แมลงวันในไร่ส้ม/ข่าวฮ็อตวงการสื่อ The Standard ระงับ คอลัมนิสต์ “มาร์ค-อภิสิทธิ์”

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวฮ็อตวงการสื่อ The Standard ระงับ คอลัมนิสต์ “มาร์ค-อภิสิทธิ์”

กลับมาอีกครั้ง แต่รอบนี้ถือว่าเหนื่อยและเจ็บตัวพอสมควร ทั้งยังทำให้เกิดข่าวใหญ่ในแวดวงสื่อด้วย

หลังจากข่าว บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นของเดย์โพเอทส์ ซึ่งมีหนังสืออะเดย์ จนถึงเว็บ momentum ในราคา 308 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2560

ทำให้เกิดการทวงถามจากบรรดาผู้สนับสนุนที่เคยร่วมกันลงขัน ตามคำร้องขอของ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ในลักษณะ crowdfunding เมื่อปี 2543 กว่า 400 คน เป็นเงิน 2.5 ล้านบาท ที่เป็นทุนให้วงศ์ทนงทำหนังสืออะเดย์

ข่าวดังกล่าว วงศ์ทนงออกมายืนยันว่าไม่ทราบเรื่อง ไม่ได้เกี่ยวข้อง สื่อหลายสำนักนำเสนอข่าวเรื่องนี้ ได้รับความสนใจจากผู้อ่านกลุ่มหนึ่งพอประมาณ

ก่อนมาถึงจุดนี้ วงศ์ทนงได้ขายหุ้นให้ “สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย” แห่ง ทราฟฟิก คอนเนอร์ เพื่อทำหนังสือ A Day Bulletin และมีการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท จากบริษัท เดย์อาฟเตอร์เดย์ จำกัด เป็นบริษัท เดย์ โพเอ็ทส์ จำกัด

 

เดย์ โพเอ็ทส์ ได้ทำหนังสือออกมาหลายหัว ก่อนมีข่าว POLAR หรือ บ.โพลาริสเข้ามาซื้อหุ้น

สุดท้ายวงศ์ทนงและพวกลาออกจากบริษัท เดย์ โพเอทส์ จํากัด ขณะที่โพลาริสประกาศล้มดีล

วงศ์ทนงหันมาเตรียมแถลงเปิดตัว The Standard ในนามบริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด

เรียกเสียงฮือฮาพอสมควร เพราะวงศ์ทนง หรือโหน่ง ถือเป็นนักทำหนังสือระดับ “เซเลบ” เป็นไอดอลเท่ๆ ฝันๆ ที่วัยรุ่นชื่นชอบและติดตาม

สำหรับ The Standard เดอะสแตนดาร์ด เป็นเว็บไซต์ข่าว โหมโรงออกมาในรูปแบบทันสมัย สอดคล้องกับยุคสมัย

เงินทุนของเดอะสแตนดาร์ด มาจาก วินิจ เลิศรัตนชัย ดีเจที่ผันตัวมาทำธุรกิจออแกไนเซอร์ จำนวน 30 ล้านบาท

ทางฝั่งของวงศ์ทนงถือหุ้นข้างมากหรือ 55% แบ่งเป็น วงศ์ทนง 25% โดยถือเอง 20% และอีก 5% ถือแทนพนักงาน

นิติพัฒน์ สุขสวย หรือปิงปอง ที่ร่วมงานกับวงศ์ทนงมาหลายแห่ง 20% อีก 10% คือกลุ่มผู้ลงขัน aday 300 กว่าคน ขณะที่นายทุนคือวินิจ ถือ 45%

The Standard เป็นสื่อแบบ Convergence ประกอบด้วย 1.เว็บไซต์ thestandard เสนอข่าว, บทความข้อเขียนจากคนดัง วิดีโอ ตามเทรนด์ของสื่อออนไลน์ 2.Free Copy ทั้งรายสัปดาห์ The Standard เริ่มต้นแจกต้นเดือนกรกฎาคม 3.Pocketbook และ 4.อีเวนต์ ซึ่งจะเริ่มจัดปลายปีนี้

งานเปิดตัวของเดอะสแตนดาร์ด มีขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน คณะบรรณาธิการทั้ง 7 คน ประกอบด้วย วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ (โหน่ง) – Chief Executive Officer

นิติพัฒน์ สุขสวย (ปิงปอง) – Managing Director, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ (เคน) – Editor-in-Chief, เจิมสิริ เหลืองศุภภรณ์ (จิมมี่) – Editor-in-Chief

ภูมิชาย บุญสินสุข (บิ๊กบุญ) – Editor-in-Chief, วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม (ตุ๊ก) – Editor-in-Chief, ยศยอด คลังสมบัติ (โจ) – Editor

ชูสโลแกนว่า “Stand up for the People” ทางกลุ่ม บ.ก. ชี้แจงว่า หมายถึงการยืนหยัดกับคนอ่านหรือประชาชนในทุกเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แฟชั่น บันเทิง ท่องเที่ยว อาหาร และอื่นๆ ภายใต้การนำเสนอที่ดี มีประโยชน์ และคนอ่านได้เรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจจากสิ่งที่นำเสนอออกไป

