โกงความตาย

รู้สึกตัวตื่นราวตี 4 ปิดแอร์เพื่อจะลุกไปเข้าห้องน้ำและชงกาแฟ แต่เปลี่ยนใจพลิกตัวนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งแล้วหลับต่อ

ตื่นอีกที 6 โมงกว่า แต่ยังมืดและเงียบเหมือนตี 5 และดูเหมือนจะมีฝนพรำอยู่เล็กน้อยด้วย จึงอดไม่ได้ที่จะคว้าไอแพดมาเปิดเฟซบุ๊กสำรวจข่าว

ภาพที่เห็นตรึงผมไว้กับที่นอน…

เป็นภาพนายทหารผ่านศึกชราในเครื่องแบบชุดคอแบะประดับเหรียญตราเต็มหน้าอกสง่างาม เขานั่งอยู่ลำพังบนเก้าอี้ยาวในบริเวณลานกว้างใหญ่ของพิธีรำลึก “วันผ่านศึก” ข้างตัวมีกระเป๋าเดินทางซึ่งทำให้เราเดาได้ว่า เขาเดินทางไกลมาเพื่อรำลึกวันผ่านศึกซึ่งมีอยู่ทุกปี ปีละครั้ง

แต่ครั้งนี้มีเขาเพียงลำพังคนเดียว!

เขาเป็นคนเดียวที่ “ชนะความตาย” ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นทยอยกันลาจากไปก่อนจนหมด

เพื่อนร่วมรุ่น นรต. (นักเรียนนายร้อยตำรวจ) ของผมยังมีชีวิตอยู่ราว 30 คน ทุกคนต่างอยู่ในวัย 80 หรือกว่า 80 เล็กน้อย ดังนั้น ถ้าว่ากันตามสถิติของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งประเมินไว้ว่า ในปี พ.ศ.2560 เป็นปีที่คนไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อายุเฉลี่ย 75 ปี

ก็เท่ากับว่าผมและเพื่อนร่วมรุ่น “โกงความตาย” มาได้ถึงคนละ 5 ปี

เฉพาะในส่วนตัวของผม เมื่อตอนอายุ 70 หมอโรงพยาบาลจุฬาฯ ผ่าตัดทำบายพาสต์ เปลี่ยนเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ 3 เส้น หลังจากออกจากห้องไอซียูแล้ว ก่อนจะให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน ทีมแพทย์ผลัดกันเข้ามาตรวจวันละหลายหน ผมเข้าใจว่าแพทย์คงมาดูผลงานของท่านเพื่อประกอบการวินิจฉัย “วันกลับบ้าน” เนื่องจากมีคิวผู้ป่วยรอเช็กอินยาวเหยียด

หมอส่วนใหญ่ซักถามเล็กน้อย แสดงความพอใจและไม่พูดอะไร ยกเว้นหมอหนุ่มท่านหนึ่งแสดงความยินดีกับผม ประมาณว่า “ลุงสบายไปอีก 10 ปี!”

หะแรกผมดีใจที่ได้ฟัง เพราะเท่ากับผมได้กำไรชีวิตอย่างน้อยก็อีก 10 ปี แต่พอหมอคล้อยหลังผมทบทวนคำพูดของหมออีกครั้ง… หมอใช้คำว่า อีก 10 ปี หรือกว่าสิบปี หรืออย่างน้อย 10 ปีกันแน่? เพราะผลลัพธ์ที่แท้จริงของแต่ละวลีช่างต่างกันมาก

ยิ่งจวนใกล้จะ 10 ปีก็ยิ่งเพิ่มความกังวลถึงคำพูดของหมอ

และมาปีนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 11 หรือกว่าแล้ว หรือยังไงนี่แหละ… ผมก็ไม่อยากเคร่งครัดจนซีเรียสกับตัวเลขมากนัก (ฮา)

สมศักดิ์ จันทรา เป็นเพื่อนนายตำรวจที่ย้ายวนเวียนอยู่ในนครบาลมาตลอดจนเกษียณอายุในปี 2538 ก่อนเพื่อนร่วมรุ่น 1-3 ปี ทั้งที่รูปร่างหน้าตาของเพื่อนดูอ่อนวัยกว่า อาจจะเป็นเพราะเขาเป็นคนอารมณ์ดี มีเรื่องให้ยิ้มและหัวเราะตลอดเวลา สบาย… สบาย… ช่วยให้เพื่อนและคนรอบข้างพลอยมีอารมณ์เบิกบานแจ่มใสไปด้วย

ครั้งที่เริ่มเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจปี 1 ใหม่ๆ พอถึงเวลา 2 ทุ่ม (ก่อนยามจะเป่าแตรนอน 3 ทุ่มของทุกคืน) จะมีนักเรียนปกครองรุ่นพี่มาอบรมมารยาทและระเบียบวินัยของคนในเครื่องแบบ บรรดาน้องใหม่ต้องนั่งพับเพียบกับพื้นในโรงนอน และเมื่อเสร็จสิ้นการอบรม หัวหน้าชั้นก็จะบอก “ทั้งหมด-ตรง!” ทำความเคารพ

