หลังเลนส์ในดงลึก/”เลนส์”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“เลนส์”

ผมเคยถูกช้างในป่าวิ่งเข้าโจมตีสองครั้ง

นี่เป็นคำสารภาพผิดที่ผมอยากบอกทุกๆ คนด้วยความเต็มใจ

ไม่ใช่ “คำให้การ” ของผู้รอดชีวิต

เพราะผมเชื่อมาเสมอว่า ในป่าไม่มีสัตว์ร้าย

เหตุการณ์เกิดขึ้นและจบเหมือนๆ กัน

นั่นคือผมเข้าไปใกล้ช้างเกินระยะที่มันอนุญาต

ช้างวิ่งเข้าใส่ เมื่อถึงระยะใกล้ขนาดงวงเอื้อมถึง ก็ชะงัก หันหลังวิ่งเหยาะๆ จากไป

เมื่อมันได้ยินเสียงตะโกนคำว่า “หยุด”

หากรวมกับตอนที่ควายป่าตัวหนึ่งลุกขึ้นจากแอ่งน้ำที่นอนแช่อยู่ และวิ่งพรวดพราดเข้าหา และหยุดเมื่อได้ยินเสียงตะโกน

ดูเหมือนว่าผมจะโดนอีกหนึ่งข้อหา

ผมผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมา จะเรียกว่า โชคดี เชื่อมั่น หรืออะไรก็ตามเถอะ

แต่ยืนยันความเชื่อของผมว่า

“ระยะห่าง” สำคัญ

ไม่ล่วงล้ำระยะที่สัตว์กำหนดคือสิ่งจำเป็น

และที่สำคัญอีกประการในงานของผมคือ เลือกใช้ “เลนส์” ให้เหมาะสม

ช้างมีสถานภาพคล้ายๆ เป็นนายของป่า ทุกชีวิตยอมรับ

คนในป่าเรียกช้างว่า “พี่เบิ้ม”

ความเป็น “นาย” ของช้างคือ ทำตัวเป็นผู้นำในการเคลื่อนย้ายถิ่นหาอาหารตามฤดูกาล บุกเบิกเส้นทาง ขุดหลุม คุ้ยแร่ธาตุใต้ดิน รวมทั้งดึงยอดไม้สูงๆ ให้หักลงพื้น เปิดโอกาสให้สัตว์ตัวเล็กๆ ที่ใช้เส้นทางเดียวกันได้กินยอดไม้เหล่านั้นด้วย

หากเป็นช่วงปกติ อารมณ์ดี ไม่มีกลิ่นเสือ หรือคนใกล้ๆ ช้างจะเดินหากินไปเรื่อย จะหยุดนานหน่อยถ้าบริเวณนั้นมียอดไผ่ หรือยอดไม้อ่อนๆ

แถวนั้นจะราบเรียบ ที่พื้นเต็มไปด้วยกิ่งไม้หักวิ่น ฉีกขาด

กลิ่นฉี่คลุ้ง และกองขี้ก้อนกลมๆ

ในฤดูแล้ง แหล่งน้ำเล็กแห้งเหือด แม้แต่ในลำห้วยสายหลักก็มีเพียงสายน้ำไหลรินๆ เต็มไปด้วยเศษขยะฝุ่นผง หาดทรายริมฝั่งขยายเป็นแนวกว้าง

ในเวลานี้ ช้างไม่กินน้ำในลำห้วย แต่ใช้วิธีขุดพื้นทรายเป็นหลุม น้ำซึมผ่านบ่อทรายเข้ามา ใสสะอาด ทรายเป็นเครื่องกรองน้ำชั้นดี

เมื่อช้างจากไป น้ำในหลุมก็เป็นที่กินน้ำของสัตว์อื่น

ขณะถึงแหล่งน้ำ ดูคล้ายพวกมันจะกินอย่างกระหาย หลายตัวล้มนอนคลุกฝุ่น

เจ้าตัวเล็กถือโอกาสวิ่งไป-มา ทำให้ตัวพี่เลี้ยงต้องระวังอย่างมาก ใช้งวงขนาบเจ้าตัวเล็กให้มาอยู่ในกลุ่ม

ช้างเล็กเป็นเป้าหมายหนึ่งของเสือโคร่ง

เผลอหรือชะล่าใจ งานของเสือย่อมประสบผล

ถูกติดตาม กลิ่นผู้ล่ารบกวนตลอด สร้างความหงุดหงิดไม่น้อย

ในอารมณ์นี้ จึงไม่แปลกนักที่ช้างจะพุ่งเข้าใส่อะไรก็ตามที่เข้าไปใกล้

ฝูงช้างจากไป ทิ้งร่องรอย ขี้และฉี่ เป็นหย่อมๆ บริเวณนั้นกลายเป็นที่ชุมนุมของผีเสื้อ

