อนุสรณ์ ติปยานนท์ : บ้านแห่งหนังสือ Books and Belongings

 

In Books We Trust (6)

 

เมื่อร้านหนังสือสูญหายจากดินแดนที่มันเคยดำรง ความรู้สึกของการพลัดพรากเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ร้านหนังสืออาจไม่สำคัญเท่าร้านอาหาร ร้านตัดผม หรือคลินิกของแพทย์ชุมชน

แต่ร้านหนังสือเป็นสิ่งยืนยันว่าในพื้นที่เหล่านี้มีใครบางคนที่รักการอ่าน และใครบางคนเหล่านั้นคือผู้สนับสนุนการดำรงอยู่ของมัน

ไม่มีหลักฐานพยานว่าร้านหนังสือที่ลึกลับที่สุดนั้นคือร้านหนังสือที่ใด

เราอาจมีร้านอาหารลึกลับที่ต้องขึ้นไปบนยอดอาคารสูง เดินผ่านประตูบานแล้วบานเล่าก่อนจะได้กลิ่นของอาหารที่รวยรินออกมา

เราอาจมีบาร์เหล้าลึกลับที่ต้องเดินผ่านป่าดงดิบ หรือลงลึกไปใต้อาคารจนพบแสงไฟและขวดเครื่องดื่มที่ตั้งเรียงราย

ร้านหนังสือไม่มีบุคลิกภาพแบบนั้น

ร้านหนังสือเข้าถึงง่ายกว่านั้น

ร้านหนังสือเชื้อเชิญผู้มาเยือนมากกว่านั้น

ร้านหนังสือให้คุณเข้าถึงในสิ่งที่มันมีมากกว่านั้น

 

อาหารและเครื่องดื่มดึงดูดผู้คนให้เสาะหาและพยายาม

ร้านอาหารที่โดดเด่นไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ห่างไกลเพียงใดจะมีคนหาทางไปเยือนเสมอ

ร้านเครื่องดื่มที่มีบาร์เทนเดอร์ชั้นนำผู้รังสรรค์เมนูเครื่องดื่มที่ไม่ซ้ำใครเชื้อเชิญผู้คนให้ไปเยือนเสมอ

แต่หนังสือที่แม้จะได้รับการขนานนามว่าเป็น “อาหารสมอง” ไม่ได้วางตัวไว้ขึงขังเช่นนั้น

คุณเดินผ่านร้านหนังสือแห่งหนึ่งในวันหนึ่ง คุณผลักประตูกระจกใสแวววาวเข้าไปข้างในนั้น หยิบหนังสือสักหนึ่งเล่มกลับบ้าน คุณดื่มด่ำ อิ่มเอมกับการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาด

หนังสือเล่มดังกล่าวให้ความเพลิดเพลินอย่างมาก คุณใช้เวลาสองสามวันหรือถึงหนึ่งอาทิตย์อ่านหนังสือเล่มนั้นจนจบ และเมื่อคุณวางหนังสือเล่มนั้นลง คุณก็เริ่มคิดถึงร้านหนังสือแห่งนั้น ร้านหนังสือที่คุณหยิบหนังสือเล่มดังกล่าวมา

คุณคิดถึงการไปเยือนร้านดังกล่าวอีกครั้ง

คุณคิดถึงการหยิบหนังสือเล่มอื่นๆ ที่หลงตา

คุณคิดถึงการยืนเลือกซื้อหนังสือในยามเช้าท่ามกลางแสงแดดอุ่น

คุณคิดถึงการเลือกซื้อหนังสือยามเย็นท่ามกลางแสงสุดท้ายของวัน

ร้านหนังสือเปิดเผยตนเองกับคุณเช่นนั้นและทำให้การดำรงอยู่ในที่ใดของมันไร้ความหมาย

 

ร้านหนังสือ Books and Belongings โยกย้ายตนเองจากพื้นที่ริมถนนสุขุมวิทสู่พื้นที่เล็กๆ ในชุมชนแห่งหนึ่ง

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีผลอย่างใดบ้างสำหรับร้านหนังสือ

คำถามที่ว่านี้ กิตติพล สรัคคานนท์ ผู้ก่อตั้ง Books and Belongings กล่าวไว้ว่า

“มันเหมือนจากการที่ร้านหนังสือเคยเป็นสถานที่ที่เราใช้ทำงาน แต่บัดนี้มันเปลี่ยนไปเป็นบ้านของเราแทน บริเวณของร้านในตอนนี้กลายเป็นสถานที่พักอาศัยแทนการเป็นร้านหนังสืออย่างโดดเดี่ยว ข้างๆ เป็นร้านอาหาร เป็นร้านค้าซึ่งชั้นบนเจ้าของร้านใช้พักอาศัย ลักษณะของอาคารเช่นนี้ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงตนเองโดยปริยาย”

“แต่การต้องมาอยู่ในพื้นที่ที่หาได้ยาก สังเกตได้ยากจะทำให้ร้านหนังสือของเราถูกลืมหรือกลายเป็นร้านหนังสือที่เข้าถึงยากหรือไม่?”

