E-DUANG : เส้นแบ่ง “สภาเลือกตั้ง” กับ “สภาลากตั้ง”

 

การปรากฏตัวของ “สนช.” อันมาพร้อมกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีความสำคัญ

สำคัญอย่างยิ่งกับ “คสช.”

เพราะ “สนช.” ย่อมาจาก “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ทำหน้าที่ในส่วนของ “นิติบัญญัติ”

เหมือนกับเป็น “วุฒิสภา”

ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินบทบาทเช่นเดียวกับ “สภาผู้แทนราษฎร”

จะแตกต่างก็เพียงอย่างเดียว

นั่นก็คือ สภาผู้แทนราษฎรมาจาก “การเลือกตั้ง” ของประชาชน ขณะที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาจาก “การแต่งตั้ง” โดยคสช.

ชาวบ้านจึงเรียกว่า “สภาลากตั้ง”

 

ภาระหน้าที่ของ “สนช.” จึงเหมือนภาระหน้าที่ของวุฒิสภาผนวกเข้ากับสภาผู้แทนราษฎร

สร้างความชอบธรรมให้คสช.ในด้าน “นิติบัญญัติ”

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อถอดรูปมาจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร จึงก่อให้เกิดการเปรียบเทียบขึ้นโดยอัตโนมัติระหว่างบทบาทของ 2 องค์กร

ชาวบ้านที่ผ่านประสบการณ์ของ “สภาเลือกตั้ง” สามารถนำเอาภาพที่เห็นจาก”สภาลากตั้ง”มาวางเรียงเคียงกันได้ไม่ยาก

การจัดการกับ “ศัตรู” ทางการเมืองเข้มข้นอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.สุกำพล สุวรรณพล เป็นต้น โดนเช็กบิลเรียบอาวุธ

ขณะเดียวกัน ไม่เคยมีการตั้งกระทู้ ไม่เคยมีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

“ลากตั้ง” ว่านอนสอนง่ายกว่า “เลือกตั้ง”

 

เวลา 3 ปีที่ผ่านมาสร้างความเคยชินเป็นอย่างมากให้กับคสช.และรัฐบาล

ปัญหาขัดแย้งจาก “รัฐสภา” ไม่มี

แต่พลันที่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ประชาชนเลือก ส.ส.เข้ามาแทนที่ บรรยากาศอย่างที่เคยเกิดก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ก็จะหวนกลับมาโดยพลัน