‘เหมืองทองนครา’ เมื่อ 18 มงกุฎมอบบทเรียนพระราชา / อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘เหมืองทองนครา’

เมื่อ 18 มงกุฎมอบบทเรียนพระราชา

 

ปูมักคะเนีย เรื่องราวของ “ในหลวง”(*) กัมปูเจียสมัยนั้น อาจกล่าวว่าเป็นของแปลกทางลวงโลกเลยทีเดียว

เนียงขญฺมพบมาว่าในฐานะความเป็นพระมหากษัตริย์นั้น โดยนัยที ก็ทรงมีความใฝ่ฝันที่เข้าพวกร่วมสมัยอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการลงทุนสมัยใหม่ที่มากด้วยจินตนาการและเล่นแร่แปรธาตุ

ที่กล่าวเช่นนั้น หาใช่จะล่วงเกิน พระบาทนโรดม (2377-2447) อย่างใดไม่ แต่เนื่องจากมันได้กลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่ของวงใน จนเลยเถิดถึงขั้นพิพากษาคดีในโรงศาล

ว่าแต่มันเป็นเรื่องอะไรกัน?

ก็เรื่องที่พระองค์ร่วมลงทุนสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ! และตกเป็นเหยื่อลวงโลกซะเอง!

โธ่ถัง ตอนนั้นพระองค์ก็เริ่มจะลำบาก ภาษีส่วยอากรบ่อนเบี้ยที่เคยถือครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เริ่มประจักษ์ว่า ถูกเจ้าอาณานิคมบารังมาจัดเก็บดูแลและแบ่งส่วนให้ใช้บ้างเป็นงบปี

พระองค์ไม่เคยประสบการณ์เช่นนี้จึงทรุดโทรมตรอมพระทัย แม้ออกญาเสนาน้อยใหญ่ยังถือครองศักดินาและเก็บส่วยได้แต่ก็ไม่เป็นกอบเป็นกำในถิ่นทุรกันดาร

อนึ่ง ความกระด้างกระเดื่องไม่ละอองธุลีพระบาทของพวกต่างชาติเช่นนี้ มาจากที่พวกเขากล่าวหาพระองค์ว่าผลาญเงินทองปรนเปรอไปกับความสุขส่วนพระองค์เพียงลำพัง เฉพาะกรณีฮาเร็มนางละครซึ่งเป็นที่โปรดปรานนั่น

ฉะนั้น พวกบารังจึงจงใจลดทอนผลประโยชน์ของพระองค์ จากเงินคงคลังกลายเป็นแค่เบี้ยหวัดเงินปีหลวงเท่านั้น นับเป็นการบังอาจและหักพระพักตร์อย่างคลัง/มาก จนพระองค์ซึ่งมีบริวารมาก บางครั้งจึงชักหน้าไม่ถึงหลัง

ทรงล้มป่วยทางใจจนถึงขั้นเลิกตรัสภาษาบารังไปซะงั้น แต่นับเป็นวาสนาชะตากรรมอยู่บ้างเมื่อกลับมาตรัสอีกครั้งอย่างสำราญพระทัยเพื่อพบกับใครคนหนึ่ง

เขามีชื่อว่า โธมัส การามง ผู้เดินทางมากัมพูชาราว พ.ศ.2407 และเรียกตัวเองว่า “ฌ็อง-โธมัส ก็อมมีน เดอ การามง” (Jean-Thomas Comm?ne de Caraman) แต่บางฉบับกลับสมอ้างตามชื่อของว่า “เฟรเดอริก-โธมัส การามง” (Fr?d?ric Thomas-Caraman) คนที่มีนามสกุลว่า “de…” หรือ “เดอ” ที่เหมือนกับคำว่า “ณ…” ของราชสกุลไทยแต่เดิมนั่น

นี่ย่อมไม่ใช่ใครอื่น นอกจากลูกหลานขุนนางหรือทายาทเชื้อพระวงศ์

อย่างไรอย่างนั้น

 

ปูมักคะเนียของฉัน โธมัส การามง เป็นคนที่มีบุคลิกพิเศษ และด้วยเหตุนี้ หลวงนโรดมเองก็มีสายพระเนตรที่เฉียบคมด้านการละคร พระองค์จึงทรงโปรดเขาไม่ยาก แม้โดยนัยทีแล้ว สิ่งที่การามงกราบทูลนั้นจะเป็นกิจการซับซ้อนและพระองค์ไม่เคยได้ยินมาก่อน อาทิ