“หมายถึงร้านหนังสือลับหรือ (หัวเราะ) เอาจริงๆ ร้านหนังสือไม่ควรทำตัวโดดเดี่ยว ร้านหนังสือไม่เหมือนร้านค้าหรืออาคารแบบอื่นที่ทำตัวเหงาหรือแปลกแยก การมีพื้นที่ห่างไกลจากการสังเกตหรือมาเยือนอาจหมายถึงว่าเราจะมีลูกค้าที่ต้องการมายังที่นี่จริงๆ ไม่ใช่ลูกค้าที่เดินผ่านมาและแวะเข้ามาโดยบังเอิญแบบก่อน เราคงต้องเน้นการส่งมอบ เชื้อเชิญให้เลือกหาหนังสือผ่านหนทางอื่นเช่นสื่อออนไลน์มากขึ้น”

“และเปิดโอกาสให้ร้านต้อนรับลูกค้าที่ตั้งใจมาโดยเฉพาะจริงๆ”

 

คืนหนึ่งในหลายปีก่อน ผมและกิตติพล เปลี่ยนพื้นที่ในร้านหนังสือ Books and Belongings เป็นสถานที่ฉายภาพยนตร์

เราจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Chunking Express ของ หว่อง คาร์ ไว

ภาพยนตร์ของผู้กำกับฯ ชาวฮ่องกงนาม หว่อง คาร์ ไว นั้นขึ้นชื่อในแง่ที่ว่ามักแสดงความเปลี่ยวเหงาของตัวละครในเมืองใหญ่ผ่านทางสิ่งต่างๆ อาทิ บทพูดของตัวเอกคนหนึ่งที่กล่าวกับสบู่ที่มีก้อนเล็กลงว่า “ไม่สบายหรือไม่”

การพูดคุยกับสิ่งของของเรานั้นอาจแสดงถึงถ้อยวาจาที่ไม่จำเป็นต้องมีการตอบสนอง เราพึงใจที่จะอยู่กับตนเอง สนทนากับตนเอง มีความสุขกับตนเอง หมกมุ่นกับนิยามความรักของตนเอง และไม่คาดหวังที่จะมีผู้ใดเข้าใจมัน

“แต่หนังสือเล่า เราสนทนากับหนังสือโดยไม่ได้รับการตอบสนองเหมือนวัตถุอื่นหรือไม่?”

หนังสืออาจเป็นวัตถุที่มีความพิเศษเฉพาะชนิดหนึ่ง

หนังสืออาจเป็นวัตถุเฉพาะสำหรับบุคคลผู้โดดเดี่ยว

เราพบเห็นผู้คนจำนวนมากที่เดินทางไปตามที่ต่างๆ ป่าเขาหรือท้องทะเล เมื่อถึงที่พัก เขาวางทุกสิ่งลง ปิดโทรศัพท์มือถือ ตัดขาดการสื่อสาร เอนกาย มองไปรอบๆ ฉากทิวทัศน์ที่ห้อมล้อมเขาอยู่ก่อนที่จะหยิบหนังสือที่นำติดตัวมา

และเปิดมันขึ้น “อ่าน”

 

การ “อ่าน” นี้เองที่ทำให้การสนทนากับหนังสือแตกต่างจากการสนทนากับสิ่งอื่น

หนังสืออาจเป็นวัตถุที่แลดูปราศจากการตอบสนองไม่ต่างจากประตู หน้าต่าง แจกัน หรือแม้แต่ก้อนสบู่ แต่ในขณะเดียวกันหนังสือกลับมีแรงตอบโต้อยู่ในนั้นผ่านสิ่งที่เรียกว่า “การเล่าเรื่อง” ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเล่าเรื่องหรือโครงสร้างการเล่าเรื่อง

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการตอบโต้ผู้อ่านอยู่ในที

เราพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ “การเล่าเรื่อง”

เราพาตัวเองเข้าไปเป็นตัวละคร

เราพาตัวเองเข้าไปในบทสนทนา

เรานั่งอยู่ตรงนั้น อยู่ในฉากที่โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาที่ฟังตัวละครสองคนสนทนากัน เรายืนอยู่ตรงนั้น ยืนอยู่ในเวทีลีลาศที่ตัวละครจำนวนมากกำลังเริงร่ายอย่างเพลิดเพลิน เราหลบอยู่ตรงนั้น หลบอยู่กลางสนามรบที่ตัวละครล้วนบาดเจ็บล้มตาย

