คุยกับทูต : ‘อาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด’ วันปากีสถาน มิตรภาพ ความร่วมมือ (ตอน 2) ยลโฉมความงดงาม

การได้ออกไปท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกประเทศ ทำให้มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล แถมได้มิตรภาพจากเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ การเดินทางไปยังที่ใหม่ที่เราไม่คุ้นเคยนับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง

คนที่ชอบท่องเที่ยวจึงมักจะประสบความสำเร็จ เพราะมีโอกาสได้พัฒนาความสามารถ นำไปสู่วิธีจัดการอารมณ์ และความคิด หากบวกการทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วยจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม

“หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องไปเที่ยวปากีสถาน และทำไมต้องไปหลายครั้ง”

นายอาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด (H.E. Asim Iftikhar Ahmad) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ประจำประเทศไทย มีคำตอบที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบัน ปากีสถานมีความพยายามในการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปเที่ยวในปากีสถานมากขึ้น

“ไทยและปากีสถานเป็นหนึ่งในประเทศทั้งหลายที่โชคดี เพราะต่างมีส่วนประกอบสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงและดึงดูดผู้คนทำให้การท่องเที่ยวเจริญรุ่งเรือง และที่กล่าวกันว่าประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม ปากีสถานก็เช่นเดียวกัน”

“สิ่งที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งที่คุณได้สัมผัสขณะไปเยือนปากีสถาน คือความรู้สึกเหมือนได้อยู่ที่บ้าน เพราะเราให้การต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนอย่างเต็มที่ด้วยไมตรีจิต โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย”

“ปากีสถานมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ผู้คนและภูมิทัศน์ มีประเพณีที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างเป็นระบบ ไปจนถึงความทันสมัยของงานศิลปะและงานฝีมือ หรือภาพโมเสกของวรรณกรรม ดนตรี การเต้นรำ ภาพยนตร์ และแฟชั่น มีอาหารรสเลิศที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ทุกอย่างอยู่ในราคาที่คุณสามารถจับต้องได้”

“ในแง่ของภูมิประเทศ หลายแห่งล้วนมีสภาพแวดล้อมที่สวยงามและสมบูรณ์แบบที่สุดในโลก ความหลากหลายของหาดทราย ชายทะเล ไปจนถึงทะเลทรายอันกว้างใหญ่เงียบสงบ และผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ มีครบทั้งแม่น้ำ หุบเขาและภูเขา”

“ในปากีสถานมีภูเขาที่สูงที่สุดในโลกซึ่งรวมถึงเคทู (K-2) ที่สูงเป็นอันดับสองในโลกรองจากยอดเขาเอเวอเรสต์ นักปีนเขาหลายคนถือว่าเคทูเป็นยอดเขาที่ปีนยากที่สุดและอันตรายที่สุดในโลก”

“ด้วยเหตุผลดังกล่าว ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวจึงได้รับการประกาศให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ เมื่อปี ค.ศ.2019 โดยนิตยสาร Forbes, British Back Packers Society และCond? Nast”

ปากีสถานกำลังส่งเสริมพหุนิยมทางศาสนาเพื่อสนับสนุนการรวมตัวกันทางศาสนา โดยการลดข้อจำกัดวีซ่า โดยเฉพาะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธ นี่คือคำอธิบาย

“สำหรับเพื่อนชาวไทยของเรา สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในปากีสถาน คือสถานที่ที่เป็นมรดกทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะเมืองตักศิลา (Taxila) ทักต์ไอบาฮี (Takht-i-Bahi) เปชวาร์ (Peshawar) สวัต (Swat) รวมทั้งสถานที่อื่นๆ ในคันธาระโบราณ (ancient Gandhara) และบริเวณภูเขาที่สวยงามทางตอนเหนือ”

“เพื่อนคนไทยมักถามผมว่าไปเที่ยวปากีสถานช่วงไหนดี? คำตอบคือ คุณเลือกเวลาใดก็ได้ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับว่า คุณอยากอยู่ที่ไหน อยากทำอะไร และอยากเห็นอะไร เพราะปากีสถานมีทุกฤดูกาล ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในรูปแบบต่างๆ กันในช่วงเวลาใดช่วงหนึ่ง”

“คุณจะเพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์ของพืชพันธุ์สีเขียวในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน อุณหภูมิในละฮอร์ (Lahore) และอิสลามาบัด (Islamabad) อาจอยู่ที่ 40 ํC แต่เป็น 20 ํC ในมูร์รี (Murree) และนาเทียกาลี (Nathiagali) โดยใช้เวลาขับรถไม่นานจากอิสลามาบัด แต่อุณหภูมิจะลดต่ำกว่ามากเมื่อเคลื่อนไปทางเหนือสู่ภูเขาที่สูงขึ้น ซึ่งสามารถเล่นสกีในช่วงฤดูหนาว”

“เราต้องศึกษาให้ดีก่อนการเดินทาง แม้ในอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจะมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเทศและสถานที่ที่น่าสนใจ แต่ในบางครั้งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดหรือข้อมูลล้าสมัย หากไม่ได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้”

“ผมขอให้เพื่อนชาวไทยของเรามั่นใจในความปลอดภัยขณะที่ไปเยือนปากีสถานเท่าๆ กับมั่นใจในความปลอดภัยขณะอยู่ในประเทศไทย จึงไม่ควรมีความกังวลในเรื่องนี้ คุณจะรู้สึกยินดีที่ได้รับการต้อนรับจากเราและรู้สึกปลอดภัยเหมือนอยู่บ้าน เพราะเพื่อนคนไทยที่เคยไปเยือนปากีสถานจะสามารถเป็นพยานได้เป็นอย่างดี”

ท่านทูตอาซิมยืนยัน

“เมื่อวางแผนที่จะเดินทาง สิ่งแรกที่คำนึงถึงคือวีซ่า เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลปากีสถานได้เริ่มดำเนินโครงการหลายอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการยื่นขอรับวีซ่า โดยสามารถเริ่มต้นกระบวนการขอวีซ่าออนไลน์ (E-visa) ด้วยตนเองสำหรับเกือบทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย คนไทยมีสิทธิ์ได้รับวีซ่าในกล่องจดหมายภายใต้หมวดหมู่นักท่องเที่ยวและประเภทธุรกิจ”

“เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา การขอวีซ่าทั้งหมดจะต้องยื่นผ่านระบบวีซ่าออนไลน์ของปากีสถาน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางชาวไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถขอได้จากที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สถานทูตอีกแล้ว นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในเมืองอื่นๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อขอวีซ่าปากีสถานอีกต่อไป”

“โปรดทราบด้วยว่า การเดินทางไปปากีสถานใช้ระยะเวลาอันสั้น โดยเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ เพียง 4 ชั่วโมงกว่า ต้นทุนในการเดินทาง ที่พักและอาหารในปากีสถานมีราคาประหยัด แหล่งช้อปปิ้งก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผลิตภัณฑ์งานฝีมือคุณภาพเยี่ยม และยังสามารถต่อรองราคาได้”

ปากีสถานส่งออก “วัฒนธรรม” สู่สายตาประชาคมโลก ผ่านเสน่ห์ของงานหัตถกรรม เช่น งานเย็บปักถักร้อย พรม เครื่องประดับ รองเท้า เครื่องปั้นดินเผา ภาพวาด และรูปปั้นขนาดเล็ก

“สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมอยากให้ระลึกถึงมิตรภาพที่มีมาอย่างยาวนานของปากีสถานกับไทย (Pak-Thai Friendship) ปากีสถานเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพถวายการต้อนรับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศปากีสถานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9”

“ปากีสถานเป็นที่ตั้งของอารยธรรมคันธาระซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนาและเป็นแหล่งที่คำสอนทางพุทธศาสนาแพร่กระจายออกไปทั่วทวีปเอเชียหลายประเทศ ความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างเราปากีสถานและไทย จึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกันและกัน”

“นอกจากนี้ เรายังมีบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกันหลายประการทีเดียวและเช่นเดียวกับคนไทย ชาวปากีสถานขึ้นชื่อเรื่องการต้อนรับด้วยไมตรีจิตที่อบอุ่น มีค่านิยมและระบบครอบครัวแบบดั้งเดิม รวมถึงการให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศของเราทั้งสอง อีกทั้งวิถีชีวิตในเมืองและชนบทก็เป็นแนวเดียวกันด้วย”

“เยาวชนของเราให้ความสนใจดนตรี ศิลปะ แฟชั่น และการกีฬาเช่นกัน เราผลิตแชมป์ที่ยอดเยี่ยม เช่น คริกเก็ต ฮ็อกกี้ สควอช และสนุ้กเกอร์ (ปากีสถาน) แบดมินตัน กอล์ฟ และสนุ้กเกอร์ (ไทย)”

 

ปากีสถานมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“การท่องเที่ยวของปากีสถาน เป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศเฟื่องฟู การส่งเสริมการท่องเที่ยวถือเป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาล การเปิดเสรีวีซ่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงการเดินทาง การขนส่ง โรงแรม อาหาร และสถานบันเทิง”

“การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวด้วยมืออาชีพในสายงาน ที่มีความทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการการท่องเที่ยวที่ประหยัดและมีคุณภาพ ช่วยเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวของพื้นที่ทางตอนเหนือที่สวยงามในแคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา (Khyber Pakhtunkhwa) กิลกิต บัลติสถาน (Gilgit Baltistan) และแคชเมียร์หรือกัศมีร์ (Kashmir) รวมทั้งมีการเสนอสิ่งจูงใจหลายประการสำหรับการลงทุนในภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

“ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ปากีสถานมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศไทยอันเป็นประโยชน์มากมาย”

“นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจไทยหาโอกาสในการลงทุนและการร่วมทุนในภาคการท่องเที่ยวของปากีสถาน โดยเฉพาะการลงทุนทั้งในโรงแรมระดับไฮเอนด์ที่รองรับนักท่องเที่ยวระดับคุณภาพ มีกำลังซื้อสูง และโรงแรมราคาประหยัดที่เน้นสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสถานบันเทิงต่างๆ”

 

นอกจากการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ปากีสถานมีการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวเชิงศาสนา การท่องเที่ยวแถบภูเขา และการท่องเที่ยวแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก 6 แห่งและอีก 26 แห่งที่ยังอยู่ในรายชื่อการพิจารณา

“ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ภูมิทัศน์การท่องเที่ยวของปากีสถานมีความหลากหลายมากและให้ความสำคัญกับความสนใจที่แตกต่างกัน สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจในพระพุทธศาสนา ตักศิลา (Taxila) เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดโดยใช้เวลาขับรถเพียง 1 ชั่วโมงจากเมืองหลวงกรุงอิสลามาบัด”

“หรือจะเป็นเจดีย์ รูปปั้น ที่ทักต์ไบห์ (Takht-e-Bahi) พระนอนไสยาสน์ เก่าแก่ที่สุดในโลกที่สถูปภัมมาลา (Bhamala) พระสถูปอัมลุก-ดารา (Amluk-Dara Stupa) ตั้งอยู่ในหุบเขาสวัต (Swat)”

“ส่วนพิพิธภัณฑ์ในตักศิลา สวัต เปชวาร์ และละฮอร์ นั้นเป็นที่เก็บโบราณวัตถุของคันธาระและโบราณวัตถุล้ำค่าทางพุทธศาสนามากมาย และปากีสถานยังเป็นที่ตั้งของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอายุ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลโดยมีสถานที่สำคัญที่ฮารัปปา (Harappa) และโมเฮนโจ-ดาโร (Mohenjo-Daro)”

