รัฐประหารเมียนมา / อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

รัฐประหารเมียนมา

ระหว่างที่เขียนบทความ ข่าวสารจากสื่อทั้งไทยและเทศต่างบอกแก่เราว่า กลิ่นรัฐประหารเมียนมาแรงมาก

ก่อนรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ไม่กี่วัน มวลชนจัดตั้งออกมาตามท้องถนน พระสงฆ์ออกมาต่อต้านรัฐประหาร ข่าวสารภายในประเทศเมียนมาซึ่งเปิดกว้างมานาน ย้ำแล้วย้ำอีกว่าเกิดรัฐประหารแน่ เพียงแต่เมื่อไหร่เท่านั้น

ไม่เพียงแต่เท่านั้น เอกสารที่ออกจากคณะทูตชาติตะวันตกและสหภาพยุโรปที่กล่าวเตือนและห่วงใยสถานการณ์ทางการเมืองเมียนมา น่าจะเป็นประจักษ์พยานแล้วว่า โอกาสเกิดรัฐประหารในเมียนมามีอยู่สูงมาก

ทว่าน่าประหลาดใจสำหรับผมมาก ก่อนการรัฐประหารเพียงไม่กี่ชั่วโมง กลายเป็นว่า ข่าวสารและความเป็นไปได้ของการรัฐประหารกลับน้อยลงจนถึงขั้นทางฝ่ายก่อรัฐประหารรามือลง ยิ่งทำให้ผมแปลกใจยิ่งนัก

ประเด็นที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ ผมไม่ได้สนับสนุนการรัฐประหารแน่นอน ไม่ว่าการรัฐประหารจะเกิดที่ไหน โดยเฉพาะรัฐประหารที่ประเทศไทย

หากผมประสงค์เขียนบางประเด็นของพัฒนาการทางการเมืองและโครงสร้างการเมืองของประเทศเมียนมาซึ่งมองในหลายด้านแล้วเอื้อต่อการทำรัฐประหารมาก

 

รัฐประหารเมียนมา

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวว่า

“…อาจต้องฉีกรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้ปฏิบัติรัฐธรรมนูญ เคยฉีกมาแล้วในปี ค.ศ.1962 และ 1974…”

คำกล่าวของท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุดช่างเปิดเผยเหลือเกิน ด้วยท่านกล่าวในงานให้โอวาทกับนักศึกษามหาวิทยาลัยป้องกันประเทศเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 (มติชนออนไลน์ 29 มกราคม 2564)

ดังนั้น ผู้นำและกองทัพเมียนมาต้องการทำรัฐประหารโดยเปิดเผยและไม่ได้สนใจคำเตือนและการแทรกแซงทางการเมืองใดๆ จากภายนอกแม้แต่น้อย

วันที่ 30 มกราคม สถานทูตสหรัฐอเมริกา ณ ย่างกุ้ง ได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมของบรรดานักการทูตชาติตะวันตก สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรปและออสเตรเลีย มีข้อเรียกร้องดังนี้

“…เรียกร้องให้เดินหน้ากระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา ด้วยการจัดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกตัวประธานรัฐสภาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พร้อมเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาเคารพแนวทางประชาธิปไตย เพื่อให้การเมืองในประเทศเดินหน้าไปได้…”

จริงๆ ข้ออ้างของทหารเมียนมาเพื่อทำรัฐประหารก็นับเป็นข้ออ้างที่แสนจะอ่อน

หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 พรรคการเมืองของนางออง ซาน ซูจี พรรค NLD ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย โดยได้รับการเลือกตั้งทั้งจำนวนสมาชิกรัฐสภามากเกือบ 85% ในทั้ง 3 สภา

ส่วนพรรคการเมือง USDP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของเหล่าทหารที่เล่นการเมืองในรัฐสภาได้พ่ายแพ้

กล่าวคือ ชนะการเลือกตั้งได้จำนวนสมาชิกรัฐสภาเพียง 5% ผู้นำกองทัพกลัวที่นั่งในรัฐสภาของพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นเท่านั้นหรือ

หากย้อนกลับไปดูกติกาทางการเมืองระหว่างทหารกับฝ่ายพรรคการเมือง และนางออง ซาน ซูจี กติกานี้วางอยู่บนการคานอำนาจกันระหว่าง 2 ฝ่าย ด้วยยินยอมให้ฝ่ายกองทัพมีที่นั่งในรัฐสภาจำนวน 25%

ที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันของเมียนมา ยังระบุให้อำนาจแก่กองทัพในเรื่องสำคัญของประเทศ นั่นคือ หน้าที่ด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งต้องผ่านทั้งความเห็นชอบของกองทัพในทางนโยบาย อีกทั้งยังเป็นหน้าที่หลักและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและความเป็นจริงที่กองทัพที่พร้อมด้วยอาวุธยุทโปกรณ์ กำลังพล ความสามารถด้านความมั่นคง

