นามธรรมระดับปรมาจารย์ ศิลปินผู้สะท้อนกฎแห่งจักรวาล ผ่านศิลปะนามธรรม : อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนก่อนหน้านี้ที่พูดถึงศิลปินนามธรรมหญิงอย่าง ฮิลม่า อัฟ คลินต์ ก็ได้มีการกล่าวถึงศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะนามธรรมไปอีกสองสามคนด้วย

เขียนเสร็จแล้วก็นึกได้ว่าในบรรดานั้น มีศิลปินคนหนึ่งที่เรายังไม่ได้กล่าวถึงเลย

แถมที่สำคัญ ศิลปินคนนั้นก็เป็นศิลปินนามธรรมผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุคศิลปะสมัยใหม่และของโลกเสียด้วย

เราเลยถือโอกาสแก้ตัวด้วยการหยิบยกมาพูดถึงในตอนนี้เลยก็แล้วกัน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

พีต มองเดรียน (Piet Mondrian)

Tableau I
*oil on canvas
*103 x 100 cm
*signed b.r.: P M 21

หรือในชื่อเต็มว่า ปีเตอร์ คอร์เนลิส มองเดรียน จูเนียร์ (Pieter Cornelis Mondriaan, Jr.)

เกิดในปี 1872 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในประเทศเนเธอร์แลนด์

เขาศึกษาที่สถาบันศิลปะ Rijksakademie van Beeldende Kunsten ที่อัมสเตอร์ดัม ตั้งแต่ปี 1892 ถึงปี 1897

ในช่วงแรกๆ เขาวาดภาพทิวทัศน์และธรรมชาติที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปินดัตช์ในศตวรรษที่ 19 และศิลปินในยุคอิมเพรสชั่นนิสม์

แต่หลังจากได้ชมผลงานศิลปะลัทธิคิวบิสม์ (Cubism) ของ ปาโปล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) และ จอร์จ บราก (Georges Braque) ที่มาแสดงในอัมสเตอร์ดัมเป็นครั้งแรกในปี 1911 เขาก็หันมาทดลองทำงานในสไตล์คิวบิสม์ที่โดดเด่นด้วยการใช้รูปทรงเรขาคณิตและพื้นที่ระนาบเชื่อมต่อกัน ถึงแม้ว่าเรื่องราวที่นำเสนอในภาพจะยังเกี่ยวกับทิวทัศน์และธรรมชาติอยู่ก็ตามที

หลังจากที่เขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปี 1912 เขาตัด a ตัวหนึ่งออกจากนามสกุล Mondriaan ของตัวเองที่สะกดแบบดัตช์ ให้กลายเป็น Mondrian ที่ดูเป็นฝรั่งเศสมากกว่าแทน เพื่อแสดงออกถึงการออกจากเนเธอร์แลนด์

และเพื่อหลอมรวมตัวเองให้กลมกลืนกับกลุ่มศิลปินอาวองการ์ด (avant-garde) ของปารีส

ถึงแม้ว่างานในช่วงนี้ของมองเดรียนจะได้รับอิทธิพลจากปิกัสโซและบรากเป็นอย่างมาก แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาจะซึมซับเอาอิทธิพลของคิวบิสม์เพื่อพัฒนารูปแบบทางศิลปะของเขามากกว่า

สำหรับมองเดรียน คิวบิสม์เป็นอะไรที่ไม่ต่างกับท่าเรือที่ส่งผ่านเขาไปยังเส้นทางข้างหน้าเท่านั้น หาได้เป็นจุดหมายปลายทางของเขาไม่

ในปี 1914 มองเดรียนกลับมาเยี่ยมเนเธอร์แลนด์ประจวบกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นทำให้เขาไม่อาจกลับไปที่ปารีสได้

ในช่วงนั้นเองเขาได้พบกับกลุ่มศิลปินชาวดัตช์อย่าง บาร์ต ฟาน เดอร์ แล็ก (Bart van der Leck) และ เตโอ ฟาน ดุสเบิร์ก (Theo van Doesburg) และชอบพอในแนวคิดทางศิลปะของกันและกัน

