สมหมาย ปาริจฉัตต์ : บนเส้นทางแสวงหา สายปัญญา (10)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การรายงานบทสรุปสาระสำคัญๆ ของห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาดำเนินต่อมาถึงห้องที่ 6 จัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยศูนย์พี้เลี้ยงมหาวิทยาลัยพะเยา หัวข้อการสร้างโจทย์โครงงานฐานวิจัย (RBL)

นักเรียนคนใหม่ ครูคนใหม่ บางคนสงสัย โครงงานฐานวิจัยคืออะไร แตกต่างไปจากการสอนวิชาโครงงาน หรือ IS 1, IS 2 ที่ครูเคยทำกันมาตรงไหน อย่างไร

คำตอบคือ ความคิดแบบเดิมๆ ที่มองว่าการทำโครงงานคือการทำสิ่งประดิษฐ์ หรือแค่การทำของ และวิจัยคือการออกไปถามคนอื่น

ซึ่งครูสุธีระย้ำบ่อยๆ ว่า สิ่งที่ควรจะเป็นไม่น่าเพียงแค่นั้น โครงงานฐานวิจัยของเพาะพันธุ์ปัญญา ไม่ใช่ทั้งสองอย่างที่ครูคุ้นเคย

แต่ที่สำคัญ ทำอย่างไรให้ครูเข้าใจ RBL ใหม่ คือ โจทย์ท้าทายการศึกษาไทย

 

บรรยากาศห้องนี้น่าสนใจเพราะปรากฏว่า ทำให้อาจารย์วิศวะสองคน สองมหาวิทยาลัยที่เคยเรียนหนังสือมาด้วยกันและจากกันไปเกือบ 20 ปี มาพบเจอกันอีกครั้งโดยไม่คาดคิด ในเวทีทางการศึกษา

เพราะต่างสนใจ แสวงหาคำตอบแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาและกระบวนการเรียนการสอนแนวใหม่ที่ควรจะเป็น เพื่อเติมเต็มให้กับนักศึกษาของพวกเขา

ทั้งสองคน อดีตเป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) คนหนึ่ง นายนัทธิ์ธนนท์ พงษ์พานิช วิศวะเครื่องกล ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มาในฐานะศูนย์พี่เลี้ยงเพาะพันธุ์ปัญญามหาวิทยาลัยพะเยา

อีกคน ดร.รอบรู้ รังสิเวค อดีตนักศึกษาวิศวโยธา มอ. เรียนจบไปศึกษาต่อเดนมาร์ก เยอรมนี ก่อนกลับมาเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เขาบอกว่า ประสบปัญหากับการเรียนการสอนของระบบการศึกษาไทย เลยคิดหาแนวทางใหม่ๆ ที่อาจจะทำให้ดีขึ้น

ติดตามกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา ไปฟังประชุมปฏิบัติการ การคิดเชิงระบบ จิตตปัญญาศึกษาและโครงงานฐานวิจัย ที่เชียงราย และต่อมาที่เวทีสรุปผลงานปีที่ 4 ตัดสินใจเข้าร่วมห้องที่ 6 ไม่นึกมาก่อนว่าจะพบเจอเพื่อนเก่า

 

ดร.รอบรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์จากต่างประเทศว่า “ฝรั่งเรียนแบบถามตอบ Discus ตลอด เน้นการปฏิบัติ การทำโครงงาน โจทย์ต้องสร้าง Impact วันนี้เราพูดกันถึงเด็กไทย 4.0 ต้องคิดต่อไปว่าแล้วเด็กไทย 5.0 ล่ะควรเป็นอย่างไร ต้องคิดไปล่วงหน้า พยายามหาวิธีสอนเด็ก ให้สอดรับกับชีวิตแห่งศตวรรษใหม่ การศึกษาไม่มีพรมแดน การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นทางออก”

ขณะที่อาจารย์นัทธิ์ธนนท์ พูดให้ผมคิดว่า “ปัญหาอะไรก็ตาม การศึกษาก็เช่นกัน ว่าไปแล้วมีมากมาย คิดทีแรกอาจมีเป็นร้อยประเด็น การแก้ไขใช้วิธีคิดแบบวิศวกรรมอุตสาหการมาใช้เป็นแนวทาง ค่อยๆ แก้ ปัญหาก็จะลดลงเรื่อยๆ จนสาวถึงแก่นรากของมัน เหลือเพียงไม่กี่ประเด็น”

