คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ปรากฏการณ์ “องค์น้อง” เทพเจ้าฮินดูปางเบบี๋ กับคติการสร้างเทวรูปของอินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ไม่นานนี้ผมเพิ่งได้ยินคำแปลกๆ ที่เริ่มพูดถึงกันมากขึ้นในแวดวงคนที่สนใจเรื่องเทวรูปอย่างคำว่า “องค์น้อง”

ครั้งแรกที่ได้ยินก็คิดว่ามียี่เกที่ไหน เรียกกันเจ้าพี่เจ้าน้อง ที่ไหนได้เขาเอาไว้เรียกเทวรูปพระพิฆเนศวร์ที่ออกแบบมาให้ดูเป็นเด็กน้อยทั้งร่างกายและอิริยาบถ แต่งองค์ทรงเครื่องระยิบระยับราวกับหางเครื่องก็มิปาน

นอกจากเทวรูปพระพิฆเนศวร์แล้ว “องค์น้อง” ก็เริ่มมีเทพอื่นๆ ด้วย เช่น พระลักษมี พระศิวะ หรือแม้แต่เทพเจ้าในภาคดุร้ายอย่างเจ้าแม่กาลี

แอบฉงนว่าเดี๋ยวนี้บ้านเรานับญาติกับเทพแบบกลับตาลปัตร คือเดิมพยายามจะให้มาแทนเจ้าปู่เจ้าย่า ก็เรียกปู่เรียกย่า มาคราวนี้ลดอาวุโสเทพให้เทพมาเป็น “น้อง” ซะงั้น เกิดมาเพิ่งเคยเห็นนี่แหละครับ

บางคนก็เรียกว่าเทวรูปเหล่านี้รวมๆ ว่า “ปางเบบี๋” เข้าใจว่าเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และชนชั้นกลางในเมือง เพราะรูปลักษณ์โดนใจ น่ารัก ดูทันสมัยและเข้าถึงง่าย

 

ผมเข้าใจเอาเองว่า แต่เดิมก่อนที่เมืองไทยเราจะพัฒนารูปแบบสารพัดเทพเบบี๋ขึ้นมา ผู้สร้างเทวรูปเหล่านี้คงได้เดินทางไปอินเดียหรืออาจพบว่า ในอินเดียนั้นมีเทวรูปพระคเณศหลากหลายรูปแบบมาก รวมทั้งแบบที่เป็นเด็กๆ ด้วย ซึ่งมีมากกว่าแบบอื่นทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี

คนสร้างเขาคงคิดว่า แขกทำได้เราก็น่าจะเอามาทำบ้างได้ แถมดีด้วยเพราะลูกเทพตกยุคไปแล้ว ใช้องค์น้องนี่แหละ คล้ายๆ เดิม แต่ดูดีกว่า วงกว้างกว่า

เรื่องนี้ผมมีข้อสังเกตสองประการเกี่ยวกับการสร้างเทวรูปของฮินดู เพื่อจะสะท้อนหรือมองเรื่องนี้จากโลกขนบ

 

ประการแรก เราอาจต้องแบ่งเทวรูปออกเป็นสองลักษณะ คือเทวรูปสำหรับสักการบูชา และเทวรูปชั่วคราวสำหรับเทศกาลหรือเทวรูปในฐานะงานศิลปะหรือของตกแต่งบ้าน

เทวรูปพระพิฆเนศวร์สารพัดรูปแบบในอินเดียที่ดูแหวกขนบการสร้างโดยปกตินั้น เกือบทั้งหมดเป็นอย่างหลังคือสร้างขึ้นในเทศกาลชั่วคราว ไม่ใช่ของคงทนถาวร ในงานแบบนี้คนอินเดียชอบประกวดประชันไอเดียกันด้วย จึงผลิตออกมาอย่างที่เห็น เช่น เป็นยอดมนุษย์ในภาพยนตร์บ้าง หรือมีรูปแบบแปลกๆ

แต่เขาก็ไม่ได้เก็บรักษาไว้ตลอดไปครับ หมดเทศกาลบูชาแล้วก็จำเริญท่านลงทะเลแม่น้ำลำคลองไปหมด เทวรูปที่เหลืออยู่ก็ล้วนเทวรูปตามขนบเสียส่วนใหญ่ซึ่งเขาสร้างไว้สำหรับเทวสถานหรือบูชาในบ้านเรือน

กับอีกแบบหนึ่ง คือเทวรูปสำหรับตกแต่งบ้านหรืออยู่ในฐานะ “งานศิลปะ” อันนี้เขาก็ไม่ได้เอาไว้บูชาเหมือนกัน ใครเอาไปตกแต่งบ้านก็คิดแค่ว่าเป็นงานตกแต่งเพื่อสิริมงคล ส่วนศิลปินจะออกแบบอย่างไรก็เป็นเรื่องไอเดียทางศิลปะเหมือนกัน

