หนุ่มเมืองจันท์ / แสงสุดท้าย : ความรักและความหวังในวิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

แสงสุดท้าย

ผมเพิ่งอ่านหนังสือ “วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย” จบ

หนังสือเล่มนี้หนา 624 หน้า

น่าจะเป็นหนังสือเล่มหนาที่สุดในรอบ 5 ปีที่อ่านจบ

ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะคนเขียนชื่อ “เสถียร จันทิมาธร”

ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะนิยายกำลังภายในเรื่อง “มังกรหยก”

“พี่เถียร” นำสุดยอดนิยายกำลังภายในชื่อดังของ “กิมย้ง” มาเล่าและวิเคราะห์ใหม่ในลีลา “ชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์”

เหมือนเป็นการชุบชีวิตใหม่ให้ “มังกรหยก” ผ่านตัวละครที่เปี่ยมด้วยสีสันอย่าง “เอี้ยก่วย”

ตอนอ่าน “มังกรหยก” นั้น “กิมย้ง” จะเล่าเรื่องแบบ “พระเจ้า”

คือ เป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของแต่ละบุคคล

แต่ “วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย” นั้นเหมือนเป็นการเล่าใหม่ผ่านมุมมองและประสบการณ์ตรงของ “เอี้ยก่วย”

ใครที่เป็นแฟน “มังกรหยก” จะอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างสนุกและมีความสุข

เพราะเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปตอนเด็กเลยครับ

จำได้ว่าผมค้น “มังกรหยก” มาจากชั้นหนังสือของป๋า

ไล่อ่านตั้งแต่ภาค 1 ภาค 2 และ “ดาบมังกรหยก”

อ่านแบบไม่ได้หลับได้นอนเลย

คนที่ติดนิยายกำลังภายในจะเข้าใจดี

เวลานอน คือ การหลับเพื่อรอจะตื่นมาอ่านนิยายต่อ

แต่ผมเป็นคนที่ระบบความจำมีปัญหา

เรื่องข่าว บุคคล เรื่องราว จะจำได้ดี

แต่นิยาย หรือหนังจะจำเรื่องไม่ค่อยได้

เรื่อง “มังกรหยก” ก็เช่นกัน ผมจำความสนุกตอนอ่านได้

แต่จำตัวละครหรือเรื่องราวได้ลางๆ

การอ่าน “วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย” จึงเหมือนการระลึกชาติอีกครั้ง

แต่ตอนที่เจอความหนา 624 หน้า บอกตามตรงว่าผมไม่แน่ใจว่าจะอ่านจบไหม

พอลงมืออ่านจริง

ลื่นไหลมากเลยครับ

“พี่เถียร” ใช้การเขียนแบบซอยละเอียดเป็นตอนสั้นๆ

624 หน้า แบ่งเป็น 198 ตอน

เท่ากับตอนละประมาณ 3-4 หน้า

เขียนแบบ “คนรุ่นใหม่” จริงๆ

“เอี้ยก่วย” หรีอ “จอมยุทธ์เจ้าอินทรี” เป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยสีสันของมังกรหยกภาค 2

ไม่ซื่อๆ ตรงไปตรงมาแบบ “ก๋วยเจ๋ง” พระเอกของภาคแรก

เขาโดนกระทำ โดนย่ำยี

สู้และเรียนรู้แบบนักสู้ข้างถนน

และที่สำคัญเป็น “ขบถ”

ปฏิเสธขนบธรรมเนียมเก่าๆ แทบทุกอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธอาจารย์ที่แกล้งตนเอง

ทั้งที่ในวิถีเก่าของจอมยุทธ์

ใครที่คุกเข่าคำนับคนใดเป็น “อาจารย์” จะต้องนับถือคนนั้นเป็น “อาจารย์” ตลอดไป

แต่ “เอี้ยก่วย” ไม่

“เตี้ยจี้เก่ง” อาจารย์คนแรกแกล้งเขาด้วยการไม่ยอมสอนวิทยายุทธ์ให้ “เอี้ยก่วย” จนเขาเกือบตายในการประลองยุทธ์ของศิษย์ในสำนัก

คนแบบนี้ต่อให้เป็น “อาจารย์” เขาก็ไม่นับถือ

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “เอี้ยก่วย” กับ “เซียวเล้งนึ่ง”

ทั้งคู่รักกัน

แต่ “เซียวเล้งนึ่ง” เป็น “อาจารย์”

“เอี้ยก่วย” เป็น “ลูกศิษย์”

ตามขนบธรรมเนียมประเพณี “อาจารย์” กับ “ลูกศิษย์” รักกันไม่ได้

แต่ “เอี้ยก่วย” ไม่ยอม

เขาถือคติว่า “รักก็คือรัก หลงก็คือหลง”

