เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีก 1ปี | ทำไม ไม่มีใครเชื่อคำมั่นกองทัพเมียนมาที่จะให้มีเลือกตั้งใน 1 ปี?

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีก 1 ปี

หลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

กองทัพเมียนมาแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นให้คำมั่นว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หลังจากสิ้นสุดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่บังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี

และเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วกองทัพจะมอบอำนาจในการบริหารประเทศให้กับผู้ชนะการเลือกตั้งต่อไป

แถลงการณ์ดังกล่าว ดูเหมือนประชาคมโลกจะยังไม่ปักใจเชื่อในคำสัญญาดังกล่าว

เพราะมีบทเรียนที่จะหาความเชื่อถือจากฝ่ายรัฐประหารยาก

เชื่อกันว่าชาวเมียนมาอาจจะต้องรอกันยาว

ยาวเหมือนคนไทย หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถูกกล่อมด้วยเพลง “เราจะทำตามสัญญา” โดยเฉพาะการวางโรดแม็ปจะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

แต่เอาเข้าจริงคำสัญญาดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ

ตอนแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศต่อสาธารณะ จะให้มีการเลือกตั้งในช่วงสิ้นปี 2558 ถึงต้นปี 2559 แต่ที่สุดก็ “เป็นไปไม่ได้”

มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปว่าจะเป็นราวเดือนสิงหาคม 2559

แต่ก็เหลวอีก เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) “คว่ำกลางสภา” ด้วยเหตุ “ผู้ใหญ่ในรัฐบาล คสช.” ไม่พอใจเนื้อหาที่ไม่ตอบสนอง “เขาอยากอยู่ยาว” ตามคำพูดของนายบวรศักดิ์

จึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญ ชุดใหม่ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ามาจัดทำแทน

พร้อมกับคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายใน 20 เดือน หรือประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2560

โดย พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับนำกรอบเวลานี้ไปแจ้งต่อนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติขณะนั้น

แต่เอาเข้าจริง เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยผ่านประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 การเลือกตั้งกลับถูกยืดไปปลายปี 2560 ด้วยข้ออ้างจัดทำกฎหมายลูกไม่ทัน

และก็ต้องชะลอออกไปไม่มีกำหนด เมื่อเกิดกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต

กระทั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ลงวันที่ 1 เมษายน 2560 และมีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

โรดแม็ปเลือกตั้งรอบใหม่จึงเกิดขึ้น ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ไปพบปะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐที่ทำเนียบขาว เมื่อตุลาคม 2560

พล.อ.ประยุทธ์ประกาศว่าประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้ง

แต่ก็ต้องเลื่อนอีก เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืดการประกาศใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. ไปอีก 90 วัน

พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาแก้ตัวว่า ไม่ได้เลื่อนโรดแม็ป แต่เป็นเรื่องกระบวนการทางกฎหมาย รัฐบาลไม่สามารถไปบังคับ สนช.ได้

แถมยังปฏิเสธว่า ไม่เคยสัญญาว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร

กระทั่งปี 2562 นั่นแหละ จึงมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562

แต่จนบัดนี้ ประเทศไทยก็ยังไม่มีการเลือกตั้งทุกระดับชั้น ยังไม่มีการเลือกตั้งเทศบาล และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ดังนั้น ที่ฝังหัวชาวบ้านว่าจะทำตามสัญญา จนบัดนี้ก็ยังไม่หมดสิ้นขบวนความ

นี่ยังไม่รวมถึงการซ่อนเร้นการสืบทอดอำนาจไว้ในกฎหมายตั้งแต่สูงสุดคือรัฐธรรมนูญ ลงไปถึงกฎหมายลูก ที่ต้องมีการแก้ไขอยู่ตอนนี้

ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่

ดังนั้น เมื่อได้ยินคำสัญญาของคณะรัฐประหารเมียนมา จะให้มีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี

ดูเหมือนคนไทยจำนวนไม่น้อย ไม่เชื่อ

ด้วยเพราะมีประสบการณ์มากับตัว ว่าการจะได้อำนาจของตนเองกลับคืนมาหลังการรัฐประหารนั้น ช่างยากเย็นยิ่ง

และสำหรับกองทัพพม่าที่คุ้นชินกับการปกครองประเทศด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จมาอย่างยาวนานและโดยเข้มงวด จะคืนอำนาจให้กับชาวเมียนมาง่ายๆ นั้น

ไม่น่าจะเป็นไปได้

นี่จึงทำให้ประชาคมโลกพากันกดดันไปยังกองทัพพม่า รวมถึงฝ่ายต่างๆ ในประเทศไทย ที่ร่วมแสดงจุดยืนดังกล่าว

อย่างนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง ม.รังสิต บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้มีประสบการณ์การทำรัฐประหารและรู้ผลพวงที่ตามมาของประเทศ ว่าการรัฐประหารไม่ได้ช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้น เศรษฐกิจแย่ลง ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ สังคมแตกแยกมากขึ้น สมควรมีท่าทีต่อการรัฐประหารเมียนมา ดังนี้

1. แสดงท่าทีที่ชัดเจนในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตยว่ารัฐบาลไทยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยการรัฐประหาร

2. แสดงเจตจำนงว่าอยากให้เมียนมาคืนสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว โดยการปล่อยตัวนักการเมือง ให้มีการประชุมสภา และให้สภาเป็นที่ตัดสินทางการเมือง

3. ยุติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความช่วยเหลือทุกอย่างแก่เมียนมา หากรัฐบาลที่ปกครองประเทศยังเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