เขาได้แนะนำให้พระองค์ลงทุนปลูกฝ้ายกิจการเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่สร้างความมั่งคั่งให้พวกฝรั่งและอเมริกัน ซึ่งพระองค์ก็เพิ่งเคยได้ยินเอาตอนนั้น แต่ก็ทรงคล้อยตาม

ก็ดูแต่โคชินไชน่าที่ไซ่ง่อนนั่น ทั้งพวกบารอนบารังที่ต่างพากันไปปลูกยางพารานับหมื่นพันแฮกตาร์ที่นั่น สร้างความมั่งคั่งมหาศาลแก่บรรดาราชนิกุล บ๋าวดั่ยกับขุนนางบารัง ณ แผ่นดินเขมรใต้

แต่เมื่อกษัตริย์หนุ่มผู้มีชีวิตแต่ในวังไปวันๆ กับสตรีนางละคร การได้พบกับคนขายฝัน-นักสำรวจวัยฉกรรจ์ พลังงานหยิน-หยางแห่งความรื่นรมย์ก็มาบรรจบกัน จนกลายเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ฝัน

ทันทีที่การามงกราบทูลถามพระองค์ว่า เหตุใดจึงไม่มีการลงทุนเยี่ยงนี้ที่กัมพูชาเล่า?

อุแม่เจ้า กัมพูชาที่มากไปด้วยที่ดินรกร้างว่างอันกว้างใหญ่ไพศาล หากได้ไปพัฒนาแบบเดียวกับโคชินไชน่าที่สร้างความมั่งคั่งคหบดีอันนัม รวมทั้งเจ้าหน้าที่อินโดจีน ที่คอยเตะถ่วงความเจริญและร่ำรวยของพระองค์ตลอดมา

โธมัส การามง กราบทูลเช่นนี้ว่า อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าพื้นที่ราบลุ่มของกัมพูชาดูจะเหมาะกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ไม่ใช่ยางพารา

ทันพระมหากษัตริย์เขมรผู้ก็เห็นภาพฉากค้าขายอันคลาคล่ำที่ไซ่ง่อนหรือกรุงไพรนครของพระองค์ ซึ่งบัดนี้ถูกพวกอันนัมและบารังครอบครองจนมองไม่เห็นเงาอำนาจของพระองค์เลยสักนิด

ด้วยเหตุนั้น หลวงนโรดมจึงลงพระหัตถเลขาเป็นสนธิสัญญาสัมปทานที่ดินอันลึกลับแต่สมบูรณ์นักของที่ราบแม่น้ำโขงแห่งจังหวัดกำปงจาม

ส่วนขนาดของพื้นที่นั้น ก็สุดแต่ว่า อาชาแกลบของการามงจะย่ำกีบไปได้ขนาดไหน และให้ตายเถอะว่า บริเวณนั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ซ่องสุมกองกำลังองค์สีวัตถา ผู้ก่อ “กบฏ” หวังล้มพระเชษฐา ซึ่งก็หาใช่ใครอื่น แต่คือหลวงนโรดมนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความทะเยอทะยานของการามงต่อการปลูกและตั้งโรงงานทอฝ้ายถ้าไม่บังเอิญว่า ไร่ฝ้ายแห่งนั้นจะแท้งไม่เป็นท่า

การามงแอบคร่ำครวญและกล่าวโทษแรงงานท้องถิ่นเขมรว่า แสนเกียจคร้าน คดโกงและดื้อด้าน ต่างจากแรงงานชาวอันนัมที่ทำงานในสวนยางพาราของบารอนเนสผู้โด่งดัง

ด้วยเหตุนั้น ความฝันของการามงที่จะสร้างตนเป็นผู้ดีบารังในเขตอินโดจีนจึงวืดหาย แต่กระนั้น การามงจอมโปรเจ็กต์ก็ไม่ยอมแพ้และโชคดีกว่านั้น เมื่อเขาตรงไปเข้าเฝ้าอีกครั้งและกราบทูลหลวงนโรดมว่า “บริเวณที่ปลูกฝ้ายนั้น อาจสมบูรณ์ไปด้วยแร่ทองคำ!”

