ปริศนาโบราณคดี : ‘มะเมียะ’ ยังมีตัวตนอยู่จริงไหม? เมื่อถอดเรื่องราวดราม่าออก (2) / เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

‘มะเมียะ’ ยังมีตัวตนอยู่จริงไหม?

เมื่อถอดเรื่องราวดราม่าออก (2)

พลัดพรากเพราะแผกชาติพันธุ์

หรือฐานันดรแห่งรัก?

ประเด็นที่จะชวนให้ผู้อ่านช่วยกันวิเคราะห์ต่อเป็นลำดับที่ 4 ก็คือเรื่องปริศนาแห่งการพลัดพรากระหว่าง “เจ้าน้อยศุขเกษม” กับ “มะเมียะ” อันเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเกือบ 120 ปีก่อน

ว่าตกลงแล้วเป็นเรื่องใดกันแน่ ระหว่าง “ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์” ซึ่งควบรวมกับปมปัญหาเรื่อง “พม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ” กับอีกเหตุผลหนึ่งคือ “ฐานะทางสังคมคนละชนชั้น”?

ประเด็นนี้ปรากฏในบทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร ว่า “เจ้าชายเป็นราชบุตร แต่สุดที่รักเป็นพม่า ผิดประเพณีสืบมา ต้องร้างลาแยกทาง”

หนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” ของคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง กล่าวว่า

“กรณีเจ้าน้อยศุขเกษมไปแต่งงานกับผู้หญิงพม่าที่ถือสัญชาติอังกฤษที่เมืองมะละแหม่ง อาจเป็นเหตุให้กงสุลอังกฤษยื่นมือเข้ามาแทรกกิจการภายในได้ เพราะจะถือว่าเป็นบุคคลอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาลเขา และยังถูกลดศักดิ์ศรีลงเป็นบุคคลในอาณานิคม พลอยกระทบกระเทือนไปถึงตำแหน่งอันสูงส่งของเจ้าอุปราช (หมายถึงเจ้าแก้วนวรัฐ อันที่จริงขณะนั้นยังเป็นเจ้าราชวงศ์อยู่ คุณปราณีผู้เขียนเข้าใจคลาดเคลื่อนบางประการ) โดยตรง

เจ้าน้อยศุขเกษมเป็นถึงทายาทของเจ้าอุปราช ซึ่งจะต้องขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครในอนาคต ประชาชนชาวเชียงใหม่และภาคเหนือจะมีความรู้สึกเช่นไรต่อเจ้าผู้ครองนครของเขาที่มีศรีภริยาเป็นชาวพม่าถือสัญชาติอังกฤษ

หากเรื่องนี้รู้ถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และพระราชชายา เจ้าดารารัศมีที่กรุงเทพฯ ทั้งสองพระองค์คงไม่พอพระราชหฤทัย”

ประเด็นนี้ อาจารย์วรชาติ มีชูบท ได้แสดงความเห็นไว้สองส่วน ในหนังสือเรื่อง “เจ้านายฝ่ายเหนือและตำนานรักมะเมียะ” ว่า 1.การสมรสกับชาวต่างชาติถือเป็นเรื่องใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จริง แต่ 2.ยังไม่เห็นเอกสารรายงานจากข้าหลวงสยามประจำนครเชียงใหม่ที่บันทึกเรื่องนี้ให้สยามรับทราบ

อาจารย์วรชาติกล่าวว่า พระพุทธเจ้าหลวงย่อมไม่พอพระทัยอย่างแน่นอน หากทรงทราบว่ามีเจ้านายชั้นสูงไม่ว่าของทางสยามหรือหัวเมืองประเทศราชองค์ใดไปสมรสกับชาวต่างชาติ

แต่ในท้ายสุดก็ทรงยอมรับได้ เพียงแต่บุคคลผู้นั้นต้องพร้อมที่จะแลกกับการถูกตัดสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์

โดยอ้างกรณีที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ทรงเสกสมรสกับ “หม่อมคัทริน” (Catherine Desnitski) ชาวรัสเซีย ว่าเมื่อเจ้าฟ้าฯ เสด็จนิวัติพระนคร พ.ศ.2449 ก็ทรงนำหม่อมเดินทางกลับมาด้วย แต่โปรดให้พักรอหยั่งเชิงอยู่ที่สิงคโปร์ก่อน

จนวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีกระแสรับสั่งถามกรมขุนพิษณุโลกประชานาถว่า

“ยังไงเล็ก เขาว่ามีเมียแหม่มจริงไหม?”

