จีนอพยพใหม่ในไทย (24) /วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (24)

 

ชีวิต ความคิด และความหวัง (ต่อ)

 

แต่ความจริงมีอยู่ว่า วัฒนธรรมดังกล่าวมิได้มีอยู่เฉพาะในทางศาสนาหรือประเพณีเท่านั้น หากยังปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันอีกด้วย อีกทั้งยังมีรายละเอียดมากมาย บางเรื่องก็มีความละเอียดอ่อน ซึ่งบางเรื่องผู้เป็นสามีก็ไม่เข้าใจ

ดังครั้งหนึ่งตนพูดขึ้นมาลอยๆ ว่า ภรรยาของตนเป็นคนผิวดำ

ผลคือ คำพูดนี้ทำให้ภรรยาโกรธ และที่โกรธก็เพราะหญิงไทยโดยทั่วไปมีค่านิยมที่จะมีผิวขาว การกล่าวว่ามีผิวสีดำจึงดูเหมือนตำหนิสีผิวของภรรยา ซ้ำคนที่กล่าวยังเป็นสามีอีกด้วย

ฝ่ายสามีกล่าวว่า ตนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องโกรธ เพราะตนพูดไปโดยมิได้มีความรังเกียจในสีผิวของภรรยาแต่อย่างไร ซึ่งหากรังเกียจตนก็คงไม่แต่งงานด้วยอย่างแน่นอน ตัวอย่างทำนองนี้เกิดขึ้นเสมอ แต่มิได้ขยายเป็นเรื่องใหญ่โตจนถึงขั้นที่ทำให้ทั้งสองต้องแตกหัก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภรรยาตระหนักดีว่าสามีเป็นชาวจีนที่วัฒนธรรมต่างกับตน

กรณีข้างต้นถือเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นเฉพาะกับชาวจีนที่แต่งงานกับชาวไทย ซึ่งมีอยู่ไม่กี่กรณีที่งานศึกษานี้ประสบพบเจอ โดยที่ส่วนใหญ่แล้วมิได้มีฐานะเช่นนั้น เหตุดังนั้น ชาวจีนส่วนใหญ่จึงมิได้นำตนเข้าร่วมกับวัฒนธรรมไทยโดยตรง ได้แต่เฝ้าดูหรือสัมผัสอย่างมีระยะห่าง

แต่แม้เพียงแค่ชั้นนี้ต่างพากันยอมรับว่ายากที่จะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า หลังจากใช้เวลาอยู่ในไทยนานนับปีชาวจีนต่างก็พบว่า โดยทั่วไปแล้วชาวไทยมีอัธยาศัยไมตรีและมีน้ำใจ บ่อยครั้งที่ชาวจีนจะได้รับความเอื้อเฟื้อในเรื่องต่างๆ จากนิสัยเช่นนั้น

และต่างก็สรุปตรงกันว่า ที่ชาวไทยเป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งมาจากการกล่อมเกลาของศาสนา อันเป็นเรื่องที่ชาวจีนไม่เคยได้สัมผัส และเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นเยี่ยงอย่าง

 

นอกจากนี้ ในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ก็มีความแตกต่างกันในหมู่ชาวจีนและชาวไทย แรกที่ชาวจีนเข้ามายังไทยแล้วมีปฏิสัมพันธ์กับชาวไทย ชาวจีนพบว่า ชาวไทยมิได้กระตือรือร้นกับงานที่ทำเท่าชาวจีน และออกจะเฉื่อยชาจนดูเป็นคนเกียจคร้าน ผิดกับชาวจีนที่ต้องตื่นตัวอยู่เสมอโดยเฉพาะเรื่องงานที่รับผิดชอบ12

ความตื่นตัวเช่นนี้ติดตัวชาวจีนมาแต่อดีต เพราะจีนมีภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อยอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง การดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดจึงทำให้ชาวจีนต้องตื่นตัวจนกลายเป็นชนชาติที่มีความขยันขันแข็ง

ส่วนไทยซึ่งมีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์อยู่มาก ทำให้ชาวไทยมีชีวิตที่ไม่ต้องดิ้นรนมากเท่าชาวจีน จนทำให้ดูเหมือนใช้ชีวิตให้ผ่านไปวันๆ โดยไม่คิดถึงชีวิตในวันข้างหน้า

จากความแตกต่างดังกล่าว ชาวจีนมีปฏิสัมพันธ์กับชาวไทยในสองกรณีด้วยกัน

กรณีแรก เป็นปฏิสัมพันธ์โดยตรงด้วยการทำงานร่วมกับชาวไทย หรือมีชาวไทยเป็นแรงงาน ลูกจ้าง หรือพนักงาน ในกรณีที่ชาวจีนเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ ในกรณีนี้ชาวจีนเห็นว่าชาวไทยยังขยันขันแข็งน้อยกว่าชาวจีน

และมีอยู่กรณีหนึ่งที่พบว่า พอเลิกงานในตอนเย็น แรงงานหรือลูกจ้างชาวไทยมักจะตั้งวงดื่มสุรากัน ครั้นรุ่งขึ้นจะมีบางคนที่เมาค้างจนทำงานได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ในยามปกติก็มักจะเกี่ยงงาน

จากเหตุนี้ ชาวจีนในฐานะนายจ้างจึงจำต้องว่าจ้างชาวจีนด้วยกันเอง ชาวจีนที่ถูกนายจ้างจีนว่าจ้างกลุ่มนี้เองที่เป็นแรงงานเข้มข้นอยู่ในไทย

 

กรณีต่อมา เป็นปฏิสัมพันธ์โดยอ้อมผ่านการอยู่ร่วมกันภายในชุมชน ซึ่งมีบางครั้งที่มีกิจธุระทำให้ต้องติดต่อกันและมีทั้งที่สัมพันธ์กันฉันคนรู้จักคล้ายเป็นเพื่อนบ้าน กรณีนี้ชาวจีนเห็นคล้ายกับกรณีแรกตรงที่ว่า ชาวไทยใช้ชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ หากเป็นการงานก็ไม่กระตือรือร้นเท่าชาวจีน

อีกทั้งไม่ได้มีความรู้สึกที่จะต้องแข่งขันกับใคร

ผิดกับชาวจีนที่ต้องตื่นตัวอยู่เสมอในการทำงาน หากอยู่ที่จีนด้วยแล้วก็จะถูกกระตุ้นให้รู้สึกว่าต้องแข่งขันในการทำงานกับคนรอบข้าง

ชาวจีนมองชาวไทยด้วยความรู้สึกเช่นนี้ตั้งแต่แรกที่เข้ามาในไทย และรู้สึกว่ายากที่จะเข้ากันได้โดยเฉพาะเวลาที่มีกิจธุระที่ต้องติดต่อกันไหว้วานกัน

ชาวจีนรายหนึ่งถึงกับกล่าวว่า ตนแทบทนรอไม่ไหวกับความไม่กระตือรือร้นของชาวไทย

แต่ครั้นเวลาผ่านไปนานนับปีหลังจากที่ชาวจีนปรับตัวเข้ากับสังคมรอบข้างได้แล้ว ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มที่จะเปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อชาวไทย

คือเปลี่ยนมาตั้งคำถามกับตนเองว่า ทำไมตนต้องรู้สึกตื่นตัวหรือขยันอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ตนก็ไม่ได้อยู่ที่จีนที่ต้องแข่งขันกับคนรอบข้าง ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกที่กดดันจนเสียสุขภาพจิตโดยใช่เหตุ

ผลคือ มีชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าการใช้ชีวิตของชาวไทยเป็นการใช้ชีวิตตามความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ หาใช่เพราะชาวไทยเกียจคร้านไม่

และแน่นอนว่า ความอุดมสมบูรณ์ของไทยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวไทยเป็นเช่นนั้น เมื่อความรู้สึกเปลี่ยนไป ชาวจีนในกลุ่มนี้ก็เริ่มคุ้นชินและเริ่มใช้ชีวิตแบบชาวไทย

และกล่าวสรุปว่า เป็นชีวิตที่ดีอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

 

ควรกล่าวด้วยว่า การที่ชาวจีนส่วนหนึ่งเปลี่ยนการใช้ชีวิตของตนดังกล่าวนั้น มิได้หมายความว่าเปลี่ยนวัฒนธรรมของตนไปด้วย วัฒนธรรมจีนที่เคยเป็นอยู่อย่างไรก็ยังคงเป็นอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะในเรื่องอาหารการกิน การอยู่อาศัย การเสพความบันเทิง การพบปะสังสรรค์ในหมู่ชาวจีนด้วยกัน ฯลฯ ยังคงอิงอยู่กับวัฒนธรรมจีนเช่นเดิม

แต่หากจะมีวัฒนธรรมไทยอันใดที่ชาวจีนรับมาด้วยแล้ว สิ่งนั้นก็น่าจะเป็นอัธยาศัยไมตรีและความมีน้ำใจของชาวไทย อันเป็นเรื่องที่ชาวจีนเห็นว่าเป็นผลจากอิทธิพลทางศาสนาโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวจีนชื่นชม

และทำให้ชาวจีน (ซึ่งโดยมากไม่นับถือศาสนาใด) เริ่มเห็นความสำคัญของศาสนา

ปลายทางที่ใฝ่ฝัน

 

ไม่มีชาวจีนอพยพคนใดหรือชาติใดที่ไม่มีความใฝ่ฝัน และความใฝ่ฝันที่มีนั้นก็แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มแต่ละคน แต่โดยรวมแล้วมักใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าทั้งสิ้น

ชาวจีนอพยพก็มีความใฝ่ฝันเป็นของตนเองเช่นกัน แต่จะมีที่ต่างไปจากผู้อพยพชาติอื่นก็ตรงที่ว่า ความใฝ่ฝันของชาวจีนถูกแบ่งไปตามภูมิหลังฐานะและระยะเวลาที่อพยพเข้ามา อย่างหลังนี้หมายถึงกลุ่มที่เข้ามาหลังจากที่จีนเปิดประเทศหลังปี ค.ศ.1978 ได้ไม่นานกลุ่มหนึ่ง

กับกลุ่มที่เข้ามาในช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา อันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจจีนกำลังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

กล่าวคือ หากเป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาหลังจีนเปิดประเทศใน ค.ศ.1978 ได้ไม่นาน จะเป็นชาวจีนที่มีฐานะไม่สู้ดีเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อเข้ามายังไทยแล้วมักทำงานเป็นแรงงานเข้มข้น

ความใฝ่ฝันของชาวจีนกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มไปในทางที่จะทำให้ตนมีฐานะที่ดีขึ้น ซึ่งจากเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาได้เป็นที่ปรากฏว่า ชาวจีนกลุ่มนี้ทำได้สำเร็จเป็นส่วนใหญ่

แต่ถ้าเป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาหลังจากเศรษฐกิจจีนดีขึ้นนับแต่ทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นชาวจีนที่มีฐานะปานกลางเป็นส่วนใหญ่แล้ว ความใฝ่ฝันของคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะให้หน้าที่การงานหรือธุรกิจของตนเจริญก้าวหน้าและมั่นคง เป็นต้น

แต่ความใฝ่ฝันที่กล่าวไปข้างต้นนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา เป็นความใฝ่ฝันพื้นฐานที่ผู้อพยพทุกคนพึงมีเป็นปกติ

เหตุฉะนั้น ความใฝ่ฝันที่มากกว่าที่กล่าวมาต่างหากจึงเป็นประเด็นที่น่าศึกษาค้นหา และจากการสัมภาษณ์ทำให้พบว่า ความใฝ่ฝันของชาวจีนมีความหลากหลาย

มีทั้งที่เหมือนและต่างกัน

มีทั้งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้

 

ความใฝ่ฝันที่สำคัญที่ชาวจีนอพยพแทบทุกคนปรารถนาก็คือ สัญชาติไทย แต่ทุกคนก็รู้เช่นกันว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ในบรรดาชาวจีนทั้งหมดที่งานศึกษานี้ได้สัมภาษณ์พบว่า มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ได้สัญชาติไทย และที่ได้ก็เพราะมีสายสัมพันธ์กับบุคคลที่สามารถจะทำให้ได้

ซึ่งแน่นอนว่า การได้สัญชาติไทยมานี้ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่สูง

อย่างไรก็ตาม การที่ชาวจีนส่วนใหญ่ต้องการสัญชาติไทยก็เพราะนั่นเป็นหนทางแรกที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า แต่เนื่องจากเป็นหนทางที่ยากจะได้มา ชาวจีนจึงละที่จะไม่กล่าวถึงความใฝ่ฝันนี้ในทางที่มุ่งมั่น

แต่จะหันไปกล่าวถึงความใฝ่ฝันในเรื่องอื่นๆ แทน

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป