จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (11)

ถึงแม้อายุรัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่ที่มี “ผู้แทนราษฎร” จากพรรค “กิจสังคม” ซึ่ง “อาจารย์คึกฤทธิ์” เป็นหัวหน้าพรรค แค่ 18 เสียง แต่กลับได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” จะมีอายุสั้นๆ เพียงแค่ 8 เดือนเศษ แต่เต็มไปด้วยสีสันของประชาธิปไตยอันสวยงามดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ก็ตาม

แต่ในความหลากหลายของสีสันนั้นสอดแทรกไปด้วยความคิดเห็นนอกเหนือจากความนิยมการปกครองระบอบประชาธิปไตย การแสดงออกชนิดเสรีภาพเบ่งบานจึงถูกแฝงไว้ด้วยเงื่อนปมต่างๆ เพื่อที่จะสอดใส่ระบบการปกครองในลัทธิอื่นๆ เข้ามาปลูกฝังเผยแพร่

ซึ่งมันย่อมตรงข้ามกับ “ฝ่ายทหาร” ซึ่งคุ้นชินอยู่แต่กับระบบ “เผด็จการ”

สิ่งเหล่านี้ อาจารย์คึกฤทธิ์ (อดีต) นายกรัฐมนตรี รู้เท่าทันความคิด ทันเกมไปเสียทั้งหมด

ซึ่งท่านพยายามแก้ไขเหตุการณ์มาอย่างต่อเนื่องพร้อมๆ กับการบริหารจัดการรัฐบาลอันแสนสับสนวุ่นวายของท่านเพื่อจะได้ทำงานบริหารบ้านเมืองตามนโยบายที่เขียนกันไว้อย่างสวยงามยิ่งในอนาคต

และที่สำคัญต้องการรักษารัฐบาลประชาธิปไตยเอาไว้ให้จงได้

สุดท้ายก็ดังที่ทราบกันแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นเมื่อกว่า 40 ปีที่ผ่าน

“ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้พยายามทุกทางที่ดึงรั้งทุกฝ่ายให้ตั้งอยู่ในแนวทางของระบอบประชาธิปไตยแต่พอประมาณเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ ได้พยายามพูดกับทุกๆ ฝ่าย ทุ่มเทตัวเองเข้ากั้นกลาง กั้นการกระทบกระทั่งไม่ให้เกิดความรุนแรง ในขณะนั้นก็ถูกทุกฝ่ายเหยียบย่ำตลอดเวลาอย่างที่ไม่คิดกันถึงเรื่องน้ำใจของคนอีกคนหนึ่ง–”

(อดีต) นายกรัฐมนตรี ของประเทศนี้กล่าวไว้เมื่อกว่า 40 ปีแล้ว

 

ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ของการเป็นรัฐบาลผสมมากมายหลายพรรคจนเรียกว่าสหพรรค (12 พรรค) นั้นเกิดวิกฤตการณ์ภายในประเทศ มีการเดินขบวน ชุมนุมประท้วงกรณีต่างๆ มากมายจนมีการจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธฝ่ายขวาเพื่อแยกสลายและทำลายหรือสกัดกั้นการเดินขบวน

เหตุการณ์ร้ายๆ ซัดใส่รัฐบาลโดยตรง และกับหัวหน้ารัฐบาล คือนายกรัฐมนตรี

อย่างกรณีตำรวจบุกเข้าทำลายบ้านพักของท่านจนพังเสียหายยับเยิน

นักเรียนอาชีวะบุกเข้ารื้อค้นทำลายข้าวของอาคารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ ฯลฯ

อาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวถึงเรื่องความเบ่งบานของประชาธิปไตยในสมัยรัฐบาลของท่านอีกว่า “ช่วงระยะเวลาที่ท่านเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเวลาที่ที่มีรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประชาชนมีเสรีภาพทุกอย่าง แม้แต่จะไล่ขว้างระเบิดกันกลางถนนหนทางก็ทำได้–”

จะว่าไปในปี พ.ศ.2518 รัฐบาลประชาธิปไตยสามารถมีอายุอยู่ได้ถึง 8 เดือนก็นับว่าเก่งกาจสามารถเป็นอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงกันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ บ้าน อันสืบเนื่องมาจากการแผ่ขยายของลัทธิ “คอมมิวนิสต์” จากหลายๆ ประเทศที่นิยมระบบดังกล่าว

การรบพุ่งยุ่งเหยิงจนถึงสงครามย่อมเกิดขึ้นเมื่อ “สหรัฐอเมริกา” ซึ่งต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ต้องถอยร่นถอนตัวออกมาจากประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชาก็แตกด้วยน้ำมือ “เขมรแดง” ลาว เวียดนาม ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายคอมมิวนิสต์

สหรัฐมาปักหลักตั้งแนวป้องกันลัทธิดังกล่าวอยู่ในประเทศไทย ซึ่งในบ้านเราเองย่อมจะต้องมีฝ่ายที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกาอย่างหนัก

เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลผสมซึ่งเกิดขึ้นตามระบอบประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารบ้านเมืองพอดี!

