เปิดใจ อดีตนักการทูตเกาหลีเหนือแปรพักตร์ / บทความต่างประเทศ

People and soldiers participate in a rally to commemorate the election of North Korean leader Kim Jong Un as the general secretary of the Workers' Party of Korea (WPK) during the 8th Congress of the WPK, at Kim Il Sung Square in Pyongyang, in this January 15, 2021 photo supplied by North Korea's Central News Agency (KCNA) on January 17, 2021. KCNA/via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE WAS PROVIDED BY A THIRD PARTY. REUTERS IS UNABLE TO INDEPENDENTLY VERIFY THIS IMAGE. NO THIRD PARTY SALES. SOUTH KOREA OUT.

บทความต่างประเทศ

 

เปิดใจ

อดีตนักการทูตเกาหลีเหนือแปรพักตร์

 

จากข้อมูลของกระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า ชาวเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์ หลบหนีเข้ามาซบอกเกาหลีใต้ในช่วงปีที่ผ่านมามีจำนวนลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด

หลังจากเกาหลีเหนือดำเนินมาตรการสุดเข้มงวดด้วยการปิดแนวชายแดนห้ามคนเข้า-ออกเพื่อสกัดการเข้ามาระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศตัวเอง

โดยในปี 2020 ที่ผ่านมามีคนเกาหลีเหนือแปรพักตร์หนีเข้ามาอยู่เกาหลีใต้จำนวน 229 คน ลดลงจากในปี 2019 ที่มีผู้แปรพักตร์เข้ามาในเกาหลีใต้จำนวน 1,047 คน

ขณะที่ตัวเลขคร่าวๆ ของคนเกาหลีเหนือซึ่งหนีความอดอยากยากจนและอำนาจกดขี่ของเผด็จการคอมมิวนิสต์เข้ามาอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้มีรวมแล้วประมาณ 30,000 คน

จากรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีระบุด้วยว่าผู้แปรพักตร์ส่วนใหญ่เล็ดลอดหนีเข้ามาทางชายแดนจีน ก่อนจะเข้าไปขอลี้ภัยอยู่ในเกาหลีใต้

 

รยู ฮยอน อู อดีตนักการทูตที่มีตำแหน่งทางการสุดท้ายคือ รักษาการเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศคูเวต เป็นหนึ่งในรายล่าสุดเท่าที่โลกรับรู้ได้ในขณะนี้ว่าเป็นผู้แปรพักตร์ออกจากเกาหลีเหนือ และยังเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงเสียอีกด้วย ที่หันหลังให้กับรัฐบาลเปียงยางซึ่งแทบจะไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก

รายงานของแมอิล บิสซิเนสเดลี่ สื่อท้องถิ่นของเกาหลีใต้บอกว่า จริงๆ แล้วรยู ฮยอน อู เดินทางหลบเข้ามาในประเทศเกาหลีใต้ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2019 เพื่อขอลี้ภัย แต่เรื่องราวการแปรพักตร์และการเดินทางหลบหนีจนเหยียบแผ่นดินเกาหลีใต้ได้ของเขาถูกเก็บเป็นความลับ จนมาเปิดเผยเป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้

รยู ฮยอน อู เป็นอดีตนักการทูตที่อยู่ในตระกูลชนชั้นนำผู้มีอภิสิทธิ์ชนของเกาหลีเหนือ โดยมีพ่อตาเป็นถึงอดีตหัวหน้าสำนักงาน 39 หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนลับของตระกูลคิม

การได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศคูเวตอย่างไม่คาดฝันในปี 2017 ได้เปิดโอกาสให้เขาเห็นลู่ทางที่จะพาครอบครัวโบยบินสู่โลกแห่งเสรีภาพ

กระทั่งเขาได้มานั่งเปิดใจกับสื่อตะวันตกอย่างซีเอ็นเอ็นถึงการตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตของตนเองและทัศนะที่มีต่อดินแดนมาตุภูมิที่เขาตัดสินใจทิ้งไว้เบื้องหลังพร้อมกับคนในครอบครัวที่เหลือ

