จาก “โคตรอินดี้” สู่ “Paradise Fest” ปราการด่านท้ายๆ ของเทศกาลเพลงร็อกไทย

“ก็เหมือนอย่างที่หลายๆ คนพูด จัดไปไม่กลัวเจ๊งเหรอ ใช่มั้ย? ถามว่ากลัวมั้ย? กลัว ถามว่าเฮ้ย! เราทำกันไปเพื่ออะไร? ก็ต้องถามกลับไปว่าเราอยากให้แนวเพลงที่เป็นร็อก ร็อกจริงๆ ร็อกสายแข็งเนี่ยมันยังคงอยู่หรือเปล่า?”

นี่คือเสียงสะท้อนจาก “เฮง-บุรินทร์ทร แซ่ล้อ” หรือ “เฮง โคตรอินดี้” หนึ่งในเจ้าพ่อเทศกาลดนตรีอินดี้แห่งเมืองไทย ผู้ผันตัวจากผู้ชมคอนเสิร์ตมาเป็นผู้จัดเทศกาลดนตรี เพราะต้องการผลักดันวงการดนตรีไทย และเปิดพื้นที่ให้เหล่าศิลปินได้แสดงความสามารถเพื่อนำไปต่อยอดเป็นงานขายต่อไปในอนาคต

ล่าสุด “เฮง” กลับมาพร้อมโปรเจ็กต์ล่าสุด “Paradise Fest” เทศกาลดนตรีร็อกรายการใหญ่ ซึ่งจัดมาติดต่อกันเป็นปีที่ 3

หนนี้เป็นการรวมตัวของเหล่าศิลปินร็อกจากหลากหลายค่ายเพลงตั้งแต่เบาไปถึงหนัก ทั้งเบอร์เล็กและใหญ่ อาทิ Ebola, Silly Fools+Dax Rock Rider, DEZEMBER, Sweet Mullet, Retrospect, Lomosonic, BrandNew Sunset, Mad Pack It, กล้วยไทย, Annalynn, Ghost และ Slipnumb

โดย “Paradise Fest 3” เพิ่งจัดไปเมื่ออาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา

Paradise Fest ถูกยกย่องว่าเป็น “งานร็อกแห่งชาติ” ในยุคนี้ และเป็นเทศกาลดนตรีร็อกประจำปีเพียงงานเดียวที่สามารถรวบรวมเหล่าศิลปินร็อกทั้งรุ่นเล็ก-รุ่นใหญ่เข้ามาไว้ด้วยกัน

หลังจากที่ประเทศไทยไม่ได้มีเทศกาลดนตรีประเภทร็อกขนาดใหญ่มานาน

“ด้วยช่องทางที่หลากหลายของสมัยนี้ อาจช่วยให้ศิลปินมีพื้นที่ปล่อยผลงานสะดวกขึ้น ผู้ฟังสามารถเข้าฟังได้ตลอดทั้งวัน เมื่อก่อนเราจะต้องรอฟังเพลงที่เป็นแนวร็อกจริงๆ แบบหนักๆ เราต้องรอดึกๆ กลางวันเขา (สถานีวิทยุ) จะเปิดป๊อป

“แต่ปัจจุบันภาพรวมของวงการร็อกไทยยังคงเหมือนเดิม เพราะศิลปินยุคใหม่ไม่ดัง เพลงมันไม่เป็นที่ติดหู แม้ภาคดนตรีและการแสดงสดบนเวทีจะเก่งก็ตาม เทศกาลดนตรีใหญ่ๆ 99% เขาก็ไม่เอา ภาคดนตรีดีแค่ไหนเขาก็ไม่เอา เพราะส่วนใหญ่มีเพลงดังกันแค่วงละ 1 เพลง จะโชว์ได้สักกี่โชว์

“จุดอ่อนสำคัญของวงดนตรีร็อกอิสระไทยคือเนื้อเพลงยังไม่ชนะ แต่งออกมาแล้วยังไม่ใช่ เรายังขาดคนเขียนเนื้อที่เก่ง” เฮงวิเคราะห์

