สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูขั้นเทพ (9)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เส้นทางสายเพาะพันธุ์ปัญญา การแสวงหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาระบบการศึกษาไทยยังเดินหน้าทอดยาวต่อไป การจัดเวทีนำเสนอผลงานโครงงานฐานวิจัยที่เน้นบทบาทของนักเรียนเป็นหลัก ครูเป็นพี่เลี้ยง ถูกรวบรวม นำเสนอ ถ่ายทอด เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ให้กับผู้ร่วมทางที่เดินกันมาแล้วและผู้ร่วมทางคนใหม่ที่มองเห็นแสวงสว่างเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ

ด้วยการเปิดห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา 9 ห้องในภาคบ่าย

ผมรายงานบทสรุปสาระและบรรยากาศไปบ้างแล้วถึงห้องที่ 1 และห้องที่ 2

สัปดาห์นี้มาต่อกัน ห้องที่ 3 หัวข้อ การสร้าง PLC Network บนฐาน ICT รับผิดชอบจัดการโดยศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

ก่อนคุยต่อมีข่าวดีเล่าสู่กันฟัง ผู้ติดตามข่าวสารวงการศึกษาไทยบางท่านอาจทราบแล้ว แต่สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบและน่าจะร่วมแสดงความยินดีไปด้วยกันกับเด็กนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีการแข่งขันระดับโลกหมาดๆ ล่าสุด

เวทีประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก (The Intel International Science and Engineering Fair 2017 (Intel Isef)) ที่นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคม มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,800 คน ใน 77 ประเทศเข้าร่วม โดยการประสานของหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สนับสนุนการจัดส่งเข้าประกวด

มีเด็กนักเรียนไทยไทยได้รับรางวัล 3 รางวัล

1. รางวัลที่ 4 สาขาสัตวศาสตร์ จากโครงงาน “การย่อยสลายโฟมโดยตัวอ่อนแมลงปีกแข็งชนิด Zophobasmorio (หนอนนกยักษ์)” ผลงานของ น.ส.นุชวรา มูลแก้ว และ น.ส.จิตรนุช ไชยราช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง

2. รางวัลที่ 4 สาขาเคมี จากโครงงาน “การพัฒนาเซลล์สารกึ่งตัวนำสำหรับกำจัดสีย้อมอุตสาหกรรมในสภาวะคลื่นแสงวิสิเบิลโดยกระบวนการโฟโตอิเล็กโตรคะตะไรซิล” ผลงานของ น.ส.ปรียาภรณ์ กันดี น.ส.ณิชากรณ์ เขียวชา และ น.ส.พิมพ์โพยม สุดเจริญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี

3. รางวัลสเปเชียล อะวอร์ด ด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนสาขาพืชศาสตร์ มอบให้โดย มอนซาโต้ บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร โครงงานสารชีวภาพของสารสกัดหยาบจากหญ้าสาบแร้งควบคุมสาเหตุวงจรการเกิดโรคใบหงิกในมะเขือเทศพันธุ์สีดา ของ น.ส.นฤภร แพงมา น.ส.จรรยพร โกฏิมนัสวนิชย์ และ นายวิชชากร นันทัยเกื้อกูล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ครับ ที่ผมนำเรื่องนี้มาเล่าต่อ นอกจากจะร่วมแสดงความยินดีและชื่นชมความสามารถของนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลทุกคน ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล หนึ่งในเวทีโลก ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศแล้ว

ก็เพราะเด็ก 2 คนแรกจากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย เป็นนักเรียนห้องเพาะพันธุ์ปัญญา รุ่นล่าสุด ปี 2559 ภายใต้การส่งเสริม สนับสนุนของผู้บริหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มครูแกนนำของโรงเรียน นำโดย ครูนก รัชนก สุวรรณจักร์ เจ้าของวลี นักเรียนเขียน ครูอ่าน ครูเปลี่ยน ที่ผมเล่าถึงเธอเมื่อตอนที่แล้ว

ความสามารถของนักเรียนเป็นผลพวงจากกระบวนการเรียนรู้แบบเพาะพันธุ์ปัญญาส่วนหนึ่งด้วยหรือไม่ ผู้ตอบได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นเด็กน้อยทั้งสอง ที่เราน่าจะได้อ่านบันทึกความคิดในล็อกบุ๊กของเธอต่อไป

 

กลับมาสู่บทสรุป การสร้าง PLC Network บนฐาน ICT ห้องที่ 3 บรรยายสรุปความคิดรวบยอด เพื่อเชิญชวนให้ผู้เข้าประชุมเดินเข้าห้องไว้ว่า