และอีกตอน กล่าวว่า The Standard ไม่ได้สร้างมาตรฐานให้กับวงการสื่อ แต่คำว่า The Standard หมายถึงการสร้างมาตรฐานให้การทำงานสื่อของตัวเอง และใช้มาตรฐานนั้นในการตรวจสอบการทำงานของตัวเอง ดังนั้น ถ้าจะวิจารณ์ The Standard ก็ยินดีมากๆ

กลุ่มผู้ดำเนินการแถลงว่า รายได้หลักของ The standard จะมาจากค่าโฆษณา ตอนนี้บริษัทได้ลงทุนในเรื่องสำนักงานไปเกือบ 10 ล้านบาท มั่นใจปีนี้จะสามารถคืนทุน เนื่องจากลูกค้ามั่นใจในทีมงานเเละได้รับการตอบรับที่ดีมาก

อีกทั้งยังตั้งเป้าว่าในอนาคตจะเป็นสำนักข่าวที่ขายข่าวและภาพในไทยเเละขายให้สำนักข่าวต่างประเทศด้วย

ทีมงาน 80 คน ย้ายมาจากทีมงาน a day 40-50 คน ที่เหลือเป็นทีมงานที่รับเข้ามาใหม่

พร้อมยืนยันความอุ่นใจให้ทีมงานว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น…สิ้นปีนี้การันตีมีโบนัสแน่นอน”

ด้วยชื่อเสียงและกระแสของสื่อออนไลน์ที่กำลังมาแทนสื่อเดิมๆ เชื่อว่า The Standard น่าจะไปได้สวย

แต่ก็เกิดรายการสะดุด เมื่อวงศ์ทนงและคณะ เชิญ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรี ในห้วงที่มีการสลายม็อบ มีประชาชนเสียชีวิต 100 คน บาดเจ็บนับพันคน มาเป็นคอลัมนิสต์ ร่วมกับคนดังอื่นๆ

ปรากฏว่าเกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักหน่วง ขณะที่เดอะสแตนดาร์ด พยายามชี้แจงว่า มาร์ค อภิสิทธิ์ จะมาเปิดเผยแง่มุมอื่นๆ ที่คนยังไม่รู้ และไม่เกี่ยวกับการเมือง คือเรื่องฟุตบอลและเพลงร็อก ที่อดีตนายกฯ ผู้นี้ชื่นชอบ

ฟังดูชิลๆ ได้อารมณ์คนรุ่นใหม่ แต่มุขนี้ไม่เวิร์กเท่าที่ควร แต่เรียกแขก ทำให้เกิดกระแสคลื่นของการวิจารณ์อย่างหนัก

สุดท้าย ได้มีการเผยแพร่ข่าวว่า ได้ระงับคอลัมนิสต์รับเชิญผู้นี้ไปแล้ว

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ออกมาบอกว่า ตนเองยังไม่ได้ตอบรับเลย จะระงับได้อย่างไร เดอะสแตนดาร์ดเอาชื่อของตนเองไปขึ้นเอง

ขณะเดียวกัน มีการหยิบเอาทรรศนะทางการเมืองของกลุ่มนี้ในช่วงปลายปี 2556 ต่อเนื่อง 2557 มาเสนอใหม่อีกครั้ง

ทำให้เกิดผลกระทบต่อการตั้งชื่อเว็บว่า The Standard และคำขวัญที่ทำท่าเหมือนจะซ้ายๆ คือ Stand up for the People

จนกลุ่ม บ.ก. ต้องแถลงถึงการใช้ชื่อและคำขวัญดังกล่าว ว่าไม่ได้มุ่งในความหมายใหญ่โต หรือมีเป้าหมายนัยยะทางการเมือง

ผลที่ตามมาคือ เพจน้องใหม่ที่ใช้ชื่อใกล้เคียงกันอย่าง DOUBLESTANDARD ถือกำเนิดขึ้นอย่างเงียบๆ ด้วยโลโก้และสโลแกนเสียดสี Erection for the People

แต่ชัดเจนในตัวเองว่า เป็นการล้อเลียนเสียดสี The Standard ขณะที่เนื้อหาที่ปล่อยออกมา ก็แซวบทความของเพจดังกล่าว จนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ของแวดวงคนอ่านเว็บ

โดยเฉพาะยอดกดไลก์ของทั้งสองเพจ ไล่ตามกันมาอย่างน่าติดตาม

แนวโน้มใหม่ของวงการสื่อในระยะนี้ คือ ลดบทบาทของสื่อกระดาษ และมุ่งมาที่สื่อออนไลน์

กรณี The Standard ซึ่งตั้งเป้าทำเว็บข่าว ถึงขนาดจะขยายไปสู่การขายข่าวและภาพในอนาคต สะท้อนว่า “ต้นทุน” ของผู้จัดทำ มีความสำคัญไม่น้อย

แม้มีความชื่นชอบจากฐานของกลุ่มผู้อ่านประจำ แต่การโฆษณาหรือมุ่งโชว์ภาพทางบวก หากเกินจากความรับรู้ของผู้อ่าน อาจทำให้เกิดการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และปฏิกิริยาต่อผลการตรวจสอบอาจรุนแรงมากกว่าที่คาดคิด

กรณีของ The Standard การเอาชนะข้อสงสัยต่างๆ คงต้องงานหนัก พิสูจน์ตนเองด้วยผลงานเท่านั้นเอง