วางบิล/ข่าวหมู่ – ข่าวเดี่ยว

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ข่าวหมู่ – ข่าวเดี่ยว

การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเมื่อก่อนนั้น มีข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับเช้าเป็นหลัก แม้ข่าวที่นำเสนอผ่านสถานีโทรทัศน์ยังมีเฉพาะข่าว 2 ทุ่ม มีข่าวในพระราชสำนักเป็นประจำ ส่วนข่าวการเมืองมักเป็นสัมภาษณ์รัฐมนตรีและข้าราชการผู้ใหญ่ระดับปลัดกระทรวงและอธิบดีที่เกี่ยวข้อง กับข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประจำวัน

นักข่าวหนังสือพิมพ์จึงมีความสำคัญที่ต้องเสาะหาข่าวทั้งข่าวที่มีเป็นประจำ จากการสัมภาษณ์ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข่าวการเมือง มีนักข่าวสายทำเนียบเป็นหลัก และข่าวจากสภาผู้แทนราษฎรที่มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจากนักข่าวสายสภาเป็นหลัก

ข่าวสายทำเนียบ มีผู้ตกเป็นข่าวที่ต้องสัมภาษณ์แต่ละวันไม่กี่คน แล้วแต่ว่ารัฐมนตรีคนนั้นจะมีข่าว “เรื่องอะไร” เมื่อเกิดข่าวที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงนั้น นักข่าวประจำกระทรวงจะดักพบสัมภาษณ์หรือพูดคุยหาข่าวที่กระทรวงทั้งเช้าทั้งกลางวัน

บางครั้งต้องรอถึงเย็นขณะที่รัฐมนตรีคนนั้นกลับออกจากกระทรวงไปที่อื่นต่อ

วันสำคัญของการสัมภาษณ์รัฐมนตรีคือวันอังคาร เป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี มีทั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกกระทรวงมาประชุมตั้งแต่เช้า นักข่าวต้องไปรอตรงหน้าบันไดห้องประชุม

นักข่าวทุกคนต่างมีประเด็นสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแต่ละคนบ้างแล้ว ขณะที่นักข่าวอาวุโส บรรดา “เจ๊” ทั้งหลายจะมีประเด็นว่าจะถามเรื่องอะไรเป็นหลัก นักข่าวใหม่อย่างผมและที่เพิ่งเข้าไปสัมผัสทำเนียบ แม้จะมีประเด็นข่าวสัมภาษณ์ ยังไม่มากเท่ากับนักข่าวรุ่นก่อน พวกเราจึงคอยแต่ว่านักข่าวรุ่นก่อนสัมภาษณ์เรื่องอะไร แล้วคอยจดเพื่อนำส่งเข้ามากองบรรณาธิการ

ข่าวประจำวันจึงเป็นข่าวหมู่ ส่วนใหญ่มาจากข่าวที่นำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า ซึ่งจะมาตามประเด็นต่อจากข่าวเช้าวันนั้นว่ามีความคืบหน้าไปอย่างไรหรือไม่ หรือมีข่าวอะไรจะให้ความเห็น หรือความคืบหน้าเพิ่มเติม

เรื่องที่หัวหน้าโต๊ะข่าวต้องสั่งการให้นักข่าวประจำทำเนียบปฏิบัติเป็นประจำ คือต้องสอบถามว่าพรุ่งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีวาระอะไรที่จะนำเข้าสู่การประชุมนอกเหนือจากวาระปกติบ้าง หรือมี “วาระจร” อะไรบ้าง จะได้ตามผลการประชุมหรือประเด็นได้ทัน

ผู้ที่นักข่าวต้องสอบถามคือรัฐมนตรีประจำกระทรวงนั้นที่มักคุ้น หรือรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รายหลังไม่ค่อยได้วาระจรเท่าใดนัก ได้แต่วาระประจำ ซึ่งทราบกันอยู่แล้ว

ห้วงเวลานั้นเป็นห้วงแห่งข่าวการเมืองเข้มข้น กล่าวคือ รัฐบาลไม่ค่อยราบรื่น ไม่ทราบว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนไหน เมื่อไหร่ ทั้งพรรคการเมืองที่เป็นเสียงข้างมากในรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีมีเพียง 18 เสียง ต่างพยายามจะขอตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุว่าตนมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในมือมากพอจะเป็นเสียงสนับสนุนรัฐบาล จึงมีการวิ่งเต้น

และพยายามให้ข่าวกระแซะ หรือวิ่งเข้าหาหัวหน้าพรรคเพื่อให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี

ระหว่าง “ข่าวหมู่” ซึ่งนักข่าวทุกคนได้รับพร้อมกัน หรือนักข่าวคนไหนไม่ได้รับ เช่น ไปทำข่าวไม่ทัน ก็ยังฝากนักข่าวที่คุ้นเคย หรือมาฟังการรายงานจากนักข่าวที่รายงานผ่านโทรศัพท์ซึ่งมีน้อยเครื่องในทำเนียบเข้าโรงพิมพ์ แล้วจดตาม หรือไม่ก็ให้เพื่อนนักข่าวเล่าให้ฟัง

