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ของประชาชนอีกหลายครั้ง เช่น พฤษภาคม 2535 ที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร รสช. จนได้รับชัยชนะ แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทต่อเนื่องต่อมา

รวมไปถึงมีมวลชนสีอื่น แต่จุดยืนคือต่อต้านรัฐบาลนักการเมือง และแอบอิงอำนาจรัฐประหาร ไม่ใช่ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

สำหรับขบวนการล่าสุดที่มีการเคลื่อนไหวอย่างร้อนแรง คือคณะราษฎร หรือม็อบของนักเรียน-นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ที่จุดประเด็นความคิดใหม่ให้กับสังคมไทยได้อย่างกว้างขวาง

การต่อสู้ยังเข้มข้นอยู่จนถึงวันนี้ กระทั่งฝ่ายผู้กุมอำนาจต้องงัดมาตรการทางกฎหมาย จนแกนนำถูกจับกุม โดนสารพัดข้อหา และต้องเข้าเรือนจำกันมากมาย

ในการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ หลายเวทีได้กล่าวยกย่องขบวนการคนเสื้อแดง ว่าเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ต้องเคารพยกย่อง และต้องเอ่ยขอโทษที่เคยเข้าใจผิดกระทั่งรังเกียจมาตลอดในช่วงที่ นปช.หรือเสื้อแดงเคลื่อนไหวหนักหน่วง

*นั่นจึงทำให้เสื้อแดงที่เก็บตัวกบดานกันมาตลอด หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เริ่มกลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้ง!*

เสื้อแดงเริ่มเข้าร่วมการชุมนุมของเด็กรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมสนับสนุน กระทั่งร่วมปกป้องไม่ให้ฝ่ายอื่นทำร้ายหรือคุกคาม

ขณะที่ผู้นำสำคัญของเสื้อแดง คือนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่เพิ่งได้รับอิสรภาพ ได้แสดงจุดยืนว่า จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป และพร้อมจะสนับสนุนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่

ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เป้าหมายเพื่อประชาธิปไตยเหมือนกัน และเด็กรุ่นใหม่ได้สร้างความผูกพันด้วยการกล่าวถึงเสื้อแดงในการชุมนุมและขอโทษคนเสื้อแดงที่เข้าใจผิดมาก่อนหน้านี้

ส่วนแกนนำสำคัญอีกรายคือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เพิ่งจัดม็อบออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเน้นเป็นม็อบที่สามัคคีร่วมกันทุกฝ่าย ดึงแกนนำสีอื่นๆ เข้าร่วมได้ทุกสี

แต่นายจตุพรตั้งเป้าหมายการต่อสู้ แบบลดเพดาน ต่างจากที่ม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่ตั้งเอาไว้ เน้นเฉพาะไล่ประยุทธ์เท่านั้น ซึ่งมีส่วนทำให้สีอื่นๆ ตัดสินใจเข้าร่วมสนับสนุน

จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์มากมายหลายมุม

อย่างไรก็ตาม ม็อบของนายจตุพรมีมวลชนหลักที่เข้าร่วมคือคนเสื้อแดง และยังพากันชู 3 นิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในม็อบคณะราษฎรนั่นเอง!

เดือนเมษายนนี้ มีเหตุการณ์สำคัญของขบวนการเสื้อแดง คือวันนองเลือด 10 เมษายน 2553 ซึ่งเป็นวันเริ่มแตกหัก เริ่มมีการใช้กระสุนจริงจากฝ่ายทหาร อันเนื่องมาจากชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา

การชุมนุมครั้งใหญ่สุดของเสื้อแดงในปี 2553 เริ่มต้นในวันที่ 14 มีนาคม ข้อเรียกร้องคือยุบสภา เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรม เพราะไม่ใช่ผู้ชนะในการเลือกตั้ง แต่มีการพลิกขั้ว และเจรจาลับในค่ายทหาร

การประท้วงแบบยืดเยื้อของเสื้อแดงดำเนินไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน เป็นวันเริ่มต้นนองเลือด เมื่อรัฐบาลและ ศอฉ.ประกาศมาตรการขอคืนพื้นที่ เริ่มจากใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง สถานการณ์ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งย่างเข้าช่วงค่ำ ซึ่งมีเสียงเตือนจากหลายฝ่ายว่า เจ้าหน้าที่รัฐควรหยุดปฏิบัติการในช่วงมืด เพราะอาจเกิดเหตุผิดพลาดไม่คาดคิดได้

แต่รัฐก็ปฏิบัติการต่อไป จนเริ่มรุนแรงมากขึ้น สถานการณ์จลาจลอลหม่าน เสียงอาวุธระงม กระทั่งมีมือมืดปาระเบิดใส่กลุ่มนายทหาร ทำให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 5 นาย ส่วนผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนจริงเสียชีวิตกว่า 20 ราย

จาก 10 เมษายน วันเริ่มต้นนองเลือด จากนั้น ศอฉ.ก็เริ่มใช้เจ้าหน้าที่พร้อมกระสุนจริง อ้างว่าเพื่อป้องกันตัว เนื่องจากมีกลุ่มก่อการร้ายชายชุดดำแฝงในม็อบ ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่

ผลก็คือผู้ชุมนุมล้มตายกลางถนนกลางกรุงมากมาย จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ทหารจึงเข้ายึดพื้นที่ใจกลางของการชุมนุม สลายม็อบสำเร็จ แต่ค่ำวันนั้นก็ยังไปยิงต่อเนื่องอีก ใส่พื้นที่วัดปทุมวนาราม จนตายไปอีก 6 ราย

รวมทั้งสิ้นมีคนตายถึง 99 ราย!

