ในประเทศ/”เปรี้ยว” สวยสังหาร ปรากฏการณ์เขย่าสังคม สะเทือนทุกวงการ ตำรวจ-สื่อ-โซเชียล

ในประเทศ

“เปรี้ยว” สวยสังหาร

ปรากฏการณ์เขย่าสังคม สะเทือนทุกวงการ ตำรวจ-สื่อ-โซเชียล

สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เขย่าสังคม สั่นสะเทือนไปทุกวงการ

ต่อปรากฏการณ์ “สวยสังหาร”

กรณี “เปรี้ยว” น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย สาวสวยวัย 24 ปี

ร่วมกับเพื่อนสาวรุ่นราวคราวเดียวกันอีก 2 คน และเพื่อนชายอีก 1 คน

ก่อเหตุสังหาร “แอ๋ม” น.ส.วริศรา กลิ่นจุ้ย “หั่นศพ” เป็นสองท่อน นำไปฝังอำพราง

ต่อมาหลังพบศพ “เหยื่อ” นานประมาณ 1 สัปดาห์

เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตามจับกุมแก๊งสวยสังหารหรือแก๊ง “สวยหั่นศพ” ได้ทั้งหมด

โดยเฉพาะตัวเอกของเรื่อง “เปรี้ยว” กับสองสาวเพื่อนสนิท “เอิร์น” น.ส.กวิตา ราชดา กับ “แจ้” น.ส.อภิวันทน์ สัตยบัณฑิต ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่หลังร่วมก่อเหตุ หลบหนีหัวซุกหัวซุนอยู่ในฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา

นั่นทำให้ในทางคดี เรื่องของ “เปรี้ยว” และกลุ่มเพื่อน เหมือนจะจบลงแล้ว

แต่อีกด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์ “เปรี้ยว” ยังได้ส่งผลสะเทือนลุกลามต่อไปยัง “ตำรวจ” ซึ่งทำหน้าที่จับกุมคลี่คลายคดี และ “สื่อ” ซึ่งมีหน้าที่ในการนำเสนอข่าว

ไม่ว่า “สื่อหลัก” หรือ “สื่อโซเชียล”

ต่อการทำหน้าที่ของ “ตำรวจ” นั้น ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรในตอนแรก

ได้รับเสียงชื่นชมเสียด้วยซ้ำที่สืบสวนสอบสวนสรุปประเด็น “ฆ่าหั่นศพ” ครั้งนี้ได้ถูกทาง รวดเร็ว ว่า “แรงจูงใจ” ไม่ได้มาจากเรื่องขัดแย้งภายในครอบครัวหรือชู้สาว

แต่มาจาก “ความแค้น” ส่วนตัวอันสลับซับซ้อน และอาจเกี่ยวข้องกับ “ยาเสพติด”

จนนำมาสู่การติดตามจับกุมกลุ่มผู้ร่วมก่อเหตุได้ทั้งหมดในเวลา 9 วันหลังพบศพ หรือ 12 วันหลังการลงมือสังหาร

กระนั้นตำรวจก็พลาดในตอนท้าย

วันที่ “เปรี้ยว” และเพื่อน 2 คนตัดสินใจเดินทางเข้ามอบตัวต่อตำรวจเมียนมา ถูกนำมาส่งต่อให้ตำรวจไทยทางด่านพรมแดนแม่สาย จ.เชียงราย ควบคุมตัวไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เชียงราย

อันเป็นจุดเริ่มของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการวางตัวระหว่าง “ตำรวจ” กับ “ผู้ต้องหา” โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่เป็น “สาวสวย”

การมีภาพ 3 สาวแก๊งสวยสังหารกำลังยิ้มระรื่น สูบบุหรี่ แต่งหน้าทาปาก ถ่ายรูปชู 2 นิ้วร่วมกับตำรวจ ขณะถูกควบคุมตัวบนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

 

“หลุด” ออกมาในสังคมออนไลน์

ถูกมองว่าสร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างมาก

เป็นเหตุให้มีการสอบสวน และคำสั่งย้าย “พ.ต.ท.” รองผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย กับ “ร.ต.อ.” รองสารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ในเวลาต่อมา

แม้จะมีคำอธิบายจากผู้เกี่ยวข้องว่า

ภาพที่ปรากฏเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักจิตวิทยาของตำรวจโดยทั่วไป ที่ต้องการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเองกับผู้ต้องหาไม่ว่า “ชาย” หรือ “หญิง”

เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดลงและยอม “เปิดปาก” เล่าความจริงทั้งหมด

แต่เหตุผลดังกล่าวไม่สามารถต้านทานกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์

ที่ลุกลามรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่งได้

กรณีของ “สื่อ”

นับตั้งแต่วันพบศพ “แอ๋ม” ถูกฆ่าหั่น

ตามมาด้วยการสืบสวนสอบสวนของตำรวจที่ทำให้รู้ว่าฆาตกรโหดคือ “เปรี้ยว” กับกลุ่มเพื่อนหญิง 2 ชาย 1