ขณะเดียวกัน หัวหน้าข่าว หรือบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับต่างต้องการ “ข่าวเดี่ยว” คือข่าวที่ตั้งประเด็นขึ้นมา หรือหาข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะข่าวการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี ข่าวการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการลับ ที่ได้มาเพียงฉบับเดียว เพื่อนำมาเสนอในหนังสือพิมพ์ของตัวเองเช้ารุ่งขึ้น หรืออีกสองสามฉบับต่อมา

หากหัวหน้าข่าวไม่สามารถตรวจข่าวได้เอง จะให้นักข่าวที่พอจะพูดคุยกับแหล่งข่าวคนนั้นคนนี้ถึงประเด็นนั้นได้เป็นการเฉพาะตัว เมื่อมีโอกาส

“ข่าวเดี่ยว” บางกรณี เป็นความช่ำชองหรือชำนาญของผู้สื่อข่าวอาวุโสที่มีความคุ้นเคยกับ “แหล่งข่าว” ที่เป็นรัฐมนตรีบางคน เช่นเมื่อมีประเด็นสำคัญว่าคณะรัฐมนตรีตัดสินเรื่องนั้นเรื่องนี้หรือยัง หรือตัดสินแล้วแต่ไม่แถลงผลการประชุม เนื่องจากยังมีขั้นตอนอีกสองสามขั้นตอน

เมื่อรัฐมนตรีคนนั้นให้สัมภาษณ์ “ข่าวหมู่” เสร็จ ระหว่างเดินไปขึ้นรถ นักข่าวคนนั้นจะเดินประกบ แล้วถามเพียงสั้นๆ ว่า “ท่านคะ เรื่องนั้น (บอกถึงเรื่องที่ต้องการทราบ) วันนี้มีผลแล้วใช่ไหมคะ” รัฐมนตรีซึ่งคุ้นเคยอยู่แล้วกับนักข่าวอาวุโสคนนั้น อาจหันมองหน้านิดหนึ่ง แล้วพยักหน้ารับ

เท่านี้ นักข่าวอาวุโสคนนั้นก็มี “ข่าวเดียว” กลับไปเขียนได้ยาวเหยียดในเรื่องนั้น

เรื่องนี้ ผมได้รับฟังมาจาก “เจ๊วิภา สุขกิจ” ด้วยตัวเอง และพยายามนำมาปฏิบัติตามให้ได้ผลตามนั้น ซึ่งได้บ้างไม่ได้บ้างตามแต่สถานการณ์

นักข่าวที่สภาผู้แทนราษฎรมักต้องทำความคุ้นเคยกับตัวสมาชิกที่มีอยู่มาก ให้มากสักหน่อย เพื่อคอยติดตามพูดคุยประเด็นข่าวที่อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงตลอด หรือพูดคุยเพื่อขอความเห็นในประเด็นนั้นๆ ส่วนใหญ่ ส.ส. ชอบพูดคุยกับนักข่าวอยู่แล้ว เผื่อว่าเรื่องที่ตัวพูดตัวให้ความเห็นจะปรากฏเป็นข่าวบ้าง

ขณะที่บางคนพูดจามีสาระ ความเห็นเป็นไปได้ อาจมีประเด็นมาให้ข่าวด้วยตัวเอง หรือเป็นผู้ที่นักข่าวต้องการความเห็นจาก ส.ส. คนนี้ เช่น หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน “วิป” ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เลขาธิการพรรค และผู้มีตำแหน่งในพรรค โดยเฉพาะโฆษกพรรค

แต่กับ ส.ส. บางคนชอบพูดชอบคุย ทั้งพยายามให้ความเห็นซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ มากกว่าความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดขึ้น

เรื่องที่นักข่าวใหม่อย่างผมต้องระวัง เนื่องจากจำนวนผู้แทนราษฎรมีมาก ทั้งยังมีจากหลากหลายพรรค ดังนั้น จึงต้องจดจำให้แม่นว่า ส.ส. คนนั้นคือใคร บางคนยังมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีอีกด้วย

ครั้งหนึ่ง ผมเห็น ส.ส. คนหนึ่งแต่ไกลคลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย วันนั้นมีประเด็นเกี่ยวข้องกับมหาดไทย ดีใจ รีบเดินเร็วเพื่อให้ทันตรงบันไดทางขึ้นห้องประชุมสภา

“ท่านครับ ท่านครับ” ผมเรียกทักทายไป ท่านผู้นั้นหันมา ผมรีบ “ยิง” คำถามเกี่ยวกับเรื่องของมหาดไทยทันที ท่านผู้นั้นบอกว่า ผมไม่ใช่รัฐมนตรีมหาดไทย เป็น ส.ส. จังหวัดนั้น

ด้วยกลัวเสียหน้า ผมเปลี่ยนคำถามเป็นเรื่องของจังหวัดนั้นทันที ท่านบอกว่า เรื่องนี้เอาไว้คุยกันวันหลัง ผมจะรีบขึ้นไปประชุม แหม! หลงดีใจ คิดว่าได้ข่าวเดี่ยว ดีว่าอยู่คนเดียว หน้าแตกหมอไม่รับเย็บ