ถ้าจะพูดถึงช่วงรุ่งเรืองของเทศกาลดนตรีร็อก คงต้องย้อนกลับไปยุค “อัลเทอร์เนทีฟครองเมือง” ในช่วงปี 90″s ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีศิลปินแนวอัลเทอร์เนทีฟร็อกแจ้งเกิดมากมาย เทศกาลดนตรีใหญ่ๆ จึงเทมาฝั่งร็อกแทบทั้งสิ้น

ในปี 2536 มีการจัด “ช็อต ชาร์จ ช็อค ร็อก คอนเสิร์ต” ที่อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก เป็นคอนเสิร์ตที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก วัดจากการเป็นคอนเสิร์ตของศิลปินไทยที่มียอดผู้ชมสูงสุดในปีดังกล่าว

อันเป็นผลมาจากความสำเร็จในการออกอัลบั้มชุดแรกของหิน เหล็ก ไฟ ในการแสดงมีศิลปินอย่าง หรั่ง ร็อกเคสตร้า, ไฮ-ร็อก, พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร โดยมีหิน เหล็ก ไฟ เป็นวงปิด และมีเพลงพิเศษปิดการแสดงคือ “เพื่อนกัน” ที่ศิลปินทั้งหมดได้ร่วมกันร้อง

หลังจบการแสดง อาร์เอส โปรโมชั่น ได้ต่อยอดความสำเร็จ ด้วยการออกอัลบั้มชุดพิเศษ “ร็อคเพื่อนกัน” ที่รวบรวมเพลงฮิตของ หรั่ง ร็อกเคสตร้า, หิน เหล็ก ไฟ และไฮ-ร็อก มาไว้ในชุดเดียวกัน โดยมีเพลงพิเศษ “เพื่อนกัน” เป็นเพลงแรกที่บรรจุลงในอัลบั้ม

ต่อมาปี 2537 มีงาน “เทศกาลบันเทิงคดี” ที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จัดโดย “มาโนช พุฒตาล” แห่งนิตยสารบันเทิงคดี

เทศกาลนี้ถือเป็นงานแรกๆ ที่ช่วยบ่มเพาะคนฟังเพลงให้หันมาสนใจวงการดนตรีร็อกมากขึ้น

แถมงานครั้งนั้นยังมีวง “โมเดิร์นด็อก” ร่วมแสดง หลังจากเพิ่งเข้าวงการและเปิดตัวด้วยอัลบั้ม “เสริมสุขภาพ” รวมถึงปล่อยเพลง “…ก่อน” ออกมาสร้างความแปลกใหม่-เสียงฮือฮาให้แก่สังคมเพลงบ้านเรา

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มาโนช พุฒตาล เคยเปิดใจกับผู้เขียนว่าตนเองไม่ได้สนใจภาพรวมของอุตสาหกรรมเพลงไทยมาสักพักแล้ว

เท่ากับว่าในอนาคต เราอาจจะไม่ได้เห็นเทศกาลทำนองนี้ภายใต้การจัดของมาโนชอีกต่อไป

หลังจากนั้น มีคอนเสิร์ตแนวร็อกตามมาอีกมากมายทั้ง Rock on Earth, Hotwave Rock Marathon, Pirate Rock, AUA เปิดฝาโลง และ Chang Fest เทศกาลดนตรีร็อกกลางฤดูร้อน ฯลฯ

แต่ถ้ามองกลับมาในยุคนี้ เทศกาลใหญ่ครั้งล่าสุดของวงการร็อกไทยต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 คือ “Genie Fest 16 ปีแห่งความร็อก” ที่ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี จัดขึ้นโดย “ค่ายจีนี่ เรคคอร์ดส์” ค่ายเพลงร็อกชั้นนำในปัจจุบัน เนื่องในโอกาสที่ทางค่ายมีอายุครบรอบ 16 ปี และเป็นการขนศิลปินมาขึ้นเวทียกค่าย

เฮงยอมรับว่าตอนเริ่มโครงการ “Paradise Fest” ตนไม่ได้สนใจว่าในตลาดตอนนี้ คนส่วนใหญ่ชอบฟังเพลงร็อกหรือไม่?