4. ในฐานะที่เป็นชาติผู้นำอาเซียน เรียกร้องให้ประเทศในประชาคมอาเซียนดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับไทย

เพราะเคยรัฐประหารแล้วเห็นผลเสีย จึงควรแนะนำให้เมียนมาได้เรียนรู้บทเรียนที่ตนเคยผ่าน ด้วยความปรารถนาดี หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่กล้า หรือยังคิดช้า ก็สมควรที่ประชาชนไทยจะช่วยกันส่งเสียงให้ท่านได้ยิน

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนจะไม่ขานรับและแสดงท่าทีระมัดระวัง โดยหลบไปยืนอยู่ข้างหลังสมาคมอาเซียน ที่ชูธงไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก เข้ามามีบทบาทในการทวงคืนประชาธิปไตยให้ชาวเมียนมาด้วย

ทั้งยังแสดงท่าทีปรามๆ ว่า ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเสนอข่าวอย่างระมัดระวังที่สุด เพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบทั้งการเสียประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและประชาชนที่เป็นเพื่อนบ้านด้วยกัน ขณะเดียวกันเป็นเรื่องของอาเซียนด้วย จึงไม่อยากให้เกิดการขยายความขัดแย้งในประเทศของเรา

แต่นั่นก็คงจะไปหยุดฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมกันส่งกระแสกดดันไปยังกองทัพเมียนมาไม่ได้

เพราะด้านหนึ่ง ก็หวังจะสะท้อนกลับมายังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่ถูกจับเป็นคู่แฝดกับกองทัพเมียนมาไปแล้ว

ดังนั้น จึงไม่เหนือความคาดหมายที่จะมีการชุมนุมทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารของประเทศเมียนมา ที่หน้าสถานทูตเมียนมา ถนนสาทรเหนือ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่งฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์ และต่อต้านการรัฐประหาร มากันพร้อมหน้า

ทั้งแกนนำกลุ่มราษฎร กลุ่ม We Volunteer หรือวีโว่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า น.ส.พรรณิการ์ วานิช นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำคณะราษฎร ฯลฯ โดยต่างคัดค้านการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา

ทั้งนี้ นายธนาธรบอกว่า ไทยเป็นตัวอย่างที่ดีว่ารัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ ไม่ใช่วิธีสร้างความสามัคคีในชาติ ในทางตรงกันข้าม กลับทำให้เกิดความแตกแยกรุนแรง อยากฝากทั้งคนไทย เมียนมา และชาวโลกว่า ภัยคุกคามประชาธิปไตยเกิดขึ้นที่ใดก็เป็นภัยทั่วโลก ประชาธิปไตยไม่ใช่ได้มาฟรีๆ แต่เกิดจากการต่อสู้ของคนรุ่นก่อนหน้า มีคนหลั่งเลือดมาก่อนเรา ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงต้องมีคนปกป้อง ถ้าเราไม่ปกป้อง เราจะเสียมันไป

สอดคล้องกับนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ที่บอกว่า เราไม่ต้องการให้พี่น้องชาวเมียนมาต้องเผชิญกับสิ่งที่เป็นอยู่ เราต้องการประชาธิปไตยสำหรับทุกชาติไม่ว่าชาติไหน จึงขอสนับสนุนการต่อสู้เพื่อต้านเผด็จการของพี่น้องเมียนมาซึ่งมีความคล้ายคลึงกับไทยคืออยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมานานหลายสิบปี เราต้องร่วมสู้ไปด้วยกัน เพื่อให้เราหลุดพ้นจากการปกครองที่ชั่วร้าย

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมก็ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนพร้อมโล่ได้เข้ากระชับพื้นที่ เนื่องจากอ้างว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ทำให้เกิดการปะทะกับผู้ชุมนุม มีการจับกุมผู้ชุมนุมอย่างน้อย 3 ราย ตำรวจได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ 14 ราย

จากเหตุการณ์ดังกล่าว กลายเป็นวิวาทะของ 2 ฟาก

น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่าการใช้กำลังสลายการชุมนุมและจับกุมดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เลือกปกป้องและยืนอยู่ข้างระบอบเผด็จการและการรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะในปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ก็เข้าสู่อำนาจโดยการใช้กำลังยึดอำนาจเช่นกัน

ขณะที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โต้ว่า ในบรรยากาศที่ทั่วโลก รวมถึงชาวไทย กำลังส่งความห่วงใยถึงพี่น้องชาวพม่านั้น กลับมีอีห้อยอีโหนเรียงหน้าออกมาโหนรัฐประหาร เชื่อมโยง เปรียบเปรยรัฐประหารของพม่ากับไทย

จากเรื่องเมียนมา ซึ่งเป็นเรื่องภายนอกประเทศ แต่วนกลับมาเป็นเรื่องภายในประเทศ

ด้วยเพราะมีลักษณะคู่แฝดของการปฏิวัติรัฐประหาร

ที่แม้ในฟากของไทยจะคลี่คลายไประดับหนึ่ง คือมีการคืนประชาธิปไตยมาบางส่วน

แต่ก็ยังมีส่วนของการ “สืบทอด” อำนาจดำรงอยู่

ทำให้มีการต่อต้านคัดค้านอย่างต่อเนื่อง

และส่งเสียงเตือนอย่าไปเชื่อคำสัญญาใดๆ จากฝ่ายกุมอำนาจ

รวมถึงคำมั่นของกองทัพเมียนมาที่จะให้มีการเลือกตั้งใน 1 ปีที่อาจจะไม่เป็นจริง