คืนหนึ่งเมื่อหัวหน้าชั้นบอก “ตรง” แล้ว สมศักดิ์ไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ ยังคงนั่งพับเพียบอยู่ในท่าเดิมเนื่องจากเขาดึงนิ้วมือออกจากรูกลอนประตูไม่ได้… เขาไชรูกลอนประตูแก้เบื่อในระหว่างฟังการอบรม

ผมจำไม่ได้แล้วว่านักเรียนปกครองลงโทษสมศักดิ์หรือไม่ อย่างไร แต่ผมเชื่อว่าพี่เขาคงต้องกลั้นหัวเราะอย่างลำบากยากเย็นทีเดียว ส่วนพวกเราทั้งรุ่นไม่มีใครลืมเรื่องนี้ นึกถึงทีไรก็ได้หัวเราะทีนั้น

หลังเกษียณอายุ ส่วนหนึ่งของพวกเราอาจจะหางานทำต่อเพราะไม่อยากอยู่เฉย บ้างก็พักผ่อน ท่องเที่ยวหรือตีกอล์ฟ มีเพียงไม่กี่คนที่เจ็บป่วยต้องอยู่ใกล้หมอ

ส่วนสมศักดิ์นั้นเลี้ยงหลานเพราะยังแข็งแรงขับรถรับ-ส่งหลานไปโรงเรียนได้สบาย

ประมาณกลางปี 2547 เขาขับรถพาภรรยาไปหาซื้อที่กว้างๆ แถวจังหวัดสระบุรี แต่แล้วต้องจอดพักในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งเพราะรู้สึกไม่สบายจนขับรถไม่ได้ ปวดและแน่นบริเวณหน้าอก ภรรยาก็ขับรถไม่เป็น เปิดกระเป๋าค้นหารายชื่อเพื่อนที่พอจะติดต่อขอความช่วยเหลือได้ และได้พบชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของ “กัปตัน” ธนเกียรติ วงศาโรจน์ ผู้ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวม หรือ “เลขาฯ” ของรุ่น

กัปตันธนเกียรยติบอกชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของ พล.ต.เมธี ธรรมรังสี ประธานรุ่น จปร.7 ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี ท่านนายกจึงจัดการให้สมศักดิ์ได้กลับมารับการตรวจและรักษาจากโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ

ปรากฏว่าเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบไป 2 เส้น ทางโรงพยาบาลต้องทำบอลลูน สมศักดิ์เล่าเรื่องที่เขารอดตายครั้งนี้กลั้วเสียงหัวเราะอย่างขบขันตัวเอง เขาเป็นนักเรียนเตรียมนายร้อยรุ่นเดียวกับนายกเมธีคนดัง แต่เขาลืมนึกหรือนึกไม่ออก งานเลี้ยงรุ่นไม่ว่าจะเป็นรุ่น จปร.7 หรือ นรต.12 เขาก็ไม่ไป

ที่เขามีหมายเลขโทรศัพท์ของกัปตันธนเกียรติติดกระเป๋าเพราะว่าเขามักจะฝากเงินทำบุญของรุ่นผ่านทางบัญชีของกัปตันโดยตัวเองไม่ว่างพอจะมาร่วมงานได้

สมศักดิ์พยายามจะใกล้ชิดเพื่อนเหมือนกัน เขาเป็นสมาชิกเฟซบุ๊กอยู่ในกรุ๊ปของ นรต.รุ่น 12 คอยส่งข่าวและความเป็นไปของเขาให้เพื่อนในกรุ๊ปได้รับทราบ

แต่ที่ส่งเข้ามาบ่อยๆ ก็คือภาพอาหารเช้า กาแฟ ไข่ดาว ไส้กรอกและแฮม จนผมและเพื่อนเตือนถึงอันตรายของอาหาร แต่เขาตอบมาอารมณ์ดีว่า “ร้านมันอยู่หน้าบ้านว่ะ!”

สมศักดิ์มาร่วมบุฟเฟ่ต์กับเพื่อนต้นปี 2559 ผมทักเขาว่าหน้าตาเปล่งปลั่งดี ถัดมาอีกสัปดาห์เดียวเท่านั้น กัปตันก็โทร.มาบอกกลางดึกว่าสมศักดิ์ตายแล้ว!

เมื่อไปรดน้ำศพ ภรรยาของเขาเล่าให้ฟังว่า สมศักดิ์คุยอวดว่าไปบุฟเฟ่ต์มีเพื่อนชมว่าหน้าตาเปล่งปลั่ง ผมขัดทันทีว่า “ผมนี่และชมมัน”

ภรรยาเขาเล่าต่อว่า สมศักดิ์กินข้าวเหนียวมะม่วงอกร่องแล้วขอตัวไปนอน สั่ง “ห้ามปลุก” แล้วเขาก็หลับยาวไปเลย

ผมคงจะบรรลุสัจจะอะไรสักอย่างเมื่อมองภาพทหารผ่านศึกชรานั่งอยู่ลำพังอย่างโดดเดี่ยว… แทนที่ผมจะอาลัยอาวรณ์ถึงเพื่อนที่ทยอยกันตายจากไป ผมกลับรู้สึกวังเวงและเป็นห่วงเพื่อนที่ยังอยู่อย่างบอกไม่ถูก