เราแอบซ่อนอยู่ตรงนั้น ตรงที่ฆาตกรผู้โหดร้ายเลวทรามและยังไม่มีใครจับกุมตัวได้กำลังสังหารเหยื่อคนใหม่ของเขาอย่างทารุณ บุคคลอื่นในเรื่องอาจไม่มีโอกาสที่จะอยู่ในทุกสถานการณ์ดังกล่าวเหมือนกับเรา แต่เราในฐานะของ “ผู้อ่าน” มีโอกาสดังกล่าว เราในฐานะของ “ผู้อ่าน” มีอำนาจและความเป็นไปได้ทั้งปวงที่จะอยู่ในสภาพเช่นนั้น

แต่หากมีคนอยากสนทนากับหนังสือ พวกเขาคงอยากได้ร้านหนังสือที่ไม่ต่างจากพื้นที่ส่วนตัว มันอาจเป็นร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครสนใจใคร ทุกคนล้วนสามารถหยิบหนังสือลงจากชั้น ไปยังมุมที่ตนเองหมายตา เปิดหนังสือขึ้นอ่านและจมอยู่กับมันได้นานเท่านานตามใจปรารถนา

หรืออาจเป็นร้านหนังสือขนาดเล็กที่มีกาแฟหอมกรุ่นให้ลิ้มลอง ผู้อ่านที่เดินเข้ามาในร้านหนังสือแบบนั้น ไม่ให้ความสนใจใดๆ กับผู้คน เขาสั่งเครื่องดื่ม หยิบหนังสือขึ้นพลิกอ่านและหายลับไปในตัวอักษร ไม่มีความรู้สึกถูกรบกวนจนกว่าหนังสือนั้นจะจบเล่ม

ร้านหนังสือคือพื้นที่ส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวม การทำร้านหนังสือให้เป็นคล้ายดังบ้าน

 

ดังที่กิตติพลผู้ดูแลร้านหนังสือ Books and Belongings กล่าวจะทำให้ความรู้สึกส่วนตัวดังว่าสูญหายไปหรือไม่

“ผมว่ามันไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แม้ว่าผมจะพักอาศัยที่นี่ ความรู้สึกที่ทำให้ลูกค้าหรือคนที่เข้ามารู้สึกว่าเขากำลังบุกรุกพื้นที่ส่วนตัวของใครไม่น่าจะมี แม้ว่าผมอาจตื่นขึ้น เดินลงมาจากห้องนอนข้างบนเพื่อชงกาแฟสักแก้วและพบว่ามีใครสักคนกำลังยืนรอการเปิดของร้าน แทนที่จะเป็นผมเดินทางมาทำงานและพบลูกค้าแบบนั้น ผมอาจตกใจบ้างแต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ดี ลูกค้าที่มาเยือนเราแม้ว่าเราจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและลับตาแสดงว่าเขาเข้าใจและรู้จักเราในระดับหนึ่งแล้ว”

“แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในแง่ของธุรกิจ ร้านหนังสือควรเป็นสถานที่ที่ไม่ควรโดดเดี่ยวหรือเปลี่ยวเหงา ร้านหนังสือไม่ควรทำตัวแปลกแยกจากอะไรก็ตาม ร้านหนังสือควรเป็นพื้นที่เป็นมิตร ไม่ข่มขู่ผู้คนหรือใคร ร้านหนังสือควรเป็นพื้นที่ที่อบอุ่นและให้การปกป้องเขาจากความรู้สึกที่ไม่สมหวังในพื้นที่อื่น ร้านหนังสือเป็นพื้นที่ได้ทุกอย่างยกเว้นแต่พื้นที่แห่งความโดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงา ในแง่ของการลงทุน เราคงไม่คาดหวังให้ร้านหนังสือกลายเป็นเพียงห้องว่างๆ ที่ไม่มีใครมาเยือน”

และท้ายที่สุด Booktender แห่ง Books and Belongings กิตติพล สรัคคานนท์ กล่าวว่า

“ร้านหนังสือแม้ว่าจะอยู่ในที่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม ลึกลับเพียงใดก็ตาม ร้านหนังสือไม่ควรเป็นพื้นที่แห่งความเปลี่ยวเหงา ร้านหนังสือไม่ควรเป็นพื้นที่แห่งความโดดเดี่ยวโดยสิ้นเชิง”