กวีนิพนธ์ของมุฮัมมัด อิกบาล (2) / มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กวีนิพนธ์ของมุฮัมมัด อิกบาล (2)

 

“เจ้านั้นหิวกระหายไล่ตามดอกไม้ตูมดอกเล็กๆ แต่พวกเขาเป็นทั้งสวนและบุปผามาลีทุกดอก

ผู้คนในโลกยังจดจำเรื่องราวกิตติคุณของพวกเขามาตราบจนทุกวันนี้

กิจอันเที่ยงธรรมของพวกเขาถูกตราตรึงไว้ในม้วนบันทึกแห่งประวัติศาสตร์”

นอกจากนี้ อิกบาลมีความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้แลเห็นชาวมุสลิมกำลังถูกดูดกลืนให้ยอมจำนนต่ออารยธรรมตะวันตก

ดังที่เขาได้รจนาไว้ในบทกวีของเขาว่า

“ดวงตาใครมืดบอดไปโดยวิถีทางและอารยธรรมของต่างชาติ?

ใครนะเบนสายตาหนีจากขนบธรรมเนียมแห่งบรรพบุรุษ?

หัวใจเจ้าหมดสิ้นซึ่งอารมณ์แรง วิญญาณของเจ้าคือซากแห่งดวงวิญญาณ

คำสอนของมุฮัมมัดไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่กับเจ้าเลยกระนั้นหรือ?”

“อารยธรรมใหม่ได้ปลดเปลื้องเครื่องเหนียวรั้งทั้งมวลออก ปล่อยให้มันมีเสรีอย่างป่าเถื่อน

มันเอาวัยหนุ่มของเจ้าออกจากกะอฺบะฮฺสถานไปตั้งนิวาสสถานในเคหะแห่งรูปเจว็ด”

อิกบาลยังได้สะท้อนภาพของคนร่ำรวยที่มึนเมาไปด้วยอำนาจกับภาพของคนยากไร้ที่ยอมทนต่อความทุกข์ยากและแสวงหาความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า

ดังที่เขาได้กล่าวไว้ว่า

“หากมีใครไปชุมนุมในมัสญิดเพื่อกระทำนมัสการแล้วไซร้คือคนยากจน

หากมีใครถือศีลอดและทนต่อเขี้ยวเล็บแห่งความหิวโหยในเดือนเราะมะฎอนแล้วไซร้คือคนยากเข็ญ

หากวันนี้จะมีใครปกปิดความอับอายของพวกเจ้าได้ ก็คือคนยากแค้น

ผู้ร่ำรวยนั้นหารู้ไม่ เพราะพวกเขามึนเมาด้วยสุราแห่งความมั่งคั่ง

ชุมชนอันรู้กระจ่าง รอดชีวิตอยู่ได้เพราะลมหายใจของคนยาก”

แม้จะต่อว่าต่อขานชาวมุสลิมที่ไม่เคร่งครัดต่อศรัทธาของพวกเขา อิกบาลก็ยังมั่นใจในศักยภาพของชาวมุสลิมหากพวกเขามีความกระตือรือร้น เชื่อมั่นและเชิดชูคำสอนของศาสดามุฮัมมัดให้แผ่ขยายออกไปในโลกกว้างเพราะเขาเชื่อว่า มุสลิมคือ

“กลิ่นหอมที่ถูกกักอยู่ในดอกไม้ตูม จงแย้มบานและส่งกลิ่นขจรเถิด

แบกภาระของเจ้าไว้บนบ่า กระจายกลิ่นหอมไปดุจสายลมในสวนศรี

เจ้าเป็นเพียงธุลีน้อย จงปล่อยให้ขยายกว้างสู่อนันตกาล

เจ้าเป็นเพียงเสียงพึมพำแห่งลูกคลื่น จงเปลี่ยนมันเป็นเสียงคำรามแห่งทะเลบ้าด้วยพลังแห่งความรัก

จงเชิดชูผู้ต่ำสุดสู่ความสูงสุดอันมีชัย ด้วยนามแห่งมุฮัมมัด จงเปลี่ยนโลกอันมืดให้เจิดจ้า”

 

เป็นความจริงที่ว่า อิกบาลเป็นกวีของอิสลาม แต่ศาสนาอิสลามของอิกบาลไม่ใช่เป็นศาสนาของพวกผู้ที่ดันทุรัง

แต่เป็นศาสนาอิสลามที่ได้ให้แสงสว่างแห่งความคิดและความรู้ใหม่ๆ แก่โลก เป็นศาสนาแห่งการกระทำที่กล้าหาญและมีเกียรติรุ่งโรจน์

อิกบาลนิยมท่านศาสดาและเชื่อในคำสอนของท่าน อิกบาลแสวงหา “ความหมายภายใน” หรือ “ความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่” ทั้งในกฎเกณฑ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด หรือในวิถีชีวิตของท่าน นั้นมิใช่เป็นเพียงสิ่งที่น่าพอใจเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่น่ามั่นใจอีกด้วย

อิกบาลได้ตำหนิบรรดากวีชาวเปอร์เซีย ในการที่ทำให้คำสอนของอิสลามสับสนไป

ดังที่ท่านได้กล่าวว่า “พวกกวีเปอร์เซียพยายามที่จะบ่อนทำลายวิถีทางของอิสลาม โดยวิธีการอ้อมๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีการที่กล่อมเกลาหัวใจสักเพียงใดก็ตาม พวกเขาประณามสิ่งที่ดีงามทุกอย่างของอิสลามและทำให้การนิ่งภาวนาอยู่ในมัสญิดกลายเป็นการต่อสู้สุงสุดในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า”

ในทางตรงกันข้ามอิกบาลสอนถึงเรื่องการกระทำ เขาแข็งข้อต่อความคิดที่พอกอยู่รอบๆ อิสลาม อันเป็นผลของอิทธิพลกรีกและเปอร์เซีย และปรารถนาที่จะชำระล้างมันออกเพื่อว่าโลกจะได้สามารถแลเห็นความรุ่งโรจน์ของอิสลามในรูปแบบดั้งเดิมของอิสลามได้อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับความเกียจคร้านและง่วงเหงาเศร้าซึมที่มาพอกอยู่บนศาสนาอิสลามนั้น อิกบาลได้ตำหนิพวกซูฟี ซึ่งมีภูมิหลังของชาวอิหร่านและมีความคิดของกรีกว่าเป็นผู้ทำลายล้างศาสนาของท่านศาสดามุฮัมมัด

อิกบาลได้อธิบายว่า “เป็นที่น่าประหลาดใจว่าบทกวีทั้งหมดของลัทธิซูฟีในอิสลามถูกแต่งขึ้นมาในยุคสมัยที่มีความเสื่อมโทรมทางการเมือง ชาติซึ่งหมดทุนในเรื่องพลังงานและอำนาจดังเช่นในกรณีของชาวมุสลิมหลังจากการรุกรานของพวกตาร์ตาร์ ก็ได้มีทัศนคติที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ความอ่อนแอได้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขานิยมชมชื่นและแลเห็นว่ามีความงาม การละจากโลกกลายเป็นต้นตอแห่งความพึงพอใจของพวกเขา”

 

สําหรับอิกบาล ลัทธิซูฟีแบบกรีก-เปอร์เซียนั้นเป็นลัทธิทำลายล้าง เขาโจมตีมันอย่างเผ็ดร้อนดังที่เขาได้กล่าวว่า “เมื่อได้สูญเสียพลังที่จะจับกลุ่มเรื่องราวในโลกนี้ไปแล้ว พวกศาสดาแห่งความเน่าเปื่อยเหล่านี้ก็ได้ใช้ตัวเองแสวงหาความเป็นนิรันดร์ที่สมมติขึ้นมาและได้กระทำให้เกิดความยากจนทางด้านจิตวิญญาณและความเสื่อมโทรมทางกายภาพของสังคมของพวกเขาโดยเข้าเกี่ยวข้องกับอุดมคติของชีวิตซึ่งดูเหมือนจะมีเสน่ห์แต่ว่าลดความสมบูรณ์แข็งแรงและความมีอำนาจลงไปสู่ความตาย”