หลักการอันนี้จึงมอบหน้าที่สำคัญให้กองทัพมีสิทธิ์ขาดเรื่องชนกลุ่มน้อย ประเด็นชาติพันธุ์ดั่งที่หลายคนใช้คำว่า Ethnic politics และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคงซึ่งยังคงเป็นประเด็นหลักของเมียนมา

ดังนั้น ประเด็นเรื่องชาติพันธุ์และกองกำลังติดอาวุธในเขตอ่อนไหวของเมียนมา ประเด็นศาสนาและความเชื่อและชนกลุ่มน้อยได้แก่ ชาวโรฮิงญา ปัญหาชายแดนที่เกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติด บ่อน การค้าชายแดน การค้ามนุษย์จึงช่วยหล่อเลี้ยงความสำคัญของกองทัพเมียนมาเอาไว้

ดังนั้น กิจการต่างประเทศหรือแม้แต่การลงทุนจากต่างประเทศที่ไปเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้เช่น ตั้งอยู่ที่รัฐมอญ ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนจีน มีประเด็นศาสนสถานและชุมชนในเมืองใหญ่ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เป็นต้น ย่อมเปิดโอกาสให้กองทัพทั้งดำเนินการจริงหรืออ้างความมั่นคงย่อมได้

นี่ยิ่งรวมเอาประเด็นทรัพยากรธรรมชาติได้แก่ หยก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้และประมง ทหารเมียนมาย่อมเป็นผู้เล่นหลักทั้งทางนโยบายและผลประโยชน์

อันอาจเรียกว่า เป็นการเมืองของกองทัพเมียนมา

 

ข้อขัดแย้งหลัก

เมื่อเป็นดังกล่าวมาข้างต้น ผมจึงเห็นความสำคัญของเหตุการณ์ทางการเมืองในเมียนมาเช่น เหตุการณ์ลุกฮือ ค.ศ.1988 การเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ.2010 การเลือกตั้ง 7 พฤศจิกายน ค.ศ.2020 ซึ่งนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกโดยรวมๆ ว่า การปฏิรูปการเมือง (Political reform) บ้าง ช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition period) บ้าง กระบวนการเป็นประชาธิปไตย (Democratization) บ้าง

โดยส่วนตัวผมภักดีกับสิ่งที่ท่านทั้งหลายเรียกขาน แต่ผมก็มองเห็นพัฒนาการทางการเมืองและโครงสร้างการเมืองที่กองทัพเมียนมาเป็นสถาบันหลักชะลอและต่อต้านพัฒนาการสิ่งที่ท่านกล่าวถึง

ดังนั้น เรื่องการโกงการเลือกตั้ง กกต.เมียนมาไร้ประสิทธิภาพ กกต.ไม่โปร่งใส โดยเฉพาะชัยชนะจากที่นั่งเพียงราว 5 ที่นั่งจึงเป็นดั่งที่ใครๆ ก็บอกว่า ข้ออ้าง หากพิจารณาเอกสารโต้ตอบจากเจ้าหน้าที่สารบัญของกองทัพเมียนมาว่า ต่างชาติอย่ามาจุ้นกับเมียนมา น่าจะบอกแก่ทุกคนแล้วว่า เสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง การเติบโตของภาคประชาสังคมเมียนมา การประท้วงรายวันของชาวบ้าน ของชนกลุ่มน้อย ของพระสงฆ์ในเรื่องต่างๆ ที่เผยตัวแบบที่เกิดขึ้นในชาติอื่นๆ เช่น สิทธิมนุษยชน การถูกไล่ที่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความยากจน ฯลฯ เป็นพัฒนาการที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้นและน่าศึกษา

แต่เราไม่ดูที่โครงสร้างการเมืองหลักและลักษณะการเมืองแห่งเมียนมา เช่น การเมืองชาติพันธุ์และความมั่งคั่งของกองทัพบ้างหรือ

เมื่อย้อนไปเพียงไม่กี่ปีก่อนเมื่อผมมีโอกาสไปประชุมร่วมกับนักวิชาการทั้งเมียนมาและต่างชาติ ไปศึกษาพื้นที่ภาคกลาง เมืองชายแดนติดกับชายแดนจีน เป็นต้น

พูดตามตรง คนเมียนมาที่ผมพบปะและพูดคุยด้วยต่างแสดงความผิดหวังผลงานของนางออง ซาน ซูจี และพวกหลายเรื่อง ฟังแล้วหมดหวังเสียจริง

แต่นี่เป็นหนึ่งในความคิดของผู้คนในบ้านเขา พวกเขาระบายออกมาทำนองว่า

“…ประชาธิปไตยและการเจรจาเพื่อสันติภาพนั้นยังอีกไกล ชีวิตที่ดีขึ้น อาหารการกินและการพัฒนาประเทศ ทำไมช้ากันนัก…เพราะระบบราชการและมีแต่นักเคลื่อนไหวเข้ามาบริหารประเทศกระนั้นหรือ…”

เมียนมายังมีเรื่องน่าสนใจอีกมาก