ผู้ประท้วงรัฐประหารพม่า กับ Burma Spring Revolution / กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ / สุทธิชัย หยุ่น

 

ผู้ประท้วงรัฐประหารพม่า

กับ Burma Spring Revolution

 

นี่เป็นโปสเตอร์ของคนพม่าที่กำลังต่อต้านอำนาจกองทัพที่ก่อรัฐประหาร

ข้อความเขียนว่า

March 27

BURMA SPRING REVOLUTION

The revolution is not an apple that falls when it is ripe. You have to make it fall.

-CHE-

เป็นป้ายประกาศที่ยึดเอาวันกองทัพพม่าเป็น “วันแห่งการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ” ของคนพม่า

โดยอ้างคำพูดของอดีตนักปฏิวัติ “เช กูวารา” ว่า

“การปฏิวัติไม่ใช่ผลแอปเปิล มันไม่ได้ร่วงลงมาเมื่อสุกงอม แต่เราต้องทำให้มันร่วงลงมาด้วยตัวเอง…”

ขณะที่ผมเขียนคอลัมน์อยู่นี้ข่าวร้ายถาโถมจากพม่าทุกทิศทาง…วันที่ 27 มีนาคม เป็นวันกองทัพพม่า แต่ก็เป็น “วันวิปโยค” สำหรับคนพม่าที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐประหาร

วันนี้ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย เดินตรวจพลในวันสวนสนามเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของกองทัพ แต่ก็เป็นวันที่ทหารและตำรวจภายในการสั่งการของเขาออกไล่ล่าสังหารผู้ประท้วงทั่วประเทศ

ขณะที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ (เย็นวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม) ยอดผู้เสียชีวิตใน 40 เมืองที่มีการปราบปรามอย่างหนักตลอดทั้งวันพุ่งขึ้นจาก 20 ตอนใกล้เที่ยงเป็น 50 ตอนบ่าย และกระโดดไปที่ 91 ตอนพลบค่ำ

ผมเชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากกระสุนของทหารและตำรวจ (ที่ประกาศไว้ก่อนหน้าหนึ่งวันว่าผู้ออกมาประท้วงวันกองทัพจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะถูกยิงที่หัวหรือหลัง) จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นับจากวันรัฐประหารที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึงวันนี้ผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 400 คน บาดเจ็บอาจเกิน 1,000 คน และผู้ถูกจับด้วยข้อหาต่างๆ กว่า 3,000 คน

แม้จะมีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังออกมาบ้าง แต่เมื่อเทียบกับคนที่ถูกสังหาร, ทำร้ายและจับไปก็สูงกว่ามากมายหลายเท่านัก

ที่สำคัญคือยังไม่มีสัญญาณว่ามิน อ่อง ลาย จะยอมหยุดยั้งการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง

ไม่ต้องพูดถึงโอกาสที่เขาจะยอมปล่อยตัวออง ซาน ซูจี และผู้นำทางการเมืองเพื่อหาทางออกทางการเมืองร่วมกันอย่างสันติ

คำถามก็คือ พม่ามี “ทางออก” จากวิกฤตครั้งนี้อย่างไรบ้าง

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักต่างก็พยายามจะประเมิน “ฉากทัศน์”หรือ scenarios ที่เป็นไปได้ว่าจะเส้นทางจบลงอย่างไร

เพราะภาวการณ์ของการเข่นฆ่าประชาชนโดยกองทัพอย่างที่เห็นกันอยู่ขณะนี้มิอาจจะดำรงอยู่ได้ตลอดไป

หากความปั่นป่วนและสภาพกลียุคที่เห็นอยู่ขณะนี้ยังลากยาวออกไป หนีไม่พ้นว่าพม่าจะเข้าสู่สถานการณ์ “สงครามกลางเมือง” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

พม่าจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว

และจะกลับไปสู่ “ยุคมืด” อีกครั้งหนึ่งค่อนข้างแน่นอน

“ฉากทัศน์” ต่างๆ ที่ผู้สันทัดกรณีพม่าเห็นอยู่ขณะนี้มี 5 ภาพ

 

1.กองทัพยึดอำนาจได้สำเร็จ พม่ากลับไปสู่การปกครองโดยทหารอย่างเด็ดขาด

ในภาพนี้ผู้นำทหารที่นำโดย พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย จะใช้ทุกวิถีทางในการขจัดอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงเพื่อเข้ามาบริหารประเทศในทุกมิติ

กลับไปสู่ยุคเผด็จการที่ทหารยึดครองประเทศมากว่า 50 ปีก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2015

ผู้นำทหารจะให้ประชาชนเลือกระหว่างกลียุคหรือเผด็จการ

นั่นหมายถึงการที่ทหารจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกหลายปีโดยไม่มีกำหนด ด้วยการอ้างเหตุผลที่จะต้อง “ฟื้นคืนเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ”

 

2.ฉากทัศน์ที่สอง คือเส้นทางที่ พล.อ.มิน อ่อง ลาย สัญญาไว้ ณ วันที่ยึดอำนาจ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้ นั่นคือจะจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในหนึ่งปีและใครชนะก็จะได้บริหารประเทศ