โดยวิธีตั้งคำถาม ทำไมๆ แค่ 5 ครั้ง ก็จะเริ่มมองเห็นคำตอบแล้วว่าปัญหาหลักมันคืออะไร ควรแก้ที่ตรงไหน ตามลำดับ

ตั้งคำถาม ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมถึงเกิดเหตุนั้น เมื่อได้คำตอบแล้ว ตั้งต่อไปอีก Why Why Why Why Why

“ทุกอย่างมีคำตอบอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะแสวงหามันอย่างไร คำถามจึงสำคัญกว่าคำตอบ”

เขายกตัวอย่าง ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอน ทรงคิดถึงทุกข์ก่อน จากนั้นตั้งคำถามทำไมถึงเป็นทุกข์ ก็จะมองหาสาเหตุแห่งทุกข์ จากนั้นหาแนวทางดับทุกข์ คือ มรรค 8 นั่นเอง

การศึกษา หาโจทย์เพื่อทำวิจัยตามแนวโครงงานฐานวิจัย ด้วยการตั้งคำถามให้ครูแกนนำเป็นหลัก การหาโจทย์งานวิจัยของเด็ก อาจจะไม่เกิดจากสิ่งที่ครูอยากรู้ แต่เกิดจากความเห็นของเด็ก ครูต้องชักชวนให้เด็กคิด สังเกตปัญหาของชุมชน

 

ครับ ฟังคนหนุ่มรุ่นใหม่สะท้อนคิด คมเฉียบ บนเส้นทางแสวงหาการเรียนรู้ใหม่เพื่อตอบโจทย์เด็กไทย 4.0

ก่อนเดินหน้าต่อไปสู่ห้องที่ 7 ศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี หัวข้อ การสอนคิดความเป็นเหตุเป็นผล

บทสรุปความคิดรวบยอด เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมเดินเข้าห้องนี้บอกว่า “โครงงานฐานวิจัยแทบไม่สร้างการเรียนรู้ ถ้าเราแยกไม่ออกระหว่าง “เหตุผล” กับ เหตุ-ผล”

งานวิจัยในวงการศึกษาถูกเปรียบเทียบว่าเป็นการหาความรู้สมัยก่อนพุทธกาล อยากรู้อะไรก็ออกไปถามเขา เชื่อว่าความรู้อยู่ที่ผู้อื่น ขาดศรัทธาในศักยภาพการสร้างปัญญาด้วยตนเอง เชื่อเพราะสถิติบอกว่าเชื่อได้ ไม่ใช่การรู้ด้วยตนเองตามหลักกาลามสูตร ความคิดที่เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลคือผ้ายันต์กันผีสถิติที่ครูเคยหวาดกลัว”

ความคิดแบบเหตุ-ผลเป็นอาวุธสำคัญของการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ ที่แผ้วถางทางให้นักเรียนเป็นผู้สร้างความรู้เอง

ตัวแทนของห้องนำเสนอเพิ่มเติม หลังฟังสมาชิกแต่ละคนในห้องจบ “การสอนความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล เริ่มจากคนเราจะทำอะไรต้องมีเหตุผลก่อน ทำโครงงานต้องรู้จักอะไรคือเหตุ อะไรคือผล ก่อนเขียนผังเหตุผลออกมา แต่ละเรื่องล้วนมีปัจจัยเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร เหตุเพิ่ม ผลเพิ่ม เหตุลด ผลลด”

“ครูไทย 4.0 ไม่ว่าจะเป็นคนไทยยุค 2.0 ถึง 4.0 เราเน้นความเป็นคนดี มีปัญญาแก้ปัญหาได้ เพราะความมีเหตุมีผล แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พอประมาณ เราทำได้ก็จะก้าวผ่านไปสู่สังคมอุดมปัญญา และสังคมอุดมสุข” เขาทิ้งท้าย ก่อนส่งไมค์ต่อให้ตัวแทนห้อง 8

หัวข้ออะไร จากศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยไหน ตอนหน้าจะเล่าต่อ ขณะที่ผู้ฟังยังล้นหลามเต็มห้องไม่ยอมถอย เพราะเส้นทางแสวงหาสายปัญญายังทอดยาวต่อไป มีเพื่อนร่วมทางคนใหม่ๆ คนแล้วคนเล่า ไม่ว่าครู นักเรียน ผู้ปกครอง พระ เณร ภูมิปัญญาชุมชน

จะขาดก็แต่ผู้บริหารการศึกษาระดับบิ๊กๆ ทั้งหลายนี่แหละ (ฮา)