สื่อก็ได้รายงานข่าวชนิดเกาะติด

เนื่องจากปรากฏการณ์ “สวยสังหาร” นี้ เป็นข่าวที่มีองค์ประกอบความน่าสนใจครบถ้วน

ไม่ว่าเหตุการณ์ที่มีเงื่อนงำสลับซับซ้อน ชักชวนให้ติดตาม เนื้อหาเกี่ยวพันกับความแค้นและยาเสพติด ความระทึกในการติดตามจับกุมไล่ล่า และการหลบหนีข้ามประเทศ

โดยเฉพาะการที่ฆาตกรเป็นผู้หญิง ต่างจากคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญส่วนใหญ่ที่คนกระทำมักเป็นผู้ชาย

ประวัติความเป็นมาของ “เปรี้ยว” ถูกขุดคุ้ยตีแผ่ให้สังคมรับรู้ทุกซอกทุกมุม

ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นเด็ก เติบโตเป็นนักเรียน ทำงานร้องเพลงร้านอาหาร เป็นสาวคาราโอเกะ ส่งเงินให้แม่ปลูกบ้าน แต่งงาน มีลูก สามีติดคุกคดียาเสพติด ฯลฯ

ข้อมูลจากครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด ถูกสื่อนำมาถ่ายทอดไม่ขาดหกตกหล่น

ทั้งสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ “เปรี้ยว” กลายเป็นคนที่สังคมรู้จักทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง มากกว่ารัฐมนตรีส่วนใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้เสียด้วยซ้ำ

จนกระทั่งข่าว “เปรี้ยวและเพื่อน” ได้รับความสนใจถึงขีดสุด ในวันเดินทางเข้ามอบตัว และต้องไปใช้ชีวิตอยู่ใน “คุก” ระหว่างรอดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม

จังหวะนี้เองเริ่มเกิดกระแสตีกลับ

“สื่อ” ให้ความสำคัญกับ “เปรี้ยว” ฆาตกรสาวรายนี้

มากเกินสังคมต้องการหรือไม่

เสียงสังคมวิพากษ์วิจารณ์ “สื่อ”

ไม่ว่าต่อสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อสังคมออนไลน์ ในกรณีนำเสนอข่าว “เปรี้ยว”

แบ่งออกเป็น 2 ท่วงทำนองในรูปแบบ “เหมารวม”

ท่วงทำนองแรก ตั้งข้อสังเกตถึงการนำเสนอข้อมูลของ “เปรี้ยว” ชนิดเจาะลึกทุกแง่มุมชีวิต

เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือไม่

ภายใต้ท่วงทำนองนี้ ดูเหมือนผู้ตั้งข้อสังเกตจะสวมบทนักสิทธิมนุษยชน ต้องการปกป้อง “เปรี้ยว” ว่ายังเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ในทางกฎหมาย ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหา

แต่ความจริงเป้าหมายอยู่ที่ “สื่อ” มากกว่า

เช่นเดียวกับท่วงทำนอง ซึ่งเป็นการหยิบยกข้อมูลบางส่วนที่สื่อสังคมออนไลน์นำเสนอเกี่ยวกับ “เปรี้ยว” อาทิ แง่มุมความเป็นลูกกตัญญู ทำงานเลี้ยงดูครอบครัว

ด้วยหวั่นเกรงจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในหมู่เด็กและเยาวชน

หรือการแชร์ภาพรัวๆ “เปรี้ยว” กับเพื่อนนั่งแต่งหน้าทาปาก ยิ้มแย้มหน้าระรื่นระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัว โดยไม่มีท่าทีสะทกสะท้านต่อกรรมเวรที่ตนเองก่อไว้

ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำเหมือนกับเปรี้ยวเป็น “เน็ตไอดอล”

ในกรณี “ดราม่าเปรี้ยว” ไม่ใช่ดารานักแสดงบางคน

นายกรัฐมนตรีก็ยังทักท้วงสื่อ ให้เลือกนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งใดไม่จำเป็นขอให้ยุติการนำเสนอ “ไม่ต้องไปอ่านแล้วสื่อ เน็ตไอดอล บ้าบอคอแตก”

ขณะที่ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีสมาชิกขอหารือถึงการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียล เกี่ยวกับคดี “เปรี้ยวหั่นศพ” เกินขอบเขต จนอาจเป็นโทษต่อเยาวชนในสังคม

ก่อนสรุปรวบรัดว่า ควรนำเรื่องนี้เป็นแนวทางในการ “ปฏิรูปสื่อ”

ถึงแม้ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีสื่อใดต้องการยกฆาตกรฆ่าหั่นศพเป็น “ฮีโร่” หรือ “เน็ตไอดอล” อย่างที่หลายคนโจมตี

แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าสะท้อนออกมาด้วยเจตนาใด ยังคงเป็นสิ่งที่ “สื่อ” ในระบอบประชาธิปไตยต้องเปิดใจกว้างรับฟัง

ส่วนผิด-ถูก เหมาะสม-ไม่เหมาะอย่างไร

ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินสื่อนั้นๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่ให้ใครมาชี้นำด้วยเช่นกัน