ไทยชนะ ไทยขยะ / กาแฟโบราณ มนัส สัตยารักษ์

กาแฟโบราณ

มนัส สัตยารักษ์

[email protected]

 

ไทยชนะ ไทยขยะ

 

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีอาการ “ผวา” เกิดขึ้นมาอย่างไม่น่าจะเกิด หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ผวาเกินกว่าเหตุนั่นแหละ เป็นอาการที่ยังไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ เพียงแต่รับรู้กับตัวเองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนแก่ก็พอแล้ว

แต่วิธีที่จะอธิบายให้เข้าใจอาการนี้ง่ายๆ ก็คือ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดผวา

เรื่องแรก…นั่งรถส่วนตัวไปในเมืองยุค “โควิด-19 รอบใหม่” ซึ่งถนนค่อนข้างโล่ง แล้วต้องผวาแทบฟุบเมื่อมีมอเตอร์ไซค์สวนทางมาอย่างเร็วและแรง

สงบสติอารมณ์ได้แล้วก็พยายามมองในเชิงบวกว่า คนขี่ จยย.เขาคงไม่เคยเห็นถนนในเมืองโล่งและปลอดโปร่งมาก่อน (ทั้งไม่มีตำรวจอีกด้วย) เราจำยอมต้องให้อภัยเขา

เรื่องถัดมา…ใจหายวาบจนผวาเมื่อพบข่าวพาดหัวตัวหนาว่า “ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร อาการยังวิกฤต” สงบสติอารมณ์จากความกังขาโรงพยาบาลศิริราชแล้วก็ย้อนขึ้นไปอ่านอักษรตัวจิ๋วตรงหัวกระดาษ ก็พบว่ามันเป็นข่าวเก่าครั้งที่นำท่านผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี เข้าโรงพยาบาลวันแรก เขาเอามารันใหม่โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ ก็ได้แต่นึกท้อกับการมีเดียยุคใหม่ที่หวัง “ขายข่าว” ประกอบโฆษณาอย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ

เรื่องผวาที่สามมาจากความตาฝ้าฟางของตัวเราเองที่อ่านคำว่า “ไทยชนะ” บนจอทีวีเป็น “ไทยขยะ”!

นึกชมเจ้าของไอเดีย “ไทยขยะ” ที่ช่างคิดและกล้าเอาตลกร้ายมาออกจอ ทำให้เราต้องยืมใช้เป็นหัวเรื่อง

 

ข่าวพาดหัวในจอทีวี จากหนังสือพิมพ์ ตลอดจนในสื่อโซเชียลต่างๆ ทำให้ผวาได้เช่นกัน

คลังคัด “บัตรคนจน” รอบใหม่ 13.5 ล้านรายเดิม ต้องลงทะเบียน

“เรารักกัน” จ่าย 3.7 หมื่นล้าน

ยอดพุ่ง! แห่รับ 4 พันบาท เกือบ 7.3 ล้านคน

เงินสะพัด 3.8 หมื่นล้าน

“ม.33 เรารักกัน” ยอดลงทะเบียนวันที่ 2 พุ่งกระฉูด 7 ล้านราย

 

ผังแสดง time line ของโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ตั้งแต่เริ่มลงทะเบียน 21 กุมภาพันธ์ วันที่ 31 พฤษภาคม รวมระยะเวลาช่วงนี้ 4 เดือน ในระหว่างช่วงวันของ time line มีกิจกรรมตรวจสอบ คัดกรองข้อมูล ยืนยันตัวคน เริ่มโอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ์ ฯลฯ ไปจนสิ้นสุดโครงการ

สรุปแล้วก็คือ โครงการ “แจกเงิน” เป็นงานหลักของรัฐบาล ในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะเสื่อมทรุดทางเศรษฐกิจ ไม่มีผลผลิตใดๆ มาช่วยสถานะของประเทศได้ ไม่มีตัวเลขสวยๆ เพิ่มอัตราการเติบโดของการส่งออก และไม่มีข่าวดีจากธุรกินการท่องเที่ยว

เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า ร้านชำเล็กๆ แต่ร่ำรวยเจ้าหนึ่ง ใช้เงิน 900 บาท แลกสิทธิ์ “เราชนะ” 1,000 บาทจากชาวบ้านที่ต้องการเสรีภาพในการช้อปปิ้ง จนร่ำรวยไปเหยียบล้านบาท เป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อ แต่เพื่อนยืนยันว่าเป็นความจริง

รัฐบาลทำได้แต่เอาโครงการ “แจกเงิน” นี้มาพาดหัวข่าวประชาสัมพันธ์ผลงานตัวเองว่า “รัฐและเอกชนชี้ เงิน ‘เราชนะ’ งวดแรก ดันเศรษฐกิจโต 5 เท่า”

นอกจากไม่หายผวาแล้ว ยังวิตกไปถึงสถานการณ์หลังวันที่ 31 พฤษภาคม อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีชาวเน็ตระดับกูรูบางคนฟันธงว่า “เราชนะ” เป็นโครงการเพื่อช่วยนายทุนขายสมาร์ตโฟน บ้างก็ว่ากู้เงินมาแจกแท้ๆ แต่ตั้งชื่อเสียหรูหราว่า “เราชนะ”

ส่วนบางคนก็ค่อนขอดคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่อธิบายเหตุผลของการไม่แจกเป็นเงินสด “เพราะต้องการลดความแออัดของการใช้บริการตู้เอทีเอ็ม และต้องการลดการสัมผัสเงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด-19”