“นักกีฬาที่ซ้อมทุกวันย่อมเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุด ย่อมไม่ต่างกับที่ครูคือผู้รู้การทำอาชีพครูดีที่สุด เพราะไม่มีใครอีกแล้วนอกจากครูที่เรียนรู้จากการปฏิบัติหน้าที่อยู่ทุกวัน การพัฒนาครูคือให้ครูแลกเปลี่ยนกระบวนการที่ประสบความสำเร็จของตน ไม่ใช่ฟังถ้อยคำของคนที่ไม่เคยเป็นครูที่รู้แต่ทฤษฎี”

“ICT ย่อโลกฉันใด การเรียนรู้กันเองย่อมเป็นโอกาสฉันนั้น ICT เป็นแค่เปลือกที่หุ้มแก่น PLC ทำอย่างไรให้มองทะลุเปลือกไปเห็นแก่น ให้ ICT เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของ PLC ในการพัฒนาครูศตวรรษใหม่”

“หากการรู้จาก Google มีมากกว่าเสียงที่ออกจากปากครู การสร้าง PLC Network บนฐาน PLC จะต้องเป็นมากกว่าของเล่น หรือพิธีกรรม เพาะพันธุ์ปัญญาชวนเรียนรู้การใช้ ICT ให้เกิด PLC ที่พัฒนาครู”

“การศึกษาเราไม่ใช้เทคโนโลยีเท่าที่ควร เราใช้ ไลน์ เฟซบุ๊ก ความรู้เข้ามาไม่ได้มีการกรองเท่าที่ควรเลย ฉะนั้น อย่าติดกับดักไลน์ เฟซบุ๊ก มากเกินไป ลองโปรแกรมที่เพาะพันธุ์ปัญญาพัฒนาขึ้น” ตัวแทนของห้องทิ้งท้าย

 

ห้อง 4 โดยศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ หัวข้อ จิตตปัญญาศึกษา มีคำถามว่า จิตตปัญญา มันคืออะไรในทางการศึกษา

คำเฉลยบันทึกไว้บอกว่า “การศึกษาที่ทำให้ปัญญาภายนอกเติบใหญ่พร้อมปัญญาภายในเติบโตคือเป้าหมายของการศึกษา”

“จิตตปัญญาศึกษาคือเครื่องมือสำคัญ เพราะสร้างปัญญาของจิต เปลี่ยนจิต เปลี่ยนกระบวนทัศน์การเห็นนักเรียนและบรรยากาศในห้องเรียนแบบใหม่ ห้องเรียนที่ไร้อำนาจ ที่มีแต่แรงบันดาลใจการใฝ่รู้ใฝ่เรียน”

“จิตตปัญญาศึกษาเปลี่ยนครู ให้ครูเปลี่ยนนักเรียน เปลี่ยนผ่านการสร้างบรรยากาศการเรียนแบบใหม่ กิจกรรมจิตตปัญญาศึกษาเป็นเครื่องมือมหัศจรรย์ที่หลายคนคาดไม่ถึง”

ครูไสว อุ่นแก้ว ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนขึ้นเล่าบทสรุปของห้อง เธอเล่าเรื่องการฝึกกระบวนการ ประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ การทำโครงงานฐานวิจัย ตัวอย่างนักศึกษาครู มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสววรค์ เริ่มกิจกรรมด้วยการร้องเพลง และเสียงระฆัง แสดงละครนำก่อนทำกิจกรรมนำไปสู่โครงงาน ประเมินสภาวะจิตใจตัวเอง และผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเรียนหรือยัง

 

ต่อห้อง 5 ศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การออกแบบตัวแปรงานวิจัยด้วย Active Learning

บทสรุปรวบยอดความคิดบอกว่า Active Learning ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียน แต่ให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุขและสนุก ทำให้นักเรียนร่วมเป็นเจ้าภาพ สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง

“ครูต้องเข้าใจจริตการเรียนรู้ของนักเรียนที่หลากหลายแล้วออกแบบท่ามกลางความหลากหลายนั้น ให้นักเรียนทั้งหมดร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน ทักษะการสร้าง Active Learning ไม่สามารถเรียนจากเอกสารได้ มีเพียงการฝึกฝนเท่านั้น”

“ครูขั้นเทพคือครูที่ฝึกฝนตนเองให้จัดกระบวนการที่พลิ้วไปตามพลวัตของสภาพห้องเรียน นักเรียนรู้การออกแบบงานวิจัยที่มีตัวแปรต่างๆ จากกระบวนการ Active Learning ได้อย่างไร

“ครูใช้คำถามเราไปเรื่อยๆ ใช้เทคโนโลยีช่วย เจ้าของการเรียนรู้คือ ผู้เรียน กล้าคิด กล้าสะท้อน ท่ามกลางบรรยกาศแห่งความปลอดภัย”

เธอผู้แทนของห้องสรุป ก่อนลงจากเวทีท่ามกลางเสียงปรบมือต่อเนื่อง