วัคซีนจอห์นสัน & จอห์นสัน อีกหนึ่งความหวังฝ่าวิกฤตโควิด-19 / บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: A vial and sryinge are seen in front of a displayed Johnson&Johnson logo in this illustration taken January 11, 2021. REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

วัคซีนจอห์นสัน & จอห์นสัน

อีกหนึ่งความหวังฝ่าวิกฤตโควิด-19

 

ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีผู้ร้ายเป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ผู้ก่อโรคโควิด-19 แสดงนำ เวลานี้เรื่องก็ดำเนินมาถึงจุดพลิกผันเมื่อมีวัคซีนหลากหลายชนิดที่เป็น ‘ฮีโร่’ พร้อมต่อกรกับเชื้อโรคร้ายก่อกำเนิดขึ้นมามากมาย

ล่าสุดโลกก็เพิ่งมี ‘ฮีโร่’ ใหม่ เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” เรียกสั้นๆ ว่า เจแอนด์เจ

เมื่อสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) สหรัฐอเมริกา อนุมัติให้วัคซีนชนิดนี้สามารถใช้เป็นการฉุกเฉินได้แล้ว

สิ่งที่น่าตื่นเต้นก็คือ วัคซีนของเจแอนด์เจชนิดนี้ ฉีดป้องกันโรคได้จากการฉีดเพียง “เข็มเดียว” เท่านั้น

ต่างจากวัคซีนที่ออกสู่ตลาดไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์, โมเดอร์นา หรือแอสตร้าเซนเนก้า ที่ต่างต้องฉีด 2 เข็มจึงครบโดส

แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั่วโลกจะให้คำแนะนำตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่อุปทานมีอย่างจำกัด ประชาชนควรฉีดวัคซีนใดก็ตามที่สามารถเข้าถึงได้ก่อน

แต่ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ การพลาดนัดฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 นั้นยังคงมีอยู่มาก

โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เวลางานไม่แน่นอน การเดินทางขนส่งที่ไม่แน่นอน รวมไปถึงกลุ่มคนที่คิดว่ายังหนุ่มยังสาวและสุขภาพดี หรือไม่ชอบการไปหาหมอ เป็นต้น

ผลการศึกษาวิจัยกรณีศึกษาการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ที่ต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 1 เดือนเช่นกัน พบว่า มีผู้ได้รับการฉีดมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่สามารถเดินทางมาฉีดเข็มที่ 2 ได้

ขณะที่ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาพบว่า ประชากร 14 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จากไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ไปก่อนหน้านี้ มีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับเข็มที่ 2 แม้เหตุผลจะเป็นเพราะเพิ่งจะเป็นช่วงเริ่มต้นของโครงการฉีดวัคซีน แต่ก็พบว่ามีคนเกือบ 3 ล้านคนแล้วที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามเวลานัด

แม้สัดส่วนจะดูไม่มากนัก แต่หากยังคงมีกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนไม่ครบโดสอยู่ การสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ที่หลายฝ่ายคาดหวังคงจะเป็นไปได้ยากเช่นกัน

ดังนั้น การแก้ปัญหาการไม่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือไม่สามารถมาฉีดได้ตรงตามเวลานัดก็คือ วัคซีนที่ฉีดเพียงเข็มเดียวอย่าง “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” นั่นเอง

 

อีกสิ่งหนึ่งที่วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นที่พูดถึงก็คือ “ประสิทธิภาพ” การป้องกันการเสียชีวิตและอาการป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นอยู่ในระดับสูงมาก

ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 โลกอยู่ร่วมกับโรคติดต่อหลายนิดที่ไม่ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติและอยู่กับเชื้อที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น อย่างเช่น “ไข้หวัด” ได้

วัคซีนจะเข้ามาทำหน้าที่ทำให้โควิด-19 กลายเป็นโรคระบาดที่สามารถจัดการได้แบบเดียวกัน ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจไม่มีอาการใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น แค่คัดจมูก หรือไข้ต่ำๆ ลดความเสี่ยงในการป่วยหนักจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือขั้นเสียชีวิต

สำหรับวัคซีน “เจแอนด์เจ” ข้อมูลของเอฟดีเอ สหรัฐ พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแล้วมีอาการได้ 72 เปอร์เซ็นต์

แต่หากมองลึกไปที่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการหนักจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตนั้น วัคซีนเจแอนด์เจมีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึงระดับ 100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวหลังผ่านการฉีดไปแล้ว 28 วัน

โดยสรุปก็คือ แม้วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันจะไม่ได้มีประสิทธิภาพการป้องกันอาการของโรคเทียบเท่ากับคู่แข่ง แต่ก็มีประสิทธิภาพดีเยี่ยมในการทำให้โควิด-19 นั้นเป็นโรคที่ไม่น่าหวาดกลัวอีกต่อไป

 

สําหรับความกังวลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนกับเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์นั้นก็มีข่าวดีเช่นกัน เมื่อวัคซีนเจแอนด์เจมีการทำการทดลองเชิงคลินิกในแอฟริกาใต้ พื้นที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และผลทดลองก็พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันอาการของโรคในระดับ 64 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันการเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตได้ในระดับ 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน

อย่างไรก็าม วัคซีนชนิดนี้ยังคงมีเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป เช่น ตัวชี้วัดบางอย่างที่ระบุว่าวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดต่ำลงกับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างยังคงน้อยมากเกินกว่าจะมีข้อสรุปได้

อีกหนึ่งประโยชน์ของการมีวัคซีนโควิด-19 แบบ “เข็มเดียวอยู่” ก็คือ ช่วยให้การฉีดวัคซีนให้ประชากรทำได้รวดเร็วขึ้นถึง 2 เท่า

ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา เวลานี้มีการฉีควัคซีนโควิด-19 แบบที่ต้องฉีด 2 เข็ม วันละถึง 1.5 ล้านโดส หมายความว่า หากจะประสบความสำเร็จในการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ที่ประชากร 80 เปอร์เซ็นต์ได้นั้นอาจต้องรอถึงเดือนมีนาคมปี 2022

แต่หากยกตัวอย่างแบบสุดโต่งให้ สหรัฐอเมริกาใช้วัคซีนเจแอนด์เจ ที่ฉีดเพียงเข็มเดียวให้ประชาชนทั้งหมด การสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” จะสามารถเกิดขึ้นได้ภายในเดือนกันยายนปีนี้ทันที

หรือหากยกตัวอย่างในแบบที่มีความเป็นไปได้ หากมีการฉีดวัคซีนเจแอนด์เจเพียง 1 ใน 3 ของทั้งโครงการ สหรัฐจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในสิ้นปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีน “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” จะเป็นอีกหนึ่งฮีโร่เพื่อแก้วิกฤตโควิด-19 เพิ่มขึ้น

แต่ยังคงมีตัวแปรอีกมาก

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการผลิต ห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นใจของคนในสังคมที่มีผลต่อการตัดสินใจฉีดวัคซีน การยังไม่มีการอนุมัติให้คนอายุต่ำกว่า 18 ปีฉีดวัคซีนได้ ขณะที่คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากร และอื่นๆ ที่อาจทำให้ไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในเร็วๆ นี้

อย่างอย่างน้อยๆ วัคซีน “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” ก็เป็นอีกแสงสว่างนำทางไปสู่ทางออกของวิกฤตครั้งนี้ไม่มากก็น้อยแน่นอน