วิรัตน์ แสงทองคำ / สยามไบโอไซเอนซ์ (อีกครั้ง)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

สยามไบโอไซเอนซ์ (อีกครั้ง)

 

อีกฉากตอน บทบาทสำคัญ สยามไบโอไซเอนซ์ ควรจะเป็น

เป็นฉากต่อเนื่อง จากที่ว่าไว้ “สยามไบโอไซเอนซ์ จากนี้ไปจะเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น เชื่อมโยงกับข่าวที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจมากๆ เปิดฉากขึ้นเพื่อต้อนรับปีใหม่ 2564” ประเด็นตั้งขึ้นและเป็นไปตามนั้น (จากข้อเขียนเกี่ยวกับสยามไบโอไซเอนซ์เมื่อต้นปี 2564)

จากจุดตั้งต้นอันตื่นเต้น “กระทรวงสาธารณสุขเผยไทยเริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศแล้ว โดยเป็นวัคซีนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัทแอสตราเซนเนก้า กำลังการผลิตได้ปีละ 200 ล้านโดส จะทยอยส่งมอบล็อตแรกในเดือนพฤษภาคม 2564…” (สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3 มกราคม 2564)

ปัจจุบันไทม์ไลน์ดูจะขยับไปบ้าง ทางการยืนยันว่าวัคชีน AstraZeneca จะเริ่มต้นใช้จริงในราวเดือนมิถุนายน 2564

หากเทียบเคียงกับสาระอีกตอนหนึ่งในถ้อยแถลงทางราชการ “บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563…”

แสดงให้เห็นช่วงเวลากระบวนการผลิตจนเสร็จสิ้นกินเวลานานราวๆ 8 เดือนเลยทีเดียว

เป็นช่วงเวลาค่อนข้างนาน เปิดช่องว่างให้เกิดแรงกดดันทางการเมืองอย่างมากพอควร จนทางการต้องนำวัคซีนจากแหล่งอื่นเข้ามาปิดช่องก่อนหน้า ก่อนเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

นั่นคือแผนการนำวัคชีนที่ผลิตจากต่างประเทศ จากสองแหล่ง ในที่สุดเข้ามาถึงไทยพร้อมๆ กัน วันเดียวกันเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ (24 กุมภาพันธ์ 2564) ว่าไปแล้ว เป็นแผนการที่ล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน (จากถ้อยแถลงทางการในหัวข้อข่าว “อนุทินแจงไทยมีวัคซีนโควิด-19 รวม 317,600 โดส จากซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า” (โดยสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ หนึ่งในนั้นเป็นวัคซีนชนิดเดียวกับกำลังผลิตในไทย “แอสตร้าเซนเนก้า 117,600 โดส ที่ได้มาก่อนกำหนดจากโรงงานการผลิตที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วโลก โดยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ความพยายามในการเจรจาให้ได้มา” อีกตอนระบุไว้

 

“โรงงานการผลิตที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วโลก” ของแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่ว่านั้น สื่อกระแสหลักพร้อมใจยืนยันว่ามาจากประเทศเกาหลีใต้

หากเป็นเช่นนั้น คงมาจากผู้ผลิตรายสำคัญ-SK Bioscience แห่งเกาหลีใต้ ผู้ได้รับสิทธิ์ผลิตวัคซีน AstraZeneca ตามข้อตกลงเบื้องต้นมีขึ้นกลางปีที่แล้ว (อ้างจาก SK Bioscience-Ministry of Health and Welfare-AstraZeneca signed a letter of intent for cooperation between three parties for global supply of Corona 19 vaccine–2020. 07. 21 – https://www.skbioscience.co.kr/kr)

ข้อตกลงทำนองเดียวกันเกิดขึ้นที่ประเทศไทยเช่นกัน “กระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า ผนึกกำลังผลิตวัคซีนโควิด-19 สำหรับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าพร้อมใช้กลางปีหน้า” (12 ตุลาคม 2563 อ้างจาก https://scgnewschannel.com/)

ทั้งสยามไบโอไซเอนซ์ และ SK Bioscience เป็นเครือข่ายธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ อย่างที่รู้กัน สยามไบโอไซเอนซ์อยู่ท่ามกลางเครือข่ายธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพลในสังคมไทย มีทั้งเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี และธนาคารไทยพาณิชย์

ส่วน SK Bioscience อยู่ในเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ที่เรียกกันว่า chaebol ภายในนาม SK Group มีทั้งกิจการก่อสร้าง เดินเรือ สื่อสาร เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ SK Bioscience เพิ่งแยกตัวออกมาจาก SK Chemicals ในปี 2561 โดยมีประสบการณ์การผลิตวัคซีนอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการก่อตั้งสยามไบโอไซเอนซ์

 

ราวๆ ทศวรรษ สยามไบโอไซเอนซ์กับธุรกิจใหม่ มุ่งไปอย่างแตกต่าง ว่าไปแล้วยังไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร

ดัชนีสำคัญปรากฏผลประกอบการยังขาดทุน

“การพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุในประเทศ ซึ่งเป็นยาประเภทโปรตีน ที่มีอยู่ในประเทศไทยมีเฉพาะยาที่ทำจากสารเคมี ซึ่งไม่สามารถรักษาโรคจำนวนมากได้ เรื่องนี้มีความจำเป็นมาก เนื่องจากในปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ซึ่งภาระทางด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจะเป็นโจทย์ที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จะต้องสูญเสียไปกับการนำเข้ายาชีววัตถุที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เอง” อย่างที่ประธานกรรมการผู้ก่อตั้งบริษัท (ดร.เสนาะ อูนากูล) กล่าวไว้อย่างภาคภูมิใจ (บางตอนจากหนังสือ “พลังเทคโนแครต ผ่านชีวิตและงานของเสนาะ อูนากูล”)

ขณะเดียวกันในภาพใหญ่ รัฐไทยเพิ่งให้ความสำคัญเรื่องวัคซีน โดยก่อตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตามกฎหมายที่มีขึ้นในปลายปี 2555

กอปรด้วยถ้อยแถลงที่ว่า “วัคซีนมีความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ จึงเป็นการสมควรที่ประเทศจะสร้างหลักประกันว่าจะมีวัคซีนที่จำเป็นในปริมาณเพียงพอที่จะใช้ป้องกันโรคแก่ประชาชนในปัจจุบันและอนาคต โดยอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง”

กว่าจะมีผลเป็นไปเบื้องต้นอย่างจริงจัง ก็เมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวข้องหน่วยงานสำคัญของรัฐอีกแห่งหนึ่ง “องค์การเภสัชกรรมเดินหน้าแผน 3 ระยะ วิจัย พัฒนา การผลิตวัคซีนและชีววัตถุตั้งเป้าเป็นองค์กรหลักสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ และเป็นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ที่มีโรงงานผลิตชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical)” หัวข้อถ้อยแถลงองค์การเภสัชกรรมอย่างเป็นการเป็นงานเมื่อต้นปี 2562

แผนการเป็นไปตามกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง “พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561” โดยแผนระยะสั้นขององค์การเภสัชกรรม คือการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดสามสายพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ที่โรงงานผลิตวัคซีน ชีววัตถุ ตำบลทับกวาง จังหวัดสระบุรี เป็นวัคซีนชนิดแรกให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2562

เรื่องราวมาหักมุมพอสมควรในสายตาผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย ในช่วงเวลาอันกระชั้นชิดกับวิกฤตระดับโลก Covid-19 มาเยือน เมื่อสยามไบโอไซเอนซ์ในฐานะเอกชนและไม่มีประสบการณ์ในการผลิตวัคซีน สามารถเข้ามายืนในตำแหน่งสำคัญยิ่ง

ตำแหน่งที่ว่า เชื่อว่าคงไม่เป็นภารกิจพลิกผันเพียงชั่วคราว หากมีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ต่อไป

 

ในแง่สยามไบโอไซเอนซ์เองอาจเป็นพลิกยุทธศาสตร์ สู่แนวโน้มทางธุรกิจที่มีอนาคตกว่าเดิม จากผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมยาชีววัตถุไปสู่ผู้ผลิตวัคซีนระดับภูมิภาค ทั้งนี้ ในภาพใหญ่ เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรี ความพยายามใดๆ เพื่อจำกัดการแข่งขัน ชั่วเวลาใดเวลาหนึ่ง พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เป็นเพียงภาวะชั่วคราว ที่สำคัญเป็นแรงเฉื่อยในการพัฒนาความสามารถทางธุรกิจ

ในโมเดลธุรกิจซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์สังคม บทเรียนจาก SK Bioscience น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะกับสยามไบโอไซเอนซ์

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ SK Bioscience สามารถพัฒนาธุรกิจการผลิตวัคซีนอย่างหลากหลาย จากการค้นคว้าวิจัย จนถึงความร่วมมือกับธุรกิจเกี่ยวข้องระดับโลก ยิ่งท่ามกลางวิกฤตการณ์ใหญ่ Covid-19 ยิ่งแสดงบทบาทมากขึ้น

ไม่ว่าการพัฒนาวัคซีนด้วยตนเอง มีความร่วมมือหลากหลายในระดับโลก ทั้งองค์การอนามัยโลก หรือหน่วยงานเอกชนอย่าง Bill&Melinda Gates foundation ไปจนถึงได้รับสิทธิ์ผลิตวัคซีน ไม่ใช่แค่แหล่งเดียวจาก AstraZeneca หากรวมถึง Novavax แห่งสหรัฐด้วย

ถ้อยแถลงหนึ่งซึ่งสำคัญและมีความหมายเชิงสังคม ที่ว่า “เป็นหลักประกันสำคัญ ไม่ให้มีข้อจำกัดว่าด้วยความเพียงพอ และแหล่งที่มาของวัคซีน”