ผู้ที่สนใจมรดกทางวัฒนธรรมพุทธศาสนาจะพลาดไม่ได้เลย พุทธศาสนาลงหลักปักฐานมั่นคงในปากีสถาน ส่งต่อไปยังเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก อันเป็นเส้นทางสำคัญของพุทธศาสนา

แม้ว่าปัจจุบันมีชาวพุทธเหลืออยู่ในปากีสถานน้อย แต่โบราณสถานทางพุทธศาสนาซึ่งอยู่ในพื้นที่ของชาวมุสลิม ไม่ได้ถูกทำลาย

ชาวมุสลิมอยู่กับโบราณสถานทางพุทธได้ด้วยดีโดยมีรัฐบาลและนักวิชาการทุ่มเทดูแลรักษาพุทธสถานให้อยู่ในสภาพดีเท่าที่จะทำได้

ชาวมุสลิมที่เป็นนักโบราณคดีในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีพุทธสถานโบราณตั้งอยู่ นอกจากดูแลท้องถิ่นตนเองแล้ว ยังเป็นผู้นำชมท้องถิ่นที่มีความรู้เกี่ยวกับพุทธสถานโบราณเป็นอย่างดีด้วย แง่มุมเหล่านี้ล้วนเป็นการเปิดภาพใหม่ของปากีสถานในด้านการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา

 

นอกจากอารยธรรมแล้ว ปากีสถานยังมีธรรมชาติอันงดงามน่าตื่นตาตื่นใจ ที่แทบไม่น่าเชื่อว่าอยู่ในประเทศปากีสถาน เพราะให้ความรู้สึกราวกับหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของเทพนิยาย

“ปากีสถานมีอุณหภูมิและภูมิทัศน์ที่หลากหลายตั้งแต่ชายทะเลไปจนถึงหุบเขาและภูเขาที่สูงที่สุดในโลก มีทะเลทรายขนาดใหญ่อยู่ในคาราน (Kharan) ธาร์ (Thal) และคอลิสตัน (Cholistan) มีเมืองการาจีและละฮอร์ซึ่งเป็นมหานครศูนย์กลางของศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น อาหาร สถานที่สำคัญทางสถาปัตยกรรมกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงผลงานชิ้นเอกในจักรวรรดิโมกุล (Mughal) เช่น สวนชาลิมาร์ (Shalamar) มัสยิดหลวง และป้อมในเมืองละฮอร์”

“เรื่องที่น่าสนใจยิ่งของปากีสถานอีกมุมหนึ่งคือ มียอดเขาที่สูงที่สุดในโลก โดยที่ยอดเขา 5 ยอดสูงกว่า 8,000 เมตรอยู่ในปากีสถาน และนั่นยังไม่ใช่ทั้งหมด ยอดเขา 29 ยอดสูงกว่า 7,500 เมตร และ 121 ยอดที่มีความสูงมากกว่า 7,000 เมตรก็อยู่ในปากีสถานด้วยเช่นกัน ส่วนเทือกเขาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสามแห่งของโลก ได้แก่ เทือกเขาหิมาลัย (Himalayas) คาราโครัม (Karakoram) และเทือกเขาฮินดูกูช (Hindu kush) ยังได้มาบรรจบกันในปากีสถาน ยิ่งไปกว่านั้น ธารน้ำแข็งที่ยาวที่สุดนอกขั้วโลกบางแห่ง ก็ตั้งอยู่ในปากีสถาน เช่น ธารน้ำแข็งเซียเชน (Siachen) ปีอาโฝ (Biafo) และบัลโทโร (Baltoro)”

ท่านทูตอาซิม อาหมัด เสริมตอนท้ายว่า

“สำหรับผู้สนใจซาฟารีทางอากาศ สายการบินปากีสถาน (PIA) จะพาคุณไปยังหลังคาโลก (Roof of the World) แห่งนี้ ที่ซึ่งคุณจะได้เห็น K2 ที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งผมคิดว่า นี่เป็นทริปที่สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตอย่างแท้จริง”