 

เหตุการณ์ร้ายแรงแสดงถึงความมีเสรีภาพ มีประชาธิปไตยเบ่งบานเมื่อนักศึกษา ประชาชนจำนวนมากเดินขบวนต่อต้านสหรัฐอเมริกาไปยังสถานทูต ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนวิทยุ ระหว่างที่เดินผ่านบริเวณสยามสแควร์ ปทุมวัน ก็มีผู้ขว้างระเบิดสังหารลงมาทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนไม่น้อย

กองทัพ หรือจะเรียกว่าฝ่ายทหารนั้นไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นพันธมิตรได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือด้านต่างๆ ในฐานะประเทศมหาอำนาจ เพราะฉะนั้น เมื่ออาจารย์คึกฤทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ออกนำหน้าเป็นผู้แทนฝ่ายประเทศไทยในการเจรจาให้สหรัฐถอนฐานทัพออกไป

สหรัฐอเมริกา และฝ่ายทหารย่อมไม่สบอารมณ์ ไม่พอใจรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลผสมที่เรียกว่ารัฐบาล “สหพรรค” (12 พรรค) ซึ่งมีหัวหน้ารัฐบาลชื่อ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงมีอายุอยู่ได้เพียง 8 เดือน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ายาวมากในสภาพเหตุการณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองในปี พ.ศ.2518 ไม่แน่หากท่านอื่นๆ เป็นหัวหน้ารัฐบาล อาจจะสั้นกว่านี้ หรือในทางกลับกันอาจยืนยาวกว่าก็ได้

ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะเดินตามแนวทางประชาธิปไตย หรือแบบไหน อย่างไร?

 

อาจารย์คึกฤทธิ์ มีจิตวิญญาณ รวมทั้งได้รับการศึกษาอบรมเป็นนักประชาธิปไตย ท่านต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีจุดยืนตรงกันข้ามกับการปกครองระบบเผด็จการ เมื่อใคร กลุ่มไหนมีแนวความคิดเรื่องเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองที่ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คนส่วนใหญ่ว่าดีที่สุด คือประชาธิปไตย ท่านจะต่อต้านทุกทางเท่าที่โอกาสจะเอื้ออำนวย

เมื่อหมดหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลบริหารบ้านเมือง “ถอดหัวโขน” ออก ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แก่ผู้ที่ไม่ต้องการประชาธิปไตย ไม่เห็นชอบกับนโยบายที่เสนออย่างถูกต้องและผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

อาจารย์คึกฤทธิ์ กลับมาเขียนหนังสือประจำอยู่ที่ “หนังสือพิมพ์สยามรัฐ” ตรงหน้า 5 ดังเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่ของคอลัมน์อันทรงอิทธิพล และผู้คนต้องเหลียวมองทุกครั้งที่บ้านเมืองเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง จนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดี ไม่ถูกไม่ควร

เมื่อนายทหารระดับสูงของกองทัพซึ่งยอมรับกันว่ามีมันสมองสติปัญญาระดับขงเบ้งของกองทัพ รวมทั้งกลุ่มนายทหารซึ่งเรียกตัวเองว่าทหารประชาธิปไตย เกิดมีแนวคิดก้าวหน้าทำท่าว่าจะแตกแถว พยายามเสนอความคิดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยของไทย อาจารย์คึกฤทธิ์คลางแคลงใจแนวคิดนี้ และปักใจเชื่อว่านายทหารระดับมันสมองท่านนี้นิยมการปกครองระบบอื่น

ท่านเคยเขียนต่อต้านลงในคอลัมน์ของท่านอย่างรุนแรงครั้งหนึ่งว่า “กูไม่กลัวมึง” จนความคิดเรื่องสภาเปรซิเดียมเกิดไม่ได้มาแล้ว แต่ความเชื่อส่วนตัวว่านายทหารใหญ่ท่านนี้นิยมลัทธิอื่นนั้นยังฝังอยู่ในใจถึงขนาดไปอภิปรายในสถานที่ต่างๆ ว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” เพราะดันชอบไปคบคิดสนิทสนมกับอดีตกรรมการกลาง “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)”

เกิดกรณี “ทหารพราน” (นักรบชุดดำ) บุกบ้านอาจารย์คึกฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเชื่อว่าเกิดจากการวางแผนของลูกน้องเพราะท่านเป็นผู้ก่อตั้งทหารพรานด้วยเช่นเดียวกัน นายทหารที่นำทหารชุดดำมาผลักโยกตะโกนทำท่าจะพังประตูอยู่หน้า “บ้านสวนพลู” เป็นลูกน้องสนิททั้งนั้น ซึ่งเชื่อกันว่านั่นคือวิธีการ “กดดัน” ก่อนที่จะให้นายทหารหนุ่มระดับผู้พันเข้าไปขอคำยืนยันจากอาจารย์คึกฤทธิ์ ว่า “นาย” ของพวกเขาไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์

นายทหารที่มุดรั้วประตูเล็กเข้าไปพบอาจารย์คึกฤทธิ์ในวันนั้น ทุกวันนี้อยู่ในวัยเฉียด 70 ปีทั้งสิ้น ก่อนเกษียณอายุราชการส่วนใหญ่มียศถึง “พลเอก” นอกจากบางท่านที่ลาออกไปเล่นการเมืองเสียก่อน

มีผู้บันทึกเหตุการณ์เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่าน จากคำบอกเล่าของ พล.อ.จงศักดิ์ พนานิชกุล ว่า “พี่สุ (พล.อ.สุจินดา คราประยูร-อดีต ผบ.ทบ. และนายกรัฐมนตรี) สั่งมาว่าให้จง (พล.อ.จงศักดิ์) เป็นตัวแทนเข้าไปคุย พวกเราได้พูดกับอาจารย์หม่อมเรื่องไปว่าพี่จิ๋วเป็นคอมมิวนิสต์ อาจารย์บอกว่าไม่ได้ว่า เราก็รักท่าน พี่นิด (พล.ต.ศรชัย มนตริวัต) ก็รักท่าน ทำอย่างไรจึงให้ ผบ.พัน เข้าใจท่าน บรรยากาศดีมาก คุยกัน 10 นาทีก็เลิก–เข้าใจกัน”

ต่อมา (บิ๊กจิ๋ว) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (อดีตนายกรัฐมนตรี) ได้ขอพระราชทานยศ “พลตรี” ให้กับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์

จาก “สิบตรี” เป็น “พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช”