โฟกัสพระเครื่อง : เครื่องรางตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง พระเกจิชื่อดังถิ่นพิจิตร

โฟกัสพระเครื่อง–(เสรีภาพ อันมัย)

โคมคำ

[email protected]

 

เครื่องรางตะกรุดคู่ชีวิต

หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง

พระเกจิชื่อดังถิ่นพิจิตร

 

หลวงพ่อพิธ พระเกจิชื่อดังแห่งวัดฆะมัง ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง วิทยาคมเข้มขลัง

วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังทุกประเภทก็ล้วนเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาตั้งแต่อดีตสืบมาถึงปัจจุบัน

เครื่องรางที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ “ตะกรุดคู่ชีวิต”

ทำตะกรุดแจกให้แก่ศิษย์ ซึ่งเป็นยันต์เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นยันต์หนึ่งในตำราพิชัยสงคราม และยันต์นี้ได้สืบทอดต่อมาจากหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า จนถึงหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

เรียนมาจากหลวงพ่อเงินอีกต่อหนึ่ง ยันต์นี้เรียกกันว่า “ยันต์คู่ชีวิต” มีอานุภาพคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่ผู้ที่บูชา

ยันต์คู่ชีวิต เป็นยันต์ที่มีอยู่ในตำราพิชัยสงคราม ที่เรียกกันว่ายันต์คู่ชีวิต ด้วยว่านักรบผู้ใดที่ออกไปรบในสงคราม หากมีเครื่องรางที่ลงด้วยยันต์ดังกล่าวอยู่ติดตัว เชื่อว่าจะมีชีวิตรอดปลอดภัยกลับมาถึงบ้าน จะไม่ตายด้วยคมหอก คมดาบ หรือศาสตราวุธใดๆ

ส่วนใหญ่ตะกรุดหลวงพ่อพิธจะมีไส้กลางเป็นทองเหลือง ตัวเนื้อตะกรุดเป็นตะกั่วน้ำนม ลงยันต์เป็นตาราง 5 ตาราง มีองค์พระอยู่ระหว่างตาราง แล้วเสกด้วยคาถาต่างๆ อีก หลังจากนั้น จึงพอกตะกรุดด้วยผงศักดิ์สิทธิ์อีกชั้นหนึ่ง ก่อนนำมาถักเชือกด้วยลายจระเข้ขบฟัน

ศึกษาวิทยาคมจากหลายสำนัก แต่ที่ท่านได้รับถ่ายทอดวิชามากคือ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร โดยที่มีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ

พุทธคุณตะกรุดคู่ชีวิต มีประสบการณ์มากมาย เรื่องอยู่ยงคงกระพันนั้นชาวเมืองพิจิตรต่างทราบกันดี ปัจจุบันหาแท้ยาก และมีของปลอมเลียนแบบมาก

เช่าหาบูชาควรจะหาจากผู้ที่มีความรู้ความชำนาญจริงเท่านั้น

 

มีนามเดิม พิธ ขมินทกูล เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2418 ตรงกับวันอังคาร แรม 5 คํ่า เดือน 4 ปีกุน ที่บ้านบางเพียร หมู่ที่ 4 ต.ฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร เป็นบุตรของขุนหิรัญสมบัติ (ประดิษฐ์ ขมินทกูล) มารดาชื่อ นางปุย

อายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ.2440 ที่พัทธสีมาวัดบึงตะโกน อ.เมือง จ.พิจิตร มีพระครูธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาวิจิตร วัดฆะมัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พลอย วัดราชช้างขวัญ เป็นอนุสาวนาจารย์

ไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ เพื่อศึกษาหาความรู้ อาทิ วัดบางมูลนาก อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร, วัดท่าถนน ซึ่งเป็นวัดอยู่ในตลาดอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์, วัดหัวดง อ.เมือง จ.พิจิตร โดยเฉพาะวัดหัวดง จำพรรษาอยู่นานที่สุด

อีกทั้งยังมีวัดวังปราบ จังหวัดนครสวรรค์ ฝึกวิชารักษาฝีในท้องกับพระอาจารย์สิน

ส่วนที่วัดบางคลาน อ.โพทะเล เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน และได้เรียนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตลอดจนความรู้ต่างๆ จนเป็นที่แตกฉาน จึงได้มาจำพรรษาที่วัดฆะมัง

นอกจากจะได้ศึกษาเล่าเรียนจากพระเกจิอาจารย์ต่างๆ แล้ว ยังได้เล่าเรียนวิชาความรู้จากปู่อีกด้วย

เป็นพระที่มักน้อย ถือสันโดษ และไม่ยอมสะสมเงินทอง มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างถาวรวัตถุเพื่อบำรุงพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป สร้างอุโบสถถึง 5 หลัง คือ วัดฆะมัง, วัดดงป่าคำใต้ (วัดใหม่คำวัน), วัดบึงตะโกน, วัดสามขา และวัดหัวดง

ด้วยความที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและขอวัตถุมงคลไว้เป็นที่ระลึกถึง อาทิ ภาพถ่ายหลวงพ่อพิธ เป็นภาพเล็กๆ ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นภาพหลวงพ่อเงิน ซึ่งเป็นพระอาจารย์, ตะกรุดมหารูด, ขี้ผึ้งวิเศษ ฯลฯ

หลวงพ่อพิธจะเตือนเสมอว่า “สิ่งที่มอบให้นี้ เป็นประหนึ่งว่าเราได้มาพบหน้าตากัน มีความเคารพต่อกันดุจญาติพี่น้อง และสิ่งเหล่านี้ขอให้เข้าใจว่าเป็นอนุสรณ์ต่อกันเมื่ออยู่ห่างไกล สิ่งหนึ่งที่ควรใฝ่ใจมากๆ คือ 1.จงอย่าประมาท 2.คุณพระพุทธคุณ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดา คุณมารดา 3.จงมีศีล มีสัตย์ ภัยพิบัติจะมาไม่ถึงเพราะมีอำนาจทิพย์คอยรักษาคุ้มครองอยู่ และ 4.เมื่อใดสิ่งของอันเป็นที่ระลึกแล้วควรมีปัญญาคือ อย่าเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับทุกข์อุปมาดั่ง”

ช่วงบั้นปลายชีวิต สังขารเริ่มโรย ตรากตรำต่อการทำงานและพระคณาจารย์ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้เริ่มมีอาการอาพาธหนัก สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง

สุดท้ายมรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2488 สิริอายุ 70 ปี

ทั้งนี้ หลังจากประชุมเพลิงหลวงพ่อพิธ มีสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้นคือ ดวงตาทั้งสองของท่านไฟเผาไม่ไหม้ ชาวบ้านจึงเรียกขานท่านว่า “หลวงพ่อพิธตาไฟ”

คณะกรรมการผู้เก็บรักษา เห็นสมควรบรรจุดวงตาไว้ในรูปเหมือน เพื่อเป็นที่สักการะ ที่วัดฆะมัง อ.เมือง จ.พิจิตร ตราบจนทุกวันนี้

บรรยายภาพ

1.หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง

2.ตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อพิธ