เครียดมากขึ้น แตกแยกทางความคิดสูง ช่องว่างระหว่างวัยห่าง อะไรคือทางออก? คุยกับอาจารย์จิตวิทยา จุฬาฯ

“เราอยากให้คนอื่นคิดเหมือนเรา มองเห็นในมุมที่เราเห็น อยากให้เขาเข้าใจว่าควรจะต้องเปลี่ยนแปลง บางคนต้องการให้อีกฝั่งหนึ่งเข้าใจว่าแบบเดิมดีอยู่แล้ว การที่จะไปบังคับคนอื่นหรือคาดหวังให้เขาเปลี่ยนแปลงแบบที่เราต้องการ มันเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา แล้วยิ่งถ้าเราไปฝืนมันสิ่งที่ตามมาก็คือความเครียดกับเราเอง แต่ถ้าเราเข้าใจสถานะสิ่งที่เราทำได้ คือการโน้มน้าวให้คนอื่นมองในมุมที่เราเห็นเราทำได้เพียงแค่นี้” ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าถึงการปรับสภาพความคิดและการใช้จิตวิทยาเข้ามาช่วยลดความเครียดในสังคมไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน

ดร.เจนนิเฟอร์เล่าว่า ในจิตวิทยาเราพยายามพูดเรื่องของ “การสื่อสาร” ค่อนข้างจะเป็นตัวที่จะสามารถจุดชนวนให้ความขัดแย้งมันไปได้ไกล ลุกลามได้รวดเร็วมาก ดังนั้น สำคัญที่จะทำอย่างไรให้เราสื่อสารอยู่บนความรู้สึกว่าเรากำลังเข้าอกเข้าใจอีกฝั่งหนึ่งอยู่ เราเปิดพื้นที่ให้เขาได้แชร์ความคิดเห็นอย่างที่เขาต้องการ

บางทีการพูดคุยกัน เขายังพูดไม่ทันจบประโยคเลย เราก็ไปสวนเขาแล้วว่าทำไมถึงคิดแบบนี้ ทำไมไม่มองแบบนั้น

บางทีการที่ถามว่าทำไม เราอาจจะไม่ได้ต้องการคำตอบ เพียงแต่เราพยายามจะบอกว่าสิ่งที่เขาคิดมันเป็นสิ่งที่ผิด

ซึ่งทำอย่างไรให้การสื่อสารให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าเราพยายามเข้าใจเขาอยู่ อันนี้เป็นโจทย์ที่ยากมากๆ เพราะว่า บางคนปล่อยให้อารมณ์นำความคิดไปแล้ว

มองไปที่ความขัดแย้งโดยเฉพาะในครอบครัวที่พบว่าพ่อ-แม่-ลูกมีช่องว่างระหว่างวัยและกรอบความคิด

หากบ้านไหนมีกรอบว่า “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” สิ่งที่เราผ่านมาทำให้เราเข้าใจทุกอย่างได้ดีกว่าอีกฝั่งหนึ่ง ผ่านอะไรมากกว่าเด็กๆ-คนที่มีประสบการณ์น้อย สิ่งแบบนี้มันทำให้เราอาจจะยึดติดกับวิธีคิดเดิมๆ มากไป

ดังนั้น ต้องทำอย่างไรให้เราเปิดใจรับฟังอีกฝั่งหนึ่ง เพราะบางทีการใช้ชีวิตมันไม่ได้มีเรื่องถูกผิด เพียงแต่ว่ามันมีเรื่องของความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม แล้วอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดได้ง่าย-ได้ยาก

ถ้าเราลองให้เด็กๆ หรือให้ลูกของเราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเขาได้ลองผิดลองถูกในแบบวิธีของเขา แล้วเราก็คอยดูอยู่ห่าง ๆ อาจประคองเขาในบางโอกาส

อันนี้อาจจะเป็นทางออกหนึ่งทางที่อาจจะทำให้ความขัดแย้งภายในครอบครัวในบ้านลดน้อยลงได้

