มุกดา สุวรรณชาติ : จะเป็น…กปปส. หรือ ปชป. ก็อยู่ในแผน ไม่ใช่ตระบัดสัตย์

มุกดา สุวรรณชาติ

การสงคราม การชิงอำนาจ มิใช่เรื่องที่จะเป็นการต่อสู้กันแบบซื่อๆ ตรงๆ แต่ต้องใช้เล่ห์เหลี่ยม ใช้กำลัง ใช้ทรัพยากรและอำนาจทุกอย่างที่มีอยู่ เพื่อมุ่งหวังชัยชนะ

การเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็อยู่ในกฎเกณฑ์แบบนี้ ป่วยการที่จะไปพูดหรือกล่าวหาว่าคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นตระบัดสัตย์ หรือคนนี้โกหก เพราะเรื่องเหล่านี้ล้วนอยู่ในแผนการถ้าไม่อยู่ในระดับยุทธศาสตร์ก็เป็นยุทธวิธีของแต่ละฝ่ายหรือบางครั้งก็ทำไปเพราะไม่รู้จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร

การโกหกหลอกลวงการเปลี่ยนคำพูดของบุคคลที่เป็นแกนนำการต่อสู้ เป็นหัวหน้ากลุ่มหรือมีอำนาจรับผิดชอบในทุกระดับจึงเป็นเรื่องปกติ

ถ้าหากหวังความซื่อสัตย์ของผู้ที่ช่วงชิงอำนาจก็คล้ายกับว่าเราจะหวังให้งาช้างงอกมาจากปากหมู

ที่เห็นนั้น ไม่ใช่งา แต่เป็นสิ่งที่เรียกกันว่า…เขี้ยวลากดิน

จนถึงวันนี้ตัวละครในฉากต่างๆ ยังดำรงอยู่ แต่บางคนก็ต้องหายไปตามกาลเวลาตามบทบาทตามอายุขัย แต่ปัญหาไม่ได้หายไป กลับขยายใหญ่ขึ้นและได้สร้างความยากลำบากให้กับประชาชนทั้งชาติ

ถามว่าความยากลำบากนี้อยู่ในการคาดคะเนของแผนการหรือไม่

คำตอบก็คือมีบางคนคิดว่าอาจมีบ้าง แต่น่าจะแก้ไขได้และใช้เวลาไม่นาน

แต่ความเป็นจริงปัญหาในปี 2549 ยืนยาวมาจนถึงปี 2560 และยังมีต่อ

การที่ 8 ส.ส. ของประชาธิปัตย์ประกาศลาออก กลายร่างไปเป็นแกนนำ กปปส. เมื่อเวลาผ่านไป 3 ก็กลับมาสมัครเป็นสมาชิกใหม่พร้อมจะลงเลือกตั้ง เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เป็นการตระบัดสัตย์ แต่ถือว่าได้ทำงานตามเป้าหมาย ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แม้ไม่ได้…รัฏฐาธิปัติย์ ตามที่ประกาศไว้

 

ยุทธวิธี ส่งหน่วยจรยุทธ์
เคลื่อนไหวมวลชนก่อกวนฝ่ายตรงข้าม

เมื่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับตำแหน่งก็เกิดน้ำท่วม หลายคนก็คิดว่าอยู่ไม่นานก็คงต้องลาออกหรือล้ม เพราะขนาดรัฐบาลสมัครซึ่งเล่นการเมืองนาน 40 ปียังอยู่ได้ไม่ถึงปีก็ไปแล้ว

แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งก้าวเดินช้าๆ กลับเดินฝ่ากระแสน้ำไปได้

ปี 2555 ก็เริ่มบินออกไปประชาสัมพันธ์ทั่วโลก มีนโยบายโครงการใหม่ๆ แม้หลายนโยบายจะมีทั้งด้านบวกด้านลบ เช่น การขึ้นค่าแรงรายวันเป็น 300 บาท หรือการรับจำนำข้าว

แต่ก็มีผู้ประเมินว่าถ้าปล่อยให้บริหารไปเรื่อยๆ ครบ 4 ปี คะแนนเสียงน่าจะท่วมท้นอีกครั้ง

ดังนั้น จะเห็นว่าเริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านจากกลุ่มคนเล็กๆ ตั้งแต่ม็อบแช่แข็งปี 2555 มีม็อบดาวแดง ม็อบหน้ากาก สารพัดม็อบ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยืนอยู่ 2 ปีก็มาเจอกับการต่อต้านครั้งใหญ่เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

การลาออกของ ส.ส.ปชป. เพื่อไปเป็นแกนนำ กปปส. ในการศึกนี้จึงเป็นเพียงแค่ยุทธวิธีหนึ่งในยุทธศาสตร์ล้มยิ่งลักษณ์