อันที่จริงเหตุการณ์ 10 เมษายน อาจจะบานปลายไปไกลกว่านั้น ถ้าแกนนำเสื้อแดง ไม่ประกาศเรียกร้องให้สงบศึกโดยเร่งด่วน โดยเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายต่างคนต่ายถอย ฝ่ายผู้ชุมนุมจะยอมถอยออกมา ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ถอยออกไป เลิกใช้อาวุธ นั่นเองจึงทำให้สงบลงได้

ใน ศอฉ.เอง ยังงุนงงกับท่าทีของแกนนำเสื้อแดง เพราะขณะนั้นมีการปรากฏตัวของชายชุดดำ มีอาวุธออกมายิงใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งตามทฤษฎี ฝ่ายเสื้อแดงต้องขยายวงการจลาจลออกไป เพราะรัฐผิดพลาดใช้ปืนยิงคนตายแล้ว

แต่เสื้อแดงกลับเรียกร้องสงบศึก จึงขัดกับทฤษฎีเอาชายชุดดำมายิงใส่เจ้าหน้าที่ เพื่อเพิ่มขีดการปะทะ กลายเป็นจลาจลไฟท่วมเมือง

หลังการชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 จบลงในวันที่ 19 พฤษภาคม โดยบรรดาแกนนำเข้ามอบตัวและถูกคุมขังดำเนินคดีข้อหาหนัก จากนั้นเมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2557 รัฐในยุครัฐบาลทหาร ออกมาไล่ล่าคนเสื้อแดง และโดนจับกุมดำเนินคดีอันเนื่องจากการชุมนุมในปี 2553 หลยต่อหลายคดี

รวมทั้งมีการจับกุมกลุ่มเสื้อแดง 5 คน ในข้อหาเป็นผู้ใช้อาวุธสงคราม เป็นชายชุดดำ ที่ร่วมใช้อาวุธผสมโรงในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ด้วย

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คดีได้ขึ้นสู่ชั้นฎีกา ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 พ้นจากข้อกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธก่อเหตุที่แยกคอกวัว ในคืน 10 เมษายน 2553 โดยศาลเห็นว่าประจักษ์พยานของโจทก์มีพิรุธมากมาย ไม่น่าเชื่อถือ จึงให้ยกฟ้อง

เป็นอันสิ้นสุดคดี ปิดฉากข้อกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มชายชุดดำฆ่าทหาร

คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว เป็นอีกประเด็นสำคัญ เมื่อวันที่ 10 เมษายน เวียนมาถึงครบ 11 ปี!

ประเด็นแรกคือ 5 จำเลยเสื้อแดงพ้นมลทินแล้ว ประเด็นต่อมา ยังเป็นการตอกย้ำว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงตัวจริงในคืนวันนั้น จนผู้ชุมนุมตายไปกว่า 20 ราย ทหารตายไป 5 ราย ยังไม่เป็นที่เปิดเผย

โดยเฉพาะกรณีของ พ.อ.ร่มเกล้า และผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งผลการพิสูจน์ในภายหลังชัดเจนว่า เสียชีวิตด้วยคนร้ายที่ใช้ระเบิดมือ ซึ่งแปลว่าคนร้ายอยู่ไม่ไกลจากจุดนั้น ขัดแย้งกับภาพชายชุดดำที่มีอาวุธปืนและยิงไฟแลบในคืนนั้น เพราะคนที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต ไม่ได้ใช้อาวุธปืน ไม่ใช่ยิงด้วยเอ็ม 79 แต่ขว้างระเบิดมือ ซึ่งคนก่อเหตุต้องอยู่ไม่ไกลมากนัก

แต่ทั้งเหตุรุนแรงในคืน 10 เมษายน และอีกหลายวันต่อมา จนถึง 19 พฤษภาคม จนตายไปรวม 99 รายนั้น

*ไม่เคยได้รับการพิสูจน์หาความจริง เพราะผู้มีอำนาจในเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อสู้ด้วยข้อกฎหมายจนทำให้คดีไม่อาจนำขึ้นสู่ชั้นศาลได้ จนเงียบหายไปถึงทุกวันนี้*

ฝ่ายเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าทหาร ฆ่าผู้ชุมนุมด้วยกันเอง เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง กลับต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้คดีนี้ขึ้นสู่ศาล จะได้พิสูจน์ความจริง

เช่นนี้แล้วบ่งบอกอะไร!?

10 เมษายน ผ่านมาแล้ว 11 ปี รวมแล้วคือความตายของคน 99 คน ที่ยังรอวันพิสูจน์ความจริงและวันได้รับความเป็นธรรมต่อไป!