อิกบาลไม่ยอมที่จะยึดสภาพเดิมของอิสลามเอาไว้ เขาโจมตรีการปิดประตูอิจญ์ติฮาด (พลังของการตีความกฎหมายโดยเป็นอิสระ) และได้เรียกร้องให้มีการพิจารณาหลักการของอิสลามขึ้นใหม่ให้คล้องจองกับความต้องการของสมัยปัจจุบัน

แม้แต่เมื่อเคมาล (กะมั้ล) อตาเติร์ก ได้รับการโจมตีว่าเป็นพวกนอกศาสนาและเป็นศัตรูของอิสลาม เพราะการปฏิรูปในทางโลกของเขา อิกบาลก็ยังป้องกันไว้

ในเรื่องเหล่านี้อิกบาลเป็นคนที่รอบรู้

 

ในบทกวีสองบทของอิกบาลคือชักวา โอรญะวาบี ชักวา ซึ่งคุณสิงห์ได้แปลขึ้นอย่างไพเราะนั้นเป็นบทกวีภาษาอังกฤษ เป็นเครื่องสะท้อนเชิงความเจ็บปวดรวดร้าวซึ่งอิกบาลรู้สึกในความตกต่ำของมุสลิม ความรู้สึกนี้ถูกแสดงออกในทุกบท

อิกบาลได้ขอร้องมุสลิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้กลับไปสู่ศักราชต้นของอิสลามในสมัยที่คำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด ที่ได้กระตุ้นสานุศิษย์ของท่านจนกระทั่งพิชิตโลกได้ครึ่งค่อนโลก และนำเอาแสงสว่างมาสู่ประชาชนในถิ่นต่างๆ และผิวพรรณต่างๆ กัน

คุณสิงห์ได้พยายามที่จะจับพลังของบทกวีทั้งสองนี้ของอิกบาลซึ่งเป็นการถ่ายทอดหัวใจของอิกบาลผู้เป็นกวีออกมาแสดงไว้ และได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมากในการเอาพลังบทกวีเหล่านี้ซึ่งได้สร้างขึ้นในจิตใจของมุสลิมออกมาแสดงไว้

อย่างไรก็ตาม จะเป็นการผิดที่จะลงความเห็นเอาจากบทกวีเหล่านี้ว่าอิกบาลเป็นผู้ “เคร่งศาสนาอย่างไม่ลืมหูลืมตา” หรือตามที่ฟอร์สเตอร์พยายามที่จะอธิบายในจดหมายที่เขาเขียนถึงรอฟีก ซะการียา ว่าอิกบาลเป็น “มุสลิมหัวเก่า”

ความจริงนั้นอิกบาลเป็นนักปฏิวัติ เขาสรรเสริญสมัยต้นๆ ของอิสลามก็เพราะว่ามันมีบทบาทในการปฏิวัติอยู่ในกิจการของมนุษย์ แต่อิกบาลก็มิได้โฆษณาให้กลับไปสู่สภาพโบร่ำโบราณของสมัยเหล่านั้น เพราะเหตุนี้เองพวกผู้รู้จึงแช่งด่าเขา ไม่มีกวีผู้ใดที่ได้กล่าวถึงพวกผู้รู้เหล่านี้อย่างเยาะหยันมากเท่าอิกบาล อิกบาลบรรยายถึงผู้รู้ซึ่งยืนอยู่ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าไว้ดังนี้