แต่ทำเพราะรักดนตรีแนวร็อกอย่างเดียว

ซึ่ง 2 ปีที่จัดมา ยอดขาดทุนสูงถึง 6 หลักทุกครั้ง เนื่องจากไม่ใช่ยุคที่ดนตรีแนวร็อกเฟื่องฟู

แต่ถ้าหากไม่ทำ ก็คงไม่มีใครทำแล้ว เพราะค่ายเพลงใหญ่ๆ หรือผู้จัดรายใหญ่คงไม่ทำแน่นอน แล้วความเป็นอยู่ของเหล่าศิลปินร็อกก็จะน่าเป็นห่วง

“ร็อกแบบเมทัลที่ว้าก เราเคยเห็นเล่นบนเวทีใหญ่ๆ ในคอนเสิร์ตเมืองไทยมั้ย? เขาจะไปเล่นเวทีเล็ก ไม่งั้นก็เล่นเปิดตามคอนเสิร์ตร็อกต่างๆ ช่วงเวลาไพรม์ไทม์ เวลาที่ดีๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นร็อกเบาๆ เนื้อหาจะพูดกันไม่กี่เรื่องอย่างความรักกับความฝัน รักบวก-รักลบประมาณนี้ เราคุยเรื่องอื่นกันบ้างได้มั้ย?

“วงร็อกดังๆ ตอนนี้ก็ต้องทำเสื้อออกมาขาย บางวงก็ต้องไปขายลูกชิ้น ก็ต้องหาอาชีพเสริม สิ่งที่ผู้คนเห็นว่าเขาเป็นฮีโร่บนเวที แต่พอลงมาจริงๆ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับคนทั่วไป ที่ทำต่อเพราะมันรัก ก็เลยต้องต่อสู้ด้วยหัวใจ” เฮงกล่าว

ถ้าดูจากอุตสาหกรรมดนตรีไทย หลายคนอาจเห็นตรงกันว่าเป็นยุคที่อุตสาหกรรมเพลงในภาพรวมซบเซาและย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

แต่ถ้าดูจากยอดขายบัตรในเทศกาลกลุ่มดนตรี EDM (Electronic Dance Music) ทั้งที่คนไทยจัดเอง รวมถึงที่ซื้อแฟรนไชส์ต่างประเทศมา ต้องยอมรับว่ามีลักษณะ “สวนทาง” กับสภาพ “ขาลง” ของอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่พอสมควร

เนื่องจากยอดขายบัตรเข้าชมเทศกาลกลุ่มนี้ล้วนจำหน่ายหมดก่อนวันแสดงแทบทุกงาน ต่างจากงานดนตรีแนวอื่นๆ โดยเฉพาะแนวร็อกหนักๆ ที่เป็นแนวเพลงเฉพาะกลุ่ม

เฮงเผยถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า ก็ดีเหมือนกัน งาน “Paradise Fest 3” ครั้งนี้ จะได้เป็นการชี้วัดว่า สุดท้ายคนที่ชอบในแนวทางดนตรีแบบนี้จะมีกันกี่คน?

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญมาก เพราะไม่ใช่เป็นเหมือนที่จัดกันปกติ แต่มีเหล่าศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ มารวมตัวกันในวันเดียว

แถมโดยทั่วไป งานดนตรีส่วนใหญ่จะจัดกันในวันเสาร์ แต่คิวของหลายวงไม่ได้ ตนจึงตัดสินใจยอมเสี่ยงมาจัดงานวันอาทิตย์ ทั้งที่ในวันจันทร์ ผู้ชมทุกคนต้องไปเรียนหรือไปทำงาน แต่ถ้าไม่ทำวันนี้ แล้วจะทำเมื่อไหร่? แม้จะผิดหลักการในการจัดงานทั้งหมด แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่ามันถูกต้องสำหรับกลุ่มคนฟังที่ชื่นชอบดนตรีร็อก

“สำหรับเรา เรามองว่าร็อกจริงๆ ร็อกสายแข็งในเมืองไทยต้องคงอยู่ ถามว่าเราจะต้องทำยังไง? ก็ต้องลุย มันไม่ใช่เรื่องเหตุผลของทางธุรกิจ แต่มันเป็นเรื่องของดนตรีและศิลปะอย่างแท้จริง” เฮงปิดท้าย