ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “เฮือนฝาไหล”

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เฮือนฝาไหล”

หมายถึง เรือนที่สร้างขึ้นให้มีฝาผนังส่วนใหญ่ของเรือนมีช่องเปิดแบบเลื่อนไปมาได้ เพื่อเน้นการระบายอากาศและการรับแสงจากภายนอกอาคาร

เรือนพื้นถิ่นล้านนาส่วนใหญ่ของชาวบ้านใช้วัสดุก่อสร้างของเรือนเป็นลำไม้ไผ่ มาทำทั้งเป็นโครงสร้างหลักคือ เสา คาน ตง เคร่า ขื่อ ดั้ง และโครงสร้างประกอบที่เป็นพื้น ผนัง ส่วนหลังคามุงด้วยใบหญ้าคา ตองตึง

เดิมทีส่วนเรือนที่สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งในล้านนาเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อการใช้สอยของกษัตริย์ บ้านเมือง และเพื่อการศาสนา เช่น พระตำหนัก หอ เหล้ม ฉาง วิหาร อุโบสถ คุ้มเจ้า และกุฏิ ไม้เนื้อแข็งคุณภาพดีที่นิยมที่สุดคือไม้สัก

ชาวล้านนาทั่วไปเริ่มใช้ไม้สักสร้างเรือนภายหลังจากเห็นว่าไม้สักไม่ได้เป็นของสูงของต้องห้ามอย่างคติในอดีตและสามารถเสาะหาได้โดยไม่มีข้อห้าม และเห็นว่าคนต่างถิ่นที่มาอยู่ในล้านนาที่ไม่ใช่เจ้ายังสามารถสร้างได้ เช่น มิชชันนารี ข้าหลวงและพ่อค้า

ซึ่งเป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะที่ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งรัตนโกสินทร์มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น

 

รูปแบบโครงสร้างผนังเรือนล้านนาแบบเก่าถูกปรับเปลี่ยนไปหลายแบบ เนื่องจากได้รับอิทธิพลรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกโดยเฉพาะวิกตอเรีย (Victorian style) ของอังกฤษ ที่เข้ามาสู่ล้านนาโดยชาวอังกฤษที่เป็นพ่อค้าไม้ เรือนพักอาศัยของชาวตะวันตกในล้านนาเริ่มมีขึ้น ประกอบกับในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองทางการเมืองของไทย ทำให้เริ่มมีการสร้างสถานที่ราชการและอาคารที่พักของข้าหลวงในล้านนามากขึ้น

รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกจากบางกอกก็ได้มีอิทธิพลมาสู่ล้านนาอีกทาง สถาปัตยกรรมต่างชาติอีกรูปแบบที่เข้ามาคือสถาปัตยกรรมจีน โครงสร้างเรือนล้านนาสมัยนั้นจึงเริ่มมีการใช้วัสดุก่ออิฐสอปูน ในส่วนของตอม่อ เสารับน้ำหนัก (wall bearing) โครงสร้างเรือนส่วนอื่นยังคงนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง

เรือนล้านนาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มทำฝาผนังที่ทำด้วยไม้แผ่น ตีซ้อนเกล็ดตามแนวนอนตามอย่างรูปแบบตะวันตก

ระบบโครงสร้างฝาเพิ่มโครงเคร่าวงกบเพื่อรองรับโครงสร้างประตูและหน้าต่างที่นิยมเจาะช่องกันมากขึ้น หน้าต่างในรูปแบบตะวันตกมีทั้งเปิดออกด้านข้างและแบบกระทุ้ง ติดบานพับโลหะกับวงกบ และหน้าต่างนิยมรายละเอียดเชิงช่างที่ซับซ้อนด้วยเครื่องมือผ่าและเลื่อยไม้ที่คมพอที่จะทำให้การเข้าไม้เป็นไปอย่างสวยงาม

ทำให้รายละเอียดบานประตูหน้าต่างรูปแบบตะวันตกมีลักษณะเป็นลูกฟักหรือซ้อนเหล็กกันและตกแต่งคิ้วบัว

ส่วนของผนังที่ต้องการการระบายอากาศที่ไม่ต้องการทำเป็นหน้าต่าง จะเป็นส่วนผนังสูงระดับเกือบชนเพดานหรือใต้หลังคาหรือไม่ก็ผนังส่วนใต้ถุนอาคารที่กันคนและสัตว์ลอดได้แต่ระบายอากาศ ซึ่งส่วนที่ไม่เน้นให้เป็นหน้าต่างนี้นิยมฉลุแผ่นไม้เป็นลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม

หากไม่พิถีพิถันมากก็ทำเป็นซี่ไม้ระแนงแนวตั้ง แนวนอน หรือขัดกันเป็นลวดลาย

สำหรับพ่อค้าและชาวบ้านล้านนาเห็นว่าหน้าต่างแบบตะวันตกสวยงามแบบใหม่ก็จริงแต่ต้องใช้เทคนิคเชิงช่างสมัยใหม่ยุ่งยากซับซ้อนมาก ช่างชาวบ้านในเมืองจึงเริ่มคิดระบบโครงสร้างผนังที่เน้นการใช้งานที่เปิด-ปิดง่าย ใช้ทรัพยากรน้อย ไม่เปลืองพื้นที่ในการใช้งาน

เป็นที่มาของภูมิปัญญาของรูปแบบฝาไหลเรือนล้านนา

 

วิธีการคือทำฝาไม้เป็นแผงที่ตีเว้นช่องว่างสลับกันสองชุดสามารถเลื่อนไปมาซ้อนประกบกันให้เป็นฝาผนังที่มีช่อง และทึบตันกันลมและแสงเมื่อเลื่อนให้เหลื่อมกันประโยชน์หลักเพื่อระบายอากาศ กันแสงกันลม และไว้ส่องดู

พบว่าฝาไหลเป็นองค์ประกอบที่สร้างมากในเรือนล้านนาหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา พบมากในเมืองเชียงใหม่และกระจายไปตามหัวเมืองล้านนา ไปสู่อำเภอต่างๆ ที่ห่างไกลออกไป

หลังสมัย พ.ศ.2515 มีการประกาศเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินครั้งแรกของคณะปฏิวัติ ด้วยเห็นว่าคนไทยทั่วไปนิยมซื้อ-ขายที่ดินและการสร้างบ้านแบบตะวันตกมากนับจากหลังสมัยสงครามโลก ทำให้รูปแบบบ้านตะวันตกที่เน้นสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เหล็ก และกระจกเป็นที่นิยมกันมาก มีโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตรองรับเกิดขึ้นจำนวนมาก โครงสร้างบ้านจึงลดการใช้ไม้ลง

ส่งผลให้รูปแบบบ้านสมัยใหม่แบบตะวันตกเป็นที่นิยมมาก บ้านไม้ที่สร้างใหม่มีจำนวนน้อยมาก และการสร้างฝาไหลในบ้านของชาวล้านนาก็ได้หยุดลงไปเช่นกัน

ประตูหน้าต่างไม้ลูกฟักกระจกสำเร็จรูปและเหล็ก รวมทั้งอะลูมิเนียมได้เข้ามาแทนที่นับแต่นั้นมา

ตั๋วอย่างเฮือนฝาไหล

แปลว่า ตัวอย่างเรือนฝาไหล

ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่