เปิดวิชั่น ‘บิ๊กแจง’ 5 จี หัวเรือไซเบอร์ค็อป ลุยปราบโจรออนไลน์ / โล่เงิน

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง

โล่เงิน

 

เปิดวิชั่น ‘บิ๊กแจง’ 5 จี

หัวเรือไซเบอร์ค็อป

ลุยปราบโจรออนไลน์

 

นับตั้งแต่ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ในวันที่ 8 กันยายน 2563

ถือเป็นการคิกออฟองค์กร “ตำรวจไซเบอร์” ระดับกองบัญชาการ อำนาจการทำงานครอบคลุมทั่วประเทศ

ขานรับนโยบายตำรวจ 4.0 เพิ่มบทบาทมาจับโจรผู้ร้ายบนอินเตอร์เน็ต ภายใต้การนำ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. หรือ “บิ๊กแจง” นรต.รุ่น 41

บช.สอท.เป็นหน่วยงานที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงการตรวจสอบข้อมูลข่าวกรอง รวบรวมหลักฐานดิจิตอล และวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคง พร้อมสนับสนุนความช่วยเหลือด้านข้อมูลและเทคโนโลยีให้โรงพักท้องที่

กระนั้นหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบการจับผู้ร้ายบนโลกโซเชียลก็ยังมี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) อยู่แล้ว

แต่ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ บัญญัติหน้าที่หลักของ ปอท.มีภารกิจถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ ราชินี พระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญ รวมถึงรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง ป้องกันปราบปรามความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และคดีความมั่นคง ตาม ม.112, ม.116

ทั้งยังรวบรวมข้อมูลบุคคลเฝ้าระวังที่เป็นภัยต่อสถาบัน

พล.ต.ท.กรไชยเผยถึงความมุ่งหวังการตั้ง บช.สอท.ว่า เป็นศูนย์รวมข้อมูลอาชญากรรมทุกประเภท พร้อมประสานเครือข่ายโทรคมนาคม กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ภายใต้หลักการบริหาร 5 ป. ป้องกัน, ปราบปราม, ปฏิบัติการข่าวสารอย่างเป็นระบบ, เปิดเผยข้อมูล เชื่อมโยงการแก้ปัญหา และปฏิรูปการสืบสวนสอบสวนให้ปรับตัวตามยุคสมัย ซึ่งตนให้ความสำคัญกับตำรวจรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโดยตรง เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ สมดั่งม็อตโต้ “Cybercop Aniti Cyber Crimes”

พล.ต.ท.กรไชยกล่าวถึงสถิติการจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในระยะเวลาร่วม 45 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่หน่วยงานเพิ่งเริ่มตั้งไข่ มีการจับกุมถึง 257 คดี มีไม่ต่ำกว่า 50 คดีเป็นการพนันออนไลน์ ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องเร่งปราบ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.สั่งให้แบ่งการทำงานออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่

1. การหลอกโอนเงินในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

2. การใช้อินเตอร์เน็ตซื้อสินค้าสิ่งผิดกฎหมาย รวมถึงยาเสพติด

3.ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่น เฟกนิวส์ การแฮ็กข้อมูลเรียกค่าไถ่

4. การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

และ 5. การพนันออนไลน์กับอาชญากรรมข้ามชาติ

ถือเป็นกลุ่มที่จับตาเฝ้าระวังมากที่สุด คาดว่าภายในครึ่งปีต่อจากนี้จะจัดประเภทอาชญากรรมต่างๆ ได้มากขึ้น ต้องก้าวให้ทันคนร้ายที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตลอดเวลา

สําหรับการจับกุมคดีสำคัญ พล.ต.ท.กรไชยแจกแจงทีละประเภท เริ่มจากคดีการจับกุมกลุ่มคนเกาหลีตั้งเซิร์ฟเวอร์เว็บพนันในไทย แต่เปิดให้คนเกาหลีเล่น การจับกุมกลุ่มโบรกเกอร์แทงพนันย่านลาดปลาเค้า ถือเป็นรูปแบบแปลกใหม่ที่จะมีคนคอยเชียร์ให้แทงพนันต่างๆ โดยจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์ให้คนแทง หากไม่จ่ายจะถูกประจานจนอับอาย

ต่อมาคือการซื้อ-ขายยาเสพติดออนไลน์ มีการจับกุมผู้ค้าคุกกี้กัญชา ช็อกโกแลตกัญชา พื้นที่ สน.บางนา ไปจนถึงการประสานข้อมูลจับกุมผู้ค้าเคนมผงตามที่มีข่าว

และความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ คือคดีจับกุมแก๊งอุ้มบุญข้ามชาติที่ประกาศหาแม่อุ้มบุญออนไลน์ มีเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท

เมื่อแบ่งประเภทโจรไซเบอร์ออกมาแล้วพบว่าจะมีไม่กี่ประเภท พล.ต.ท.กรไชยไล่ให้ฟังตั้งแต่การใช้มัลแวร์หรือไวรัสเรียกค่าไถ่ เช่น คดีแฮ็กข้อมูลโรงพยาบาลสระบุรี, ฟิชชิ่งอีเมล ล่อเหยื่อให้เชื่อว่าเป็นเมลที่ถูกต้องก่อนลอบดูดข้อมูลส่วนตัวต่างๆ, โรแมนสแกม มีคนไทยถูกหลอกเยอะมากด้วยแผนประทุษกรรมเดิมๆ ที่คนร้ายปลอมเป็นชาวต่างชาติโปรไฟล์ดีหลอกให้โอนเงินจำนวนมาก, แฮ็กบัญชีโซเชียล หรือปลอมตัวเป็นคนอื่น, ร้านค้าปลอม ขายสินค้าราคาต่ำกว่าตลาด แต่ของไม่มีคุณภาพหรือไม่ส่งของให้ หากแยกรายบุคคลอาจเสียหายเล็กน้อย แต่เมื่อรวมกันมากๆ มีมูลค่าสูง และแบล๊กเมล์ หลอกโชว์หวิวแล้วเรียกค่าไถ่ เป็นต้น

ปัจจุบันยังมีคดีเรื่องไซเบอร์บูลลี่ เป็นการกลั่นแกล้ง ให้ร้ายข่มเหง สร้างความอับอายในโลกออนไลน์ เกิดขึ้นมาก ถึงขั้นทำให้คนฆ่าตัวตายได้

บช.สอท.ใช้โปรแกรมคอยจับตาเฝ้าดู ชื่อ MySis Bot เป็นเอไอวิเคราะห์ ประเมินระดับความเครียดต่างๆ หากเข้าข่ายอันตรายจะมีการติดต่อมายังเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าช่วยเหลือ เพราะตอนนี้มีคนไลฟ์สดฆ่าตัวตายมาก

หากช่วยทันถือเป็นเรื่องดี

แม้จะมีผลการจับกุมมากมายในช่วงเวลาสั้นๆ

แต่บิ๊กแจงยังเผยถึงอุปสรรคด้านกำลังพลซึ่งเมื่อไล่ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการถึงระดับสารวัตรนั้นมีเพียง 621 นาย จากที่ควรมีถึง 2,000 นาย เมื่อเทียบกับปริมาณงาน ทำให้รับทุกคดีมาทำไม่ได้

เกณฑ์รับทำคดีที่นี่ต้องมีความสำคัญ มีผู้เสียหายมาก สลับซับซ้อน เช่น การแฮ็กระบบ เพราะต้องหาคนร้ายตัวจริงที่อาจอยู่ในต่างแดนได้

ปัญหาต่อมาคือยุทโธปกรณ์ ต้องมีเทคโนโลยีทันสมัยเชื่อมต่อ ค้นหาข้อมูลควบคู่กับการใช้คน เบื้องต้นพอมีบ้างแล้ว

“นอกจากนี้ ยังวางเป้าหมายการทำงานไว้ว่า 3 เดือนแรก บช.สอท.ต้องรับแจ้งความได้ โดยวางระบบรับแจ้งเหตุบนอินเตอร์เน็ต ด้วยการใช้เอไอพิจารณาความสลับซับซ้อน หากไม่เข้าข่ายจะประสานโรงพักให้ติดต่อสอบถามเรื่องราวร้องทุกข์ และจะกำหนดคนกับงานไป หากท้องที่ทำไม่ได้ก็ให้ประสาน บช.สอท.ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล จากนั้น 4-5 เดือนจะส่งกำลังเข้าพื้นที่หลัก โดย บก.สอท.1 รับผิดชอบ กทม., บก.สอท.2 พื้นที่ภาคกลาง ภูธรภาค 1, 2, 7 มีศูนย์หลักที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ศูนย์ย่อยที่ จ.ชลบุรี บก.สอท.3 ภาค 3 และ 4 ตั้งที่ จ.ขอนแก่น บก.สอท.4 ภาค 5-6 ตั้งที่ จ.เชียงใหม่ และ บก.สอท.5 ภาค 8-9-ศชต. ที่ จ.สงขลา คาดว่า 6 เดือนจะสมบูรณ์แบบ”

ผบช.สอท.กล่าว