ในภาพนี้จะเห็นทหารพม่าออกแบบการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้พรรคที่ตนสนับสนุนรวมถึงพรรค USDP ได้ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งใหม่เพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลได้

มีความเป็นไปได้ว่าทหารจะปรับแก้ระบบการเลือกตั้งครั้งใหม่ให้กลุ่มของตนได้ประโยชน์สูงสุด

ขณะเดียวกันก็อาจจะแก้ระบบการปกครองจากที่เป็นอยู่เป็นระบบ “สัดส่วน” โดยอ้างว่าจะให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น

โดยเป้าหมายที่แท้จริงก็คือการหาทางให้ออง ซาน ซูจี และพรรค NLD ของเธอถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง ไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก

เพราะตระหนักดีว่าหากยังเลือกตั้งแบบเดิม พรรคของเธอก็จะชนะอย่างถล่มทลายอีกครั้งแน่นอน

การเลือกตั้งภายใต้ระบบใหม่ที่ทหารกำหนดนี้จะมีการใช้อำนาจของทหารในการกดดันให้ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเลือกเพียงพรรคที่ทหารสนับสนุนเท่านั้น

จะเป็นการเลือกตั้ง “จอมปลอม” ที่จะถูกประชาคมโลกประณามว่าเป็นการหย่อนบัตรแบบจัดฉากมากกว่าการให้ประชาชนได้เลือกผู้แทนของตนเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติแทนประชาชนส่วนใหญ่

 

3.ทางออกที่สาม คือการที่รัฐประหารครั้งนี้ไม่สามารถจะประกาศชัยชนะได้ แต่ก็ไม่ถึงกับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

นั่นหมายถึงวิกฤตที่ยืดเยื้อ

เป็นฉากทัศน์ที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองเพราะทหารจะเดินหน้าปราบปรามผู้ต่อต้านและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ติดอาวุธ

กองทัพจะใช้อำนาจของตนในการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งจะนำไปสู่การต่อต้านอย่างต่อเนื่องและแรงสนับสนุนสำหรับขบวนการ “อารยะขัดขืน” ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

กลียุคยืดเยื้อในพม่าก็อาจจะเกิดขึ้นหากมีการจัดโครงสร้างอำนาจในกองทัพใหม่ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแข่งขันแย่งชิงอำนาจกันภายในหน่วยรบ

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่ภาวะยืดเยื้อคือการที่ฝ่ายทหารและพลเรือนไม่ยอมรับบทบาทซึ่งกันและกัน ทำให้ไม่สามารถจัดให้มีการเจรจาต่อรองเพื่อหาทางออกจากวิกฤตร่วมกัน

อย่างที่อาเซียนพยายามจะจัดให้เกิดขึ้น

 

4.ฉากทัศน์ที่สี่คือการรัฐประหารล้มเหลว และมีการหวนกลับไปสู่สูตร “รัฐบาลไฮบริด” ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2008

ภายในภาพนี้จะมีการปล่อยออง ซาน ซูจี และผู้นำพรรค NLD ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนปีที่แล้ว

นี่คือข้อเรียกร้องหลักของสหประชาชาติและหลายส่วนของประชาคมโลก

แต่การที่รัฐประหารจะล้มเหลวจริงๆ นั้นแปลว่ากระแสของการต่อต้านโดยประชาชนในรูปแบบอารยะขัดขืนจะต้องมีความอึดโดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทุกภาคส่วนและมีความแข็งแกร่งทางการเงิน

อีกทั้งยังจะต้องมีแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อกองทัพจนหมดความชอบธรรมและเรี่ยวแรงที่จะยึดครองกลไกรัฐอีกต่อไป

ฉากทัศน์นี้จะเกิดขึ้นได้ย่อมจะต้องหมายถึงการที่ พล.อ.มิน อ่อง ลาย สูญสิ้นการสนับสนุนทางคนในกองทัพจำนวนมากพอสมควร

อีกทั้งแรงกดดันจากธุรกิจทั้งในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศมีความเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องรวมพลังกันบีบให้ผู้นำทหารต้องยอมแพ้เพราะไม่อาจจะต้านพลังต่อต้านจากเอกชนที่ร่วมมือกับฝ่ายอารยะขัดขืนได้

เงื่อนไขสำหรับที่ฉากทัศน์ที่สี่นี้จะเกิดขึ้นได้อีกประการหนึ่ง คือการที่มิน อ่อง ลาย จะต้องหลุดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อจะได้หมดอำนาจและบารมีในการสั่งการกองทัพได้

อีกทั้งประเทศตะวันตกทั้งหลายจะต้องยืนหยัดไม่ยอมรับรองรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

และอาเซียนจะต้องยืนยันที่จะเข้าถึงออง ซาน ซูจี และผู้นำพรรค NLD ที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นจากประชาชน

อาเซียนจะต้องสามารถเชื่อมต่อระหว่างออง ซาน ซูจี และมิน อ่อง ลาย เพื่อหาทางออกที่มิน อ่อง ลาย มองเห็นว่าตนไม่มีทางจะยึดอำนาจรัฐได้ตามที่มุ่งหวัง

(สัปดาห์หน้า : ฉากทัศน์ที่ 5 เมื่อประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน)