Virus Disruption นำมาซึ่ง Business Model ใหม่ๆ / บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Virus Disruption

นำมาซึ่ง Business Model ใหม่ๆ

 

ในช่วงเวลาแสนยากลำบาก จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่รู้จักกันในชื่อ COVID-19 หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Coronavirus 2019 หรือ SARS CoV-2)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระบาดระลอกที่ 2 ในไทย และทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งหมดกำลังพังพินาศ!

McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาการบริหารธุรกิจชั้นนำของโลก ได้เปิดเผยรายงานวิจัยอนาคต คาดการณ์ถึงผลสะเทือน และทำนายอัตราการหดตัวของเศรษฐกิจโลก จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนี้

1. Commercial Aerospace Industry หรืออุตสาหกรรมการบินและอวกาศเชิงพาณิชย์ หดตัว 48%

2. Oil & Gas Industry หรืออุตสาหกรรมปิโตรเลียม หดตัว 45%

3. Air & Travel Industry หรืออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว หดตัว 40%

4. Insurance Industry หรืออุตสาหกรรมประกันภัย หดตัว 32%

5. Bank Industry หรืออุตสาหกรรมการธนาคาร หดตัว 30%

6. Real Estate Industry หรืออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ หดตัว 29%

7. Automotive & Assembly Industry หรืออุตสาหกรรมรถยนต์ หดตัว 29%

8. Agriculture Industry หรืออุตสาหกรรมการเกษตร หดตัว 28%

9. Appeal, Fashion & Luxury Industry หรืออุตสาหกรรมแฟชั่น หดตัว 27%

10. Healthcare Facilities & Services Industry หรืออุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ หดตัว 26%

McKinsey สรุปว่า กลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ของโลก ได้รับผลกระทบทั้งหมด และโอกาสที่อุตสาหกรรมเหล่านี้จะฟื้นตัวเป็นไปได้ยาก แม้กระทั่งทรงตัวก็ยังมีน้อยมาก!

 

มองดูสถานการณ์ที่ McKinsey คาดการณ์ ทำให้ผมนึกถึงศัพท์คำหนึ่งของ Iain Macleod ที่คิดค้นขึ้นในปี ค.ศ.1965 นั่นคือ Stagflation ครับ

Stagflation เป็นคำที่ผสมขึ้นมา ระหว่างคำว่า Stagnation ที่หมายถึง ภาวะ “เศรษฐกิจชะงักงัน” หรือ “ตกต่ำ” กับคำว่า Inflation หรือภาวะ “เงินเฟ้อ” ซึ่งโดยปกติแล้ว ภาวะ “เศรษฐกิจชะงักงัน” กับภาวะ “เงินเฟ้อ” นั้นเป็นอิสระต่อกัน

ทว่าในห้วงเวลานี้ ภาวะ “เศรษฐกิจชะงักงัน” กับภาวะ “เงินเฟ้อ” ได้เกิดขึ้นพร้อมกันในระบบเศรษฐกิจโลกจากพิษ COVID-19

อย่างไรก็ดี Stagflation เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งในขณะนั้น สินค้าและบริการ “มีราคาสูง” ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ “มีไม่มากพอ”

Stagflation ในยุค 1960 จึงส่งผลให้เกิด “สภาวะว่างงาน” ขึ้นทั่วทุกมุมโลก กลายเป็นวิกฤตการณ์อันสุดแสนจะเลวร้าย นำมาสู่ปัญหาทางสังคมนานัปการ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Stagflation เป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจโลกต่อมานานนับ 10 ปีเลยทีเดียว

สภาพปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของ Stagflation ที่สร้างให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจจากพิษ COVID-19 มีคำถามตามมาว่า แล้วโลกของเรา จะก้าวเดินอย่างไรต่อ?

การจะตอบคำถามนี้ได้ อย่างน้อย มีตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมอยากนำเสนอ

 

อย่างที่ทราบกันดีว่า วิกฤต COVID-19 ทำให้รูปแบบการทำงานของ Office ต่างๆ เปลี่ยนไปเป็นแบบ Work from Home

และหลังจาก Work from Home กันมาระยะหนึ่ง องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่ง ได้เล็งเห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสำนักงานลดลงเป็นอย่างมาก หากให้พนักงาน Work from Home

ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ เช่น กระดาษถ่ายเอกสาร รวมถึงค่าเช่าที่จอดรถซึ่งเคยจ่ายให้กับพนักงาน

ขณะเดียวกัน บรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ก็เล็งเห็นเช่นกัน ว่าหลัง COVID-19 การทำ Home Office หรือเปิดสำนักงานเองที่บ้าน ดีกว่าการจ่ายค่าเช่าให้กับสำนักงานข้างนอก

พูดอีกแบบก็คือ ต่อไปนี้ SME จะใช้ “บ้าน” เป็น “สำนักงาน” กันมากขึ้น

 