ต่อมา มองเดรียนและฟาน ดุสเบิร์ก ได้ก่อตั้งกลุ่ม De Stijl (หรือ The Style ที่แปลว่า “กระบวนแบบ” ซึ่งเป็นชื่อของวารสารศิลปะที่พวกเขาทำขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันด้วย) โดยเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะที่นำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับงานศิลปะนามธรรม

ซึ่งนอกจากจะมีสมาชิกเป็นศิลปินแล้ว ก็ยังมีสถาปนิกและนักออกแบบชั้นนำของเนเธอร์แลนด์อีกหลายคน

กลุ่ม De Stijl มีความเชื่อว่า งานศิลปะควรถูกทำขึ้นเพื่อคนทั่วไป มากกว่าเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

โดยมองเดรียนตีพิมพ์บทความ The New Plastic in Painting ลงในวารสารตั้งแต่ปี 1917 ถึง 1918 จำนวน 12 ชิ้น ซึ่งกล่าวถึงรูปแบบการทำงานศิลปะนามธรรมด้วยการใช้เส้นแนวตั้งและแนวนอน และรูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ อย่างสี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า และแม่สีพื้นฐานไม่กี่สี เช่น เหลือง น้ำเงิน แดง หรือเทา ดำ และเส้นตัดสีดำบนพื้นสีขาว

ซึ่งแนวทางนี้ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของลัทธิคิวบิสม์ แต่ละทิ้งรูปทรงและเรื่องราวออกไป และสร้างงานขึ้นจากจินตนาการความคิดฝันของตัวศิลปินเองโดยไม่อ้างอิงจากธรรมชาติ มุ่งเน้นในการนำเสนอความงามของความสัมพันธ์ของเส้นสาย สีสัน และองค์ประกอบของภาพแทน

ซึ่งรูปแบบนี้ถูกเรียกว่า Neoplasticism หรือ “ลัทธิศิลปะรูปทรงแนวใหม่” นั่นเอง

มองเดรียนเชื่อว่าศิลปะจำต้องมีความเป็นอิสระจากการนำเสนอเรื่องราวใดๆ ก็ตาม และความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติก็สามารถลดทอนรูปแบบสู่การแสดงออกทางรูปทรงที่เรียบง่าย ชัดเจน แน่นอน และมีระเบียบแบบแผนเช่นเดียวกับคณิตศาสตร์

เมื่อนั้น ศิลปะก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายภายในและแสดงออกถึงจิตวิญญาณอันเป็นสากล จนในที่สุดมันก็จะสามารถสะท้อนให้เห็นกฎแห่งจักรวาลได้

อนึ่ง ลัทธิศิลปะ De Stijl ส่งอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อพัฒนาการของศิลปะนามธรรม รวมถึงงานสถาปัตยกรรมและงานดีไซน์ในยุคหลัง อาทิ บาวเฮาส์ (Bauhaus) สถาบันทางการออกแบบอันเลื่องชื่อของเยอรมนี

ในปี 1925 มองเดรียนออกจากกลุ่ม De Stijl เนื่องจากทัศนคติทางศิลปะไม่ตรงกับ ฟาน ดุสเบิร์ก

จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาย้ายกลับไปอยู่ที่ปารีส จวบจนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น เขาจึงลี้ภัยจากปารีสไปอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

จนเมื่อสงครามโลกจบลงในปี 1940 เขาจึงย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ในช่วงนั้นเขาได้แรงบันดาลใจจากแสงสีและความครื้นเครงของเมืองนิวยอร์ก และดนตรีแจ๊ซ

จนทำให้เขาเพิ่มเส้นประของสีเพื่อสร้างจังหวะจะโคนลงไปในผลงานของเขา ซึ่งเป็นการแสดงถึงจังหวะชีวิตอันคึกคักวุ่นวายของผู้คนทั้งหลาย ประกายสีระยิบระยับวับวาวของแสงไฟนีออน และแรงขับเคลื่อนอันเร้าใจของดนตรีแจ๊ซที่อวลอายอยู่ในทุกอณูของมหานครแห่งนั้น

ดังจะเห็นได้ในผลงาน Broadway Boogie-Woogie (1942-1943) และ Victory Boogie Woogie (1942-1944 / ยังทำไม่เสร็จสิ้น) ของเขา

 

ในปี 1942 เขาได้มีโอกาสแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในแกลเลอรี่ Valentine Dudensing ที่นิวยอร์ก อีกสองปีให้หลังเขาก็เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมด้วยวัย 71 ปี

