เผยแพร่ |
---|
ย้อนตำนานเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.”ปชป.” ผูกขาด “คนกรุง” ทะลุล้าน “สุขุมพันธุ์” ยึดผู้ว่าฯ สมัย 2
การเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” (กทม.) เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่เป็นการเปิดศึก 2 ขั้วเลือกข้างแย่งชิง ด้วยสถิติหน้าใหม่ของการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.”
เมื่อคนกรุง 2,715,640 คนคิดเป็นร้อยละ 63.98 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 4,244,465 คน แห่ออกมาใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือก “ผู้ว่าฯ กทม.” ถล่มทลายมากที่สุดในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเลือกตั้ง “พ่อเมืองหลวง”
บทสรุปการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2556 เกิด “สถิติ” ที่น่าสนใจอยู่หลายประการ
ประการ 1 ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า “คนกรุง” มีความสนใจต่อการใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าครั้งใดๆ
ประการ 1 ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” เจ้าของแชมป์ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 4 ก่อน สามารถรักษาเก้าอี้ “ประมุขพ่อเมืองหลวง” ต่อไปอีก 4 ปี
ประการ 1 ผลคะแนนเสียงที่คนกรุง เทให้ “สุขุมพันธุ์” จำนวน 1,256,349 เสียง ยังเป็นการทุบสถิติที่ “สมัคร สุนทรเวช” 1,016,096 เสียงคนกรุงซึ่งเคยได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2543
ประการ 1 ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพ “คนกรุง” แบ่งขั้ว-เลือกข้าง แจ่มชัดขึ้น โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครทุกคนยกเว้น “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาธิปัตย์” ต่างถูกตัดคะแนนจนทำให้ “สองพรรคใหญ่” ได้คะแนนรวมกันทะลุ 2 ล้านกว่าเสียง
จากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า “คนกรุง” 1,077,899 เสียง เลือก “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคเพื่อไทย เนื่องมาจากนโยบายสำคัญที่ปูพรมหาเสียงมาโดยตลอดพร้อมทำงานร่วมกับ “รัฐบาล” อย่าง “ไร้รอยต่อ”
และผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า “คนกรุง” 1,256,349 เสียง เลือก “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” เนื่องมาจากต้องการให้ “พรรคประชาธิปัตย์” สานงานต่อ “ทำแล้ว…จะทำต่อ” ตามยุทธศาสตร์การหาเสียงที่วางไว้
อีกทั้ง “การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ในครั้งนี้ยังมีความน่าสนใจที่ต่างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552
เนื่องด้วย “ผู้สมัครอิสระ” ทุกคน ยกเว้น “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาธิปัตย์” ได้คะแนนรวมกันเพียง 296,642 เสียงเท่านั้น
ต่างจากเมื่อ 4 ปีก่อนที่คะแนนผู้สมัครทุกคนยกเว้น “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาธิปัตย์” ได้คะแนนรวมกัน 511,948 คะแนน นั่นหมายความว่า “คะแนนผู้สมัครอิสระ” หายไป 215,306 คะแนน
เนื่องด้วยคะแนนผู้สมัครจาก “พรรคเพื่อไทย” ที่ส่ง “พล.ต.อ.พงศพัศ” ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ได้รับการสนับสนุนจากคนกรุง 1,077,899 เสียง ยังเป็นคะแนนที่เพิ่มขึ้น 466,220 เสียงจากฐานเสียงเดิมของพรรคเพื่อไทย 611,669 เสียง เมื่อ 4 ปีก่อน
เนื่องด้วยคะแนนผู้สมัครจาก “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ส่ง “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” ลงรักษาแชมป์ผู้ว่าฯ กทม. ได้รับการสนับสนุนจากคนกรุง 1,256,349 เสียง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 321,744 เสียงจากฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ 934,602 เสียง เมื่อ 4 ปีก่อน
สําหรับโอกาสและปัจจัยแห่งการได้รับ “ชัยชนะ” ของ “พรรคประชาธิปัตย์” และ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” ในศึกชิงฐานเสียง “คนกรุง” ครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คนกรุง” ยังนิยม “พรรคฝ่ายค้าน” ในเวทีการเมืองระดับชาติอยู่
เป็นความนิยมของคนกรุงที่หนุนส่งให้ “พรรคประชาธิปัตย์” คว้าชัยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2552
เป็นความนิยมที่ต่อเนื่อง โดยหนุนส่งให้ “พรรคประชาธิปัตย์” คว้าชัยการเลือกตั้ง ส.ส. ในสนาม กทม. 23 ที่นั่งยึดครองเสียงข้างมากใน “เมืองหลวง” เหนือกว่า “พรรคเพื่อไทย”ที่ได้ ส.ส. เพียง 10 ที่นั่ง เมื่อปี 2554
ทำให้การเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติใน “กทม.” ส่งผลให้ “พรรคประชาธิปัตย์” ปักหลักและยึดกุมอำนาจใน “เมืองหลวง” เป็นผลสำเร็จยาวนานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
หากย้อนไปก่อนการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” 2556 จะอุบัติขึ้น “สุขุมพันธุ์” บอบช้ำจากการ “กรำศึก” บริหาร “กทม.” มาตลอด 4 ปี เพราะถูก “กระแสการเมือง” รุม “ดิสเครดิต”
ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ “มหาอุทกภัย” กลืนกิน “เมืองหลวง” เมื่อปี 2554 จนกลายเป็นภาพความขัดแย้งของ “กทม.” ภายใต้การนำของ “พรรคประชาธิปัตย์” และ “รัฐบาล” ภายใต้การนำของ “พรรคเพื่อไทย”
ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ “พรรคเพื่อไทย” รุมถล่มการติดตั้ง “กล้องซีซีทีวีดัมมี่” ของ “กทม.”
ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ “พรรคเพื่อไทย” รุมตรวจสอบ “กทม.” ในการต่อสัญญาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส
ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ “สุขุมพันธุ์” ไม่สามารถก่อสร้างสนามฟุตซอลอารีน่า หนองจอก เสร็จสิ้นตามกำหนด
เหล่านี้คือเหตุอันทำให้ “พรรคเพื่อไทย” มองว่าโอกาสที่จะทำให้ “พล.ต.อ.พงศพัศ” โค่น “สุขุมพันธุ์” จนคว้า “ชัยชนะ” ผู้ว่าฯ กทม. เป็นครั้งแรกให้กับ “พรรคเพื่อไทย” จึงมีสูงกว่าทุกครั้ง
นั่นจึงทำให้ “พรรคประชาธิปัตย์” วางเกมระดม “ขุนศึก” ทุกอัตรา ปูพรมลงหาเสียงทั่วกรุง 50 เขต โดยหวังเพื่อ “รักษาฐานที่มั่น” ใน “เมืองหลวง” ให้อยู่ในอ้อมกอดไว้อีกครั้ง
ยิ่งโพลทุกสำนักก่อนวันเลือกตั้งและหลังปิดหีบเลือกตั้งต่างพากันชี้ทิศทางว่า “พล.ต.อ.พงศพัศ” มีคะแนนนิยมเหนือกว่า “สุขุมพันธุ์”
ยุทธศาสตร์การหาเสียงของ “พรรคประชาธิปัตย์” ในช่วงโค้งสุดท้ายจึงงัดไม้ตาย ด้วยวาทกรรมผ่าน “แคมเปญ” หยุดยั้ง “พรรคเพื่อไทย” คือ “รวมพลังหยุดผูกขาดประเทศไทย”
หรือแม้แต่การโหมปราศรัยผ่าน “แกนนำพรรค” เพื่อกระตุ้นเตือนความทรงจำ “คนกรุง” มิให้ลืมเลือนกับ “เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง” เมื่อปี 2553
วาทกรรม “อย่าเลือกคนเผาบ้านเผาเมือง” หรือแม้แต่ยุทธวิธีใต้ดิน การปล่อยข่าวผ่าน “โซเชียลมีเดีย” ว่า “จตุพร พรหมพันธุ์” จะเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. หาก “พรรคเพื่อไทย” ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถูกงัดออกมาสู้กับ “พรรคเพื่อไทย” ที่เดินหน้าหาเสียงด้วยการคิดบวก
ส่งผลให้ “คนกรุง” 1,256,349 เสียงต่างระดมพลออกมาเทเสียงให้ “พรรคประชาธิปัตย์” และไม่ต้องการ “พรรคเพื่อไทย” ผูกขาดทั้งเวทีการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ
ก่อนที่ต่อมาในปี 2559 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖๔/๒๕๕๙ เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ้นจากตําแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ตามที่มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๐/๒๕๕๙ เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ ๖ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
โดยให้ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในกรุงเทพมหานครของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นการชั่วคราว นั้น เนื่องจากการตรวจสอบหรือการสอบข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาต่างๆ ขององค์กรที่มีอํานาจหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมายยังต้องดําเนินไปอีกระยะหนึ่งในขณะที่วาระการดํารงตําแหน่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใกล้จะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ซึ่งก็จะยังไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ได้ตามนัยแห่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ยังใช้บังคับอยู่ แต่โดยที่มีความจําเป็นต้องเร่งจัดการบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นที่เรียบร้อย เกิดความต่อเนื่อง สามารถประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนอย่างมีเอกภาพ
โดยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีอํานาจการตัดสินใจแก้ปัญหาหรือดําเนินการต่างๆ และสามารถบริหารงบประมาณ บังคับบัญชาบุคลากรตลอดจนบริหารงานบุคคลได้โดยเด็ดขาดตามกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครและประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย การรักษาความสะอาด การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การแก้ปัญหาการจราจร การพัฒนาชุมชน การอํานวยความสะดวกแก่ประชาชนในช่วงเวลาที่มีงานพิธีสําคัญ และการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนในขณะนี้ หากมิได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จะเกิดเป็นความเสียหายต่อราชการแผ่นดินอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ้นจากตําแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ดํารงตําแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอยู่ในวันก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ พ้นจากตําแหน่ง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ข้อ ๒ ให้พลตํารวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และให้มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกินสี่คนตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งตามมาตรา ๔๙ (๓) และมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
พ.ศ.๒๕๒๘ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น การแต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้กระทําได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี
ข้อ ๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๙ (๓) และมาตรา ๕๒ นายกรัฐมนตรีอาจสั่งให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกจากตําแหน่งได้เมื่อมีกรณีแสดงให้เห็นว่า
ได้กระทําการอันเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตําแหน่งหรือปฏิบัติการหรือละเลยไม่ปฏิบัติการอันควรปฏิบัติในลักษณะที่เห็นได้ว่าจะเป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรงแก่กรุงเทพมหานครหรือแก่ราชการโดยส่วนรวมหรือแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชน
ข้อ ๔ นายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคําสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกคําสั่งนี้ได้
ข้อ ๕ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าในที่สุดแล้ว “เมื่อไหร่” ถึงจะได้เลือกผู้ว่า กทม.คนใหม่กัน แต่ระหว่างนี้ก็มีการเปิดตัวของแคนดิเดทที่น่าสนใจอยู่หลายคน ก็ต้องจับตากันต่อไปว่าในปี 2564 นี้จะมี “เลือกตั้งผู้ว่า” หรือไม่