วงล้อแห่งกรรม การเกิด แก่ เจ็บและตาย ในทาง “ความคิด”

พลันที่เข้ามาถึงคำถาม “เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ปฏิเสธการเวียนว่ายไปใน “วัฏฏสงสาร” นี้ มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ”

ก็มากด้วยความร้อนแรง

เพราะ “วัฏฏสงสาร” มีความสัมพันธ์กับ “สงสารวัฏ” หรือ “สังสารวัฏ” อันอธิบายได้ว่า วังวนแห่งสงสาร คือ ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 จึงอธิบายว่า “การเวียนว่ายตายเกิด”

เป็นเรื่องซึ่งมีความแหลมคม และสัมพันธ์กับจุดอ่อน เปราะบาง เป็นอย่างยิ่งในความเชื่อของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นพุทธ ไม่ว่าจะไม่ได้เป็นพุทธ

ถกเถียงและตีความแตกต่างกันมาอย่างยาวนาน

การออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขษธรรมของเจ้าชายสิทธัตถะ เป้าหมายขั้นสูงสุดก็เพื่อจะตัดวงจรแห่ง “วัฏฏสงสาร” นี้เอง

กล่าวอย่างง่ายๆ สั้นๆ คือ ไม่ต้องการเกิด

หากไม่ต้องการเกิดก็ต้องหากระบวนการอันทำให้เกิดการดับอย่างไม่เหลือ ซึ่งรับรู้กันในชื่อว่า “พระนิพพาน”

ทำไมพุทธทาสภิกขุจึงถูกมองว่า ปฏิเสธการเวียนว่ายไปใน “วัฏฏสงสาร”

คำตอบมิได้สลับซับซ้อน เพราะว่าบทสรุปของท่านไม่เหมือนกับใครไหนอื่น แม้ว่าจะเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน

จำเป็นต้องอ่านคำตอบ

ผู้ถามนี้ไม่รู้ว่า “วัฏฏสงสาร” คืออะไร เอา “วัฏฏสงสาร” หลังจากตายแล้วเป็นหลัก วัฏฏสงสารก่อนตายในคนที่ยังเป็นๆ อยู่นี่

เราบอก “วัฏฏสงสาร” นี้เป็น “สันทิฏฐิโก” ที่จริงกว่า จำเป็นกว่า

“วัฏฏสงสาร” นี้อยู่ในจิตใจบุคคล คือ เมื่อบุคคลอยากอะไร มันเป็นกิเลส เมื่อบุคคลทำอะไรลงไปตามความอยากนี้ มันเป็นกรรม

กรรมมันก็เกิดผลที่บุคคลได้รับอยู่

นี่ “วัฏฏสงสาร” ที่วนเวียนอยู่ในจิตใจของคนวันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า เป็นรอบๆ วันหนึ่งอาจจะมี “วัฏฏสงสาร” หลายรอบ

เราชี้อย่างนี้

ไม่ใช่ว่าชาติหนึ่งๆ ที่แล้วมากับชาติปัจจุบันนี้ และชาติในอนาคตข้างหน้าอีกชาติหนึ่ง รวมเป็น 3 ชาติ เรียกว่า “วัฏฏสงสาร”

นั้นมันของคนที่พูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน “วัฏฏสงสาร” หยาบๆ โง่ๆ อย่างนั้น ท่านชี้ใน “ปฏิจจสมุปบาท” เพียงวง 1 ก็มี “วัฏฏสงสาร” แล้ว

แล้ว “ปฏิจจสมุปบาท” นี้อาจจะเกิดขึ้นได้หลายวงในวันหนึ่งๆ ของคนธรรมดาสามัญ

เดี๋ยวนี้เราก็ชี้ “วัฏฏสงสาร” ที่ร้ายกาจ ที่รุนแรง ที่เป็นปัญหามากว่ามันอยู่ที่ความอยาก แล้วกระทำตามความอยากและได้ผลขึ้นมา แล้วมันทำให้อยากต่อไปอีก