เหลือทิ้งไว้แต่เพียงผลงานและแรงบันดาลใจอันมากมายสู่คนรุ่นหลัง ซึ่งไม่เพียงจำกัดอยู่แค่ในวงการศิลปะ หากแต่เผื่อแผ่ไปยังวงการสร้างสรรค์อื่นๆ ด้วย

ไม่ว่าจะเป็นวงการแฟชั่น อย่างเช่นในปี 1930 แฟชั่นดีไซเนอร์ โลล่า พรูแซ็ก (Lola Prusac) ออกแบบกระเป๋าถือและกระเป๋าสะพายที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานรูปสี่เหลี่ยมสีแดง น้ำเงิน เหลือง และเส้นตัดดำบนพื้นสีขาวของมองเดรียน ให้กับแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Herm?s

หรือที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักที่สุดก็คือ แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง อีฟว์ แซ็งโลร็อง (Yves Saint Laurent) ที่หยิบเอาภาพวาด Composition with blue, red, yellow and black (1921) ของมองเดรียน มาออกแบบเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นปี 1965 ที่มีชื่อว่า The Mondrian Collection ได้อย่างเก๋ไก๋และลงตัว จนโด่งดังคับฟ้า และกลายเป็นงานแฟชั่นที่คลาสสิคตลอดกาลของวงการแฟชั่นไปในที่สุด

หรือแม้แต่วงการออกแบบผลิตภัณฑ์ นักออกแบบชื่อดังของโลกอย่าง เอลลา ยองเกรียส (Hella Jongerius), มาร์เทน บาส์ (Maarten Baas), โยริส ลาร์แมน (Joris Laarman) และ พีต เฮน เอ็ก (Piet Hein Eek) ต่างก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากหลักการของกลุ่ม De Stijl ของมองเดรียนมาแล้วทั้งสิ้น

รวมถึงวงการดนตรีเองก็เช่นกัน อาทิ ปกอัลบั้ม Young Modern ของวงร็อกสัญชาติออสเตรเลียนอย่าง Silverchair และปกอัลบั้ม Tone Soul Evolution ของวงอินดี้ร็อกสัญชาติอเมริกันอย่าง The Apples in Stereo ต่างก็ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของมองเดรียนมาด้วยทั้งนั้น

หรือแม้แต่วงการสถาปัตยกรรม อาคารอพาร์ตเมนต์ 17 ชั้นในสิงคโปร์ก็ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบโครงสร้างของอาคารมาจากโครงสร้างในภาพวาดของมองเดรียนด้วย

หรือที่ชัดเจนแจ่มแจ้งและโดดเด่นเป็นสง่าเอามากๆ ก็คืออาคารศาลาเทศบาลกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์

ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกระดับตำนานชาวอเมริกัน ริชาร์ด ไมเยอร์ (Richard Meier) ซึ่งสภาเทศบาลของกรุงเฮกได้ให้สองศิลปิน มาดจิ ฟูลลาร์ (Madje Vollaers) และ ปาสคาล ซวาร์ต (Pascal Zwart) แห่งสตูดิโอ VZ ร่วมกันสร้างสรรค์ภาพวาดของมองเดรียนขึ้นมาใหม่ลงบนผิวหน้าของอาคาร

เพื่อเป็นการแสดงการยกย่องศิลปินเรืองนามของโลกผู้นี้

ผลงานศิลปะกลางแจ้งชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลในธีมที่มีชื่อว่า Mondrian to Dutch Design เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 100 ปีของการถือกำเนิดของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะของดัตช์อย่าง De Stijl กลุ่มนักสร้างสรรค์หัวก้าวหน้าที่ร่วมกันนำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับงานศิลปะนามธรรมเพื่อจะช่วยผลักดันสังคมให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ซึ่งมองเดรียนเป็นศิลปินที่มีบทบาทสำคัญในกลุ่มนี้อย่างมาก

ผลงานภาพวาดขนาดมหึมาบนอาคารชิ้นนี้ถูกนิยามว่าเป็น “ภาพวาดของมองเดรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

เรียกว่าเป็นการยกย่องที่สมศักดิ์ศรีศิลปินนามธรรมระดับปรมาจารย์ผู้นี้จริงๆ อะไรจริง!