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ตอบเสียงแหบๆ ว่า “อาจจะเป็นได้”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ โอรสของกรมขุนพิษณุโลกประชานาถและแหม่มคัทริน บันทึกถึงบรรยากาศช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานนั้นไว้ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ว่า

“ต่างคนต่างนิ่งกันหมด ทูลหม่อมปู่ (หมายถึงรัชกาลที่ 5) พระพักตร์ซีด และโดยไม่ตรัสอย่างใดอีก ได้เสด็จออกจากห้อง” แต่ต่อมาก็เมื่อสถานการณ์สงบลง กรมขุนพิษณุโลกประชานาถก็สามารถพาหม่อมคัทรินมาพำนักในพระนครด้วยกันได้

อาจารย์วรชาติ มีชูบท มองว่ากรณีของเจ้าน้อยศุขเกษมพามะเมียะเข้ามาครองรักกันนั้น แม้พระบิดาคือเจ้าแก้วนวรัฐจะยังมีสถานะเป็นเพียงเจ้าราชวงศ์เท่านั้น หาใช่ผู้สืบสันตติวงศ์ครองเมืองเชียงใหม่ไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดก็อาจถูกรัฐบาลสยามเพ่งเล็งตำหนิเอาได้

ในขณะที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้หยิบยกประเด็นนี้ไปวิเคราะห์ต่อในหนังสือ “100 ปีแห่งรัก หมะเมียะ-เจ้าศุขเกษม” สรุปใจความได้ว่า

ปมปัญหาหลักที่ต้องทำให้ส่งมะเมียะกลับเมืองมะละแหม่งนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องการเมืองระหว่างสยาม-พม่า ที่โยงใยไปถึงอาณานิคมอังกฤษเพียงด้านเดียว ทว่าน่าจะมีเรื่องฐานันดรแห่งรักที่ต่างชนชั้นวรรณะกันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยชี้ให้เห็นว่า

เมื่อเปรียบเทียบกับอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งน้องชายต่างมารดาของเจ้าน้อยศุขเกษม ชื่อเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ก็ยังเสกสมรสกับเจ้านางสุคันธาจากเชียงตุงได้ แถมงานวิวาห์นั้นเจ้าแก้วนวรัฐให้จัดงานอย่างเอิกเกริก มิได้มีการกีดกัน ด้วยเหตุที่ฝ่ายหญิงเป็นสตรีชั้นสูง

ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่าง “มะละแหม่ง” กับ “เชียงตุง” ในมุมมองของคนเชียงใหม่เมื่อ 100 ปีก่อนนั้นแตกต่างกันไหม

หรือคนในอดีตมองว่าเมืองมะละแหม่งห่างเหินต่อล้านนามากกว่าเมืองเชียงตุง? จึงยากแก่การหลอมหล่อให้เป็นเนื้อเดียวกัน เหตุที่เชียงตุงเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน จวบปัจจุบันผู้คนยังคงใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสาร

ทำให้ “คนเชียงตุง” ไม่ถูกมองว่าเป็น “คนอื่น” ผิดกับพวกมอญม่านที่มาจากมะละแหม่ง? เราจึงเห็นเจ้าชาย-เจ้านาง ระหว่างเชียงใหม่-เชียงตุง สมรสกันหลายคู่ โดยไม่ถูกคัดค้าน ทั้งที่เชียงตุงก็เป็นรัฐในอาณานิคมอังกฤษ

หรือว่าในความเป็นจริงแล้ว เพราะ “มะเมียะ” เป็นแค่สาวชาวบ้าน ลูกแม่ค้าขายบุหรี่ ฐานะยากจน จึงต้องถูกส่งกลับ โดยที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับนัยยะทางการเมืองเลย

เรื่องนี้ฝากให้ช่วยกันวิเคราะห์ต่อไปค่ะ

ขี่ช้าง หรือควรนั่งเรือหางแมงป่อง?

ประเด็นที่ห้า ที่ถกเถียงกันอย่างมากก็คือ “จริงละหรือที่มะเมียะกลับมะละแหม่งด้วยการขึ้นช้างที่ประตูหายยา ทำไมไม่ลงเรือหางแมงป่อง ล่องแม่ปิงอันเป็นเส้นทางลัดสุด?”

หนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” พรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

“เจ้านายข้าราชการและประชาชน รวมทั้งชาวพม่า มอญ เงี้ยว ต่องสู้ ที่ทราบข่าวการตัดสินใจเดินทางกลับมะละแหม่งของมะเมียะ… ต่างก็จับกลุ่มเดินมุ่งสู่ประตูหายยา ซึ่ง ณ ที่นั่นขบวนช้างอันเป็นพาหนะและคนติดตามควบคุมขบวนและเสบียงกรังได้ไปรอคอยอยู่…

ท้าวบุญสูงผู้มีหน้าที่ไปรับ (หมายถึงรับเจ้าน้อยศุขเกษมคราวเรียนจบจากมะละแหม่งแล้วพามะเมียะกลับมาเชียงใหม่ด้วย) ตอนเดินทางมาแต่แรก ต้องรับภาระนี้อีก ควบคุมลูกหาบประมาณ 20 คน รวมทั้งช้าง 3 เชือก”

อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้สืบประวัติของบุคคลชื่อ “ท้าวบุญสูง” ว่าเป็นใครมาจากไหน ทำไมคุณปราณีจึงได้อ้างอิงชื่อนี้หลายครั้ง