นี่ อย่างนี้ไม่เป็นการชี้ “วัฏฏสงสาร” หรือ

มันชี้อย่างยิ่งเกินกว่าที่ชี้ แล้วชี้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วชี้ในหัวใจของบุคคล “วัฏฏสงสาร” ที่มันมีอยู่ในหัวใจของบุคคล

นี่คือเรื่องจริงของพุทธศาสนา

ทุกเรื่องต้องชี้ลงไปยังจิตใจของบุคคลซึ่งจะเป็น “สันทิฏฐิโก” เป็น “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ”

ฉะนั้น อย่าหลับตาด่าเราว่าเราไม่ได้พูดเรื่อง “วัฏฏสงสาร” หรือปฏิเสธว่าไม่มี “วัฏฏสงสาร” เราเชื่อว่ามีอย่างยิ่ง มีอยู่อย่างน่ากลัว มีอยู่ในจิตใจ ในชีวิตประจำวันทุกวันๆ ของคนแต่ละคนที่วนเวียนอยู่ใน “วัฏฏสงสาร” นั้น

รีบออกมาเสียด้วยการทำลายกิเลส

พอหมดกิเลสแล้ว “วัฏฏสงสาร” มันก็ไม่กลม มันก็หมุนไม่ได้เพราะไม่มีกิเลส แล้วก็ไม่ทำกรรม แล้วก็ไม่มีผลกรรม

มันก็หยุด

หรือว่าเราจะทำกรรมสูงสุด คือ กรรมไม่ดำ ไม่ขาว คือ “อริยมรรค” เป็นไปเพื่อ “พระนิพพาน” อัฏฏิกมรรคนั้นจะทำลาย “วัฏฏสงสาร” จะหยุดเสียซึ่ง “วัฏฏสงสาร”

นี่เป็นการอธิบายทั้ง “วัฏฏสงสาร” และวิธีที่จะออกมาเสียจาก “วัฏฏสงสาร”

เราไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มี “วัฏฏสงสาร” เรายืนยันว่ามีอย่างยิ่ง มีอย่างน่ากลัว ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนรีบทำตนให้ออกมาเสียจาก “วัฏฏสงสาร”

เป็นอันว่าการมองเรื่องภพ ชาติ มรณะ ของพุทธทาสภิกขุแตกต่างไปจากการมองของความคิดอันถือว่าเป็นกระแสหลัก

ชาติ มรณะ โดยทั่วไปมองในลักษณะข้ามภพ ข้ามชาติ

เน้นหนักไปในเรื่องการตาย การเกิดในทางสังขาร ร่างกาย เน้นในเรื่องการระลึกชาติอย่างที่ปรากฏผ่านชาดกและนิทาน

เป็นความโน้มเอียงในเรื่อง “ชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า”

แม้พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) จะอธิบาย สังสาระ สงสาร ว่า การเที่ยวเร่ร่อนไปในภพ คือภาวะแห่งชีวิตที่ถูกพัดพาให้ประสบทุกข์สุข ขึ้นลง เป็นไปต่างๆ ตามกระแสแห่งอวิชชา ตัณหาและอุปาทาน การว่ายวนอยู่ในกระแสแห่งกิเลส กรรมและวิบาก

การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกหรือในภพต่างๆ

แต่คำว่า “ภพ” ก็ถูกตีความอย่างกว้างในลักษณะ “ข้าม” พลันที่พุทธทาสภิกขุเน้นเรื่อง ภพชาติ มรณะ โดยอิงอยู่กับกระบวนการเกิดในทางความคิด มิได้เป็นเรื่องในทางสังขาร ก็ก่อให้เกิดความตื่นตะลึงจนถึงขั้นเห็นว่านอกลู่นอกทาง

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง การเกิดในที่นี้คือการเกิดในทางความคิด การเกิดในทางความเข้าใจ ความรับรู้ และเมื่อผ่านกระบวนการขัดแย้ง ปะทะการเกิดนั้นก็อาจจะถึงกาลกิริยา แปรเปลี่ยน กลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง

นั่นเท่ากับเป็นการเกิดใหม่ วนเวียนเป็นวัฏฏจักรไป