อย่างสุดปลื้ม ราวกับบรรทมตื่นจากสุบินที่คิดฝัน ทรงกระตือรือร้นและโปรดปรานจะลงทุนในเหมืองทองนคราของพระองค์อย่างแม่นมั่น เยี่ยงเดียวกับนักลงทุนผู้ก้าวหน้าทั่วไปสมัยนั้น

อนึ่ง เยี่ยงเดียวกับพระมหากษัตริย์ในยุคเดียวของพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ของไทย ผู้มีสายพระเนตรกว้างไกลซึ่งเกิดขึ้นคล้อยหลังกัมพูชาไม่นาน จนถึงขั้นส่งข้าราชบริพารไปศึกษาด้านวิศวกรรมที่อังกฤษ ก่อนที่เหมืองทองคำแบบเปิดที่กบินทร์บุรีจะมีขึ้นเป็นแห่งแรก

และพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ผู้ควบคุมดูแล ต่อมาถูกจับกุมดำเนินคดีและประหารชีวิต (2421)

 

ปูมักคะเนีย ทว่าเหมืองทองเวอร์ชั่นกัมพูชานี้แม้จะโป๊ะแตกและแสบๆ คันๆ แต่ไม่ถึงกับเป็นโศกนาฏกรรม

จะด้วยว่าโธมัส การามง คนนั้น เขาเป็นนักขายฝันและหลวงนโรดมเองนั่นก็ทรงเป็นนักการละครผู้มากด้วยจินตนาการ ฉะนี้อภิมหาโปรเจ็กต์รอบใหม่ของการามงคือ “เหมืองทองนครา” จึงประสบความสำเร็จในแง่ที่พระองค์เต็มใจประทานทรัพย์สินให้เดอการามงไปลงทุน

ก็น่าจะหมดไปโขอยู่ เพราะการามงก็อยู่ได้มาหลายปี จนตำรวจอินโดจีนที่ตามดมกลิ่นมานานในการค้นหาทายาทอดีตขุนนางราชสกุลเดอการามงที่ว่า กระทั่งมาโป๊ะแตกว่า นี่คือเรื่องลวงโลกของชายคนหนึ่งซึ่งสวมรอยและปลอมตัวจากฝรั่งเศสมาหากินไกลโพ้นที่กัมพูชา

การามงถูกกล่าวหาว่า มีแรงจูงใจในการต้มตุ๋นเพื่อนำมาซึ่งพระหัตถเลขาในพระองค์อันนำไปสู่สัญญาสัมปทานเพื่อนำไปใช้ในการหากิน นับเป็นการละเมิดความไว้วางใจในแบบคลาสสิคที่สุดจะหาได้ โดยเฉพาะการขโมยชื่อสกุลขุนนางคนหนึ่งในฝรั่งเศสมาเป็นของตน

เขาถูกจับตัวมาขึ้นศาลที่เมืองไพรนครหรือกรุงไซ่ง่อน

ปูมักคะเนียตามบันทึกของจอร์จ มุลเลอร์ ผู้เขียน : Le Cambodge Colonial et ses ” Mauvais Fran?ais” นั้น น่าสนใจว่า เมื่อคณะตัวแทนอินโดจีนได้เพ็ดทูลเรื่องนี้ต่อกษัตริย์กัมพูชาแล้ว แทนที่พระองค์จะทรงกริ้วต่อการกระทำอันล่วงละเมิดนี้ กลับทรงประทับนิ่งราวกับรับทราบมาก่อนแล้ว

อีกระหว่างรอพิพากษาคดีนั้น โธมัส การามง ก็เสียชีวิตจากความตรอมใจ

และเกินกว่าจะกล่าวได้ในช่วงเวลาที่ผ่านไปของมิตรไมตรีที่ได้รับการถวายจากเมอร์สิเออร์โธมัส การามง มีตั้งแต่เครื่องประดับอลังการและอื่นๆ นานา อีกแชมเปญกับชั้นดี 3-400 ลังนั่น คือช่วงเวลาแห่งความสำราญพระทัยในมิตรไมตรีที่เกินกว่าจะชิงชัง

ถูกแล้ว ทรงโปรดปรานอรรถรสอันโลดโผนเสมือนการแสดงละครนั่น เมื่อแลกกับความเสี่ยงที่สูญไปในเหมืองทองแห่งนั้น

แต่ก็ได้คืนมา สำหรับคำว่า “สิบแปดมงกุฎ!”

(*) กัมพูชาเรียกกษัตริย์ว่า ‘ในหลวง’ แบบเดียวกับไทย แต่มักตัดคำนำหน้าออกไป