โรงหนังกับสวนสนุก : ความแตกต่างระหว่างสอนต่อหน้ากับสอนออนไลน์ / เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

โรงหนังกับสวนสนุก

: ความแตกต่างระหว่างสอนต่อหน้ากับสอนออนไลน์

 

ในฐานะคนสอนหนังสือเป็นอาชีพมาทั้งชีวิต การต้องหันมาสอนออนไลน์ภายใต้ภาวะโควิด-19 ระบาดหนึ่งปีมานี้เป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับผมและเพื่อนร่วมวิชาชีพส่วนใหญ่

จึงอยากถือโอกาสสรุปทบทวนประมวลบทเรียนไว้เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ครู-อาจารย์ และนักเรียน-นักศึกษาที่กำลังเรียนและสอนออนไลน์ขณะนี้บ้าง

ผมอยากเริ่มด้วยอุปมาอุปไมยที่ผมคิดว่าช่วยจับลักษณะเด่นของการเรียนการสอนสองแบบที่แตกต่างกันได้เด่นชัดและเข้าใจง่ายดี

เวลาสอนต่อหน้าในห้องเรียน ครู-อาจารย์เป็นผู้คัดกรองตรวจรับนักเรียน-นักศึกษาผู้เข้าชม กำกับควบคุมระเบียบวาระ (agenda) ของกระบวนการเรียนรู้อย่างเอาการเอางาน (active) ว่าจะฉายหนังเรื่องอะไร ปิดไฟมืดและบอกให้เงียบเสียงเพื่อเริ่มฉายหนัง-พัก-หยุด-จบ-และคนดูลุกออกจากโรงหนังได้เมื่อใด

ครู-อาจารย์จึงเป็นฝ่ายเลือกสรรและมุ่งจะมอบหมายประสบการณ์และเรื่องเล่าอันใดให้กับนักเรียน-นักศึกษาผู้ชมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างถูกกระทำ (passive) กว่ามาก

แต่การสอนออนไลน์ต่างออกไป สถานภาพบทบาทที่เป็นไปได้ของนักเรียน-นักศึกษาเสมือนหนึ่งผู้เที่ยวชมสวนสนุก (ที่มีแก่นเรื่องลักษณะวิชากำกับในทำนอง theme park)

กล่าวคือ ผู้เข้าชมแต่ละคนสามารถเลือกสัดส่วนความสนุกบันเทิงต่างๆ จากเครื่องเล่นสารพัดชนิดเท่าที่ครู-อาจารย์จัดเตรียมไว้ให้ในสวนนั้นไม่ว่าจะเป็นชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน รถไฟเหาะ ถ้ำผีสิง ฯลฯ (จะโดยครู-อาจารย์ตั้งใจหรือไร้เจตนาก็ตาม) มาประกอบสร้างเป็นระเบียบวาระ ประสบการณ์การเรียนรู้และเรื่องเล่าส่วนตนของตัวเอง

นึกจะเล่นเครื่องเล่นไหนก็เข้าไปถามไถ่หาข้อมูล ลองเล่น เพลิดเพลินไม่ลุกไม่เลิกเล่น หรือปลีกตัวปลีกหัวออกมากลางคัน เพื่อไปสู่เครื่องเล่นต่อไปอย่างไรก็ได้

หรือจะไม่เข้าสวนสนุกแต่แรก หรือจู่ๆ จะเดินออกจากสวนสนุกไปเฉยๆ ก็ไม่มีใครห้ามได้

ผู้เที่ยวชม/นักเรียน-นักศึกษาจึงเป็นผู้กำกับควบคุมและสร้างเรื่องเล่าการเรียนรู้ของตัวเองในแก่นเรื่องของแต่ละวิชามากกว่าอาจารย์ผู้สอนอักโข

ขอบเขตความเป็นไปได้ ขีดจำกัดของการเรียนรู้ในสองเงื่อนไขนี้แตกต่างกันพอควร และคงเป็นคำถามเปิดว่าครู-อาจารย์ผู้สอนกับนักเรียน-นักศึกษาจะปรับแต่งฐานะบทบาททางอัตวิสัยให้เข้ากับภาววิสัยที่แตกต่างกันออกไปอย่างไร