“รัฐบาลต้องการให้มีการใช้แพลตฟอร์มแทนเงินสด เป็นสังคมลดการใช้เงินสด” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ย้ำ

เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบาย “แจกไม่อั้น” อยู่ดี แม้จะไม่รู้จักทฤษฎี “ความเคลื่อนไหวของตลาด” ก็ตาม

เพราะถึงอย่างไร เราควรยึดมั่นกับคำปลอบใจที่ว่า “อยู่เมืองไทย ไม่อดตาย”

 

โครงการ “เราชนะ” เริ่มต้นไม่สวยเช่นเดียวกับทุกโครงการของรัฐก่อนหน้านี้

เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ได้มีประชาชนไปลงทะเบียน (สำหรับประชาชนที่ไม่มีสมาร์ตโฟน) ตามข้อกำหนดของโครงการ ปรากฏว่าที่ธนาคารกรุงไทย สาขาบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี บรรยากาศเต็มไปด้วยความโกลาหล เนื่องจากมีผู้มาลงทะเบียนมืดฟ้ามัวดิน แต่คอมพิวเตอร์สำหรับลงแบบฟอร์มขัดข้อง หรือแอพพลิเคชั่นที่มีปัญหาทางเทคนิค เจ้าหน้าที่ธนาคารตะโกนด้วยเสียงอันดัง

นางยุภา อำมาตย์ ชาวบ้านคนหนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวด้วยน้ำตานองหน้าว่า “ดุเหมือนหมา”

ผมอ่านข่าวแล้วไม่ค่อยแน่ใจว่า ที่ว่าเหมือนหมานั้น หมายถึงเจ้าหน้าที่ดุเหมือนหมา หรือประชาชนที่ถูกดุเหมือนหมากันแน่?

อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้คงจะครือกัน คือเสียหายทั่วกันทุกฝ่าย ผจก.ธนาคาร พร้อมด้วยปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงรีบเดินทางเข้าเยี่ยมและพูดจาปลอบขวัญนางยุภา อำมาตย์ พร้อมกับกระเช้าของเยี่ยม ทั้งฝ่ายธนาคารและฝ่ายอำเภอต่างปฏิเสธไม่ให้สัมภาษณ์ เพื่อยุติความเสียหายที่อาจจะบานปลายออกไปตามกระแสข่าว

รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคม อำนวยความสะดวกและเตรียมพร้อมในทุกๆ ด้านแก่ผู้ประกันตนในการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เปิดจุดรับลงทะเบียนเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีจุดรับลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 3,500 แห่ง

ผมเสพข่าวนี้ด้วยความเห็นใจทุกฝ่าย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดุและเสียงดังคนนั้นด้วย

อย่างน้อยท่านก็ได้ทำงานเป็น “เชิงสัญลักษณ์” ว่า ไม่เพียงแต่ “ไพร่” หรอกที่จะโดนดุ “อำมาตย์” ของแท้อย่างคุณยุภาก็มีสิทธิ์โดนดุด้วยเช่นกัน (ฮา)

 

ดูทีวีอย่างไม่มีสมาธิและค่อนข้างสับสนกับสารพัดชื่อแอพพลิเคชั่น สักพักจึงจับผิดตัวเองได้ว่า ไม่มีคำว่า “ไทยขยะ” ในมีเดียนั้นแต่อย่างใด อคติทำให้ผมตาฝ้าฟางเสียจนเห็นคำว่า “ไทยชนะ” เป็นคำว่า “ไทยขยะ ” ไปได้เฉยเลย

อย่างไรก็ตาม “ไทยขยะ” หลายกลุ่ม ได้ถูกค้นพบจากสารพัดโปรแกรมที่เกิดขึ้นจาก “โควิด-19” ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ เช่น ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน หรือไม่มีสัญชาติไทย เช่น ครอบครัวซาไกที่อำเภอเบตง จัวหวัดยะลา ได้สัญาติไทย พร้อมลงทะเบียน “เราชนะ”

ผู้คนในชาติพันธุ์ซาไกที่จังหวัดสตูลได้รับการเยียวยาเช่นกัน

ชุมชนต่างๆ บนพื้นที่สูงของอำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ตลอดจนแรงงานต่างด้าวก็ได้รับการเยียวยา ตามหลักมนุษยธรรม

โครงการอันแสนยุ่งยากและสับสนนี้ นอกจากเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนรู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิตอลอันจำเป็นต่อวิถีชีวิตยุคใหม่แล้ว ส่วนหนึ่งก็คือการได้สำรวจสำมะโนประชากรซึ่งรัฐต้องทำอยู่แล้วทุก 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ช่องโหว่ของระบบทะเบียนที่ยังไม่สมบูรณ์ ระบบธนาคารที่ยังไม่กระจายครอบคลุมพื้นที่ เล่ห์กลของผู้ประกอบการด้วยความร่วมมือของพวกทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ เหล่านี้ ทำให้โครงการ “เราชนะ” กลายเป็นโครงการที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างสูงและเห็นชัดเจน

มีประชาชนอีกจำนวนเท่าไรไม่รู้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ถ้ารัฐเอาแต่แจกไม่อั้นโดยไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ ก็เท่ากับประชาชนเหล่านี้ถูกเททิ้งเหมือนขยะ