พินิจวิถีชีวิตในสังคมโลกร่วมสมัย ผ่าน “หนังเยอรมัน-ฝรั่งเศส” สองเรื่อง

คนมองหนัง

ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีโอกาสชมหนังน่าสนใจจากเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศสองงาน ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

หนังสองเรื่องมาจากสองประเทศ และอาจมีจุดยืนหรือท่าทีผิดแผกกันบ้าง แต่ทั้งคู่ต่างพูดถึงปัญหาในสังคมยุโรปหรือสังคมโลกร่วมสมัยคล้ายๆ กัน

เรื่องแรก คือ “Toni Erdmann” หนังเยอรมัน ผลงานการกำกับฯ ของ Maren Ade เป็นภาพยนตร์ที่โด่งดังจากเทศกาลหนังทั่วโลกเมื่อปี 2016 ตัวหนังได้รับคำวิจารณ์เป็น “บวก” อย่างมาก แต่กลับพลาดรางวัลระดับเมเจอร์ต่างๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

สำหรับเมืองไทย “Toni Erdmann” เพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไปสองรอบ ในงาน “สัปดาห์ภาพยนตร์เยอรมัน 2017”

หนังเล่าเรื่องราวของสาวเยอรมัน ซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษา-นักวางกลยุทธ์ประจำองค์กรธุรกิจข้ามชาติ เธอเดินทางไปปฏิบัติงานประจำที่ประเทศโรมาเนีย พร้อมสภาพจิตใจที่ตึงเครียดจากการทำงานและการใช้ชีวิต

แล้วพ่อซึ่งเป็นครูแก่ๆ ของสาวเก่ง ก็เดินทางไปเยี่ยมลูกที่ยุโรปตะวันออก เขาสังเกตเห็นความเคร่งเครียด-โกรธเกรี้ยว-ทุกข์ตรมของบุตรสาว ผู้เป็นพ่อจึงค่อยๆ ช่วยเหลือเยียวยาลูกผ่านการแสดง (ปลอมแปลงตนเอง) และการใช้อารมณ์ขัน

หนังจงใจเล่นกับคำว่า “performance” ที่ด้านหนึ่งอาจหมายถึงประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน แต่อีกด้าน คำนี้ก็หมายถึงศิลปะการแสดง

โลกของภาพยนตร์เยอรมันเรื่องนี้จึงดำเนินคู่ขนานกันไประหว่าง “โลกแห่งความซีเรียสจริงจังและการแข่งขันเชิงธุรกิจ” ในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ กับ “โลกแห่งการเปล่งเสียงหัวเราะและสร้างอารมณ์ขัน” ที่คอยถ่วงดุลโลกแบบแรก

ตามความเห็นส่วนตัว จุดพีกสุดของหนังคือฉาก “ปาร์ตี้เปลือย” ในอพาร์ตเมนต์ของนางเอก ภายหลังจากเธอผ่านเรื่องเครียดเกี่ยวกับงานและความสัมพันธ์กับพ่อจอมป่วนมาหลายระลอก

แน่นอน ฉากเปลือยที่ว่าสามารถสร้างอารมณ์ขัน (แบบหน้าตาย) ให้แก่คนดูได้อย่างครื้นเครง แต่นอกจากนั้น มันยังน่าจะมีความนัยลึกๆ ซ่อนอยู่ในหลายแง่มุม

อย่างน้อย เมื่อเจ้านายและลูกน้องในออฟฟิศอันจริงจังขึงขังต่างปลดเปลื้องเสื้อผ้าออกเหลือเพียงร่างกายอัน (เกือบจะ) เปลือยเปล่า ทั้งบอสและพนักงานในองค์กรธุรกิจทุนนิยมก็ย่อมมีสถานะเท่าเทียมกันไปโดยปริยาย

ยิ่งกว่านั้น หากตีความตามทัศนะของนักคิดคนหนึ่ง ภาวะโป๊เปลือยในเทศกาลรื่นเริง ยังอาจหมายถึงการ “เปิด” และ “เชื่อมโยง” ชีวิต/ชุมชน (อันผ่อนคลายสนุกสนาน) ของเหล่าสามัญชนเข้าหากัน

ไม่เพียงแต่เล่นกับประเด็นเรือนร่างที่เปล่าเปลือย หนังเรื่องนี้ยังเล่นกับประเด็นว่าด้วยร่างกายอันแปลกประหลาดผิดธรรมชาติ เห็นได้จากการกำหนดให้ตัวละครคุณพ่อเปี่ยมอารมณ์ขันแต่งตัวเป็นสัตว์ประหลาดยักษ์ที่ร่างเต็มไปด้วยขนมาร่วมงานปาร์ตี้

ในทัศนะของนักคิดคนเดิม การเปิดเปลือยเรือนร่างของมนุษย์ก็ดี การแสดงให้เห็นถึงร่างกายอันแปลกประหลาดใหญ่โตเกินธรรมชาติก็ดี ล้วนบ่งชี้ถึงศักยภาพและโอกาสในการสร้างสรรค์เสียงหัวเราะล้อเลียนระบบ/ระเบียบอำนาจของสามัญชน ที่สามารถขยายขอบเขตและเชื่อมโยงต่อเนื่องกันไปได้เรื่อยๆ โดยไร้จุดสิ้นสุด

ภาวะไร้ขอบเขตเช่นนั้นยังผูกโยงกับวงจรชีวิตของมนุษย์ที่มีทั้งเกิดและดับ เสื่อมสูญและรุ่งโรจน์เป็นนิรันดร์ ดังจะเห็นว่าหนังเรื่อง “Toni Erdmann” ได้พูดถึงประเด็นทำนองนี้เอาไว้ ผ่านความตายของสุนัขชราตอนต้นเรื่องและการถึงแก่กรรมของคุณย่านางเอกตอนท้ายเรื่อง

แม้จะมีบางชีวิตต้องดับสูญ แต่อีกหลายชีวิตก็ต้องก้าวเดินต่อไปทั้งในโลกของการทำงานอันเคร่งเครียดและโลกของการยั่วล้อผ่อนเบาผ่านเสียงหัวเราะ กิจกรรมนันทนาการ และการแสดงบางอย่าง

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าในอีกมุมหนึ่ง ศักยภาพอันไร้ขีดจำกัด (และก้าวข้ามวงจรเกิด-ดับของชีวิต) ในการสร้างเสียงหัวเราะหรืออารมณ์ขันให้แก่มนุษย์ธรรมดาสามัญนั้นมีสถานะเป็นโลกเฉพาะหรือโลกของภาวะกลับหัวกลับหาง ที่ไม่ได้ดำรงอยู่ตลอดเวลา

แต่มันเป็นภาวะชั่วครั้งชั่วครู่ (ของแต่ละปี) ที่เปิดโอกาสให้เราได้ท้าทายอำนาจ/ระเบียบอันซีเรียสจริงจัง หรือเป็นช่องทางผ่อนคลาย/รูระบายความตึงเครียดจากภาวะความสัมพันธ์ทางอำนาจอันเคร่งครัดดังกล่าว

ในทางกลับกัน ศักยภาพของอารมณ์ขันยังอาจกลายเป็น (เพียง) “แหล่งชาร์จพลังงาน” ให้เราสามารถหวนกลับไปเคร่งเครียดในโลกของความเป็นทางการ (อันไร้เสียงหัวเราะ) ได้อีกครั้งหนึ่งอย่างกระปรี้กระเปร่า

ทั้งนี้ คงต้องหมายเหตุไว้สักนิดว่า “Toni Erdmann” นั้นไม่ได้พูดแค่เพียงเรื่องของการสร้างอารมณ์ขัน/เสียงหัวเราะขึ้นมาต่อสู้คัดง้างหรือประคับประคองโลกของธุรกิจ/การทำงานอันเครียดขรึม

แต่หนังยังกล่าวถึงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ หรือความสัมพันธ์พ่อ-ลูกในแง่อื่นๆ ด้วย

เช่น ฉากนางเอกสวมกอดพ่อในชุดตัวประหลาดกลางสวนสาธารณะช่วงท้ายๆ เรื่อง ที่ทำเอาคนดูจำนวนมากในโรงภาพยนตร์ถึงกับน้ำตารื้นหรือร้องห่มร้องไห้กันเลยทีเดียว

ถ้าหนังจากเยอรมันกล่าวถึงความพยายามที่จะประนีประนอมกับปัญหาหรือรอยแตกร้าวในโลกร่วมสมัย และการหาหนทางดำเนินชีวิตต่อไปในโลกใบนี้

ภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง “Nocturama” โดย Bertrand Bonello ซึ่งถูกนำมาฉายใน “เทศกาลภาพยนตร์สหภาพยุโรป 2017” กลับนำเสนอถึงการตัดสินใจ (สุดขั้ว) ในอีกรูปแบบหนึ่ง

หนังกล่าวถึงตัวละครคนรุ่นใหม่หลากพื้นเพ ตั้งแต่พนักงานออฟฟิศที่ประสบปัญหาชีวิตจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ, หนุ่มสาวนักศึกษา (บางคนมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับรัฐมนตรี) ที่เหมือนจะไม่มีปัญหาเรื่องชีวิตความเป็นอยู่มากนัก, รปภ.หนุ่ม, หนุ่มสาวเชื้อสายอาหรับ และเด็กวัยรุ่นผิวดำ ที่รวมกลุ่มกันก่อการครั้งสำคัญ

กล่าวคือ พวกเขาร่วมมือกันวางระเบิด-วางเพลิงในสถานที่สำคัญหลายแห่ง ตั้งแต่ตึกทำการขององค์กรธุรกิจใหญ่, อาคารกระทรวงสำคัญ และอนุสาวรีย์ใจกลางเมือง ซึ่งถูกกลุ่มการเมืองขวาจัดนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของขบวนการ

หนังฉายภาพปฏิบัติการป่วนเมืองได้อย่างน่าระทึกใจ

แต่ที่ชวนระทึกใจกว่าคือเรื่องราวในช่วงหลัง เมื่อคณะหนุ่มสาวส่วนใหญ่ที่ร่วมกันก่อวินาศกรรมหลบหนีการจับกุมเข้าไปยังห้างสรรพสินค้าหรู ก่อนที่พวกเขาจะถูกไล่ล่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

เหตุการณ์สองช่วงนี้โดดเด่นด้วยงานลำดับภาพ ซึ่งจงใจเรียงลำดับให้สถานการณ์อันแตกต่างกัน (ในแง่ตัวละครและพื้นที่) ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ถูกนำเสนอออกมาในลักษณะ “เหลื่อมเวลากัน” อย่างเห็นได้ชัด (ด้วยระยะห่างในระดับหลายวินาทีหรือเป็นนาที)

กระบวนการตัดต่อเช่นนี้คล้ายจะท้าทายพลังในการอธิบายโลกจากแนวคิดเรื่อง “สุญกาลสหมิติ” อยู่พอสมควร

แม้คนดูอาจตั้งคำถามได้ว่า “ผู้ก่อการร้ายทั่วไป” ควรจะเลือกตัดสินใจหลบเข้าไปอยู่ใน (หรือเลือกต้อนตนเองเข้าไปใน) “มุมอับ” อย่างอาคารห้างสรรพสินค้า ภายหลังการก่อการโดยทันทีหรือไม่?

ทว่า ในแง่สัญลักษณ์ การลงมือท้าทาย/ทำลายตัวแทนของอำนาจรัฐและระบบทุนนิยมด้วยท่าทีแบบสุดขั้ว แล้วหลบเข้าซ่อนตัวในห้างสรรพสินค้า กลับสามารถสร้าง “ภาวะย้อนแย้งกำกวม” ที่น่าสนใจมิใช่น้อย

ด้านหนึ่ง นี่อาจแสดงให้เห็นถึงขอบข่ายอำนาจ/พื้นที่ของระบบเศรษฐกิจการเมืองอันไพศาล กระทั่งเหล่าผู้ต่อต้านก็ยังหลีกหนีมันไปไม่พ้น

อีกด้าน การหลบหนีเข้าห้างสรรพสินค้าของหนุ่มสาวผู้พยายามป่วนปั่นสังคม ก็ทำให้นึกถึงงานวิชาการของนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งอยู่รางๆ

ดูเหมือนเขาจะเคยเสนอเอาไว้ทำนองว่าระบบทุนนิยมได้แผ่อำนาจเข้ามาครอบงำวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกกลุ่มทุกชนชั้นให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการบริโภค

(ทำให้นึกถึงบรรดาตัวละครหลักใน “Nocturama” ที่มีตั้งแต่พนักงานออฟฟิศ, นักศึกษาปัญญาชน, รปภ., หนุ่มสาวจากกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ เรื่อยไปจนถึงลุงป้าคนไร้บ้านที่ถูกชักชวนให้เข้ามาร่วมบริโภคสินค้าหรูในห้างตอนกลางๆ-จบเรื่อง)

พื้นที่ของการใช้ชีวิตประจำวันแบบนี้มีส่วนหล่อเลี้ยงและผลิตซ้ำระบบทุนนิยมให้ดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ลุกขึ้นมาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันดังกล่าว

น่าสนใจว่าหนุ่มสาวในหนังคล้ายจะตระหนักถึงประเด็นนี้อยู่บ้าง แต่ท้ายสุด พวกเขาและเธอกลับมิอาจลงมือปฏิวัติวิถีชีวิตประจำวันที่อิงแอบกับสินค้าและการบริโภคได้อย่างถอนรากถอนโคน

เพราะหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่ได้เข้ามาทำลายล้างห้างสรรพสินค้าที่พวกตนใช้หลบซ่อนตัว มิหนำซ้ำเกือบทั้งหมดยังมีความสุขสำราญ เคลิบเคลิ้ม เพลิดเพลินไปกับบรรดาสินค้าหรูหราในห้าง

นักสังคมวิทยารายเดิมยังเคยเสนอไอเดียว่า ไปๆ มาๆ แล้ว วิถีชีวิตประจำวันและ “ความปรารถนา/ต้องการ” ของมนุษย์ยุคใหม่ ที่ถูกกำหนดควบคุมโดยอำนาจเบ็ดเสร็จของสังคมแบบอุตสาหกรรม ก็อาจเทียบเคียงได้กับการตกอยู่ภายใต้การควบคุมจัดการโดยระบบราชการ/อำนาจรัฐ

ไอเดียดังกล่าวอาจบ่งชี้ว่าระบบทุนนิยมสามารถกลายสภาพเป็นอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ (ประหนึ่งอำนาจรัฐ) ได้ด้วยตัวของมันเอง

แต่ขณะเดียวกัน เราอาจมองไม่ค่อยเห็นภาพชัดเจนนักว่าระบบเศรษฐกิจ/วิถีการผลิต/วิถีการบริโภคเช่นนั้น จะทำงานสอดคล้องกับอำนาจอันเด็ดขาดของรัฐราชการได้อย่างไร?

ผมรู้สึกว่าช่วงสุดท้ายของ “Nocturama” สามารถสื่อแสดง “ภาพความร่วมมือที่ว่า” ได้เป็นอย่างดี

มันเป็นภาพ “ปฏิบัติการเอาคืนผู้ก่อการร้าย” โดยขุมกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ ภายในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ที่ทั้งโหดเหี้ยม เลือดเย็น เงียบงัน และน่าสลดหดหู่

หาก “Toni Erdmann” กำลังส่งสารบอกคนดูว่าอารมณ์ขัน ความรัก สายสัมพันธ์ในครอบครัว สามารถมอบ “ชีวิตใหม่” (หรือ “พลังใหม่ๆ” ในการต่อสู้ดิ้นรนกับ “วิถีชีวิตแบบเดิมๆ”) ให้แก่คุณ

“Nocturama” ก็คงกำลังมองโลกผ่านแว่นตาของความโหดร้าย ด้วยความรู้สึกว่า ถ้าคนบางกลุ่ม (รู้สึกว่าตนเอง) อับจนหนทางที่จะดำเนินชีวิตต่อไปในระบบการแข่งขัน-ขูดรีดของสังคมร่วมสมัย บางครั้ง “ความตายก็อาจหมายถึงการเกิดใหม่” (ดังคำพูดของตัวละครรายหนึ่งในหนัง)