การต่อสู้เพื่อชิงอำนาจนั้นถ้าไม่มองประชาชนว่าจะต้องรับรู้ความจริงอะไร ผู้ที่อยู่ในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจเขาจะใช้การโกหกหลอกลวงเป็นอาวุธชนิดหนึ่งในการต่อสู้ เพราะการที่คนมาร่วมทำให้เกิดพลัง ซึ่งจะต้องมีแกนนำ แต่แกนพันธมิตรเสื้อเหลือง ไม่ยอมให้หลอกใช้ ก็ต้องลงแรงเอง

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ ครั้งแรกไม่ได้ใช้ชื่อ กปปส. เมื่อมาชุมนุมกันที่สถานีรถไฟสามเสนในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 จากนั้นก็ได้เคลื่อนขบวนมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ช่วงเวลานั้นน่าจะได้รับสัญญาณจากกลุ่มที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ว่าให้เดินหน้าเต็มที่

วันที่ 11 พฤศจิกายน สุเทพ เทือกสุบรรณ จึงนำ ส.ส. อีก 8 คนประกาศลาออก มีการนำ ส.ส. ไปไหว้พระแม่ธรณี พร้อมชักชวนประชาชนให้หยุดงาน งดจ่ายภาษีโดยคาดหมายว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะล้มลงภายในไม่เกิน 29 พฤศจิกายน แน่นอน

มีการระดมกำลังทุกสายงาน ทั้งสถานศึกษา สถานพยาบาล ค่ายธุรกิจใหญ่ๆ ฯลฯ

 

หน่วยจรยุทธ์ กลายเป็นทัพใหญ่

25 พฤศจิกายน 2556 มีการยกระดับด้วยการทำม็อบดาวกระจาย 13 เส้นทาง บุกยึดสำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง ตั้งเป็นเวทีชุมนุมซึ่งจะทำให้การเบิกงบประมาณมีปัญหา

27 พฤศจิกายน จึงเข้ายึดศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ และตั้งเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกแห่งหนึ่ง

29 พฤศจิกายน 2556 กลุ่มม็อบซึ่งมีสัญลักษณ์นกหวีดก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กปปส. โดยมีสุเทพเป็นผู้นำ

3 ธันวาคม กปปส. มีแนวทางที่จัดตั้งสภาประชาชนและเสนอนายกรัฐมนตรีมาตรา 7

8 ธันวาคม ส.ส.ประชาธิปัตย์ 153 คนประกาศลาออก

9 ธันวาคม ผู้ชุมนุมเดินขบวนมาล้อมทำเนียบในขณะที่รัฐบาลประกาศยุบสภาและเตรียมเลือกตั้งใหม่ แต่ กปปส. เรียกร้องให้จัดตั้งสภาประชาชนมาทำหน้าที่นิติบัญญัติ

 

ถ้าปล่อยให้เลือกตั้งใหม่…ก็แพ้ เกมจึงแรงขึ้น

ตลอดเดือนธันวาคม 2556 มีการชุมนุมอีกหลายครั้ง หลายจุดตั้งเวทีใหญ่ 5 จุด และเวทีย่อย 10 จุด

จากนั้นก็มีการประกาศชัตดาวน์กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 มกราคม 2557 สุเทพยืนยันว่าการปฏิบัติการชัตดาวน์กรุงเทพฯ จะสู้จนจบไม่มีการกลับบ้าน ถ้าแพ้ก็ต้องเข้าคุก ไม่ชนะไม่เลิก มีการชุมนุมในหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้สามารถปิดกรุงเทพฯ ได้จริง ผู้คนเดินทางยากลำบากขึ้น มีเสียงด่ามากขึ้น คนร่วมน้อยลง แนวร่วมที่คิดเป็นเริ่มถอยฉากออกมา

วันที่ 21 มกราคม 2557 แม้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง แต่ก็เป็นการประกาศแบบที่ไม่มีอำนาจบังคับอะไรจริงจัง เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่มีแนวทางใช้กำลังรุนแรงกับม็อบ ฝ่ายทหารก็ตั้งบังเกอร์กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ แต่ไม่มีผลต่อการประท้วงของกลุ่ม กปปส.

23 มกราคม สุเทพประกาศให้มวลชนขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม ทุกรูปแบบ กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้ามีผลให้หลายเขตไม่สามารถเลือกตั้งล่วงหน้าได้

แต่การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ยังคงดำเนินต่อไป แม้หลายเขตจะถูกขัดขวางปิดล้อมหน่วยทำให้การเลือกตั้งทำไม่ได้ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การขัดขวางการเลือกตั้งทำให้เกิดการปะทะ ในการขนบัตร ขนหีบบัตรที่สี่แยกหลักสี่ จึงมีภาพกลุ่มมือปืนป๊อปคอร์น และการสนับสนุนจากกองกำลังอาวุธ ซึ่งทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 1 คน แม้ในม็อบ กปปส. จะปราศรัยขอบคุณกลุ่มมือปืนกลุ่มนั้น แต่ก็เป็นเรื่องผิดกฎหมายและต้องถูกดำเนินคดีต่อไป ในการเลือกตั้งภาคใต้ก็ถูกขัดขวางหลายเขต