ฉะนั้น สรุปแบบง่ายๆ เลยว่า โดยความเชื่อในอินเดียนั้น ถ้าจะเป็นเทวรูปสำหรับสักการบูชาเป็นประจำ หรือประดิษฐานในเทวสถานก็มักสร้างตามขนบประเพณี ส่วนเทวรูปที่สร้างชั่วคราว (เท่าที่เห็นคือพระคเณศ) เทวรูปในฐานะงานศิลปะหรือสิ่งตกแต่งจะแหวกจากขนบไปก็มีบ้าง

 

ข้อสังเกตประการที่สองของผมคือ นอกจากเทวรูปพระคเณศนั้น เทพเจ้าพระองค์อื่นๆ ไม่ว่าจะสร้างชั่วคราวหรือถาวรก็แทบไม่มีปางเบบี๋หรือทำในรูปลักษณ์เด็กๆ น่ารักกุ๊กกิ๊กเลย ผิดกับที่สร้างในเมืองไทย

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เนื่องด้วยการสร้างเทวรูปมี “ปรัชญา” และแนวคิดอยู่เบื้องหลังมาก (ที่จริงพอๆ หรืออาจมากกว่าพระพุทธรูปเสียอีก)

เพราะเทวรูปไม่ใช่รูปมนุษย์ แต่เป็นการแสดง “ภาวะ” ของเทพ ซึ่งเทพแต่ละองค์นั้นมีภาวะที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะมีบางส่วนร่วมกัน เช่น เทวรูปตามขนบทุกพระองค์ไม่มี “กล้ามเนื้อ” อย่างรูปเหมือนบุคคลแม้จะมีสัดส่วนสรีระถูกต้อง เพราะเทพเจ้าไม่ได้มีเนื้อหนังอย่างมนุษย์

เทวรูปเทวีแทบทุกองค์ล้วนมีพระถันกลมโต มีเอวบางและสะโพกผายใหญ่ เนื่องเพราะเป็นสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์แล้ว ต้องแสดงความงามตามอุดมคติอันแฝงไว้ด้วย “กามะ” คือภาวะแห่งความรื่นรมย์ของโลกียสุขและเพศรสอันเป็นด้านของอิตถีภาพซึ่งสูงส่งอย่างยิ่ง

เทพเจ้าบางพระองค์ก็มีภาวะดุร้าย คือเป็นการสำแดงด้านรุนแรงของธรรมชาติ เทวรูปประเภท “อุครมูรติ” หรือเทวรูปดุร้ายนี้ก็ย่อมต้องสร้างให้มีความดุร้ายด้วย

ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังรวมถึงภาวะต่างๆ ของเทพนี้เอง จึงทำให้มีการกำหนดรูปแบบการสร้างของเทพแต่ละองค์ไว้ในหมวดคัมภีร์ที่เรียกว่า “ศิลปศาสตร์”

 

ผมเพิ่งได้หนังสือเล่มน้อยชื่อ Hindu Iconography : A short treatise เขียนโดยท่านสวามีหรรษานันทะ แห่ง Ramakrishna Math เมืองบังกะลอร์ เล่มนี้สรุปคติความเชื่อเกี่ยวกับสร้างและการบูชาเทวรูปฮินดูไว้พอสังเขป อ่านง่าย

ในหนังสือนี้บอกว่า คัมภีร์ศิลปะศาสตร์นั้นมีมากมายหลายเล่ม เช่น มานสาระ, ศิลปรัตนะ, พฤหัตสัมหิตา ฯลฯ

ใครชอบเรื่องพวกนี้ แต่อยากอ่านในภาษาไทย มีงานวิจัยที่น่าสนใจของอาจารย์เชษฐ์ ติงสัญชลี แห่งคณะโบราณคดี ว่าด้วยเรื่องการสร้างเทวรูปกับคัมภีร์ศิลปศาสตร์ตีพิมพ์ออกมาแล้ว ลองหากันดู (ผมไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด)

ในคัมภีร์เหล่านี้ จำแนกท่าทาง รูปแบบของเครื่องแต่งกาย อาวุธ สัดส่วนไว้ละเอียดมากน้อยต่างกัน

ที่สำคัญคัมภีร์ศิลปศาสตร์ได้กำหนดระบบ “ตาลมาน” หรือระบบสัดส่วนในการสร้างเทวรูปไว้

ตาล หมายถึงสัดส่วนพื้นฐาน (คำนี้ใช้ในวงการดนตรีอินเดียด้วยเมื่อพูดถึงสัดส่วนของ “จังหวะ”) ในทางประติมากรรม คือ “หนึ่งฝ่ามือ” โดยประมาณ วัดจากปลายนิ้วกลางถึงโคนมือ หรือจากไรผมถึงปลายคางบนใบหน้า