เมื่อได้นำตัวข้าพเจ้าและลิ้นอันคล่องแคล่วของข้าฯ มาอยู่เบื้องหน้าพระองค์

ข้าฯ ก็มิสามารถจะเงียบงันอยู่ได้

เมื่อคำบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบน

ถูกส่งลงมาจากพระผู้เป็นที่เคารพ

ข้าฯ ขอกล่าวอย่างนบน้อมถ่อมตนจากผู้ทรงอานุภาพว่า

โอ้พระผู้เป็นเจ้า

ขอทรงอภัยในความกล้าหาญของข้าฯ ด้วยเถิด

แต่เขาจะไม่มีวันได้ลิ้มรสแห่งสวรรค์เลย

อีกทั้งขอบเขตอันเขียวขจีของสรวงสวรรค์และเหล้าองุ่น

เพราะสวรรค์นั้นมิใช่สถานที่สำหรับผู้หัวรั้น

ที่จะมาทะเลาะวิวาทกันโฉ่งฉ่าง

และเขาผู้มีค่าธรรมชาติที่สองของเขาก็คือ

ความจำเป็นที่จะทุ่มเถียงทะเลาะวิวาทกัน

ธุรกิจในชีวิตของเขาก็คือการทำให้สติปัญญาของเขาโง่งม

ทำให้ชาติและลัทธิต่างๆ ยุ่งเหยิงสับสน

ในสวรรค์นั้นไม่มีทั้งมัสญิดหรือโบสถ์วิหาร

คนที่น่าสงสารเอ๋ย เขาจะต้องสำลักตาย

แปลโดย V.G Kiernan

 

กวีผู้ซึ่งได้ประณามความเคร่งศาสนาอย่างไม่ลืมหูลืมตาอย่างเผ็ดร้อนเช่นนี้จะถูกเรียกว่าเป็นคนเคร่งศาสนาอย่างไม่ลืมหูลืมตาอย่างไรกัน หรือเขาจะเป็นคนหัวโบราณได้อย่างไร เพราะว่าเขาได้ทำลายรูปเจว็ดแบบโบราณในบทกวีของเขาแล้ว

ในบทกวีบทหนึ่งที่มีชื่อเสียงซึ่งกล่าวถึงการสนทนาระหว่างมาลาอิกะฮฺกับชัยฏอนอิกบาลได้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของชัยฏอน (ซาตาน) เหนือความยิ่งใหญ่ของมาลาอิกะฮฺ (ผู้สื่อระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับท่านศาสดามุฮัมมัด) ของอิสลาม ท่านได้แต่งให้ชัยฏอนประกาศออกมาอย่างภาคภูมิว่า

จิตใจอันแข็งข้อของข้าได้บรรจุฝุ่นธุลีของมนุษย์ไว้ด้วยความทะเยอทะยานอันดุเดือด

เส้นด้ายแห่งจิตใจและเหตุผลถูกถักทอขึ้นเป็นการยุยงของข้า

เหวแห่งความดีและความชั่วซึ่งท่านแลเห็นนั้นมีอยู่ที่ขอบแผ่นดินอันไกลโพ้นเท่านั้น

กิซารฺ และบรรดาผู้ปกครองของท่านเป็นแต่เพียงเงาอันจืดจาง

แต่ข้าซิ ปัดเป่าพายุให้กระหน่ำลงบนห้วงสมุทรแล้วห้วงสมุทรเล่า

นทีแล้วนทีเล่า สายธารแล้วสายธารเล่า

แต่จงถามพระผู้เป็นเจ้าด้วยคำถามนี้เถิดว่า ท่านจะได้พบผู้ฟังของพระองค์เมื่อใดกัน

ผู้ซึ่งเลือดของเขาได้ป้ายประวัติศาสตร์มนุษยชาติให้สดใส

ข้านี้รออยู่ในหัวใจของผู้ทรงอานุภาพดุจดังหนามแหลม

ส่วนท่านซิได้แต่ร้องอยู่ตลอดกาลว่าพระเจ้ายิ่งใหญ่และพระเจ้ายิ่งใหญ่

แปลโดย V.G.Kierrnan