ได้คำตอบว่า ท่านมีนามเดิมชื่อ “หนานซาว” เป็นสล่าชาวไทขึน อยู่แถววัดนันตาราม ไม่ไกลจากประตูหายยา มีผลงานชิ้นโบแดงคือยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายขึ้นไปปิดทองบนช่อฟ้าของวิหารวัดพระธาตุดอยสุเทพเมื่อ พ.ศ.2434 (ก่อนยุคที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะมาสร้างทางขึ้นดอยสุเทพปี 2477)

เจ้าแก้วนวรัฐเห็นว่าหนานซาวได้อุทิศตนทำบุญใหญ่ในที่สูง คือสูงทั้งภูเขา และสูงทั้งต้องปีนหลังคาวิหาร จึงแต่งตั้งให้เป็น “ท้าววิเศษบุญสูง” (เรียกย่อๆ ว่าท้าวบุญสูง)

มีผู้ตั้งคำถามกันมากว่า เส้นทางของพ่อค้าวัวต่างที่ไปๆ มาๆ ระหว่างเชียงใหม่กับมะละแหม่งเมื่อ 100 ปีก่อนนั้นนิยมใช้เส้นใดระหว่าง

หนึ่ง เส้นทางน้ำ ลงเรือหางแมงป่องล่องไปตามน้ำแม่ปิง จากเชียงใหม่ ลงลำพูน เข้าตาก จากแม่ระมิงสู่แม่สอด แม่เมย และเข้ามะละแหม่ง หรือ

สอง เส้นทางบก บางช่วงลัดเลาะแม่น้ำ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ทิศใต้ ก็คือออกทางประตูหายยา อันเป็นประตูชั้นนอกของกำแพงเมืองเชียงใหม่ จากนั้นลงบ้านถวาย หางดง สันป่าตอง จอมทอง ฮอด แม่สะเรียง ขึ้นเขาเลียบน้ำแม่แจ่ม สู่แม่ยวม สู่สบเมย เข้ามะละแหม่ง

พบว่าเส้นทางบกนี้เป็นเส้นทางสายหลักของพ่อค้าวัวต่าง ที่ชาวล้านนายุคโบราณใช้เดินทางไปมาระหว่างมะละแหม่ง-เชียงใหม่จริง เหตุที่เส้นทางน้ำนั้นเต็มไปด้วยเกาะแก่งอันตรายบริเวณอำเภอสามเงา

โคลงมังทรารบเชียงใหม่ ยุคที่พม่าเกณฑ์ชาวล้านนาไปหงสาวดีหลังจากบุเรงนองยึดพม่าปี 2101 ก็พบว่ายังคงใช้เส้นทางจอมทอง ฮอด แม่สะเรียงอยู่

นี่คือคำตอบที่ว่า ทำไมการเดินทางกลับมะละแหม่งของมะเมียะจึงไม่ใช้เรือหางแมงป่อง แต่ขึ้นช้างที่ประตูหายยา

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ “พ่อน้อยสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร” (บิดาของจรัล มโนเพ็ชร) โดยอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ยืนยันว่า “ประตูหายยาเป็นเสมือนชุมทางสายใต้ของเมืองเชียงใหม่” เหตุที่บริเวณประตูหายยาในอดีตเป็นที่โล่งกว้าง มีศาลาใหญ่หลังคาสีแดงสำหรับเป็นที่พักคนเดินทาง

นอกจากนี้แล้ว ในวงเสวนาวิชาการปี 2546 งานครบรอบ 100 ปีความรักของเจ้าน้อยศุขเกษม-มะเมียะ ยังได้มีผู้เสนอเส้นทางสันนิษฐานอีกเส้นทางหนึ่งว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่

นั่นคือเมื่อออกจากประตูหายยา ลงไปหางดง สันป่าตอง จอมทองแล้ว แต่ไม่หักขวาไปทางตะวันตก ใช้วิธีลงใต้ไปเรื่อยๆ เข้าบ้านโฮ่ง ลี้ (สองเมืองนี้อยู่ในลำพูน) เข้าเถิน (อยู่ในลำปาง) ก็จะถึงตาก แม่สอด แม่เมย และมะละแหม่ง

ผู้เสนอมองว่าเส้นทางที่สองอาจจะโหดเกินไปสำหรับยุค 100 ปีก่อน จากจอมทองไปฮอด แม่สะเรียง ขุนยวมนั้นล้วนเป็นทางทุรกันดารต้องปีนป่ายภูเขาสูงชันตลอด แม้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อ 200 ปีก่อนจะเคยเป็นเส้นทางหลักของพ่อค้าวัวต่าง หรือ 400 ปีก่อนจะเป็นเส้นทางที่พม่าเคยเกณฑ์ชาวเชียงใหม่ไปเป็นเชลยศึกก็จริง

แต่เชื่อว่าคนเมื่อ 100 ปีก่อนย่อมรู้จักเส้นทางที่เชื่อมลี้-เถิน-ตาก ว่าลำบากน้อยกว่าเส้นฮอด-แม่สะเรียง ก็เป็นได้

ฉบับนี้ไขปริศนาเรื่องมะเมียะได้เพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ ฉบับหน้าจะมาเก็บอีก 3 ประเด็นที่เหลือ