หนึ่งตาล หากแบ่งย่อยออกเป็นสิบสองส่วน เรียกส่วนย่อยนี้ว่า “องฺคุละ” หรือหนึ่งข้อนิ้ว (ช่างไทยเรียก องคุลี)

ในคัมภีร์พฤหัตสัมหิตาแบ่งจัดประเภทมนุษย์ตามความสูงไว้ห้าจำพวก นอกจากนี้ ยังแบ่งตาลหรือความสูงของเทพ ยักษ์ อสูร สัตว์รวมไว้ถึงสิบหกแบบ

จำพวกภูตหรือ “คณะ” บริวารพระศิวะสูงสามตาล พระคณปติหรือพระคเณศสูงห้าหรือหกตาล ซึ่งใกล้เคียงกับ คนค่อม วามนาวตาร (พราหมณ์แคระ) และเด็กชาย (สูงห้าตาล)

พระขันธกุมารสูงหกตาละ ฤษีและมนุษย์ชายหญิงโดยทั่วไปสูงแปดตาละ เทวดาสำคัญ เช่น พระลักษมี พระปารวตี พระพรหมา พระศิวะและพระวิษณุสูงสิบตาละ

สูงไปกว่านี้คือสิบเอ็ดถึงสิบหกตาละ มักเป็นเทวดาในภาคดุร้าย เช่น พระนรสิงห์ มหิษาสุรมรทินี หรือตัวร้ายอย่างทศกัณฐ์

อันนี้ไม่ได้แปลว่า เทวดาเหล่านี้จะมีความสูงเช่นนี้จริงๆ นะครับ แต่เป็น “สัดส่วน” ในทางศิลปะเมื่อจะสร้างเทวรูป ให้สะท้อนภาวะและวัยของเทพตามคติความเชื่อ

จึงเห็นได้ว่า เทวดาที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีสัดส่วนร่างกายสูงกว่าเทวดาที่อยู่ในพวกเดียวกับยักษ์หรือคณะ หรือสะท้อนภาวะ “เด็ก” เช่น พระคเณศและพระขันธกุมาร

ส่วนเทพเจ้าหรืออมนุษย์ที่มีอำนาจมากและดุร้ายนั้น เขาจึงกำหนดให้มีร่างกายใหญ่โตกว่าปกติเพื่อสะท้อนภาวะนี้

ถามว่าในทางปฏิบัติ ช่างฝีมือสร้างเทวรูปตรงตามคัมภีร์เลยไหม ก็ไม่ขนาดนั้นครับ แต่อย่างน้อยที่สุดก็พยายามจะให้มีสัดส่วนรูปแบบตามที่สืบกันมาในขนบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทวรูปในเทวสถาน จะมีแปลกไปบ้างก็นิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่เพราะช่างอินเดียไม่มีความคิดสร้างสรรค์นะครับ แต่ความงามตามสูตรที่สร้างกันมานั้นมันก็ลงตัวพอสมควรแล้ว

แถมทำพระให้คนเขากราบเขาไหว้ ทำตามขนบน่าจะปลอดภัยกว่า

ในศิลปศาสตร์ระบุว่า ถ้าสร้างเทวรูปตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในคัมภีร์เทวรูปก็จะ “ศักดิ์สิทธิ์” บางคัมภีร์หนักหน่อยก็แสดงโทษว่าถ้าทำพระประติมาไม่ตรงช่างจะได้รับทุกข์ภัยต่างๆ

ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องความเชื่อ ตัวใครตัวมันละกันครับ

 

ย้อนกลับมาเรื่องเทวปางเบบี๋กัน ผมยกเรื่องคัมภีร์ศิลปศาสตร์มาเพื่อจะบอกเพียงว่า เทวรูปสำหรับสักการบูชาในบ้านเรือนหรือเทวสถานนั้นชาวฮินดูมีระบบความเชื่ออยู่เบื้องหลัง จึงมักสร้างตามขนบไม่ได้สร้างอย่างแหวกแนว ผิดกับในรูปแบบงานศิลปะหรือของโชว์

โดยความเชื่อ เทวรูปของเทพแต่ละองค์มีภาวะต่างกัน เอาไปทำน่ารักๆ ทั้งที่เป็น “อุคระ” (ดุร้าย) ก็เสียภาวะหมด

อีกทั้งในอินเดียยังไม่ได้มีการตลาดวัตถุมงคลใหญ่โตมโหฬารเท่าบ้านเรา การสร้างรูปแบบใหม่ๆ ในทางเทวพาณิชย์จึงน้อยกว่าเรามาก

ส่วนตัวผมยังยืนยันท่าทีเหมือนเดิมครับ ใครอยากจะทำอะไรก็ทำไป เป็นสิทธิของท่าน แต่ความรู้ของคนโบราณนั้นมีอยู่และควรรู้เสียด้วย

ส่วนรู้แล้วจะยังไงต่อก็ตามแต่ใจเถิด