ดร.เจนนิเฟอร์มองว่า พื้นที่ในสังคมไทยวันนี้ยังสามารถ จะเข้าใจกันมากขึ้นได้ แม้ปัจจุบันจะมีความแตกต่างหลากหลายเพิ่มมากขึ้น เราอาจจะต้องให้ความสำคัญของการเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ความหลากหลายมันไปอย่างรวดเร็วมากๆ การกล้าแสดงออกในการใช้ความคิดเห็นต่างๆ มันมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น จึงต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกันมันยิ่งต้องมีสูงมากขึ้นกว่าเดิม

อย่างแรกสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่เราคิดมันถูกหรือไม่ แล้วถ้าเราไปยึดติดว่าความคิดของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วไม่เปิดรับความคิดเห็นคนอื่น หรือว่าบางทีการเปิดรับของเรา เป็นการเปิดรับให้มันจบๆ ไปเท่านั้น เราไม่ได้ตั้งใจที่จะรับฟังอีกฝั่งหนึ่งจริงๆ ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งที่เราคิดมันไม่ได้มีถูกมีผิดเสมอไป แล้วเรามีโอกาสที่สามารถจะเรียนรู้อีกฝั่งหนึ่งได้ จากนั้นนำสิ่งที่เราเรียนรู้มาพัฒนาตัวเองให้เข้าใจชีวิตได้ดียิ่งขึ้น บางทีก็จะทำให้เราช่วยเปิดใจรับฟังคนอื่นได้ดียิ่งขึ้นเหมือนกัน

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ให้ประโยชน์กับมนุษย์ได้เยอะมากๆ เป็นศาสตร์ที่ทำให้เราเข้าใจวิธีคิด เข้าใจความรู้สึก เข้าใจการกระทำของเราว่าทำไม หรือมีสาเหตุอะไรที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีวิธีคิดแบบนี้มีอารมณ์แบบนี้มีความรู้สึกแบบนี้แล้วมันสามารถที่จะไปต่อยอดได้

เช่น ถ้าเราเข้าใจสาเหตุแล้วเราจะปรับได้อย่างไรเราจะลดเราจะเพิ่มอย่างไรได้

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องของการจัดการอารมณ์ ต้องมีวิธีรับมือ เพราะฉะนั้น บางทีสิ่งเล็กๆ ถ้าเราเข้าใจมันก็จะทำให้เราจัดการปัญหาในชีวิตได้ดีขึ้น

มุมมองต่อข้อสงสัยว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงมีความเครียดกันสูงมากขึ้น มีภาวะซึมเศร้ากันเยอะขึ้น?

ดร.เจนนิเฟอร์อธิบายว่า คนบางคนอาจจะอธิบายด้วยกรอบเดิมๆ เช่น เด็กบางคนถูกเลี้ยงดูมาแบบเฮลิคอปเตอร์ คือพ่อ-แม่คอยส่องลูกตลอดเวลา แล้วพอลูกจะทำอะไรผิดพลาดหรือมีความรู้สึกว่าลูกทำอะไรไม่ได้ก็จะบินมาทันที ก็ยื่นมือมาช่วยเหลือทันที

บางคนก็มองว่าการเลี้ยงดูแบบนี้ทำให้เด็กไม่ได้มีจิตใจที่เข้มแข็งเพราะว่าเขาจะมีคนคอยยื่นมือมา support ตลอดเวลา

แต่ช่วงหลังคนก็เริ่มออกมาดูข้อมูลจริงๆ แล้วว่ามันไม่ใช่ ปัจจุบันมีข้อมูลมากว่าคนรุ่นใหม่มีจิตใจที่เข้มแข็ง แต่ว่าเขาได้รับความกดดันจากการเรียน การแข่งขันที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็กเล็กๆ เลย จะเข้าโรงเรียนต้องมี portfolio เขาต้องผ่านภาวะการแข่งขันมามากกว่าคนยุคเก่าด้วยซ้ำ ไหนจะมีเรื่องของงาน อนาคต-ตลาดงานต่างๆ

