ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

หนึ่งในกิจกรรม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของกลุ่มราษฎร

คือการที่นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ แกนนำกลุ่มราษฎร

ให้ผู้ชุมนุมช่วยกันนำกระถางต้นไม้ ดอกไม้ ออกจากบริเวณฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

จากนั้น นำผ้าสีแดง 30 x 30 เมตร ที่บรรจุข้อความต่างๆ ที่กลุ่มราษฎรเขียนไว้

ขึ้นไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

นายภาณุพงศ์อธิบายถึงกิจกรรมนี้ว่า

“เดิมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ที่คนเข้าถึงได้ สามารถมารวมตัวแสดงออกทางการเมืองได้ แต่กลับมีการล้อมรั้วปิดกั้น เอาต้นไม้มาวาง เป็นการเหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพประชาชน ทำร้ายประชาธิปไตย”

“การปกป้องอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นหน้าที่พลเมืองผู้รักประชาธิปไตย สิ่งใดไม่เป็นส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์ จะต้องเอาออกให้หมด”

 

ชาตรี ประกิตนนทการ เจ้าของคอลัมน์ “พื้นที่ระหว่างบรรทัด”

สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

สนใจตั้งแต่เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครเข้าปรับภูมิทัศน์โดยรอบ

ทำโครงเหล็กคลุมบันไดโดยรอบทั้งหมด

แล้วใช้แผ่นพื้นปูทับเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดเป็นทางลาดสำหรับวางกระถางต้นไม้และดอกไม้

การปรับภูมิทัศน์นี้ อาจารย์ชาตรีบอกว่า ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับหลายฝ่าย

เพราะการติดตั้งโครงสร้างกึ่งถาวรลงไปในพื้นที่

ทำให้เกิดความสงสัยว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะถูกปรับสภาพฐานอนุสาวรีย์ไปเป็นสวนดอกไม้แบบถาวร

ที่ประชาชนไม่สามารถเดินเข้าไปได้อีกต่อไปหรือไม่

ยิ่งกว่านั้น ยังมีคำถามถึงการติดตั้งโครงเหล็กที่มีน้ำหนักมาก ลงบนฐานอนุสาวรีย์ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อปี 2558 นั้น

เป็นเรื่องสมควรหรือไม่

และจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานมากน้อยแค่ไหน

 

อาจารย์ชาตรีในฐานะนักวิชาการด้านสถาปนิก

บอกว่า อยากชวนให้มองการปรับภูมิทิศน์นี้ในความหมายและบริบทที่กว้างขึ้น

ด้วยรูปแบบการปรับภูมิทัศน์ดังกล่าวซึ่งมิใช่ปรากฏแค่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเท่านั้น

หากแต่เกิดขึ้นอย่างแยกไม่ออกจากบรรยากาศการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2557

การจัดสวนดอกไม้บนพื้นที่สาธารณะเพื่อความสวยงามไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับถนนราชดำเนิน

ที่เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ มีแขกบ้านแขกเมืองเดินทางผ่านถนนเส้นนี้อยู่เสมอ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะต้องได้รับการดูแลและตกแต่งให้สวยงามอยู่เสมอ

แต่อาจารย์ชาตรีตั้งข้อสังเกตว่า การตกแต่งถนนสายนี้ในอดีตก็ไม่เคยล่วงล้ำเข้ามาในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ส่วนใหญ่จะเป็นการประดับตกแต่งด้วยไฟเพื่อเสริมความสง่างามของอนุสาวรีย์เป็นหลัก

หากจะมีบ้างก็เป็นเพียงการทำซุ้มชั่วคราว ประดับธงทิว และวางกลุ่มกระถางดอกไม้เป็นหย่อมๆ

มากกว่าที่จะวางคลุมพื้นที่ทั้งหมดของฐานจนไม่สามารถเดินเข้าไปที่ตัวอนุสาวรีย์ได้เช่นที่ปรากฏในปัจจุบัน

“…พูดให้ชัดก็คือ การจัดสวนเพื่อส่งเสริมอนุสาวรีย์ให้สวยงามขึ้น ประชาชนเดินเข้าไปศึกษาและซึมซับศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ได้อย่างมีสุนทรียรสเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องปกติ

แต่การจัดสวนล้อมเต็มพื้นที่รอบอนุสาวรีย์แบบถาวรที่คนไม่สามารถเดินเข้าใกล้อนุสาวรีย์ได้เลยคือสิ่งผิดปกติ

ซึ่งความผิดปกตินี้เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังรัฐประหาร 2557”

ผิดปกติอย่างไร

พลิกอ่านที่หน้า 31