ชาวอาทิตย์อุทัย…หัวใจแกร่ง / บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

ชาวอาทิตย์อุทัย…หัวใจแกร่ง

 

มีรายงานข่าวว่า ณ เดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีอัตราคนว่างงาน 2.8% ของประชากรวัยทำงานประมาณกว่า 66 ล้านคน นับเป็นสถิติที่แย่ที่สุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพรม์ในปี 2009 เป็นต้นมา

แบ่งประเภทของงานที่มีคนตกงานมากก็คือ งานบริการที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร งานบันเทิง ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่น นอกจากผู้ติดเชื้อที่ต้องทนทุกข์จากอาการเจ็บป่วยที่ยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพแน่นอนในการรักษา การต้องทนทุกข์รักษาตัวเองอยู่ที่บ้านเพราะโรงพยาบาลยังไม่รับเข้ารักษานอกจากกรณีป่วยหนักแล้ว ยังมีทุกข์ของคนตกงาน ไม่มีเงิน…

แต่ก็ปฏิเสธที่จะรับ “สวัสดิการยังชีพ” จากรัฐ เขามีเหตุผลใดหรือ

 

โนบุโอะ (นามสมมุติ) ชายวัย 60 ปี อาศัยอยู่ในห้องพักของบริษัทรักษาความปลอดภัยในโตเกียว วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันสุดท้ายที่เขามีสิทธิ์อยู่ที่นี่ได้ เขาต้องเก็บข้าวของลงลังกระดาษ 4 ลัง กระเป๋า 2 ใบ ไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นใดอีก เขาต้องออกจากห้องพักนี้แล้ว

ก่อนเป็น รปภ.เขาเคยทำงานอิสระด้านการถ่ายทำภาพยนตร์มาตลอด 30 ปี ใช้ชีวิตอย่างไม่เดือดร้อน สนุกกับงานที่สร้างความสุขให้ผู้ชม แต่เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อต้นปีที่แล้ว งานก็น้อยลง จนต้องสมัครเป็น รปภ.ชั่วคราวและทำงานนี้มาจนต้องตกงานซ้ำอีก

เขาเฝ้าแต่พึมพำว่า “ไม่เคยมีปีใดหนักหนาเท่านี้ ไม่มีที่อยู่ในวันส่งท้ายปีเก่า ทำไมชีวิตเป็นแบบนี้ ไม่มีใครจะช่วยได้เลย รู้สึกกลัวเมื่อคิดว่าจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร”

แม้ไม่เหมือนพนักงานบริษัท การทำงานอิสระทำให้ต้องพัฒนาความสามารถของตัวเอง เขาก็ปรับตัวมาได้ตลอด

ไม่เคยคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ได้

 

นอกจากเงินช่วยเหลือที่รัฐแจกให้ทุกคนคนละหนึ่งแสนเยน หลังการระบาดอย่างหนักแล้ว ก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือแบบเร่งด่วนให้เงินกู้จำนวน 2 แสนเยน เงินเหล่านี้ก็แทบไม่เหลือแล้ว

ส่วนเรื่องที่พัก เขาได้ที่พักที่รัฐจัดให้ชั่วคราวสำหรับคนตกงานจนถึงเดือนมีนาคม

ย่างเข้าปีใหม่ไม่กี่วัน เขามีเงินติดตัว 722 เยน (ประมาณ 216 บาท) สำหรับการใช้ชีวิตในมหานครโตเกียว

แต่กระนั้นเขาก็ปฏิเสธการสมัครขอรับ “สวัสดิการยังชีพ” (??????) จากรัฐบาล

ด้วยเหตุผลว่า เขารู้สึกผิดอย่างมาก ที่ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง

แต่…เหตุผลที่ใหญ่กว่านี้คือ ถ้าสมัครขอรับสวัสดิการจากรัฐ เจ้าหน้าที่จะติดต่อไปยังครอบครัวเพื่อตรวจสอบ “ภาระการเลี้ยงดูครอบครัว” (??????)

เขาไม่อยากให้ลูกสาวรู้ว่าพ่อกำลังลำบากอย่างหนัก ไม่อยากให้ลูกทุกข์ใจ

ลูกสาวที่เขาได้แต่มองดูภาพในโทรศัพท์มือถือโดยไม่ได้พบหน้ามา 2 ปีแล้ว

เขารอวันที่จะได้พบลูกสาวในสภาพชีวิตที่ดีกว่านี้?