…ถ้าถามชาวประมงก็คงไม่เข้าใจ

“เอี้ยก่วย” ยอมเป็น “ปลาวาฬ” ตายน้ำตื้นเพราะความรัก

ความเป็น “ขบถ” ของ “เอี้ยก่วย” ตอนที่อ่านครั้งแรก ยังเฉยๆ

แต่พอมาอ่านซ้ำวันนี้

ยอมรับเลยว่า “กิมย้ง” ทันสมัยมาก

“พี่เถียร” ใช้คำว่า “เป็นสีสันอันเปล่งความเป็นขบถออกมาครบถ้วน”

ระนาบเดียวกับบทสรุป

“เพราะฉันขบถ ฉันจึงมีชีวิตอยู่”

มีหลายเรื่องที่ผมชอบในเล่มนี้

แต่ที่ประทับใจที่สุดกลับเป็นเรื่อง “ความรัก”

“เอี้ยก่วย” กับ “เซียวเล้งนึ่ง” โดนพิษหนามดอกรักด้วยกัน

มี “หญ้าไส้ขาด” ที่ขจัดพิษได้

แต่กินได้คนเดียว

“เซียวเล้งนึ่ง” อยากให้ “เอี้ยก้วย” กิน เลยออกอุบายเขียนข้อความไว้ที่หน้าผา

“16 ปีผ่านไปพบกันใหม่ ณ ที่นี้

รักผูกพันนานปี อย่าให้ผิดคำมั่น”

แล้วโดดลงจากหน้าผาไป

“เอี้ยก่วย” ฟื้นขึ้นมาเห็นข้อความของ “เซียวเล้งนึ่ง” จึงยอมกินยาแก้พิษ เพื่อจะได้มีลมหายใจไปเจอกับสตรีที่เขารัก

แม้จะต้องใช้เวลา 16 ปีก็ตาม

“เซียวเล้งนึ่ง” คิดว่าถ้า “เอี้ยก่วย” โชคดีมีชีวิตรอด

หลังจากผ่านวันเวลาอันยาวนาน 16 ปี ต่อให้ยังคิดถึงนางไม่เสื่อมคลาย ก็คงไม่ถึงขั้นพลีชีพบูชารัก

แต่คำถามก็คือ ทำไมต้อง 16 ปี

ทำไมไม่ 8 ปี

คำตอบก็คือ เธอรู้ว่านิสัยของ “เอี้ยก่วย” ร้อนแรงปานเปลวเพลิง เวลาแค่ 8 ปีคงไม่พอ

ฉากที่ผมชอบที่สุด คือ ตอนที่ “เอี้ยก่วย” มารอที่หุบเขาสิ้นไมตรีก่อนกำหนด 5 วัน

พอถึงวันนัด เขาขึ้นไปที่ผาลำไส้ขาดตั้งแต่รุ่งเช้า

ตั้งแต่รุ่งเช้าถึงยามเที่ยง และจากยามเที่ยงถึงพลบค่ำ

ทุกครั้งที่ลมพัดยอดไม้ไหว บุปผาร่วงลงในพนา

หัวใจ “เอี้ยก่วย” เต้นระทึก กระโดดปราดขึ้นสอดส่ายสายตาขึ้นโดยรอบ

แต่ไหนเลยจะมีร่องรองของเซียวเล้งนึ่งแม้แต่เงา

“แลเห็นอาทิตย์ลาลับกับขุนเขาไปอย่างช้าๆ หัวใจของเอี้ยก่วยก็ตกวูบตามดวงสุริยา เมื่อถูกขุนเขาบดบังไปครึ่งดวง

เอี้ยก่วยส่งเสียงร้องมาคำหนึ่ง

วิ่งตะบึงสู่ยอดเขา พาตัวไปอยู่ที่สูง

เห็นดวงอาทิตย์กลมโตเต็มดวงใหม่ค่อยคลายใจลงบ้าง

ขอเพียงแค่อาทิตย์ไม่ลับขุนเขา

วันที่ 7 เดือน 7 ยังไม่ถือว่าผ่านพ้นไป”

เป็นฉากที่โรแมนติกมาก เพราะแสดงถึงความรักของผู้ชายคนหนึ่งที่มีต่อหญิงสาวของเขา

ลองนึกเป็นภาพในหนังสิครับ

“เอี้ยก่วย” ยืนมองเห็นพระอาทิตย์กำลังลับทิวเขา

ในใจคิดว่าถ้าตะวันลับเมื่อไร ก็แสดงว่าหมดวัน

“เอี้ยก่วย” ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ

แม้จะห้ามตะวันตกดินไม่ได้

แต่จะทำอย่างไรให้แสงยังคงอยู่นานที่สุด

วิธีของเขาก็คือการวิ่งตะบึงขึ้นยอดเขา

จากยอดเขาหนึ่งไปอีกยอดเขาหนึ่ง

ไปหาจุดที่สูงที่สุด

เพื่อไม่ให้ยอดเขาใดบดบังแสงตะวันได้

“เอี้ยก่วย” คงคิดว่า หากพระอาทิตย์จะสิ้นแสงลง

ก็ขอให้เขาได้เห็น “แสงสุดท้าย”

เป็นคนสุดท้ายในโลกใบนี้

นี่คือ อานุภาพแห่ง “ความหวัง”

และ “ความรัก”