ผีพนันกับวรรณคดีไทย : ว่าด้วย การสู่ขอ นางพิมพิลาไลย ใน ขุนช้างขุนแผน

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี/ญาดา อารัมภีร

ผีพนัน

 

หนึ่งในคุณสมบัติพึงประสงค์ของผู้ที่จะเป็นลูกเขยใครสักคน คือ ห่างไกลจากอบายมุข

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงตอนที่นางทองประศรีไปสู่ขอนางพิมพิลาไลยให้ลูกชาย นางศรีประจัน (แม่นางพิม) ถามตาสน ตาเสา ยายเม้า ยายมิ่ง (เถ้าแก่ฝ่ายชาย) เกี่ยวกับความประพฤติของพลายแก้ว ดังนี้

 

“ตูจะขอถามความท่านยาย            ลูกชายนั้นดีฤๅอย่างไร

ไม่เล่นเบี้ยกินเหล้าเมากัญชา         ฝิ่นฝามันสูบบ้างหรือไม่

จะสูงต่ำดำขาวสักคราวใคร           ตูยังไม่เห็นแก่ตาว่าตามจริง”

 

หนึ่งในอบายมุขดังกล่าวคือ การพนัน คำว่า ‘เล่นเบี้ย’ ก็คือเล่นการพนันนั่นเอง ดังที่ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) บันทึกไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ตอนหนึ่งว่า

“สมัยโบราณมีโรงบ่อนสำหรับเล่นการพนัน โรงบ่อนเบี้ย หรือบ่อนเบี้ย เรียกสั้นๆ ว่า บ่อน ซึ่งได้รับอนุญาตผูกขาดจากรัฐบาล ในโรงบ่อนมีการพนันกับถั่วโป สมัยก่อนในแขวงกรุงเทพฯ มี 126 ตำบล บ่อนย่อยมีอีก 177 ตำบล มีคนนิยมเล่นมาก จนถึงมีสำนวนว่า ‘กินบ่อนนอนบ่อน’ คือไม่กลับบ้าน การเล่นถั่วโปเรียกกันว่า ‘เล่นเบี้ย’ เช่น พูดกันว่า ‘เล่นเบี้ยเสียถั่ว’ ‘เล่นเบี้ยเสียโป พาลพาโลเตะเมีย’ …”

การที่นางศรีประจันถามว่า ‘พลายแก้วเล่นการพนันหรือไม่’ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่อาจมองข้ามได้ เนื่องจากการพนันจะทำให้ชีวิตล่มสลาย ไม่ควรเอานักพนันมาทำพันธุ์จะพลอยพาคนใกล้ตัวฉิบหายไปด้วย

ดังจะเห็นได้จาก “สุภาษิตสอนหญิง” มีข้อห้ามไว้ชัดเจน

 

“เพราะมีผัวชั่วไปจึงได้ยาก           แสนลำบากบอบนักอย่ามักหลง

บ้างเล่นเบี้ยเสียถั่วมัวทะนง           หน่อยก็ลงจำนำเขาร่ำไป

มีข้าวของเคยผูกให้ลูกเต้า  ก็เบียนเอาสิ้นสุดหาหยุดไม่

ลงชั้นว่าผ้าผ่อนท่อนสไบ             อย่าไปไขว้เล่นโปจนโซโทรม

ยังแต่เมียเกลี่ยไกล่ไปขายซื้อ          ค่อยหารือร่วมภิรมย์เมื่อชมโฉม

ครั้นรักผัวก็อย่ามัวด้วยลมโลม       ต่อล้มโครมแล้วก็ครวญหวนถึงตัว

จะคิดทำอย่างไรก็ใช่ที                  ต้องรับหนี้ยากแค้นใช้แทนผัว

ถ้าคนผู้รู้สึกสำนึกตัว                    จะยังชั่วด้วยไม่เฉยชะเลยใจ

จะหาคู่สู่สมนิยมหวัง                   จงระวังชั่วช้าอัชฌาสัย”

 

บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ก็มองเรื่องนี้ไม่ต่างกัน

 

“พวกนักเลงเล่นเบี้ยเสียถั่ว            ครอบครัวอัตคัดขัดสน

ไม่มีผ้าเสื้อแสงจะแต่งตน เที่ยวซุกซนหยิบยืมเพื่อนกัน”

 

สภาพ ‘ไม่มีผ้าเสื้อแสงจะแต่งตน’ น่าจะเป็นดังที่สังฆราชปาลเลกัวซ์บันทึกไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องเมืองไทย” (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล)

“…ทุกวันเราจะได้เห็นนักการพนัน ซึ่งเมื่อเล่นจนหมดเงินแล้ว ถึงแก่ปลดผ้าที่ตัวนุ่งอยู่ออกเล่นพนันอีกก็มี…”

เป็นหนี้พนันไม่มีใช้คืนก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ สุดฤทธิ์ ดังที่รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าไว้ในบทละครนอกเรื่อง “คาวี” ว่า

 

“พวกหลบเจ้าหนี้หนีนายบ่อน       ตกใจไปซ่อนนอนคลุมหัว”

 

ที่ร้ายกว่า ‘เป็นหนี้’ คือ ‘เป็นทาส’ ไม่เฉพาะตนเองแต่รวมถึงลูกเมียด้วย ดังภาพชวนสังเวชจาก “จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล)

“…ชาวสยามรักเล่นการพนันเสียเหลือเกิน จนกระทั่งฉิบหายขายตนหรือไม่ก็ขายบุตรธิดาของตน (ให้ตกไปเป็นทาส) ด้วยในประเทศนี้ถ้าลูกหนี้คนใดไม่มีเงินทองหรือข้าวของตีราคาให้เจ้าหนี้แล้ว ก็ขายลูกเต้าของตนเพื่อชำระหนี้สินไปได้ และถ้ายังไม่พอกับหนี้สินที่ตนทำเข้าไว้ ตัวของตัวเองก็ตกเป็นทาสไปด้วยอีกคน…”

เรื่องหมกมุ่นกับการพนันนั้น มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ไม่ให้ราคาคนไทยสมัยอยุธยาแม้แต่น้อย

“…คนสยามนั้นพอใจที่จะเอาความเป็นไทของตนเองวางลงเป็นเดิมพันในวงการพนันมากกว่าที่จะไม่ได้เล่นพนันเสียเลย อนึ่งก็เห็นได้แน่ว่าคนสยามนั้นกลัวต้องตกเป็นคนขอทานมากกว่ากลัวต้องตกเป็นทาสเสียอีก…”

มีภาพผีพนันสมัยกรุงศรีอยุธยาถ่ายทอดผ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม” ของฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ.2530) ด้วยเช่นกัน

“…ชาวสยามชอบการพนันอย่างยิ่ง และเมื่อชาวสยามคนใดล่มจมเพราะการพนัน เขาก็ขายแม้จนกระทั่งลูกและเมีย…”

โลกดิจิตอลทุกวันนี้ยังมีพ่อ-แม่ที่เป็นผีพนันชูคอหน้าชื่นในสังคม ไม่ยี่หระต่อการขายลูกใช้หนี้พนัน น่าเศร้ากว่านั้นคือสาวๆ ที่เป็นผีพนัน ขายตัวเองกับเศรษฐี โชคดีก็ได้เป็น ‘คู่ครอง’ โชคร้ายก็เป็นได้แค่ ‘คู่ขา’

ช่างน่าผะอืดผะอม