Rajeev Dhawan ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ Georgia State University ชี้ว่า จากพิษ COVID-19 ขณะนี้ เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยอย่างหนัก ต้องใช้เวลา 12-18 เดือน ในการฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ทว่า “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง” กลับได้รับผลกระทบน้อยมาก

สอดคล้องกับ Master Builders Queensland ที่บอกว่า วิกฤติ COVID-19 ทำให้หลายธุรกิจปิดตัวลง บางแห่งต้องมีการดัดแปลงธุรกิจชั่วคราวเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะ “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง”

เช่นเดียวกับ Construction DIVE ที่ชี้ว่า COVID-19 ได้นำมาซึ่งนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สถาปัตยกรรมการก่อสร้าง” จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแน่นอน

นั่นก็คือ องค์กรใหญ่เน้น Work from Home ส่วน SME ก็จะเปลี่ยนตัวตนเข้าสู่ Home Office

ผมจึงวิเคราะห์ว่า “ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง” จะรุ่งอย่างคาดไม่ถึง

เนื่องจาก “บ้าน” นับล้านหลัง จะต้องถูก Renovate ใหม่โดยฝีมือ “ช่างรับเหมา” คือปรับจาก “ที่อยู่อาศัย” เป็น “บ้านกึ่งสำนักงาน” นั่นเองครับ!

 

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ บรรดาห้างสรรพสินค้า จากเดิมที่ชอบเปิดตัวกันอย่างอลังการดาวล้านดวง และเน้นรูปแบบการก่อสร้างบนพื้นที่ขนาดใหญ่ จะเปลี่ยนเป็นขนาดเล็กลง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Community Mall ที่เคย Hit อยู่ช่วงหนึ่ง และซาไป จะกลับมา Hot ใหม่

เพราะ COVID-19 ที่นอกจากจะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค จากการเดินห้าง มาเป็นการสั่งสินค้ามาส่งที่บ้าน หรืออย่างน้อยไปเดินห้างก็จะไม่เดินนาน คือมาซื้อของที่ต้องการแล้วรีบกลับ

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ผู้บริโภคจะไม่ไป “ใช้ชีวิตในห้าง” เหมือนที่เคยมา

ธุรกิจภาคบริการที่คนไทยมีพรสวรรค์ด้านนี้ จะกระทบทั้งหมด เป็นลูกโซ่ และเป็น Domino ธุรกิจภาคบริการจึงต้องเปลี่ยน Mindset กันใหม่ทั้งหมดครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generation Y และ Generation Z จะเปลี่ยน Mindset จากเดิมที่เคยคิดถึงแต่สถานการณ์ใกล้ตัว จะเปลี่ยนรูปแบบการวางแผนชีวิตมากขึ้น

Mindset ของคน Generation ใหม่ จากเดิมที่คิดแค่เรียนหนังหรือ หรือทำงาน และใช้ชีวิตเฉพาะหน้า ใช้จ่ายวันต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าไม่ค่อยมีเงินเก็บกัน

แต่หลังจาก COVID-19 ครั้งนี้ Generation Y และ Generation Z จะมองไปข้างหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะมีการวางแผนทางการเงินมากขึ้น การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การกินข้าว ดื่มกาแฟ จะไม่ใช่รูปแบบการตอบสนองความสุขแบบเก่า

การอวดรูปถ่ายสวยๆ ในฉากร้านกาแฟ หรือจานอาหารบน Social Media ก็จะลดน้อยถอยลง เพราะคน Generation ใหม่ จะหันไปให้ความสนใจกับการบริโภคเพื่อสุขภาพมากขึ้น ลดฟุ่มเฟือย

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ สถานการณ์หลังยุค COVID-19 ไม่ว่าจะเป็น การหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลกตามการคาดการณ์ของ McKinsey หรือการเกิดขึ้นของ Stagflation จากทฤษฎีของ Iain Macleod

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง COVID-19 เป็น Virus Disruption เหมือนกับ Technology Disruption ที่จะนำมาซึ่ง Business Model ใหม่ๆ ทั้งที่คาดถึง และคาดไม่ถึง

จากตัวอย่างที่ยกมา ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และห้างสรรพสินค้า หรือร้านกาแฟ ในยุค COVID-19 นี้ จึงค้นพบ Business Model ใหม่ ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว

นี่คือผลพวงของ Virus Disruption ที่นอกจากเศรษฐกิจจะพังพินาศแล้ว “งานใหม่” ที่ “งอก” ออกมาจากภารกิจเดิมที่คุ้นชิน คือ “งานป้องกันไวรัส” ทำให้หลายคนปรับตัวไม่ได้!

หลายท่านยังไม่รู้ตัว ว่าโลกไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว แม้จะมีวัคซีน COVID-19 แต่โรคใหม่ก็รอจะอุบัติขึ้นอีกในวันข้างหน้า

เพราะสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไวรัสเร่งพัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบนั่นเอง!