สุดท้ายวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีผู้มาลงคะแนนร้อยละ 47.72 คือ 20 ล้าน 5 แสนคน กทม. มีคนไปลงคะแนนเพียงแค่ร้อยละ 26

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปชป. ยื่นคำร้องให้ศาลรับคำวินิจฉัยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

28 กุมภาพันธ์ มีการเปลี่ยนยุทธวิธี เพราะปฏิบัติการการเคลื่อนไหวทุกอย่างของ กปปส. ตลอดเดือนกว่าที่ผ่านมาดำเนินไปอย่างเต็มที่ ชื่อเสียงของการ์ด กปปส. น่าเกรงขามมาก แต่วันนั้นสุเทพประกาศคืนพื้นที่ตามสามแยกสี่แยกสำคัญ เช่น ปทุมวัน ราชประสงค์ อโศก และสีลม ถอยกลับไปตั้งเวทีในสวนลุมฯ เพียงเวทีเดียว ซึ่งก็เหมาะกับจำนวนผู้ชุมนุม

21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ปชป. เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ กปปส. ก็บอกว่ายอมรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อที่น่าสังเกตคือหลังจาก 10 ธันวาคม 2556 รัฐบาลถูกม็อบรุก 3 เดือนแต่สถานะทางการเมืองไม่เปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของม็อบ กปปส. เพราะสภาถูกยุบไปแล้ว นายกฯ ก็ลาออกแล้ว แต่ยังรักษาการอยู่ (และอยู่ในสถานะนั้นกว่า 5 เดือน) ถ้ายอมให้มีการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย ก็จะมีสภาใหม่ มีรัฐบาลใหม่

แต่ไม่มีใครเสี่ยงให้เสียของ

 

วิเคราะห์การเปลี่ยนยุทธวิธี

จะเห็นว่าการเปิดเกมมาเล่นบท กปปส. จนยุบสภา เป็นการเริ่มที่สำคัญ และต้องเล่นต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐบาลก็ไม่ล้ม นายกฯ ยิ่งลักษณ์ยังรักษาการ สภาพขณะนั้น มีการปะทะกันประปรายตามท้องถนน แต่ต่างจากปี 2553 เพราะครั้งนี้รัฐบาลไม่ใช้กำลังปราบผู้ประท้วง แต่มีกำลังทหารเข้ามาตั้งจุดรักษาการ ในกรุงเทพฯ ทั่วไปหมด ภายใต้การดูแลของ ผบ.ทบ. ประยุทธ์ จันทรโอชา

ถ้า 4 เดือนแล้ว กปปส. ทำไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนยุทธวิธี เพราะหลังจากปิดกรุงเทพฯ ความนิยมก็เสื่อมลง

วันที่ 9 พฤษภาคม สุเทพแกนนำ กปปส. ประกาศว่าจะมีการต่อสู้ครั้งสุดท้าย โดยจะนำผู้ชุมนุมเดินขบวนไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 โมเดิร์นไนน์ทีวี NBT เพื่อขอความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์เหล่านั้นให้แพร่คำแถลงชัยชนะของตน แต่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์และสมาคมวิทยุโทรทัศน์ได้แถลงการณ์ประณามการเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าเป็นการคุกคามสื่อ

ใครๆ ก็สงสัยว่าจะชนะอย่างไร? แบบไหน…?

17 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ถูกถอดถอนจากตำแหน่งซึ่งขณะนั้นรักษาการนายกฯ อยู่ในข้อหาที่โยกย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคง…ถวิล เปลี่ยนสี นายกฯ ยิ่งลักษณ์ออกมาแถลงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

มีการตั้ง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีต่อไป การใช้ตุลาการภิวัฒน์ครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่ได้ผล ไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร แบบปี 2551 ได้ เพราะเพื่อไทยสามารถเปลี่ยนนายกฯ ไปได้เรื่อยๆ ถ้าจะประกาศชัยชนะครั้งที่ 8 ก็จะต้องมีครั้งที่ 9…

วันที่ 20 พฤษภาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ขณะนั้นประกาศกฎอัยการศึก

วันที่ 22 พฤษภาคม ก็ประกาศการรัฐประหาร ล้มรัฐบาลรักษาการ และตั้งรัฐบาลชั่วคราว

คำถามคือ การล้มรัฐบาล เป็นผลงานของใคร?

6 เดือนกว่า งานจบ กปปส. จึงต้องนั่งอยู่ข้างเวที 3 ปี และต้องกลับ ปชป. เพื่อจะได้ขึ้นเวทีการเมืองอีกครั้ง ยุทธศาสตร์ต่อไปคือรัฐบาลผสม ตามแบบ… รัฐบาลเปรมโมเดล ย้อนเวลากลับไป 35 ปี แต่โลกจะไม่หมุนกลับ