 

รยู ฮยอน อู บอกเล่าถึงการตัดสินใจอันแน่วแน่ของเขาที่ต้องการจะทำให้ลูกสาวของตนเองมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลหลักใหญ่ที่ทำให้เขาตัดสินใจแปรพักตร์

โดยเขาและภรรยาได้วางแผนการหลบหนีราว 1 เดือนขณะพำนักอยู่ในคูเวต ภายใต้ห้วงความคิดว่า หากเขาถูกจับได้ ทุกอย่างคือจบ! คนของทางการจะต้องส่งตัวพวกเขาทั้งหมดกลับเปียงยางและรับการชำระโทษหนัก

เพราะการแปรพักตร์ถือเป็นการสร้างความอัปยศให้กับผู้ปกครองคิม

แผนการของรยู ฮยอน อู ที่บอกกับลูกสาวในวันหนึ่งขณะเขาและภรรยาทำทีขับรถส่งลูกสาวไปโรงเรียน ก่อนเขาจะพาครอบครัวหลบเข้าไปในสถานทูตเกาหลีใต้ประจำคูเวตเพื่อขอลี้ภัย

กระทั่งทั้งหมดเดินทางมาถึงเกาหลีใต้ได้โดยปลอดภัยไม่นานหลังจากนั้นและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จนถึงขณะนี้

 

บางช่วงบางตอนในการให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น รยู ฮยอน อู พูดถึงคิม จอง อึน ผู้ปกครองเกาหลีเหนือในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ ที่ประชาคมโลกต่างมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสันติสุขโลกว่า เขาเชื่อว่าคิม จอง อึน ไม่มีวันจะยอมทิ้งคลังแสงนิวเคลียร์ อย่างที่โลกพยายามกดดันให้ทำอย่างแน่นอน

เพราะอาวุธนิวเคลียร์เป็นไพ่ใบสำคัญที่คิม จอง อึน จะใช้เป็นข้อต่อรองในการเจรจาเพื่อให้นานาชาติยอมผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่กระทบปากท้องของคนในชาติ ดังที่เขาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการกลับสู่โต๊ะเจรจาในปี 2018 กับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น

“อำนาจนิวเคลียร์เกี่ยวพันโดยตรงกับความมั่นคงโดยตรงของผู้ปกครองเกาหลีเหนือ ซึ่งผู้นำคิมเชื่อว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เขาอยู่รอด” รยู ฮยอน อู กล่าว

ต่อประเด็นที่เกาหลีเหนือถูกกล่าวหาว่าใช้สถานทูตของตนเองเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ทำเงินให้กับตระกูลคิม

รยู ฮยอน อู บอกว่า ขณะที่เขาได้รับการอบรมเป็นนักการทูต แต่ขณะเดียวกันก็ยังได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจทางการค้าในการหาเงินกลับเข้าประเทศไปด้วยเมื่อไปประจำการอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น คูเวต ที่เป็นหนึ่งแหล่งช่องทางทำเงินกลับประเทศที่สำคัญ โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเงินที่ถูกส่งกลับไปให้รัฐบาลเกาหลีเหนือ ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในภารกิจสำคัญของผู้ปกครองคิม นั่นรวมถึงโครงการนิวเคลียร์

ถึงวันนี้ รยู ฮยอน อู เชื่อว่าเขาทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วเพื่อลูกสาว

แต่หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 16 เดือนก่อน

สิ่งเดียวที่เขารู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจแปรพักตร์ก็คือ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวที่เหลืออยู่ของเขาในเปียงยาง ทั้งแม่ในวัย 83 ปี และพี่น้องของเขาอีก 3 คน รวมถึงพ่อ-แม่ที่แก่เฒ่าของภรรยาของเขาเองด้วย!