การดูดดมฉี่ ทำให้ผีเสื้อได้ไนโตรเจนและเกลือโซเดียม

ผีเสื้อมีโอกาสได้โบยบินในเวลาสั้นๆ บางชนิดมีแค่สองสัปดาห์ มีบ้างบางชนิดอายุยาว 2-3 เดือน

ขณะมีชีวิตอยู่ หน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ ผสมพันธุ์ให้ต้นไม้

ผีเสื้อซึ่งโตเต็มที่แล้วไม่มีอวัยวะสำหรับเคี้ยว แต่พวกมันมีอวัยวะคล้ายท่อยาวสำหรับดูดน้ำหรือของเหลว

น้ำดอกไม้เป็นที่ชื่นชอบของผีเสื้อหลายชนิด

ส่วนผีเสื้อหลายชนิดก็ชอบผลไม้ หรือซากสัตว์เน่าๆ

มีไม่น้อยชอบขี้สัตว์ ขี้ช้าง ขี้กวาง ขี้ชะมด และขี้เสือ

พวกชอบดูดน้ำหวาน ว่าตามจริงก็คือทำงานผสมพันธุ์ให้ต้นไม้ พวกชอบของเน่าก็จะนำสารซึ่งเปลี่ยนสภาพจากซากพืช ซากสัตว์เน่าเปื่อย กลายเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อพืช

มีข้อมูลจากคนศึกษาเรื่องผีเสื้อ ว่า ถ้าตั้งใจสังเกตกลุ่มผีเสื้อที่มารวมตัวกัน จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นตัวผู้

เพราะตัวผู้ต้องพยายามเสาะหาตัวเมีย หลายชนิดมีอาณาเขต ที่จะไม่ยอมให้ตัวผู้ตัวอื่นมาล่วงล้ำ บางชนิดก็เร่ร่อนหาตัวเมียไปทั่ว

การเสาะหาบางครั้งใช้เวลานาน ตัวเมียที่รับการผสมแล้วจะไม่ยอมรับตัวผู้อีก พวกเธอจะบินหนี หรือลงเกาะพื้น หุบปีก บังส่วนท้องไว้

หากโชคดี พบตัวเมียโสด ตัวผู้เริ่มจีบ โดยให้ตัวเมียลงเกาะบนพื้น กางปีกออกเล็กน้อย เพื่อตัวผู้ลงมาเคียงข้างและคร่อมหลังได้

หลังใช้หนวดสัมผัสกันและกันจนพอใจ

ตัวผู้จะเริ่มผสมโดยใช้เวลานานกระทั่งแน่ใจว่าเชื้อได้เข้าไปอยู่ในที่อันสมควรแล้ว

จากนั้น ก็แยกจากกัน ตัวเมียออกหาแหล่งที่มีอาหารสำหรับหนอนเพื่อวางไข่

ช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผีเสื้อคือ การสืบพันธุ์

เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ทำงานในธรรมชาติ

ช้างเดินจากไป มุ่งหน้าจุดหมายใหม่ ยอดไม้สูงๆ ถูกดึงมากองไว้กับพื้น กอไผ่ทั้งกอล้มระเนระนาด

ผีเสื้อละจากการดูดโซเดียมจากฉี่ช้าง

ทยอยบินช้าๆ ไปที่ต้นไม้ซึ่งกำลังออกดอกบาน

พวกมันบินจากเกสรตัวผู้ มาเกสรตัวเมีย ดอกไม้ได้รับการผสม เจริญเติบโต เป็นผลไม้ เป็นเมล็ดร่วงสู่พื้น หรือได้รับการนำไปกระจายโดยสัตว์ตัวอื่น

เมล็ดเล็กๆ เกิดเติบโตเป็นป่าทึบ

ช้างกับผีเสื้อ

ดูเหมือนพวกมันแตกต่างและไม่เกี่ยวข้องกัน

แต่ในป่า นี่คือเรื่องเดียวกัน

ความผิดพลาด เป็นบทเรียนทำให้ผมรู้จักรักษา “ระยะห่าง”

และใช้เครื่องมือให้เหมาะสม

กับช้าง ผมใช้เลนส์เทเลโฟโต

ส่วนผีเสื้อ ผมใช้เลนส์มาโคร ซึ่งเปิดเผยความเป็นผีเสื้อให้เห็นอย่างใกล้ชิด

ถึงวันนี้ เทคโนโลยีเจริญมาไกล

มีอุปกรณ์ มีเลนส์ ช่วยให้มองสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน

ผมพูดแบบนี้บ่อยๆ ว่า หากต้องการ “เห็น” อาจต้องละสายตาจากช่องมองภาพ

ผมเชื่อว่า เมื่อมองด้วยสายตาที่ผ่านหัวใจ

ภาพที่ “เห็น” จะแจ่มชัดกว่ามองผ่าน “เลนส์”