จากประสบการณ์ส่วนตัวในช่วงปีที่ผ่านมา ผมพอมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์ที่ได้ลองนำไปปฏิบัติมาแลกเปลี่ยนดังนี้ :

1) การเรียนการสอนออนไลน์ต่างจากการสอนต่อหน้าในชั้นเรียนตรงที่เพิ่มความสำคัญกว่าของผู้เรียนเมื่อเทียบกับผู้สอน

ผู้สอนอาจวางเป้าหมาย เนื้อหา การวัดผล ระบบระเบียบต่างๆ ของวิชาให้ แต่กระบวนการและผลลัพธ์ในการเรียนวิชานั้นถึงที่สุดแล้วขึ้นกับผู้เรียนเป็นหลัก เพราะไม่มีผู้สอนคอยกำกับผลักดันจัดระเบียบต่อหน้า ไม่มีชั้นเรียนเป็นภาวะแวดล้อมและบรรยากาศเอกเทศแยกต่างหากช่วยเอื้ออำนวย ไม่มีเพื่อนร่วมชั้นให้พูดคุยไต่ถามปรึกษา

ผู้เรียนต้องจัดการดูแลภาวะแวดล้อมในการเรียนออนไลน์และการเรียนของตัวเอง

ผู้เรียนจะโดดร่มไม่เข้าร่วมชั้นหรือปิดจอลุกหนีหรือปิดไมค์แล้วพูดคุยหรืองีบหลับหรือไม่ใส่ใจติดตามบทเรียน ผู้สอน/เพื่อนร่วมชั้นก็ไม่อาจแนะนำตักเตือนห้ามปรามได้

แทบทั้งหมดอยู่ที่ตัวผู้เรียนเองคนเดียว ผู้เรียนจึงรับผิดชอบผลสำเร็จหรือล้มเหลวของการเรียนเองกว่าเดิมมาก

2) รูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับออนไลน์ไม่ใช่การบรรยายยาวเป็นชั่วโมงๆ เพราะสมาธิผู้เรียนไม่ยาวขนาดนั้นและเบื่อหน่ายมึนงงง่าย

แต่คือการสนทนาถามตอบและอธิบายเพิ่มเติมกว้างขวางออกไปจากคำถาม โดยอ้างอิงบทอ่านล่วงหน้าร่วมกัน

ดังนั้น การแจกบทอ่านที่ใช้คุยล่วงหน้า (หนังสือตำรา, บทความ, รายงานข่าว, สไลด์ ฯลฯ ในรูปไฟล์ที่ส่งให้หรือดาวน์โหลดได้เป็นหลัก ส่วนบทอ่านที่เป็นรูปเล่มต้องแจ้งเตือนผู้เรียนให้จัดหามาแต่เนิ่นๆ อาจโดยผ่านการสั่งซื้อหรือหยิบยืมกัน โดยเฉพาะในสภาพที่ห่างไกลศูนย์หนังสือหรือห้องสมุด)

การมอบหมายตัวบุคคล/กลุ่มผู้เรียนบางส่วนล่วงหน้าให้เป็นผู้ถามนำ การเตรียมคำถามเกี่ยวกับบทอ่านไว้ล่วงหน้าของผู้เรียน

เหล่านี้จึงสำคัญในการทำให้การเรียนการสอนแบบสนทนาถามตอบและอธิบายเพิ่มเติมออนไลน์ดำเนินไปได้ โดยมีช่วงเวลาให้ผู้เรียนคนอื่นที่เหลือในชั้นได้มีจังหวะโอกาสร่วมซักถามออกความเห็นถกเถียงเพิ่มเติมด้วย

3) เวลา 3 ชั่วโมงต่อคาบยาวเกินไปสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ในรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น

จากประสบการณ์ของผม ความยาวของคาบการเรียนออนไลน์ที่พอเหมาะคือ 2 ชั่วโมง โดยมีช่วงพักครึ่งผ่อนคลายอิริยาบถและทำกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็น แล้วเสริมเติมโดย Online Office Hours หรือชั่วโมงให้นักศึกษาเข้าพบเพื่อปรึกษากับอาจารย์ทางออนไลน์สักสัปดาห์ละ 1-2 ชั่วโมงแล้วแต่จะตกลงกำหนดวันเวลากันในชั้นหนึ่งๆ

เพื่อเป็นช่วงเปิดให้ซักถามพูดคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนอย่างกันเองคล่องตัวมากขึ้นกว่าคาบเรียนออนไลน์ปกติ

4) การวัดผลการเรียน (หรือนัยหนึ่งการสอบ) ที่เหมาะสมและสะดวกคือสั่งงาน/แจ้งโจทย์หรือข้อสอบหรือคำถามล่วงหน้า ให้นักศึกษาไปค้นคว้าทำ แล้วกำหนดวันส่งพร้อมกันอีกที (take-home exam)

เหล่านี้ทำให้คำถามแบบปรนัยและคำถามที่เน้นแต่ข้อเท็จจริงไม่เหมาะนัก หากแต่คำถามที่เป็นอัตนัยและอาศัยการค้นคว้าขบคิดวิเคราะห์ตีความจะเหมาะกว่า

5) ไม่ควรคิดว่าจะเรียนจะสอนออนไลน์ให้ได้คุณภาพและประสิทธิผลเหมือนการสอนต่อหน้าในชั้นเรียนได้อย่างไร? เพราะมันมีวิถีทางและลักษณะแตกต่างกัน

ควรปรับคำถามใหม่ว่าบนพื้นฐานเงื่อนไขและลักษณะพิเศษที่เป็นจริงของการเรียนการสอนออนไลน์ จะทำอย่างไรให้เกิดการแสวงหาความรู้จากทรัพยากรและบุคลากรที่มีในส่วนตัวผู้เรียนให้ได้มากที่สุด?

ผลลัพธ์อาจไม่เหมือนการสอนต่อหน้าในชั้นเรียน แต่ไม่แน่ว่าจะต้องแย่กว่าเสมอไป

6) อย่าดูเบาปัญหาเทคนิค และอย่าประเมินปัญหาภาวะแวดล้อมและส่วนตัวของผู้เรียนต่ำเกินไป การตระเตรียมซักซ้อมให้พรักพร้อมทางเทคนิค และการแจ้งปัญหาตรงไปตรงมาของผู้เรียนและหาทางแก้ร่วมกันเท่าที่ทำได้กับผู้สอนจึงสำคัญมาก คณะผู้บริหารและฝ่ายเทคนิคของคณะและมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษในการให้คำแนะนำปรึกษาและอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ปัญหาแก่ผู้เรียนและผู้สอนในเรื่องเหล่านี้

ดังกรณีตัวอย่างที่ถึงกับกลายเป็นข่าวฮือฮาข้ามโลกเมื่ออาจารย์คณะคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) คนหนึ่งบรรยายออนไลน์ทิ้งเปล่าไป 2 ชั่วโมงเพราะดันลืมเปิดไมค์ในเครื่องสื่อสารที่ใช้

ความที่แกคุ้นเคยกับการเล็กเชอร์ยาวเหยียด เพ่งเล็งรวมศูนย์หมกมุ่นกับเนื้อหาการบรรยาย โดยไม่ทันสนใจนักศึกษา หรือคอยสอบถามนักศึกษาดูว่าไมค์ใบ้หรือเปล่า โดยที่นักศึกษาพยายามทุกวิธีแล้วที่จะบอกเตือนอาจารย์ให้ทราบรวมทั้งโทร.ไปหาที่เบอร์บ้าน แต่ไม่สำเร็จ

และพอตัวอาจารย์รู้เข้าก็ถึงแก่ร้อง “หือ??” และทำหน้าเบ้ทีเดียว

(https://www.yahoo.com/news/singaporean-professor-lectures-2-hours-190353801.html)