วางบิล/ข่าวเดี่ยวหมู่ – ข่าวหมู่เดี่ยว ครือกัน

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ข่าวเดี่ยวหมู่ – ข่าวหมู่เดี่ยว ครือกัน

ที่เรียกว่า “ข่าวเดี่ยว” อาจเป็นข่าวที่นำเสนอเฉพาะหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นในวันรุ่งขึ้น หรืออีกในสองสามวันต่อมาเท่านั้น เมื่อนำเสนอข่าวเดี่ยวซึ่งนักข่าวอาจหามาได้ด้วยตัวเอง หรือมาจากการ “สั่งข่าว” ของหัวหน้าข่าวในแต่ละวัน หรือหัวหน้าข่าวเป็นผู้หาข่าวเอง เมื่อนำเสนอผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ออกไปแล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นจะพากันตามข่าวนั้นต่อ เพื่อให้ได้รายละเอียดเพิ่มขึ้น

“ข่าวเดี่ยว” อีกประเภทหนึ่ง เป็นข่าวเดี่ยวที่นำเสนอในหน้าหนังสือพิมพ์เพียงสองสามฉบับ

เหตุที่เรียกว่า “ข่าวเดี่ยว” เพราะนักข่าวจากหนังสือพิมพ์สองสามฉบับนั้นได้ข่าวมาพร้อมกัน ขณะที่นักข่าวฉบับอื่นไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย จึงต้องให้คำมั่นต่อกันว่า จะนำเสนอข่าวนี้เฉพาะหนังสือพิมพ์ที่นักข่าวสองสามคนนั้นสังกัด อย่างน้อยเป็น “ข่าวเดี่ยว” ที่มีหนังสือพิมพ์ไม่มากฉบับนำเสนอ

การนำเสนอ “ข่าวเดี่ยว” นับเป็นข่าวที่แหล่งข่าว หรือผู้อ่านชื่นชม โดยเฉพาะข่าวซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติ เช่น ข่าวการทุจริตในส่วนราชการ หรือประเด็นที่เกี่ยวกับข่าวการเมือง เช่น การปรับคณะรัฐมนตรี การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี หรือแม้ที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาล

ห้วงเวลาที่ผมออกไปทำข่าวของหนังสือพิมพ์ “รวมประชาชาติ” เป็นห้วงที่การเมืองเข้มข้น ปี 2518 เป็นปีที่มีการประท้วงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเรียกร้อง “ค่าแรง” ของบรรดาแรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานนัดประท้วงจนลุกลามขยายไปทั่วเป็นวงกว้าง มีการชุมนุมแบบข้ามวันข้ามคืน แต่ละจุดของโรงงานตั้งห่างไกลออกนอกเมือง การเดินทางไปทำข่าวจึงค่อนข้างลำบาก ทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเข้มแข็ง มีศักยภาพทางการเมือง ในหลายเรื่องยิ่งกว่านักการเมืองและพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเสียอีก

ห้วงนั้นจึงมีนักข่าวสายแรงงานที่ต้องติดตามการประท้วงเป็นประจำ ขณะที่นักข่าวสายอื่นยังต้องไป ณ ที่ชุมนุมประท้วงเป็นครั้งคราว

กลุ่มประท้วงที่สำคัญคือกลุ่มสหภาพแรงงาน ระหว่างนั้นมีกลุ่มใหญ่ที่ปักหลักชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือกลุ่ม “ไทยการ์ด” ซึ่งเรียกร้องค่าแรงชดเชยจากรัฐบาลหลังจากไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว มีการต่อรองกันหลายครั้งหลายหน

ในที่สุดรัฐบาล โดยกรมแรงงาน ยินดีจ่าย หากจ่ายแบบลับๆ ใครต้องการได้เงินให้ไปรับที่ทำเนียบรัฐบาล ใครที่ยังไม่ต้องการเงิน หรือต้องการมากกว่าที่รัฐบาลจ่าย ต้องรอไปก่อน จนกว่าการเจรจาจะจบลง

ที่สุด หลังจากมีการทยอยรับเงินไปจำนวนหนึ่ง วันหนึ่งการชุมนุมต้องสลายตัว เพราะผู้ชุมนุมจำนวนน้อยลง ผู้ที่ได้รับเงินชดเชยต่างแยกย้ายกลับบ้าน

การชุมนุมประทัวงของบรรดาแรงงาน นักข่าวที่ไปทำข่าวประจำหลายคน “อิน” หรือเอาใจช่วยฝ่ายแรงงาน ถึงกับพกแปรงสีฟันเข้าไปกินนอนกับผู้ร่วมชุมนุมก็มี เช้ามาทำงาน ตกเย็นไปร่วมชุมนุม รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นนักข่าวประจำ หากแต่ยินดีเข้าข้างฝ่ายแรงงาน เนื่องจากระหว่างนั้น ฝ่ายนิสิตนักศึกษายังมีบทบาทสำคัญ จึงมีกลุ่มมีบุคคลที่ยินดีให้คำปรึกษากับผู้นำแรงงาน

ข่าวการเมืองและความเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงเข้มข้นขึ้นเรื่อย

ข่าวการเมืองที่สำคัญ คือข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี และการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร

ทุกเย็นวันจันทร์ นักข่าวคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนของประชาชาติ ต้องได้รับคำสั่งจากหัวหน้าข่าววันรุ่งขึ้น โดยเฉพาะจาก ไพบูลย์ วงษ์เทศ ให้โทรศัพท์สอบถามวาระการประชุมจากรัฐมนตรีที่นักข่าวคุ้นเคย ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารรุ่งขึ้นมีวาระการประชุมอะไรที่สำคัญบ้าง

รัฐมนตรีที่ได้รับการโทรศัพท์ถึงมากที่สุด คือรัฐมนตรีที่พวกเราคุ้นเคยคนหนี่ง มีบุคลิกพิเศษ เวลาพูดคุยกันจะทำคอเอียง เมื่อสอบถามครั้งแรกท่านจะไม่ค่อยยอมตอบ ต่อเมื่อเริ่มซักถามว่ามีเรื่องนี้เรื่องนั้นไหม ท่านจะบอกว่าเห็นอยู่ในวาระแล้วนะ แต่อย่าบอกว่ามาจากผม เท่านั้น หัวหน้าข่าวจะกำหนดประเด็นข่าวในวันรุ่งขึ้นให้นักข่าวที่เกี่ยวข้องไปหาข่าวเพิ่มเติมได้

นักข่าวในขณะนั้น ผู้ให้คำนิยามได้ดีคือ “เต็มศักดิ์ ไตรโสภณ” ผู้ที่นักข่าวรุ่นเดียวกันและรุ่นหลังเรียกว่า “น้าเต็ม” ผมรู้จัก “น้าเต็ม” ขณะไปทำข่าวแรงงาน และข่าวกระทรวงมหาดไทย

เต็มศักดิ์ ไตรโสภณ ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “วันนักข่าว 5 มีนาคม 2551 – ครูนักข่าว” บอกว่า การทำงานของนักข่าวในสมัยก่อน นักข่าวคนหนึ่งต้องทำข่าวได้ทุกสาย เพราะจำนวนนักข่าวของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะมีไม่มาก การหาข่าวทำได้ยากและลำบากมาก เพราะหน่วยงานราชการในสมัยก่อนไม่มีฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่จะให้ข้อมูล หรือข่าวเผยแพร่เหมือนในปัจจุบัน

“การหาข่าวในสมัยก่อนทำได้ยากมาก ใครได้ข่าวมาสักชิ้นหนึ่งจะถือว่ามีค่ามาก แต่ละข่าวที่ได้ลงตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์จึงเป็นความภาคภูมิใจมากที่สุด…หน่วยงานราชการสมัยก่อนไม่มีฝ่ายประชาสัมพันธ์” น้าเต็มว่าอย่างนั้น

“น้าเต็ม” ของน้องๆ ยอมรับว่า อาชีพนักข่าวต้องทำงานค่อนข้างหนักมาก แทบไม่มีวันหยุด หรือหาโอกาสที่จะอยู่พร้อมหน้าครอบครัวได้ยาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่ทุกคนได้หยุด แต่นักข่าวบางคนยังต้องทำงาน รวมทั้งภาระหน้าที่ที่ต้องเดินทางไปทำข่าวในต่างจังหวัด บางแห่งไม่มีที่พักที่สบาย หรืออาจต้องรอประชุมกว่าจะเลิก ตี 1 ตี 2 ก็มี

“น้าเต็ม” ได้ชื่อว่าเกาะติดข่าวได้ดีคนหนึ่ง โดยเฉพาะข่าวจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนั้นยังมีกรมแรงงานอยู่ในสังกัด ขณะที่ข่าวสำคัญของกระทรวงมหาดไทยคือข่าวการโยกย้ายแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี เพราะกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงสำคัญที่ควบคุมการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีความสำคัญในการควบคุมฐานเสียงเลือกตั้ง ทั้งยังมีกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นฐานสำคัญ

ผมได้วิธีการทำข่าวบางกรณีจาก “น้าเต็ม” ในหลายข่าว เช่น แหล่งข่าวไม่ได้มาจากรัฐมนตรีหรือข้าราชการผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ข้าราชการระดับผู้อำนวยการ หัวหน้าแผนกจะมีข้อมูลบางเรื่อง รู้รายละเอียดมากกว่าในฐานะเป็นคนทำงาน ดังนั้น ต้องเข้าหาแหล่งข่าวเหล่านี้เพื่อให้ได้ข้อมูลและข้อเท็จจริง

แม้แหล่งข่าวประเภทหลังจะนำมากล่าวอ้างไม่ได้ แต่หลายเรื่องที่มาจากแหล่งข่าวกลุ่มนี้ เช่น เอกสารที่วางบนโต๊ะ หรือกำหนดการประชุมเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้นักข่าวสามารถนำมาใช้เป็นคำถาม หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้รับผิดชอบ อาทิ อธิบดี ปลัดกระทรวง หรือรัฐมนตรี ได้

การรู้จักกับข้าราชการระดับนี้จึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าตัวแหล่งข่าวระดับสูง ขอให้เชื่อเถอะ