เราจะเห็นได้ว่าบริษัทองค์กรหลายแห่ง ต้องการคนเก่ง ทำให้เด็กรู้สึกกดดันมาก

เพราะฉะนั้น หลายคนก็บอกว่ามันไม่ใช่การเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องยอมรับว่าสภาพสังคมเราในวันนี้มันอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่มันทำให้เยาวชนตึงเครียดมากๆ

ดร.เจนนิเฟอร์บอกอีกว่า สำหรับระยะหลังๆ สังคมเราเริ่มมีใครหลายคนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น

จากสถิติมีการบ่งชี้ชัดว่า มีคนเริ่มออกมาบอกว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น ก็เพราะว่าการตีตราโรคซึมเศร้าเป็นสิ่งไม่ดีน้อยลง ทำให้คนรู้สึกกล้าที่จะพูดว่า ตอนนี้เขาอาจจะมีโอกาสเป็นภาวะซึมเศร้าสูง กล้าเปิดใจ

แต่ก็มีการตั้งคำถามว่าความรู้สึกที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ เรียกว่าภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า?

หรือเป็นแค่อารมณ์เหงา

ทำให้คนพยายามที่จะไปหานักจิตวิทยาหรือไปพบจิตแพทย์มากขึ้น ก็ต้องเข้าใจว่าชีวิตคนเรามันยุ่งยากซับซ้อนแล้วเดินไปอย่างรวดเร็วมากๆ ดังนั้น ความกดดันหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการแข่งขันสูงขึ้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจจะส่งผลให้เกิดความเครียดในคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม

ขณะเดียวกันตัวช่วยในการปรับความคิดในภาวะความเครียดจากโควิด-สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ใน พ.ศ.นี้ ความสำคัญคือ “การมีความหวังและการมองโลกในแง่ดี” เป็นสิ่งที่ควรมี

แต่ก็อาจจะมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ว่าเราควรมีความหวังบนพื้นฐานของความเป็นจริง หากเป็นการตั้งความหวังบนฐานของความไม่จริง-สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราอาจจะรับมือกับมันไม่ทัน ทำให้ความเครียดนั้นเพิ่มมากขึ้นไปอีก

เพราะฉะนั้น การมีความหวังที่อยู่บนฐานของความเป็นจริง ต้องคิดว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นกับเราได้ แล้วก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ไม่ดีมันก็เกิดขึ้นได้ แต่มันจะเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวและเดี๋ยวมันจะผ่านพ้นไป อาจจะเป็นเส้นบางๆ ที่อยากให้ทุกคนลองคิดว่า ที่เราพยายามคิดบวกอยู่กับมันนั้นคิดได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่เช่นนั้นเรากำลังหลอกตัวเองอยู่ว่าสิ่งดีๆ มันกำลังจะเกิดขึ้น

ซึ่งหลายคนที่ประสบกับวิกฤตแล้วเหมือนว่ากำลังจะลุกขึ้นได้แล้ว แต่ก็ดันเจอวิกฤตระลอกใหม่ก็เหมือนล้มไปอีกทีหนึ่ง บางทีการที่เราไปให้พลังและเวลากับสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ ปัจจัยภายนอกตัวที่เราไม่สามารถจะไปบังคับให้ใครเปลี่ยนแปลงการกระทำได้ ไม่สามารถที่จะบังคับให้เขาคิดแบบเดียวกับเราได้ ถ้าเราไปให้พลังหรือใส่ใจเวลากับอะไรแบบนี้มากไปจะทำให้เรายิ่งตึงเครียด แล้วไม่มีแรงที่จะปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้นจริงได้เลย

สิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้คือการตอบสนองต่อปัญหาที่เข้ามาในชีวิตของเรา ประเมินตัวเลือกในการแก้ปัญหาว่ามีอะไรบ้างที่เราทำได้ สิ่งไหนที่น่าจะควบคุมได้

ทางนี้จะทำให้เราช่วยแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

ชมคลิปอื่นๆ