 

ตามกฎหมายสวัสดิการการดำรงชีพ กระทรวงแรงงาน กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องตรวจสอบสถานะครอบครัวโดยตรงถึงภาระการเลี้ยงดูของผู้ยื่นขอ อาจมียกเว้นบ้างที่ไม่ต้องติดต่อ เช่น กรณีพ่อ-แม่อายุเกิน 70 ปี ผู้ยื่นขอหย่าร้าง หรือไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวเกิน 20 ปี เป็นต้น

สวัสดิการนี้จะมอบเงินยังชีพขั้นต่ำ (???????) โดยพิจารณาแตกต่างกันไปตามพื้นที่แต่ละจังหวัดและจำนวนสมาชิกในครอบครัวและเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบ แบ่งเป็นเงินช่วยค่าครองชีพ และเงินช่วยค่าที่อยู่อาศัย

ยกตัวอย่างคร่าวๆ เช่น

1) คนโสดจะได้รับเดือนละประมาณ 100,000 เยน (30,000 บาท)

2) สามี-ภรรยา (ไม่มีลูก) เดือนละประมาณ 150,000 เยน (45,000 บาท)

3) แม่และลูก (มีรายละเอียดอายุลูก) เดือนละ 190,000 เยน (57,000 บาท)

4) พ่อ-แม่ ลูก 2 คน เดือนละ 300,000 เยน (90,000 บาท) เป็นต้น ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจว่านี่คือเงินขั้นต่ำของการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าไม่มากเลยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงลิ่ว?

จากการสำรวจขององค์กรพัฒนาเอกชน ระบุถึงสองเหตุผลหลักของผู้ไม่ขอรับความช่วยเหลือ คือ ไม่อยากให้ครอบครัวรู้ มีกว่า 34.4% และเหตุผลรองลงมาคือ อยากพยายามด้วยตัวเอง

รายงานข่าวระบุว่า มีการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอต่อกระทรวงแรงงานในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ให้ยกเลิกหรือลดการตรวจสอบสถานะครอบครัว เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อคนตกงานที่ต้องอยู่อย่างลำบากเป็นการเร่งด่วน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการประชาสัมพันธ์ว่า “ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ขอรับสวัสดิการ ทุกคนย่อมได้รับความช่วยเหลือ”

 

โทดะ (นามสมมุติ) ชายโสดวัย 40 ปี มาจากจังหวัดนางาโน มาทำงานในโตเกียว 20 ปีกว่าแล้ว ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องตกงานตั้งแต่เมษายนปีที่แล้ว เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนที่ไม่ขอรับ “สวัสดิการยังชีพ”

เหตุผลคือ “ผมยังหนุ่มแน่น มีกำลังวังชา รู้สึกอายที่ไม่มีรายได้ แต่ก็ไม่ควรรับสวัสดิการ ถ้ารับสวัสดิการ คนรอบข้างจะมองด้วยสายตาเย็นชา ยิ่งไปกว่านั้น ผมรู้สึกผิดกับพ่อ-แม่…”

เมื่อไม่มีงาน เหลือเงินเก็บเพียงน้อยนิด เขาต้องไปขอรับอาหารแจกฟรีจากองค์กรการกุศลทุกวันเสาร์ ส่วนวันอื่นๆ เขาเคยประทังชีวิตบางมื้อด้วย…น้ำตาลซอง…สำหรับใส่กาแฟ “ถ้าได้กินน้ำตาล หัวสมองก็ยังแล่น ใช้ความคิดแก้ปัญหาได้…” เขาสมัครงานไปแล้วมากกว่า 10 แห่ง แต่ก็ยังไม่ได้งาน

เมื่อเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนโน้มน้าวให้เขาไปสมัครขอรับสวัสดิการ

เหตุผลแรกที่เขาปฏิเสธคือ ไม่อยากให้พ่อ-แม่รู้

แต่เมื่อทราบว่าเขาอาจอยู่ในข่ายที่เจ้าหน้าที่อาจไม่ติดต่อพ่อ-แม่ เนื่องจากพ่อ-แม่มีอายุ 80 ปีแล้ว เขาจึงยอมไปสมัครอย่างไม่มั่นใจนัก

และค่อยโล่งใจเมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ติดต่อพ่อ-แม่ แต่แล้วในที่สุด… เขาก็ได้รับการติดต่อกลับมาว่าจำเป็นต้องสอบถามไปยังพี่น้องของเขา เขาจึงตัดสินใจถอนการสมัครทันที

คนที่ควรได้รับความช่วยเหลือ อีกทั้งมีเงินช่วยเหลือจากรัฐ แต่ติดขัดที่ขั้นตอนการปฏิบัติอันขัดกับจิตสำนึกของคนญี่ปุ่น ที่ต้องการยืนหยัดอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ แม้จะโงนเงนใกล้หมดแรงเต็มทีจากพิษของโควิด-19

นี่คือ…ชาวอาทิตย์อุทัย…หัวใจแกร่ง…